"10 ปลากัด สายพันธุ์ดั้งเดิม" ที่ถือกำเนิดในธรรมชาติของไทย
สวัสดีค่ะทุกคน ทักทายยามบ่ายด้วยสายฝนกันเลยทีเดียว ทางนั้นฝนตกกันบ้างมั้ยคะ ส่วนทางนี้เปียกปอนชื้นแฉะ เมื่อทักทายกันเสร็จก็เข้าสู่เรื่องราว วันนี้จะมาพูดถึงปลาสวยงาม ความคิดแรกบางคนอาจจะนึกถึงจำพวกปลาเลี้ยงตู้กระจกโชว์ จำพวกปลาทอง ปลาหางนกยูง กันหรือเปล่าเอ่ย? แต่ปลาสวยงามบ้านเราก็มีอีกจำพวกหนึ่ง ที่คนไทยหรือนักนิยมเล่นปลานำมาแข่งขันเป็นกีฬาต่อสู้ นั่นก็คือ "ปลากัด" บางครั้งอาจนำไปสู่การต่อสู้เดิมพันเป็นการพนันกันก็มี แต่ผู้เขียนไม่สนับสนุนให้มีการพนันกันนะคะ (เพราะมันเป็นอบายมุขที่นำไปสู่ความเสื่อม)
โดยปลากัดมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ทาง ลูกผสม เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ให้มียีนส์เด่นของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ถ่ายทอดมายังรุ่นลูก แต่ใครรู้บ้างหรือไม่?? ว่าปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมไทยแท้ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในประเทศไทย ก็มีทั้งความสวยและความดุดัน ไม่แพ้พันธุ์ทางในปัจจุบันเลย จะมีสายพันธุ์ดั้งเดิมชนิดไหนบ้าง ผู้เขียนคัดมาให้แล้วได้ทั้งหมด 10 สายพันธุ์ เราไปชมพร้อมๆกันเลยจ้า
1. ปลากัดปีนัง Betta pugnax
ปลากัดปีนัง หรือ ปลากัดภูเขา มีรูปร่างคล้ายปลากัดทั่วไป มีความยาวขนาด 5-7 cm. มีบำตัวสั้นป้อมและใหญ่กว่าปลากัดทั่วไป ครีบหางใหญ่ ตัวผู้จะมีสีน้ำตาลคล้ำ ข้างแก้มมีสีฟ้าเหลือบเขียว เกล็ดมีจุดฟ้าเหลืองทั้งตัว ครีบสีน้ำตาลอ่อน ครีบหลังและครีบหางมีประสีคล้ำ ครีบก้นมีขอบสีดำ ส่วนตัวเมียจะมีสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีคล้ำพาดตามยาวของลำตัว
ปลากัดชนิดนี้ เป็นปลากัดจำพวกไม่ก่อหวอด ตัวผู้ใช้วิธีการอมไข่ไว้ในปากจนกว่าไข่จะถูกฟักเป็นตัวอ่อน โดยเชื่อกันว่าอาจเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยอยู่ ซึ่งจะอาศัยในลำธารที่มีน้ำไหลเชี่ยวบนภูเขา เป็นปลากัดที่ไม่ก้าวร้าว และชอบอาศัยกันเป็นฝูง พบได้ทางภาคใต้ของไทยเท่านั้น เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล
2. ปลากัดภาคกลาง Betta splendens
ปลากัดภาคกลาง มีความยาวขนาด 5 cm. มีลำตัวทรงกระบอกและแบนข้างเล็กน้อย หัวสั้น ปากเล็ก ครีบหางใหญ่ ครีบท้องเป็นเส้นยาว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนเหลือบแดง สีน้ำเงิน หรือ สีเขียว ตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าตัวเมีย โดยปลากัดชนิดนี้เป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงมีชื่อเรียกติดปากกันว่า "ปลากัดทุ่ง หรือ ปลากัดป่า"
เป็นสายพันธุ์ที่นิยมและได้รับการพัฒนามากที่สุด มีนิสัยดุร้ายเป็นพิเศษ และพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองนี้ จึงนำไปสู่การเลี้ยงเพื่อการแข่งขันกัดต่อสู้กัน พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยปลากัดชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ และลำคลอง
3. ปลากัดอีสาน Betta smaragdina
ปลากัดอีสาน หรือ ปลากัดเขียว มีความยาวขนาด 5-6 cm. เป็นปลากัดประเภทก่อหวอด มีรูปร่างและพฤติกรรมคล้ายปลากัดภาคกลาง แต่ปลากัดอีสานจะมีรูปร่างเพรียวยาวกว่า มีเกล็ดสีเขียวมากกว่าทั้งข้างแก้มและลำตัว บางตัวอาจจะมีสีเหลืองฟ้า ครีบสีเขียวหรือฟ้า และมีลายประสีดำ พบในแหล่งน้ำที่ตื้นและนิ่ง หรือไหลเอื่อยๆ พบในภาคอีสาน
ส่วนปลากัดอีสานที่พบในบึงโขนหลง จังหวัดบึงกาฬ จะมีลักษณะที่เด่นออกไป คือ ก้านครีบหางมีการแตกตัว บางตัวอาจแตกถึง 4 ก้าน และครีบหางจะมีลายขึ้นเป็นเส้นเต็มช่องด้าน ตั้งแต่โคนหางถึงปลายหาง คล้ายลักษณะของแมงมุม ปลาลักษณะนี้ เราจะเรียกว่า ปลากัดหางลาย หรือปลากัดป่าชีตาร์ ซึ่งในอนาคติาจจะถูกแยกออกให้เป็นปลากัดชนิดใหม่
4. ปลากัดป่าภาคใต้ Betta imbellis
ปลากัดป่าภาคใต้ มีความยาวขนาด 5-6 cm. มีลักษณะใกล้เคียงกับปลากัดภาคกลางและปลากัดอีสาน แต่ปลากัดภาคใต้จะมีรูปร่างเรียวยาวกว่า มีครีบหลังค่อนไปด้านหลังของลำตัว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนเหลือบแดง และสีน้ำเงิน ครีบหลังและครีบก้นสีแดง มีแถบสีฟ้าเรืองแสง ปลายครีบก้นมีแถบสีแดงสดและแถบสีขาว มีพฤติกรรมก้าวร้าว พบได้ในภาคใต้ ชอบอยู่ในหนองน้ำ หรือลำธาร ที่มีเศษใบไม้ และโคลน
5. ปลากัดหัวโม่ง Betta prima
ปลากัดหัวโม่ง หรือ ปลากัดหัวโม่งจันทบุรี มีขนาดความยาวได้ถึง 10 cm. เป็นปลากัดประเภทอมไข่ มีปลายปากแหลม ลำตัวสีเขียวอ่อน มีแถบสีดำพาดตามความยาวของลำตัว 3 แถบ มีตากลมโตสีเหลือง
มีถิ่นกำเนิดในเขตน้ำไหล จึงต้องการออกซิเจนสูง พบในแถบน้ำตกของภาคตะวันออก โดยชอบหลบแอบตามกอหญ้าริมน้ำตก หรือธารน้ำไหล
6. ปลากัดอมไข่กระบี่ Betta simplex
ปลากัดอมไข่กระบี่ มีความยาวขนาด 8 cm. ตัวผู้จะสวยงามกว่าตัวเมีย ครีบหลัง ครีบท้อง และครีบหาง จะมีสีแดง โดยครีบท้องจะมีริ้วสีน้ำเงิน พบได้ที่จังหวัดกระบี่ และพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น
เรื่องจากอาศัยอยู่ในลำธารที่ไหลมาจากภูเขาหินปูน ที่น้ำมีค่า PH 7.5-8.5 จึงถือได้ว่าเป็นแลากัดที่มีความต้องการน้ำโดยเฉพาะ โดยในธรรมชาติเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์แล้ว
7.ปลากัดอมไข่สงขลา Betta ferox
ปลากัดอมไข่สงขลา จัดเป็นปลากัดที่หายากมากชนิดหนึ่ง มีความยาวขนาด 6 cm. ได้ถูกพบครั้งแรกที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่ไหลบนภูเขา เป็นปลาที่ชอบอาศัยตามรากไม้หรือใบไม้ใกล้ฝั่ง พบอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำบนภูเขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในประเทศไทยพบได้ที่ภาคใต้เท่านั้น
8. ปลากัดมหาชัย Betta mahachaiensis
ปลากัดมหาชัย มีความยาวขนาด 4-5 cm. มีลักษณะคล้ายปลากัดภาคกลาง มีถิ่นอาศัยในพื้นที่ที่ซ้อนทับกัน สีของเกล็ดเป็นสีฟ้าอมเขียว หรือสีเขียว แลดูแวววาวทั้งตัว ลักษณะเกล็ดเรียงตัวกันเหมือนฝักข้าวโพด พื้นลำตัวจะมีสีเข้มน้ำตาลทั้งตัวจนถึงดำสนิท บริเวณแก้มหรือแผ่นปิดเหงือก เป็นขีดสีฟ้า 2 ขีด ครีบอกมีสีฟ้า ครีบหางมีทั้งกลมและแหลมคล้ายใบโพธิ์ ถิ่นอาศัยเป็นพื้นที่จำกัด พบได้ในจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ และเขนบางขุนเทียนของ กทม. เท่านั้น
9. ปลากัดช้าง Betta pi
ปลากัดช้าง หรือปลากัดน้ำแดง เป็นปลากัดขนาดใหญ่ มีความยาวได้ถึง 12 cm. แต่ส่วนใหญ่จะพบมีความยาวประมาณ 9 cm. ลำตัวป้อมสั้น ครีบหลังยาว ครีบท้องเป็นเส้นยาว ครีบก้นยาว ปลายครีบเรียวยาว ครีบหางใหญ่ หัวโต ปากกว้าง เกล็ดใหญ่ ส่วนหัวและลำตัวมีสำน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลแดง ตัวผู้ใต้ขอบตาจะมีสีเข้ม ครีบสีจางเหลือบสีเขียวอ่อน ปากสีคล้ำ มีรอยสีคล้ำเป็นรูปโค้ง 2แถบใต้คางและริมฝีปาก พบในป่าพรุโต๊ะแดง ในน้ำที่มีลักษณะสีแดงหรือสีชา ไม่ดุร้ายหรือก้าวร้าว สามารถเลี้ยงรวมกันได้
10. ปลากัดตะวันออก Betta siamorientalis
พบเป็นปลากัดชนิดใหม่ล่าสุดของไทย มีความยาว 4 cm. มีนิสัยก้าวร้าว อาศัยในแกล่งน้ำไหลช้า เช่น บึง สระน้ำ คลอง พบในจังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา และบางอำเภอของชลบุรี
เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน กับ 10 ปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมของไทยเรา ที่ถือกำเนิดเกิดจึ้นเองตามธรรมชาติ สวยถูกใจจนอยากนำมาเลี้ยงไว้สักตัวสองตัว เลี้ยงเพื่อความผ่อนคลาย มานั่งมองยามเหนื่อยล้าจากงาน คงฮีลใจได้ไม่น้อยทีเดียว แต่หากปล่อยมันให้อยู่คู่กับธรรมชาติถิ่นจองมันแล้ว ก็มีค่าไปอีกแบบหนึ่ง นี่แหละคือมรดกทางธรรมชาติของไทยอีกหนึ่งอย่าง