สะพานคอนกรีตที่มีความยาวมากเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย
สะพานติณสูลานนท์
(Tinsulanonda Bridge)
เป็นสะพานคอนกรีตที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอำเภอเมืองสงขลา
และอำเภอสิงหนคร โดยเชื่อมเกาะยอ 2 ด้าน ทางฝั่งอำเภอเมืองสงขลา
สะพานเริ่มที่บ้านน้ำกระจาย และสิ้นสุดที่ริมฝั่งอำเภอสิงหนคร ที่บ้านเขาเขียว
สะพานถูกสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยสะพานช่วงแรกจากฝั่งอำเภอเมือง
ไปยังเกาะน้อย มีความยาว 940 เมตร และจากเกาะน้อยไปยังฝั่ง
ของอำเภอสิงหนคร มีความยาว 1,700 เมตร รวมความยาวสะพาน
ทั้งหมดสองช่วง อยู่ที่ 2,640 เมตร สะพานติณสูลานนท์
ถือเป็นสะพานคอนกรีตที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย
ถูกสร้างขึ้นในสมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการใช้แพขนรถยนต์
ข้ามฝั่งระหว่างสองอำเภอ ซึ่งมักประสบปัญหาความล่าช้า
และมีแพให้บริการไม่เพียงพอ รัฐบาลในสมัยนั้นจึงมีนโยบายพัฒนา
จังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลัก โดยกรมทางหลวง
เป็นเจ้าของโครงการ และบริษัทจากประเทศไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง
สะพานเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2524 เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2529
สะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 408
ที่เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 414
กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่)
คนสงขลานิยมเรียกสะพานนี้ว่า "สะพานป๋าเปรม" "สะพานติณ" หรือ "สะพานเปรม"
ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัด