หนังสือพิมพ์ภาษาไทย ฉบับแรกในประวัติศาสตร์
The Bangkok Recorder (บางกอกรีกอเดอ, บางกอกรีคอร์เดอร์)
หรือชื่อไทย หนังสือจดหมายเหตุ เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรก
ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2387-2388 และอีกครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2407-2411
เขียนและพิมพ์โดย หมอบรัดเลย์ (Daniel Beach Bradley)
มิชชันนารีชาวอเมริกัน ในระยะแรกเริ่มออกเป็นฉบับรายเดือน
ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน ฉบับแรกเผยแพร่ครั้งแรก
ตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 (ปี 1844)
หนังสือพิมพ์มีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ออกปักษ์ละ 2 ใบ
มี 4 หน้า โดยฉบับภาษาไทยขนาด 6"x9" ฉบับภาษาอังกฤษจะมีขนาดใหญ่กว่าคือขนาด 12"x18" รูปแบบการจัดหน้าแบ่งออกเป็น 2 คอลัมน์
มีภาพประกอบ คือภาพวาดขายปลีกใบละสลึงเฟื้อง
ถ้าซื้อแบบพิมพ์เป็นเล่มรวมเมื่อปลายปี ขายเล่มละ 5 บาท เล่มหนึ่งมี 26 ใบ
เนื้อหาของหนังสือพิมพ์นี้มีลักษณะเป็นตำรา ข่าวทั้งต่างประเทศ
และในประเทศ ในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์
การแพทย์และการสาธารณสุข คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ
พงศาวดารต่างชาติ ราคาสินค้า และเรื่องที่น่าสนใจอื่น ๆ และมีการนำเสนอ เป็นการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์
ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยในยุคนั้น จุดประสงค์ของหนังสือพิมพ์เล่มแรกฉบับนี้ หมอบรัดเลย์พยายามเน้นให้คนเห็นว่า "หนังสือพิมพ์คืออะไร
มีความสำคัญอย่างไร หมอพยายามชี้ให้เห็นว่าหนังสือพิมพ์นั้น
มีคุณต่อบ้านเมืองเป็นอันมาก เป็นแสงสว่างของบ้านเมือง คนชั่วเท่านั้น
ที่กลัวหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าหนังสือพิมพ์จะประจานความชั่วของตน
หมอบรัดเลย์ ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ
ไว้ในเล่มที่ 2 ใบที่ 24 (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410) โดยให้เหตุผลว่า
เป็นเพราะขาดทุน และรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน