พระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้าย ที่ถูกจัดขึ้นในประเทศสยาม
พระราชพิธีโสกันต์
เป็นพระราชพิธีสำคัญในประเทศสยาม (ปัจจุบันคือประเทศไทย)
รวมถึงประเทศกัมพูชา เป็นพิธีหลวงของพิธีโกนจุก โดยมีไว้
เฉพาะเชื้อพระวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้านายชั้นรอง ๆ ลงมา
เรียกว่า เกศากันต์ ซึ่งต่างกันที่การแต่งองค์ทรงเครื่อง ตลอดจนพิธีแห่บางอย่าง
ที่อาจเพิ่มลดตามลำดับพระเกียรติยศของเจ้านายพระองค์นั้น ๆ
ฤกษ์ยามของพระราชพิธีโสกันต์ จะมีโหรหลวงกำหนดวันเวลา
ที่จะเริ่มพระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งจะมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์พร้อมกัน
ส่วนใหญ่มักจะจัดขึ้นที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ตอนต้นมักจะประกอบพิธีนี้ร่วมกับพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พิธีตรุษไทย พระราชพิธีเดือน 4)
ซึ่งต่อมาจะประกอบร่วมกับพระราชพิธีตรียัมปวาย (โล้ชิงช้า)
พิธีโสกันต์ในยุครัตนโกสินทร์ ได้สืบทอดแบบแผนมาจากกรุงศรีอยุธยา
ตอนปลาย โดยมีเจ้าฟ้าพินทวดี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้า
ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเพียงพระองค์เดียว ที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่
เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และทรงทราบขนบธรรมเนียมในวัง
เจ้าฟ้าพินทวดี เป็นผู้บันทึกและทรงแจกแจงรายละเอียดไว้เป็นตำรา
โดยมีเจ้านายพระองค์แรกที่ทรงเข้าพิธีโสกันต์ตรงตามตำรา
ที่เจ้าฟ้าพินทวดีบันทึกไว้ คือ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาของรัชกาลที่ 1)
ในขณะที่พระราชพิธีโสกันต์ครั้งสุดท้ายที่ถูกจัดขึ้น คืองานพระราชพิธี
ที่ถูกจัดขึ้นสำหรับพระองค์เจ้าอินทุรัตนา เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2474
(แบบสากลคือ พ.ศ. 2475) โดยในงานนี้มีเชื้อพระวงศ์
ร่วมในพิธีด้วยอีก 2 พระองค์ คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา
และหม่อมเจ้ากาญจนฉัตร ฉัตรชัย งานนี้นับเป็นพระราชพิธีโสกันต์
และพิธีเกศากันต์ครั้งสุดท้าย ก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475