จังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดในปัจจุบัน
จังหวัดระนอง (Ranong Province)
เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ของประเทศไทย
มีพื้นที่ประมาณ 3,298 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ติดต่อทางตะวันออก
กับจังหวัดชุมพร, ทางใต้ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดพังงา
และทางตะวันตกติดกับประเทศพม่าและทะเลอันดามัน
จังหวัดระนองมีลักษณะพื้นที่เรียวและแคบ มีความยาวถึง 200 กิโลเมตร
และมีความแคบในบริเวณอำเภอกระบุรีเพียง 9 กิโลเมตร จังหวัดระนอง
เคยเป็นชุมชนโบราณที่มีการติดต่อค้าขายกับอินเดียและจีนมาก่อน
ในอดีต อุตสาหกรรมหลักของเมืองระนองคือการทำเหมืองดีบุก แต่ตอนนี้
เหมืองส่วนใหญ่ถูกขุดหมดแล้ว การทำเหมืองดินเผา และการประมง
ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในปัจจุบันของประชากรในจังหวัด
ชื่อระนอง บ้างอธิบายหมายถึง "แร่เนืองนองคือท้องถิ่นมีแร่อุดมสมบูรณ์
จากแร่เนืองนอง" จึงกลายเสียงเป็นระนอง บ้างว่าอาจมาจากคนที่ชื่อ
นายนอง เป็นผู้นำและเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทาน
บรรดาศักดิ์เป็นหลวงระนอง ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2
คำว่า "ระนอง" ยังมีเสียงใกล้เคียงภาษาอินโดนีเซียว่า "ระนาห์" (Ranah)
หมายถึงทุ่งหญ้าหรือเทือกเขาที่ทอดยาว (Kamus Indonesia Inggris)
ระนองอาจเป็นคำมลายู คือ "ระ" มาจากเสียงคำท้ายของกัวลา (Guala)
แปลว่าปากน้ำ ส่วนคำว่า "นอง" หมายถึงชื่อของแม่น้ำนอง ซึ่งเป็นลำน้ำ
สายสั้น ๆ ไหลลงสู่ปากน้ำกระ ระนองจึงหมายถึงปากน้ำนอง
หรือปากแม่น้ำระนอง นอกจากนั้นยังสันนิษฐานว่าอาจเป็นคำยืม
มาจากภาษาพม่า คือคำว่า "ระนัว" (Ranou) หมายถึงผู้ซึ่งอยู่ด้วยความหวัง
ระนองเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด และประชากรอาศัยอยู่เบาบางที่สุด
ของจังหวัดทางภาคใต้ของไทย โดยในปี พ.ศ. 2564 ระนองมีประชากร
194,573 คน (อันดับที่ 75 ของประเทศ) ความหนาแน่นประชากร
ประมาณ 59 คน ต่อตารางกิโลเมตร (อันดับ 72) นอกจากนี้
ระนองยังเป็นจังหวัดเดียวในเขตภาคใต้ ที่มีประชากรน้อยกว่า 2 แสนคน