ปลาขี้ตัง
ปลาขี้ตัง หรือ ปลาตะกรับ เป็นปลาน้ำเค็มสกุลหนึ่ง มีรูปร่างสั้น ด้านข้างแบนและกว้างมาก หัวทู่ ปากเล็ก หางมน เกล็ดเป็นแบบสากขนาดเล็กสี พื้นลำตัวมีสีแตกต่างกันมาก ครีบหลังยาว ครีบต่างๆ มีสีเหลืองอ่อนอมเทา มีจุดสีดำเทากลมกระจายอยู่ทั่วลำตัวคล้ายเสือดาว
มีรูปร่างคล้ายปลาใน วงศ์ปลาผีเสื้อ คือ รูปร่างกลมและแบนข้างมาก แต่จะงอยปากไม่ยื่นยาว ปากเล็ก ครีบหลังมีก้านครีบแข็งแหลมคม รวมถึงก้านครีบก้น ซึ่งก้านครีบดังกล่าวมีสารพิษ ที่อาจตำหรือแทงถูกมือของผู้ที่จับต้องได้ แต่ทว่าก็ก่อให้เกิดพิษน้อยมาก
ปลาขี้ตัง ขี้เกง หรือ ปลาตะกรับ เป็นปลาน้ำเค็ม แต่ก็เติบโตได้ดีในน้ำกร่อย กินอาหารได้ทั้งพืชน้ำและสัตว์น้ำขนาดเล็ก พฤติกรรมที่น่าสนใจคือ ปลาตะกรับมีการรวมฝูงเพื่อแสดงอาณาเขตทำให้มันกินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ในบริเวณกว้าง
มีมากที่สุดบริเวณ ทะเลสาบสงขลา เป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยจึงเป็นที่นิยมบริโภคโดยเฉพาะแถวภาคใต้ ร้านอาหารต่างๆโดยทั่วไป จะนำมาเป็นเมนูเด็ดหลากหลายรูปแบบ ทั้งแกง ย่าง เผา ทอด เพราะรสชาติที่อร่อย เนื้อหวานและมีไขมันแทรกอยู่ทำให้เนื้อนิ่ม ที่เป็น อาหารท็อปฮิต ติดอันดับคือ "แกงส้มปลาขี้ตัง"
ส่วนประกอบแกงส้มปลาขี้ตังใส่ลูกเขาคัน
ปลาขี้ตัง 6 ตัว
ลูกเขาคัน ประมาณ 1 ถ้วยแกง
เกลือ ผงชูรส และน้ำตาล
เครื่องแกงส้ม ส่วนประสมของเครื่องแกงส้มก็คือ พริกสด 20 เม็ด กระเทียม 3 กลีบ และขมิ้น โดยนำมาโขลกให้ละเอียด แล้วตามด้วยกะปิ 1 ช้อนโต๊ะ โขลกให้เข้ากัน
วิธีทำแกงส้มปลาขี้ตังใส่ลูกเขาคัน
ตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่ลูกเขาคัน ต้มจนลูกเขาคันสุก ประมาณ 5 นาที
ใช้ทับพี บี้ลูกเขาคันให้แตกเล็กน้อย แล้วใส่เครื่องแกงลงไปรอจนน้ำเดือดอีกรอบ
ใส่ปลาขี้ตัง ปรุงรส ด้วย เกลือ ผงชูรส และ น้ำตาล อย่างละเล็กน้อย ชิมให้ได้รสชาติที่ชอบ
รอจนน้ำเดือดอีกรอบเป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วปิดไฟตักใส่ถ้วยพร้อมทานได้เลย
นอกจากปลาขี้ตังจะนำมาแกงส้มได้แล้ว ยังนำมาทำอาหารได้หลายเมนูไม่ว่าจะเป็นปลาขี้ตังทอดขมิ้นปลา ขี้ตังทอดกระเทียม หรือเมนูอื่นตามชอบ
เชื่อหรือไม่...ปลาขี้ตัง เป็นปลาทะเลเศรษฐกิจด้วย เพราะปลาขี้ตังเป็นได้ทั้งปลาสวยงาม และใช้ในการบริโภคเป็นอาหาร โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา
นอกจากคนไทยแล้ว ในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และ ฮ่องกง ยังชื่นชอบปลาตัวนี้ จึงมีการจับส่งออกไปจำหน่ายซึ่งกำลังกลายเป็นปลา เศรษฐกิจในอนาคต
LOMA🐬🐬
อ้างอิงจาก: References ::: // ASTV ภาคใต้ , สถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา , บรรณภรณ์
กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์