ถ้ำผาหยุนกัง พลังศรัทธาแห่งบวรพุทธศาสนา
นับตั้งแต่ภิกษุผู้ใหญ่นาม ถันเยี่ยนเฟิ่ง ได้ดำริให้มีการขุดเจาะถ้ำผา ที่เชิงเขาอู่โจวซัน จวบจนถึงวันนี้ ‘ถ้ำผาหยุนกัง’ ได้เปล่งพลังศรัทธาแห่งบวรพุทธศาสนา มายาวนานถึง 1,500 กว่าปีแล้ว ถ้ำผาหยุนกังใช้เวลาในการดำเนินการขุดเจาะถ้ำและช่องเขา ทั้งที่ปรากฏเป็นคูหาใหญ่และเล็ก รวมทั้งสิ้นเกือบ 50 ปี ใช้แรงงานช่าง 40,000 กว่าคน ในจำนวนนี้ มีผู้มีจิตศรัทธาจากประเทศศรีลังกา เดินทางมาร่วมในการรังสรรค์ผลงานครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย
กลุ่มโบราณสถานถ้ำผาหยุนกัง ที่เห็นในปัจจุบัน คือส่วนที่ทางรัฐบาลจีน ได้ประกาศในปีค.ศ.1961 ให้เป็นส่วนหนึ่ง ในการดูแลรับผิดชอบ ของหน่วยงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ที่สำคัญของชาติ อาณาบริเวณทั้งหมด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ถ้ำผาทิศตะวันออก กลาง และทิศตะวันตก โดยที่กึ่งกลางคูหาในแต่ละถ้ำ จะมีแท่นบูชาพระพุทธรูป รูปคชสารถวายรวงผึ้ง และช่องเขาใหญ่ กลาง เล็ก กระจายอยู่แน่นขนัด
บริเวณถ้ำผาทิศตะวันออก ส่วนใหญ่มีหินสลักรูปเจดีย์เป็นหลัก ซึ่งเดิมทีเรียก ‘ถ้ำเจดีย์’ ส่วนถ้ำผาส่วนกลางในแต่ละถ้ำ จะแบ่งเป็นห้องด้านหน้าและหลัง มีพระประธาน ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง ทั่วผนังถ้ำและตามกำแพง เต็มไปด้วยประติมากรรมสลักนูน
สำหรับบริเวณถ้ำทิศตะวันตก เต็มไปด้วยช่องเขาขนาดกลางและเล็ก และเสริมแต่งด้วยแท่นบูชาขนาดย่อม งานสลักในถ้ำส่วนนี้ ได้รับการบูรณะหลังสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะ ภายหลังจากย้ายเมืองหลวงจากเว่ยเหนือ มาที่เมืองลั่วหยัง ในยุคราชวงศ์เหนือ
งานศิลปะ ที่ปรากฏอยู่ทั่วถ้ำผาหยุนกัง งามวิจิตร ด้วยฝีมือแกะสลักอันละเอียดลออ อีกด้านหนึ่ง ก็เต็มไปด้วยมนต์ขลัง อลังการ โอ่อ่าน่าเกรงขาม และยังสะท้อนถึงศิลปะ และเทคนิคการสลักเสลาหินผาอันล้ำเลิศ ที่เจริญรุ่งเรือง และตกทอดมาจากต้นแบบ ในสมัยฉิน-ฮั่น นอกจากนี้ ยังผสมผสานศิลปะคันธาระของอินเดีย มาไว้อย่างกลมกลืน นับเป็นงานศิลปะ ที่ควรค่าในการศึกษา ทั้งในแง่ศิลปศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์
ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาเรื่องราว ที่อยู่บนภาพสลักนูนในถ้ำผาแห่งนี้ ยังเก็บงำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีค่ายิ่งต่อการศึกษาด้านโบราณคดี คติความเชื่อ และดนตรี ในยุคโบราณด้วย
ประติมากรรมรูปสลักนูน ที่ถ้ำผาหยุนกัง เกิดขึ้นจากการเจาะสกัดหินบนผนังเขา มีความยาวกว้างใหญ่ จากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร ประกอบด้วยถ้ำผาใหญ่ 45 คูหา และช่องเขาใหญ่เล็ก ซึ่งเป็นแท่นบูชาพระพุทธรูปที่สำคัญ 252 แท่น รูปสลักนูน ที่ปรากฏอยู่ทั้งภายในและภายนอก มากกว่า 51,000 ชิ้น
รูปสลักขนาดใหญ่สุด สูงถึง 17 เมตร เล็กสุด สูงไม่กี่เซนติเมตร รูปสลักพระโพธิสัตว์ ยักษ์ และนางฟ้าอรชร อ่อนช้อย มีชีวิตชีวา งานสลักบนยอดเจดีย์ วิจิตรตระการตา สะท้อนศิลปะแนวเหมือนจริง (เรียลลิสม์ Realism) ในยุคสมัยฉิน-ฮั่น ( 221-220 ก่อนคริสต์ศักราช) ขณะเดียวกัน ยังเป็นต้นธารของศิลปะแนวจินตนิยม (โรแมนติก Romanticism) ในยุคราชวงศ์สุย-ถัง (ค.ศ.581-907)
รูปสลักพระโพธิสัตว์ ในคูหาที่ 11 ซึ่งตกแต่งด้วยเสาเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม แกะสลักทั้งสี่ด้าน ด้วยรูปพระพุทธเจ้า ด้านตรง สลักรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งได้รับการดูแลรักษาอย่างสมบูรณ์ ตามผนัง เจาะเป็นช่องแท่นบูชาเล็ก ภายใน บรรจุพระพุทธรูปองค์เล็ก และรูปสลักต่างๆ
เนื่องจากใช้เวลาในการก่อสร้าง ข้ามรัชกาลถึงครึ่งศตวรรษ ทำให้รูปสลักหินที่ถ้ำผาแห่งนี้ มีความแตกต่าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัยด้วยกัน คือ ยุคแรก ยุคกลาง และยุคหลัง
โดยรูปสลักในยุคแรกนั้น จะมีลักษณะยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม เรียบง่ายแต่มีพลัง แสดงออกด้วยอารมณ์บริสุทธิ์ใสซื่อ ในขณะที่รูปสลักของยุคกลาง กลับมีรายละเอียดมาก งานสลักประณีตบรรจง การประดับตกแต่งด้วยเครื่องทรงอลังการ ซึ่งสะท้อนศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ ในสมัยราชวงศ์เหนือ ที่เต็มไปด้วยลวดลายงามวิจิตร ขณะเดียวกัน ก็โอ่อ่ารโหฐาน
ส่วนรูปสลักในยุคหลังนั้น ถึงแม้จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่มีฝีมือการแกะสลัก ที่สามารถถ่ายทอดภาพลักษณ์ของบุคคล ที่มีความสะโอดสะอง และความรูปงาม หล่อเหลา ได้อย่างมีแบบแผน ทั้งนี้ รูปแบบการสลักหินเช่นนี้ ยังถือเป็นแม่แบบของความงามทางศิลปะ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แถบภาคเหนือของจีน ในเวลาต่อมา
รูปสลักที่ถ้ำผาหยุนกัง นอกจากจะนำเสนอเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับมหรสพดนตรี เครื่องดนตรีโบราณ การละเล่น กายกรรมต่างๆ ในยุคอดีต ซึ่งเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ยังสะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา และวิถีชีวิต ในสังคมยุคราชวงศ์เหนือ ที่หาดูได้ยากอีกด้วย
ในด้านศิลปะแล้ว ถ้ำผาหยุนกัง มีลักษณะเป็นพุทธศิลป์แบบจีน ที่มีวิถีการเจริญงอกงาม มาจากพุทธศิลป์ของอินเดีย และพุทธศิลป์แถบเอเชียกลาง เป็นกระจก สะท้อนถึงกระบวนการสรรสร้างประติมากรรม ทางศาสนาพุทธ ที่ค่อยๆ แผ่ขยายเข้ามาสู่ประเทศจีน และสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตชนชาวจีนซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน ด้วยเหตุนี้ จึงพัฒนาขึ้นเป็นศิลปะเฉพาะตัว นามว่า ‘ศิลปะแบบหยุนกัง’ ซึ่งกลายมาเป็นจุดเปลี่ยน ในเส้นทางการเจริญเติบโตของพุทธศิลป์ในจีน ที่สำคัญ และยังส่งอิทธิพล ถึงงานศิลปะถ้ำในที่ต่างๆ ของประเทศด้วย อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะถ้ำแบบหยุนกัง เป็นจุดกำเนิด ของรูปแบบงานศิลปะถ้ำเชื้อสายจีนโดยแท้
ถ้ำผาหยุนกัง ที่เมืองต้าถง เป็นสุดยอดของงานศิลปะรูปสลักหินของจีน แห่งยุคศตวรรษที่ 5 และเป็นหนึ่งในสาม ของขุมทรัพย์ด้านศิลปะ การแกะสลักหินที่ลือนามไปทั่วโลก ทั้งนี้ ถ้ำผาอันโด่งดังของประเทศจีนอีกสองแห่งคือ ถ้ำผาหลงเหมิน ในมณฑลเหอหนัน และถ้ำผาม่อเกาคู ที่เมืองตุนหวง ในมณฑลกันซู่ ซึ่งงานประติมากรรม ที่ถ้ำผาทั้งสองแห่งนี้ ก็ได้รับอิทธิพลจากงานแกะสลักหิน ของถ้ำผาหยุนกัง ระดับมากน้อย แตกต่างกันไปด้วย
เชิงเขาอู่โจวซัน ห่างจากเมืองต้าถงไปทางทิศตะวันตก 16 กิโลเมตร ในมณฑลซันซี เริ่มสร้างในปี ค.ศ.453 (ปีที่ 2 แห่งรัชสมัยซิงอัน ราชวงศ์เหนือ) สร้างเสร็จในปี ค.ศ.494
อ้างอิงจาก: wikipedia