เตรียมไปมูดิวาลีวันไหนเช็คเลย
นับถอยหลังอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ก็จะถึงเทศกาลดิวาลี दिवाळी อีกหนึ่งเทศกาลสำคัญในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูกันแล้ว แต่ก่อนจะถึงช่วงเวลานั้นเรามาทำความรู้จักที่มาและความสำคัญกันก่อนดีกว่า
ดิวาลี दिवाळी หรือ ดีปวาลี दीपावली หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามเทศกาลแห่งแสงสว่าง ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดู เป็นอีกหนึ่งเทศกาลศักดิ์สิทธิ์และเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกเหนือ ในช่วงปลายเดือนอัศวินไปจนถึงต้นเดือนการติกตามปฏิทินฮินดู โดยถือเอาวันที่ 1 ของเดือนการติก หรือขึ้น 1 ค่ำเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นคืนที่มืดมิดที่สุดของเดือนการติกเป็นวันดิวาลีจะมีการจุดประทีปเพื่อให้แสงสว่างและมีการบูชาเทพเจ้าเพื่อขอพร โดยในปีนี้จะตรงกับ วัน อาทิตย์ ที่ 12 พฤศจิกายน เริ่มตั้งแต่เวลา 14.44 น. ของวัน อาทิตย์ ที่ 12 พฤศจิกายน ไปจนถึงเวลา 14.56 น. ของวัน จันทร์ ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นของอินเดีย ซึ่งช้ากว่าเวลาประเทศไทยประมาณ 2 ชั่วโมง 10 นาที หรือ ราว 16.14 น. ไปจนถึงเวลา 16.26 น. ตามเวลาของประเทศไทย
โดยทางอินเดียเหนือเรียกเทศกาลนี้กันว่า ดิวาลี दिवाळी จะมีการจัดงานกันทั้งหมดเป็นเวลา 5 วัน ส่วนทางอินเดียใต้จะเรียกเทศกาลนี้กันว่า ดีปวาลี दीपावली จะจัดงานทั้งหมดเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งทั้งสองชื่อนี้มีความหมายเหมือนกันว่า แถวแห่งประทีป หรือ แถวแห่งแสงสว่าง เนื่องด้วยในเทศกาลนี้จะมีการจุดประทีป หรือ ดียา दिया ในการบูชาเทพเจ้าและตกแต่งบ้านเรือน เทวาลัย
ซึ่งการใช้แสงสว่างจากดียาตกแต่งบ้านเรือนและเทวาลัยในเทศกาลแห่งแสงสว่างนี้ เป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงชัยชนะของแสงสว่างที่อยู่เหนือความมืดมิด ความดีที่อยู่เหนือความชั่วร้าย โดยได้อ้างอิงจากตำนานของ นรากาสูร ที่ถูกพระกฤษณะสังหาร
ตามเทวะตำนานนั้น นรากาสูร नरकासुर เป็นกษัตริย์อสูรในตำนานฮินดู ในตำนานท้องถิ่นของอัสสัมยังเชื่อกันว่า นรากาสูรนี้เป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์ทั้งสามราชวงศ์ในตำนานของปราคโชยติษ กามารุป และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์ภูมิตามตำนานของปราคโชยติษ แม้ว่าตำนานเกี่ยวกับนรากะสูรจะถูกกล่าวถึงครั้งแรกในมหาภารตะ แต่ต่อมาก็ได้มีการเขียนถึงเรื่องราวของนรากะสูรไว้มากมาย อย่างพรหมปุราณะ และวิษณุปุราณะ
ได้กล่าวว่า นรากะสูรเป็นบุตรของพระวราหวตาร อวตารปางที่ 3 ของพระวิษณุเทพ ซึ่งกำเนิดกับนางภูมิเทวี นรากะสูรยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้ก่อนตั้งเมืองปราคโชยติษ และลำพองใจจนขึ้นไปรุกรานสวรรค์ จนโดนพระกฤษณะสังหาร โดยก่อนตายนรากะสูรได้ขอพรว่าในวันตายของตนนั้นขอได้เป็นวันเทศกาลเฉลิมฉลองวันหนึ่ง ต่อมาได้กลายมาเป็นเทศกาลนรากะจตุรถี ซึ่งจะจัดก่อนวันดิวาลี 1 วัน จึงกลายมาเป็นความเชื่อว่าในคืนที่มืดที่สุดนั้น นรากะสูรได้แฝงตัวอยู่ จ้องที่จะทำร้ายผู้คน จึงได้มีการจุดประทีปหรือดียาเพื่อให้แสงสว่าง และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นรากะสูรออกมาทำร้ายผู้จุดดียาได้ ก็จะมีการสวดบูชาเทพเจ้าเพื่อให้พระองค์คุ้มครอง ซึ่งในคืนนี้ก็จะตรงกับวันมหาลักษมีบูชา จึงได้จัดให้การทำพิธีบูชาเทวีลักษมีตลอดทั้งคืนอีกด้วย
วันดิวาลีนี้นอกจากจะเป็นเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดูแล้ว ก็ยังถือเป็นเทศกาลสำคัญของศาสนาซิกข์ ศาสนาเชน และศาสนาพุทธแบบเนวาร ศาสนาพุทธ นิกายวัชรยานรูปแบบหนึ่ง เป็นที่นับถือปฏิบัติในหมู่ชาวเนวาร ชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณหุบเขากาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลอีกด้วย
โดยประชาชนในอินเดียจะทำการปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาดแล้วทำการประกับตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงาม จัดหิ้งบูชา สวมเสื้อผ้าชุดใหม่ และเมื่อตกดึกก็มีการสวดบูชาพระคเณศ เทวีลักษมี เทวีสรัสวตี จุดดียาให้แสงสว่างไว้ตลอดทั้งคืน โดยในอินเดียเหนือนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะทำการสวดบูชาและจัดงานเฉลิมฉลองกันไปตลอดทั้งคืนจนรุ่งเช้า