เยี่ยมหมู่บ้านชายแดนสาละวิน"ทำงานยังไงให้เหมือนเที่ยว"
หากเราได้ทำงานในสิ่งที่รักและได้ทำงานเหมือนท่องเที่ยวด้วย ก็ยิ่งมีความสุข ผู้เขียนเองก็เปรียบการทำงานของตนเองให้เหมือนกับการท่องเที่ยว โดยในช่วงระหว่างปี 2549-62 ผู้เขียนได้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิทธิ์ในพื้นที่ชายแดนสาละวิน ซึ่งความประทับใจมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงาน เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนและคณะทำงาน ได้มีโอกาสไปเที่ยวยังหมู่บ้านชายแดนและค่ายผู้ลี้ภัย ริม "แม่น้ำสาละวิน"
ซึ่งคณะของผู้เขียนเองมีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ รวมกันเกือบ 20 ชีวิต ทางคณะได้ไปเยี่ยม หมู่บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่ง ที่อยู่ติดริมน้ำสาละวิน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง การเดินทางไปบ้านท่าตาฝั่งนั้น สามารถเดินทางได้ทั้งทางเรือและทางถนน ขับรถยนต์ลัดเลาะเส้นทางที่ติดแม่น้ำสาละวินสลับขึ้นเขาผ่านลำห้วยสายต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน เมื่อพวกเรามาถึงก็ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านอย่างอบอุ่น โดยผ่านพิธีกรรมนมัสการพระเจ้าตามหลักศาสนาคริสต์ พวกเรามีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยสอบถามสารทุกข์สุกดิบ รวมถึงได้เยี่ยมชมวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านท่าตาฝั่งนี้เป็นหมู่บ้านที่มีโรงพักเก่าท่าตาฝั่ง หรือสถานีตำรวจบ้านท่าตาฝั่งตั้งอยู่ สร้างขึ้นสมัยปี พ.ศ.2444 ซึ่งโรงพักเก่าแห่งนี้เคยเป็นที่ถ่ายทำฉากหนึ่งในหนังเรื่องมือปืน 2 สาละวิน
จนเวลาล่วงเลยถึงเที่ยงกว่า ๆ ทางคณะผุ้เขียนก็ได้ร่วมรับประทานอาหารเที่ยง โดยมีแกนนำผู้หญิงในหมู่บ้านช่วยกันอำนวยความสะดวกในมื้ออาหารเที่ยง บางคนอาจจะแปลกใจว่าทำไมชาวบ้านไม่รับประทานอาหารพร้อม ๆ กับคณะผู้เขียน แต่ด้วยวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ต่อการให้เกียรติกับแขกผู้มาเยือน พวกเขาจึงให้ทางคะณะรับประทานอาหารก่อน “แขกอิ่มพวกเขาก็สบายใจ”
หลังจากที่ทางคณะผู้เขียน รับประทานอาหารเที่ยงเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาที่พวกเราจะต้องลงมายังเรือที่จอดรอเราที่ท่าน้ำสาละวิน เพื่อนำเราไปเยี่ยมชมศูนย์ผู้ลี้ภัยสงครามอิตุท่าฝั่งประเทศพม่า ต้องนั่งเรือทวนน้ำสาละวิน จากบ้านท่าตาฝั่งขึ้นไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมง เมื่อทางคณะผู้เขียน ลงมาถึงท่าน้ำท่าตาฝั่ง ก็มีเรือโดยสารขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกเรือลำใหญ่นี้ว่า "เรือควาย" โดยมีพี่ทีเซคนขับเรือที่พวกเราไว้ใจที่สุดและเก่งที่สุดในการขับเรือย่านนี้ ในการนำพาไปถึงจุดหมาย ทางคณะที่ร่วมเดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติทุกคนต่างก็มีความสุขกับการล่องเรือ และที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ การถ่ายรูปชื่นชมบรรยากาศตลอดสองข้างฝั่งริมน้ำสาละวิน
แต่เมื่อล่องเรือไปได้สักพักจู่ ๆ เรือก็เกิดขัดข้อง ใบพัดเรือไปเกี่ยวใส่ขอนไม้ที่ลอยมากับน้ำทำให้หางเรือหัก คนขับเรือพยายามจะแก้ไขเพื่อให้เดินทางต่อไปได้ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ ในระหว่างที่เรือไหลลอยลงมากลางน้ำอย่างไร้จุดมุ่งหมายนั้น ก็มีเรือลำเล็กของชาวบ้านละแวกนั้นขับผ่านมาพอดี จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ในระหว่างนั้นเอง จู่ ๆ ก็มีผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง ตัดสินใจลุกจากเรือลำใหญ่ของพวกเรา รีบปีนขึ้นข้างเรือและลงไปยังเรือลำเล็กอย่างรวดเร็ว ราวกับว่าจะหนีเอาตัวรอด ในใจคิดว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่น่าจะปลอดภัย เธอคงหนีเอาตัวรอดแน่ ๆ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิด ก็คือผู้หญิงคนนี้ เธอเป็นคนพยุงและมัดเรือลำเล็กติดกับเรือใหญ่อย่างคล่องแคล่ว ไม่เกรงกลัวต่อความเชี่ยวและไหลวนของแม่น้ำสาละวินเลย
เพราะด้วยน้ำหนักของเรือขนาดใหญ่ บวกกับน้ำหนักผู้โดยสารกว่า 20 ชีวิต เหตุการณ์ส่อเค้าจะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ พี่ทีเซคนขับเรือจึงใช้ประสบการณ์ขับเรือเล็กประคองเรือใหญ่ จนสามารถนำพาพวกเราและเรือใหญ่เข้าสู่ฝั่งได้อย่างปลอดภัย ทุกคนต่างโล่งอก เมื่อตรวจเช็คดูสภาพหางเรือแล้ว พี่ทีเซบอกว่าไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ แนะนำให้หาเรือชาวบ้านพาคณะของเราไปยังจุดหมาย คือ ศูนย์ผู้ลี้ภัยสงครามอิตุท่า พวกเราก็ไปถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยและได้เข้าไปยังค่ายอิตุท่า ไปพบเจอพูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำ เยี่ยมชมความเป็นอยู่ เห็นถึงความยากลำบากของชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่อยู่กันอย่างแออัด การสาธารณสุขไม่ดี รับประทานอาหารกันตามมีตามเกิด จะกลับไปประเทศต้นทาง คือ สหภาพพม่า สถานการณ์การเมืองก็ไม่เอื้อให้กลับบ้าน จึงจำใจที่จะอยู่อาศัยที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ หลังจากพวกเราได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแล้ว ก็ถึงเวลาร่ำลาชาวบ้านกลับมายังเรือและเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย
จะเห็นได้ว่าทุกการเดินทางหากเราได้เจอมิตรภาพที่ดี ผู้คนมีน้ำใจ เราก็จะสามารถไปที่ไหนก็ได้อย่างมีความสุข "ขอบคุณมิตรภาพดี ๆ ระหว่างการเดินทาง”