ปลาสวยงามหายากมาก ที่พบอาศัยอยู่เฉพาะในเขตประเทศไทย
Burnt-tailed barb
(ปลาหางไหม้ หรือ ปลาฉลามหางไหม้)
เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
มีรูปร่างและทรวดทรงที่เพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ขยับปากอยู่ตลอดเวลา
ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย
เกล็ดมีขนาดเล็ก สัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว
โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว
ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง
สีส้มแดงและขอบเป็นแถบดำ อันเป็นที่มาของชื่อ ว่ายน้ำได้ปราดเปรียวมาก
และกระโดดขึ้นได้สูงจากน้ำมาก มีขนาดโตเต็มราว 20–30 เซนติเมตร
ปลาหางไหม้ เป็นปลาที่นิยมอยู่เป็นฝูง หากินตามใต้พื้นน้ำ
ในอดีตพบชุกชุมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว
เชื่อว่าได้สูญพันธุ์ไปจนหมดแล้ว สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากการจับ
จากธรรมชาติเพื่อจำหน่ายเป็นปลาสวยงาม แต่ก็เพียงข้อสันนิษฐาน
ปลาชนิดนี้ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว แม้จะมีรายงานพบในลุ่มแม่น้ำโขง
ในเวียดนาม, กัมพูชา และลาว แต่ทว่าก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
และไม่เป็นที่ยอมรับจาก IUCN ซึ่งในอดีต ปลาหางไหม้ได้ถูกใช้ชื่อวิทยาศาสตร์
ร่วมกับปลาฉลามหางไหม้ชนิดที่พบในประเทศอินโดนีเซีย (B. melanopterus)
และถูกใช้ชื่อวิทยาศาสตร์และข้อมูลนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2007
มีการจัดอนุกรมวิธานกันขึ้นมาใหม่ โดยตัวอย่างต้นแบบแรกถูกเก็บ
โดยนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน รอล์ฟ ไกสเลอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967
ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และตัวอย่างเพิ่มเติมถูกเก็บโดย
โรดอล์ฟ เมเยอร์ เดอ เชาเวินซี ในปี ค.ศ. 1936 โดย เอ็ม. ฮาร์มันด์
ในปี ค.ศ. 1883 และโดย มารี เฟิร์มง โบคอร์ต ในปี ค.ศ. 1862
ปลาหางไหม้ ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น หรือ สิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว
หรือ Endemic species, Endemism ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย
ปัจจุบันมีสถานะเป็นสัตว์ที่อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว
หรือ Critically endangered, possibly extinct (IUCN 3.1)