ระบบรถเมล์สายแรก ที่ถูกก่อตั้งและเปิดให้บริการในประเทศไทย
รถเมล์นายเลิศ (Nailert buses)
หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า รถเมล์ขาว เป็นรถโดยสารประจำทางสายแรก
ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย ผู้ริเริ่ม คือพระยาภักดีนรเศรษฐ
หรือ นายเลิศ เศรษฐบุตร เริ่มจากกิจการบริการรถม้าเช่า ซึ่งนายเลิศ
เป็นผู้ออกแบบตัวรถเอง โดยคิดค่าโดยสารสำหรับรถม้าเดี่ยว ชั่วโมงละ 75 สตางค์
รถม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์
ภายหลังจึงได้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2453
รถเมล์นายเลิศ มีลักษณะเฉพาะคือ ทาสีขาวทั้งคัน มีตราประจำรถ
เป็นรูปขนมกง นายเลิศเป็นผู้ออกแบบตัวถังรถเมล์ด้วยตัวเอง โดยเขียนแบบ
ด้วยชอล์กบนพื้นปูน ให้ช่างไม้ชาวเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ต่อ โดยใช้เครื่องยนต์
ที่สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ นายเลิศมีนโยบายในการเดินรถว่า
"สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย"
รถเมล์สายแรกของนายเลิศ วิ่งจากประตูน้ำไปสี่พระยา เมื่อกิจการเจริญก้าวหน้า
จึงขยายออกไปจนเกือบทั่วกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปเรียกรถของนี้ว่า
"รถเมล์ขาว" ตามสีของรถ ต่อมานายเลิศได้ริเริ่มบริการเรือเมล์
ที่ชาวบ้านเรียก "เรือขาว" รับส่งผู้โดยสารตามคลองแสนแสบ
ผ่านหนองจอก มีนบุรี สุดทางที่ประตูน้ำ เชื่อมโยงกับเส้นทางของรถเมล์ขาว
กิจการนี้เป็นที่ประทับใจของคนทั่วไป และสร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก
กิจการรถเมล์นายเลิศ ดำเนินการมายาวนานถึง 70 ปี
ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ ถึง 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน
มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ได้เลิกกิจการลงในปี พ.ศ. 2520
เมื่อรัฐบาลในสมัยนั้น มีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพ
มาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ