สายพันธุ์ดอกไม้สวยงาม ที่พบได้แห่งเดียวในโลกที่ประเทศไทย
มะลิเฉลิมนรินทร์
(Jasminum bhumibolianum Chalermglin)
เป็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งของประเทศไทย จัดอยู่ในสกุลมะลิ (Genus Jasminum)
วงศ์มะลิ (Family Oleaceae) มีลักษณะเด่นแตกต่างจากมะลิพื้นเมือง
และมะลิชนิดอื่นๆที่มีอยู่ทั่วโลก คือมีกลีบเลี้ยงแหลม หนาแข็งขนาดใหญ่
จำนวน 4-5 ซี่ รองรับดอกสีขาวที่มีกลีบดอก 6-8 กลีบ
และมีกระเปาะเกสรเพศผู้สีเหลืองเด่นชัด กระจายพันธุ์อยู่บนเนินเขาหินปูนเตี้ยๆ
ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 715 เมตร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
มะลิเฉลิมนรินทร์ เป็นไม้เถาเลื้อย กิ่งยอดเรียวเล็ก เรียบ
ใบรูปรีหรือรูปหอกกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบเป็นตุ่มแหลม ใบหนา
สีเขียวเข้มเป็นมัน กว้าง 3 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร
เส้นแขนงใบมี 3-4 คู่เห็นไม่เด่นชัด ก้านใบยาว 4-5 มิลลิเมตร
มีใบประดับเรียวยาว 5-6 มิลลิเมตร ช่อดอกออกที่ปลายกิ่งยอด
หรือปลายกิ่งข้าง มีดอกย่อย 7-13 ดอก กลีบเลี้ยง แหลม
หนาแข็งขนาดใหญ่จำนวน 4-5 ซี่ ยาว 3-4 มิลลิเมตร
หลอดกลีบดอกยาว 12-15 มิลลิเมตร ตอนบนมีกระเปาะเกสรเพศผู้
สีเหลืองเด่นชัด กลีบดอกสีขาว 6-8 กลีบ แต่ละกลีบกว้าง 3-4 มิลลิเมตร
ยาว 10-12.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบเป็นติ่งแหลมสั้น
ผลกลมรี 1-2 ผล กว้าง 9 มิลลิเมตร ยาว 11 มิลลิเมตร
เมื่อสุกสีดำ เป็นมะลิที่เจริญเติบโตช้า
เมื่อเทียบกับมะลิชนิดอื่นๆ ออกดอกบานในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
ส่งกลิ่นหอมแรง มีผลแก่เดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม
พืชชนิดนี้ถือเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น หรือสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว
(Endemic species, Endemism) โดยพบได้ที่เดียวในโลก
ที่ประเทศไทย ในพื้นที่ของจังหวัดเลย