โจนออฟอาร์ก ไพร่สาวผู้กอบกู้ฝรั่งเศส ถูกเผาทั้งเป็น😭😭😭
นักบุญ โจนออฟอาร์ก (Saint Joan of Arc หรือ Sainte Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) เกิดในครอบครัวชาวนา เมื่อปี 1412 ในหมู่บ้านโดมเรมี (Domrémy) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ระหว่างการทำสงครามกับอังกฤษ ในสงครามที่เรียกกันว่า “สงครามร้อยปี”
บัลลังก์ของฝรั่งเศสในขณะนั้น อยู่ระหว่างการแย่งชิง ระหว่างมกุฎราชกุมารชาลส์ (Charles ภายหลังคือกษัตริย์ชาลส์ที่ 7) รัชทายาทของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 แห่งราชวงศ์แวลัวส์ (Valois) กับกษัตริย์เฮนรีที่ 6 แห่งแลงคาสเตอร์ (Langcaster) ของอังกฤษ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับฟิลิปที่ 3 (Philip the Good) ดยุคแห่งเบอร์กันดี ที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ทางตอนเหนือของประเทศ
ทั้งนี้ กษัตริย์เฮนรีที่ 6 อ้างสิทธิในบัลลังก์ฝรั่งเศส ตามสนธิสัญญาแห่งทรัวส์ ซึ่งระบุให้มีการอภิเษกสมรส ระหว่างกษัตริย์เฮนรีที่ 5 พระราชบิดาของพระองค์ กับแคเธอรีนแห่งแวลัวส์ พระธิดาของกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 ของฝรั่งเศส และให้กษัตริย์เฮนรีที่ 5 มีสถานะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ฝรั่งเศส ต่อจากกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 แต่การที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 6 และกษัตริย์เฮนรีที่ 5 สวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกัน และกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ของอังกฤษ ยังอยู่ในวัยแบเบาะ มกุฎราชกุมารชาลส์ จึงลุกขึ้นมาอ้างสิทธิ สืบบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา
แต่เมื่อกษัตริย์ชาลส์ที่ 6 สวรรคตไปแล้วกว่า 5 ปี มกุฎราชกุมารชาลส์ ก็ยังไม่ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก เนื่องจากตามราชประเพณี พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ฝรั่งเศส ต้องทำที่เมืองแร็งส์ (Reims) ซึ่งขณะนั้น อยู่ในความยึดครองของศัตรูของพระองค์ ทำให้สถานะในบัลลังก์ของพระองค์ ยังไม่มั่นคง
โดมเรมี บ้านเกิดของโจน ตั้งอยู่บริเวณชายแดนเขตอำนาจ ของมกุฎราชกุมาร และฝ่ายเบอร์กันดี ที่อยู่ข้างอังกฤษ ภายใต้ภาวะที่สั่นคลอน จากความขัดแย้งของสองฝ่าย โจนอ้างว่า เธอได้รับ “เสียงสวรรค์” บอกทาง จากนักบุญของชาวคริสต์ 3 ท่านคือ เซนต์ไมเคิล (St. Michael) เซนต์แคเธอรีน แห่งอเล็กซานเดรีย (St. Catherine of Alexandria) และเซนต์มากาเร็ต แห่งแอนติออค (St. Margaret of Antioch) เพื่อช่วยมกุฎราชกุมารชาลส์ ได้ขึ้นครองราชย์
ในเดือนพฤษภาคม 1428 โจนในวัย 16 ปี เดินทางจากบ้านเกิด ไปยังวูคูเลอร์ (Vaucouleurs) ที่ตั้งของฐานทัพ ที่ภักดีต่อชาลส์ที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอร่วมรบ แต่ถูกปฏิเสธ เธอเดินทางไปยังวูคูเลอร์อีกครั้ง ในเดือนมกราคม ปี 1429 ด้วยบุคลิกที่แน่วแน่ และเปี่ยมด้วยศรัทธา ทำให้เธอได้รับการยอมรับจากเหล่าทหารและได้ร่วมเดินทางไปยังชีนง (Chinon) เพื่อเข้าเฝ้าชาลส์
เบื้องต้นชาลส์ ทรงลังเลว่า จะให้โจนได้เข้าเฝ้าหรือไม่ แต่เมื่อผ่านไปสองวัน ชาลส์ยอมให้เธอเข้าเฝ้า โจนจึงได้บอกความตั้งใจกับพระองค์ว่า เธอต้องการออกรบกับอังกฤษ พร้อมสัญญาว่า จะทำให้พระองค์ ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก ที่เมืองแร็งส์ หลังจากนั้น เธอต้องถูกทดสอบและไต่สวน โดยเหล่านักบวช เธออ้างกับเหล่านักบวชว่า เธอจะพิสูจน์ถึงภารกิจ ที่เธอได้รับจากสวรรค์ ในการสู้รบที่ออร์เลอองส์ (Orleans) ที่กำลังถูกโจมตีโดยอังกฤษ มานานหลายเดือน และองค์มกุฎราชกุมาร น่าจะทรงได้รับคำแนะนำให้ใช้ประโยชน์ จากความพิเศษของเธอ ในการศึกครั้งนี้
ชาลส์ มอบกำลังทหารกองเล็กๆ ให้กับเธอ เพื่อเดินทางไปยังออร์เลอองส์ การมาถึงของเธอ พร้อมกับกำลังเสริมและเสบียง ช่วยสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับเหล่าทหารฝรั่งเศส เธอนำทัพออกรบหลายครั้ง ในการรบเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1429 เธอถูกยิงด้วยธนู แต่หลังจากที่เธอทำแผลไม่นาน ก็รีบกลับสู่สนามรบสร้างแรงกระตุ้นให้กับทหารฝรั่งเศส และทำให้อังกฤษเสียท่า ตัดสินใจถอนทัพออกจากออร์เลอองส์ ในวันถัดมา
ในช่วง 5 สัปดาห์หลังจากนั้น ทัพฝรั่งเศส ได้ชัยชนะเหนือทัพอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 16 กรกฎาคม กองทัพฝรั่งเศส ได้เดินทางไปยังแร็งส์ ซึ่งยอมเปิดประตูเมือง เพื่อต้อนรับโจนและชาลส์ และวันถัดมา ชาลส์ ได้ประกอบพิธีราชาภิเษก ขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส ตามราชประเพณี
ศึกครั้งสำคัญถัดมาคือ ความพยายามบุกยึดปารีส ในวันที่ 8 กันยายน โจนเรียกร้องชาวเมือง ให้ยอมยกเมืองให้กับกษัตริย์ชาลส์ แต่ความพยายามของเธอไม่เป็นผล เธอถูกเล่นงานได้รับบาดเจ็บ แต่ยังพยายามกระตุ้นให้ทหาร เดินหน้าบุกต่อไป ก่อนเธอต้องยอมล่าถอย และกษัตริย์ชาลส์ มีพระบัญชาให้ถอนทัพ
ศึกสุดท้ายของโจน คือการศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี ในเมืองคองเพียญน์ (Compiègne) ซึ่งเธอสามารถขับไล่ฝ่ายเบอร์กันดีไว้ได้ 2 ครั้ง แต่สุดท้าย เธอก็ถูกฝ่ายเบอร์กันดีจับตัวไว้ได้ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 1430 ด้วยความช่วยเหลือจากทัพเสริมของอังกฤษ ก่อนถูกขายให้กับอังกฤษ ด้วยค่าหัว 10,000 ฟรังส์ โดยมีคณะเทววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งเข้าข้างฝ่ายอังกฤษ เป็นตัวกลางในการเจรจา ขณะที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ก็มิได้พยายามช่วยเหลือเธอแต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์ กำลังพยายามหาข้อตกลง ในการสงบศึกกับฝ่ายเบอร์กันดี
อาชญากรรมของโจน แม้จะเป็นที่รู้กันว่า คือความผิดต่อกษัตริย์แห่งแลงคาสเตอร์ แต่เธอถูกนำตัวขึ้นพิจารณาต่อศาลศาสนา เนื่องจากบรรดานักเทววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยปารีส ยืนยันให้เอาผิดกับเธอฐานประพฤติตนนอกรีต เนื่องจากความเชื่อของเธอ มิได้สอดคล้องกับแนวทางของศาสนจักรในขณะนั้น และการที่เธออ้างว่า สามารถสื่อสารกับพระเจ้าได้โดยตรง ผ่านนิมิต หรือเสียงจากสวรรค์ ย่อมเป็นภัยคุกคามต่อบรรดานักบวช และการเล่นงานเธอ ยังส่งผลสะเทือนไปถึงกษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ซึ่งย่อมถูกมองได้ว่าบัลลังก์ของพระองค์ ได้มาด้วยความช่วยเหลือของ “แม่มด”
คณะไต่สวน ใช้เวลาอยู่นาน เพื่อให้โจนยอมรับสารภาพ ในครั้งที่เธอป่วยหนัก เธอขอโอกาสที่จะได้รับสารภาพ แต่คำสารภาพของเธอ ก็มิได้เป็นการยอมรับ ต่อการปรักปรำตามข้อกล่าวหา คณะไต่สวน จึงข่มขู่ที่จะทำร้ายเธอ โจนประกาศว่า ต่อให้ทรมานจนตาย ก็จะไม่ตอบอย่างอื่น และจะขอยืนยันคำเดิม พร้อมกล่าวต่อไปว่า คำให้การใดๆ ของเธอหลังจากนี้ หากเปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นเพราะถูกบิดเบือน ด้วยการใช้กำลังบังคับ คณะไต่สวน จึงตัดสินใจส่งตัวโจน ไปพิจารณาต่อในศาลอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจลงโทษพวกนอกรีต ด้วยโทษตายได้
เมื่อได้รู้คำตัดสิน ว่าจะถูกส่งตัวไปยังศาลอาณาจักร โจนประกาศว่า จะยอมทำทุกอย่าง ที่ศาสนจักรต้องการ เธอจึงถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต พร้อมคำสั่งให้สวมเสื้อผ้าอย่างผู้หญิง ซึ่งเบื้องต้น เธอยอมปฏิบัติตาม แต่สองสามวันถัดมา คณะไต่สวน ได้เดินทางมาพบเธอ และพบว่า เธอสวมเครื่องแต่งกายอย่างผู้ชายอีก เธออ้างว่า เซนต์แคเธอรีน และเซนต์มากาเร็ตได้มาพบ และตำหนิว่าทรยศ ด้วยการยอมรับสารภาพต่อศาสนจักร ทำให้ศาลศาสนาตัดสินว่า เธอประพฤตินอกรีตอีกครั้ง และตัดสินใจส่งตัวโจน ต่อศาลอาณาจักร
ในวันที่ 30 พฤษภาคม 1431 ด้วยวัยเพียง 19 ปี โจนถูกเผาทั้งเป็น ด้วยข้อกล่าวหาว่า เป็นพวกนอกรีต หลังเหตุการณ์นี้กว่า 20 ปี กษัตริย์ชาลส์ที่ 7 ได้สั่งให้รื้อคดีของโจน ขึ้นมาสอบสวนใหม่อีกครั้ง และสุดท้าย พระสันตะปาปาคาลิกส์ตุสที่ 3 (Calixtus III) ก็ได้สั่งให้รื้อการพิจารณาคดี ตามฎีกาของครอบครัวของโจน คณะไต่สวนซึ่งพิจารณาคดี ระหว่างปี 1455-1456 ได้มีคำสั่งยกคำตัดสินเดิม ในปี 1431 และในปี 1920 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ได้ประกาศให้โจนเป็นนักบุญ แห่งคริสตจักรคาทอลิก
ที่มา: wikimapia