หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

จักรพรรดิหย่งลี่ ผู้โดนสำเร็จโทษ โดยการรัดคอ

แปลโดย ประเสริฐ ยอดสง่า

        ในปีค.ศ. 1659 จูโหยวหลาง หรือจักรพรรดิหย่งลี่ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิงใต้ ได้หลบหนีแมนจู ราชวงศ์ชิงจากยูนนาน ลงมาอาศัยพระเจ้าอังวะ แต่กองทัพหมิงที่พ่ายแพ้ ยังคงกระจัดกระจาย ก่อความวุ่นวายในพื้นที่รัฐฉาน และพม่าตอนบน ทั้งปล้นสะดมภ์ วางเพลิง ฆ่าฟันราษฎร เป็นเวลาหลายปี  จนถึง ค.ศ. 1661  หลี่ติ้งกั๋ว แม่ทัพคนสำคัญของหมิงใต้ ผู้เคยรบชนะแมนจูหลายครั้ง ได้ยกทัพใหญ่ลงมาปิดล้อมกรุงอังวะ เพื่อรับจักรพรรดิหย่งลี่ แต่ไม่สำเร็จ

        เหตุการณ์นี้ ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในอาณาจักรใกล้เคียง   เชียงใหม่ ที่เป็นประเทศราชของอังวะ เกรงว่าทัพจีน จะยกมาตีตนด้วย จึงหันไปขอความคุ้มครองจากกรุงศรีอยุทธยา เปิดโอกาสให้สมเด็จพระนารายณ์ ขยายอำนาจไปยังดินแดนล้านนาหลายครั้ง การเกณฑ์ไพร่พลในหัวเมืองมอญ เพื่อรับศึกจีนของอังวะ ยังสร้างความไม่พอให้ชาวมอญ จนลุกขึ้นก่อกบฏ ในเมืองเมาะตะมะ แล้วเทครัว อพยพไปสวามิภักดิ์กรุงศรีอยุทธยาจำนวนมาก จนทำให้เกิดสงครามระหว่างสองอาณาจักร และทำให้สมเด็จพระนารายณ์ ตอบโต้ด้วยการขยายอำนาจ เข้าไปในดินแดนพม่า

        การปิดล้อมเมืองอังวะ ของกองทัพหมิงใต้ ยังทำให้ราษฎร ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหาร และเกิดไม่พอใจพระเจ้าอังวะ ที่รับจักรพรรดิหย่งลี่ไว้ในอุปถัมภ์  สุดท้ายพระเจ้าแปร พระอนุชา จึงแย่งชิงราชสมบัติ ส่งตัวจักรพรรดิหย่งลี่ ให้กองทัพราชวงศ์ชิง นำโดยอู๋ซานกุ้ย ราชวงศ์หมิงใต้ จึงถึงกาลอวสาน

        ยุคปลายของราชวงศ์หมิง ราชสำนัก ประสบปัญหาหลายประการ ทั้งการรุกรานของชาวแมนจู ที่สถาปนาอาณาจักรต้าชิง (大清) ขึ้น ทางตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการต่อต้านการปกครองของราชสำนัก โดยกบฏชาวนากลุ่มต่างๆ ได้แก่กลุ่มของ หลี่จื้อเฉิง (李自成)  กับจางเสี้ยนจง (張獻忠) ใน ค.ศ. 1644 (พ.ศ. 2187) หลี่จื้อเฉิงตีกรุงปักกิ่ง (北京) ราชธานีของราชวงศ์หมิงแตก  จักรพรรดิฉงเจิน(崇禎) ทรงแขวนพระศอปลงพระชนม์พระองค์เอง

        หลี่จื้อเฉิง สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ แห่งราชวงศ์ต้าซุ่น (大順) ครอบครองอิทธิพลในพื้นที่มณฑลหูเป่ย (湖北) ส่านซี (陕西)  และหูหนาน (湖南) ในปีเดียวกัน จางเสี้ยนจง ขยายอำนาจในพื้นที่เสฉวน (四川) ยึดครองเมืองเฉิงตู (成都) สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ แห่งราชวงศ์ต้าซี                   (大西)

       เวลานั้นกองทัพราชวงศ์หมิงนำโดย อู๋ซานกุ้ย (吳三桂) ได้รับคำสั่ง ให้มาปราบกบฏหลี่จื้อเฉิง แต่หลังจากอู๋ซานกุ้ยทราบข่าว การสวรรคตของจักรพรรดิฉงเจิน จึงยกทัพไปประจำการอยู่ที่ด่านซานไห่กวน (山海關) ในกำแพงเมืองจีน ทั้งหลี่จื้อเฉิงและแมนจู ต่างต้องการให้อู๋ซานกุ้ย มาสวามิภักดิ์กับตน  แต่สุดท้ายอู๋ซานกุ้ย ที่มีความขัดแย้งกับหลี่จื้อเฉิง เลือกสวามิภักดิ์ต่อแมนจู เปิดด่านซานไห่กวน ให้กองทัพชิง เข้ามากำจัดหลี่จื้อเฉิงได้สำเร็จ ต้าชิง ย้ายราชธานีมาอยู่ที่ปักกิ่ง  ส่วนอู๋ซานกุ้ย ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ผิงซีหวัง” (平西王) หรือ “อ๋องสงบประจิม” หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1647 (พ.ศ. 2190) ต้าชิงสามารถสังหารจางเสี้ยนจงได้ แต่กองทัพต้าซียังคงต่อต้านแมนจูอยู่ในเสฉวน โดยทั่วไปถือว่าราชวงศ์หมิง สิ้นสุดตั้งแต่หลี่จื้อเฉิงยึดปักกิ่งได้ และมีจักรพรรดิฉงเจิน เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีเจ้าเชื้อสายราชวงศ์หมิง สถาปนาตนเป็นจักรพรรดิสืบต่อมา ในภาคใต้ของจีน ยุคสมัยนี้ ถูกเรียกขานในประวัติศาสตร์ว่า “หมิงใต้” (南明)  โดยมีจักรพรรดิองค์แรกคือ จูโหยวซง (朱由崧) ซึ่งขึ้นครองราชย์ เป็นจักรพรรดิหงกวง (弘光) ที่เมืองหนานจิง ใน ค.ศ. 1644 (พ.ศ. 2187) 

        แต่ราชสำนักหมิงใต้ มีปัญหาความขัดแย้งภายใน ขาดความเป็นเอกภาพ จักรพรรดิหงกวงครองราชย์เพียงปีเดียว ก็ถูกกองทัพชิงตีแตก และจับสำเร็จโทษ จักรพรรดิหลงอู่ (隆武) ครองราชย์เป็นองค์ต่อมา ที่เมืองฝูโจว (福州) ประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน คือถูกต้าชิงจับสำเร็จโทษ ใน ค.ศ. 1646 (พ.ศ. 2189)    

        จูอวี้เยวี่ย (朱聿鐭) พระอนุชาของจักรพรรดิหลงอู่ หลบหนีไปกว่างโจว (廣州) สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนที่ ใช้นามรัชศกว่า เซ่าอู่ (紹武) แต่ในเวลาเดียวกัน จูโหยวหลาง (朱由榔) ผู้เป็นกุ้ยหวัง (桂王) ก็สถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิ ใช้นามรัชศกว่า “หย่งลี่” (永曆) จักรพรรดิทั้งสอง ทำศึกชิงอำนาจกัน แต่สุดท้ายใน ค.ศ. 1647 (พ.ศ. 2190) กองทัพชิง พิชิตเมืองกว่างโจว และจับจักรพรรดิเซ่าอู่ไปเป็นเชลย หลังจากครองบัลลังก์เพียง 40 วัน เหลือเพียงจักรพรรดิหย่งลี่ ผู้กลายเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย ของราชวงศ์หมิงใต้

        จักรพรรดิหย่งลี่ พยายามขยายอำนาจ ในดินแดนภาคใต้ของจีน และต่อต้านราชวงศ์ชิงได้หลายปี  บรรดาขุนศึกแห่งต้าซี ที่ต่อต้านแมนจู เช่น หลี่ติ้งกั๋ว (李定國) และซุนเข่อว่าง (孫可望)  บุตรบุญธรรมของจางเสี้ยนจง ก็เข้ามาสวามิภักดิ์ ต่อราชสำนักหมิงใต้ใน ค.ศ. 1649 (พ.ศ. 2192)  นอกจากนี้ ยังมีผู้ต่อต้านแมนจูกลุ่มอื่น มาเข้าร่วมด้วย

        หลี่ติ้งกั๋ว เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถ สามารถรบชนะกองทัพชิงได้หลายครั้ง ใน ค.ศ. 1652 (พ.ศ. 2195) เขายกทัพไปโจมตีหูหนาน กว่างซี ตีเมืองกุ้ยหลิน (桂林) แตก จนทำให้ข่งโหยวเต๋อ (孔有德) แม่ทัพฝ่ายต้าชิง เผาตัวตาย  แล้วยกไปตีเมืองเหิงหยาง (衡陽) ได้รับชัยชนะยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งสังหารองค์ชายหนี่คัน (尼堪) พระราชนัดดา ของนู่เอ๋อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤) ปฐมจักรพรรดิของต้าชิงในสนามรบ จนมีชื่อเสียงเลื่องลือ เป็นที่เกรงขามอย่างยิ่ง แต่ชื่อเสียงเกียรติยศของหลี่ติ้งกั๋ว กลับทำให้ซุนเข่อว่างอิจฉาริษยา จนทำให้เกิดความแตกแยกภายใน

        ต่อมากองทัพชิง สามารถโต้กลับ บีบให้ฝ่ายหมิงใต้ ต้องถอยร่นไปเรื่อยๆ  จนจักรพรรดิหย่งลี่ ต้องล่าถอยลงไปอยู่ที่เมืองคุนหมิง (昆明) ในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) เมื่อ ค.ศ. 1656 (พ.ศ. 2199) ปีถัดมา ซุนเข่อว่าง ที่มีปัญหากับหลี่ติ้งกั๋ว พยายามตีอวิ๋นหนานเพื่อชิงอำนาจ แต่พ่ายแพ้ ซุนเข่อว่าง จึงแปรพักตร์ไปเข้ากับต้าชิง และชักนำกองทัพชิง มาโจมตีหมิงใต้

        ใน ค.ศ. 1658 (พ.ศ. 2201) กองทัพชิง นำโดยอู๋ซานกุ้ย ยกทัพลงมายึดครองคุนหมิงได้ หลี่ติ้งกั๋ว พาจักรพรรดิหย่งลี่เสด็จหนี และพยายามจะต้านทานกองทัพชิงแต่พ่ายแพ้   

        ใน ค.ศ. 1659 (พ.ศ. 2202) จักรพรรดิหย่งลี่ เสด็จหนีไปหย่งชาง (永昌府) แล้วหนีไปยังเถิงเย่ว์ (腾越)  ก่อนจะตัดสินใจหนีลงไปพม่า ในขณะที่กองทัพหมิงใต้ นำโดยหลี่ติ้งกั๋ว เอาชนะทัพของอู๋ซานกุ้ยได้ ที่ภูเขามั่วผาน (磨盤山) แต่ได้รับความเสียหายหนัก และต้องล่าถอยลงมาในรัฐฉาน (Shan state) หรือดินแดนไทใหญ่

        พม่า ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชวงศ์หมิง ไปตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิว่านลี่ (萬曆 ครองราชย์ ค.ศ. 1572-1620) ซึ่งเป็นพระอัยกา (ปู่) ของจักรพรรดิหย่งลี่ ในช่วงที่จักรพรรดิหย่งลี่ ยังครองอำนาจอยู่ในภาคใต้ของจีน ก็เริ่มมีเหตุให้กระทบกระทั่งกับอาณาจักรอังวะ ในรัชสมัย ของพระเจ้าสีรินันทสูรธรรมราชา (Thiri Nanda Thuradamayaza သီရိနန္ဒသူရဓမ္မရာဇာ) หรือที่นิยมเรียกว่า พระเจ้าปีงดะแล (Pindale Min ပင်းတလဲမင်း) ตามชื่อเมืองส่วย ที่ทรงปกครองในอดีต โดยราชสำนักหมิงใต้พยายามเรียกร้องบรรณาการจากหัวเมืองไทใหญ่ ซึ่งจีนมองว่า เป็นประเทศราชของตน แต่เวลานั้น ก็เป็น "เมืองสองฝ่ายฟ้า" ที่ถวายบรรณาการให้พม่าด้วย จนอังวะ ต้องส่งกองทัพขึ้นไปเมืองแสนหวี ทำให้ฝ่ายหมิงใต้ถอยกลับไป 

        ต่อมาใน ค.ศ. 1651 (พ.ศ. 2194) หมิงใต้ เรียกบรรณาการจากเมืองเชียงรุ่ง จนพระอนุชาของพระเจ้าอังวะ ต้องยกกองทัพขึ้นไป แต่ถูกกองทัพหมิงใต้ตีกลับมา ในเวลานั้น มีบันทึกถึงลางร้ายในดินแดนพม่าทั้งแผ่นดินไหวและพายุ ชาวเมืองอังวะ เห็นพระอาทิตย์สองดวงบนท้องฟ้า เป็นลางบอกเหตุว่า ในอังวะ จะมีกษัตริย์สององค์ 

        ใน ค.ศ. 1659 (พ.ศ. 2202) ราชสำนักหมิงใต้ ติดต่อกับพม่า พม่ายินยอมให้เข้ามาได้ โดยให้ขุนนางปลดอาวุธ เมื่อจักรพรรดิหย่งลี่ เสด็จลงมาที่เมืองบะมอ (Bhamo 芒漠) ในรัฐฉาน จึงขอให้เจ้าฟ้าเมืองบะมอ ช่วยติดต่อกับอังวะเพื่อขอลี้ภัย พร้อมทั้งส่งบรรณาการทองคำ 100 วิซ (365 ปอนด์) ไปถวายพระเจ้าอังวะ เมื่ออังวะรับรองแล้ว จึงล่องเรือที่พม่าจัดไว้ ลงมาตามแม่น้ำอิรวดี  

        หลักฐานของจีนบันทึกว่า เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เมืองเถิงเย่ว์ มีข้าราชการตามเสด็จ ถึง 4,000 คน  แต่ยิ่งเดินทาง ผู้คนยิ่งหลบหนีไป ตอนแรกยังมีคนเหลืออยู่มากกว่า 1,450 คน  แต่สุดท้ายเหลือแค่ 646 คนเท่านั้น

        เสนาบดีพม่าได้มาต้อนรับ และเจรจาความเมืองกับฝ่ายหมิงใต้ พม่ายังคงถามถึงสถานการณ์ในรัชสมัยว่านลี่ และกล่าวถึงข้อความในตราประทับ ในราชโองการของหมิง สมัยว่านลี่ว่า ไม่เหมือนกับตราปัจจุบันของหมิงใต้ ทำให้พม่าสงสัยว่า เป็นราชโองการปลอม

        ฝ่ายหมิงใต้ ยืนยันด้วยตราของมู่เทียนปั๋ว (沐天波) ผู้ครองบรรดาศักดิ์เฉียนกั๋วกง (黔國公) และมีตำแหน่งขุนพลพิชิตทักษิณ (征南將軍) ที่ตามเสด็จมาด้วย สกุลมู่ได้ครองบรรดาศักดิ์นี้ มาตั้งแต่ต้นราชวงศ์หมิง และเป็นเจ้าศักดินา ในมณฑลอวิ๋นหนาน รัฐต่างประเทศ ที่จะติดต่อกับจีน ผ่านทางอวิ๋นหนาน ต้องติดต่อผ่านสกุลมู่ และประทับตรานี้เสมอ ด้วยเหตุที่ตรานี้ยังเหมือนเดิม พม่าจึงไม่ซักถามต่อ

        ในเดือน 3 ของ ค.ศ. 1659 (พ.ศ. 2202) มู่เทียนปั๋ว กับขุนนางหลายคน ทูลขอให้จักรพรรดิไปเข้าร่วมกับกองทัพหลี่ติ้งกั๋ว แต่ไม่สำเร็จ มู่เทียนปั๋ว ยังเสนออัญเชิญจักรพรรดิ ไปพำนักที่เมืองเขิน (孟艮 เชียงตุง) เพื่อร่วมมือกับหลี่ติ้งกั๋ว แต่ถูกหม่าจี๋เสียง (馬吉翔) ขุนนางผู้ใหญ่คัดค้าน เดือน 5 ของปีเดียวกัน จักรพรรดิหย่งลี่ เสด็จถึงเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะ โปรดให้จักรพรรดิหย่งลี่ และข้าราชสำนักหมิง ไปอยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing) ที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับเมืองอังวะ ซึ่งชาวพม่าสร้างบ้านเรือน ทำด้วยเครื่องผูก มีกำแพงเมือง เป็นระเนียดไม้ไผ่  จักรพรรดิหย่งลี่ประทับในเรือน ในขณะที่ขุนนาง ต้องหาไม้ และไม้ไผ่ปลูกเรือนกันเอง

        ในเวลานั้น กองทัพหมิง ที่ถูกแมนจูตีแตกพ่าย ไร้การควบคุม ได้ทำการปล้นสะดมตั้งแต่เสฉวน ลงมาถึงดินแดนไทใหญ่ และพม่าตอนบนหลายแห่ง ยึดครองเมืองนาย (Mone) เมืองยองห้วย (Nyaungshwe)  รบชนะกองทัพพม่าที่เวตวีน (Wetwin) ใกล้เมืองเมมฺโย (Maymyo)  ยึดครองตองบะลู (Taungbalu) และตะดาอู (Tada-U) ที่อยู่ใกล้เมืองอังวะ ชาวพม่าถูกฆ่าฟันล้มตายจำนวนมาก หลายคนวิ่งหนีกองทหารหมิง ไปในแม่น้ำมยิตแหง่ (Myitnge River) จนจมน้ำตาย บ้านเรือนวัดวาอาราม ถูกปล้นและเผาทำลาย จนพระสงฆ์ต้องหนีเข้าป่า จักรพรรดิหย่งลี่ ทรงแจ้งกับพม่าว่า การกระทำของกองทัพหมิง ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระองค์ สอดคล้องกับหลักฐานจีนว่า กองทัพของหลี่ติ้งกั๋ว ได้เข้าปล้นสะดม วางเพลิงสังหารราษฎรพม่าไปนับพันลี้ ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก แต่พม่า ยังคงให้เกียรติจักรพรรดิหย่งลี่อยู่ เพราะเกรงว่า หากทำอะไรรุนแรง จะส่งผลร้ายตามมา

        หลักฐานดัตช์รายงานว่า ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1659 (พ.ศ. 2202) ทหารม้าจีนจากอวิ๋นหนาน ราว 4,000 คน ซึ่งดัตช์เรียกว่า “บาสเทียด ไชนีส” ได้นำลูกเมียหลบหนีแมนจูลงมา แล้วโจมตีเมืองอังวะอย่างหนัก  พระเจ้าอังวะ ทรงส่งกองทหาร 30,000 นาย ม้าจำนวนหนึ่ง และช้างศึก 30 ช้างไปรับศึก โดยไปปะทะกับทัพจีนเหนือเมืองอังวะ 6 ไมล์ แต่พ่ายแพ้ กองทัพอังวะ 1 ใน 3 ถูกฆ่า หรือจมน้ำตาย ขณะหลบหนีข้ามแม่น้ำสาละวิน 

        กองทัพจีน ได้รุกเข้ามายึดชุมชนชาวต่างชาติ นอกเมืองอังวะ และโจมตีเมืองอย่างรุนแรงหลายครั้ง แต่พงศาวดารพม่าระบุว่า ฝ่ายอังวะ สามารถต้านทานไว้ได้ โดยอาศัยพลทหารปืนคริสเตียน (เชื้อสายเชลยโปรตุเกส) สอดคล้องหลักฐานดัตช์ที่ระบุว่า ในศึกนั้น ชาวอังกฤษชื่อ ริชาร์ด โคแกน (Richard Cogan) ได้ยิงปืนสังหารหัวหน้าของชาวจีนไปสองคน ทำให้ทหารจีนเสียขวัญ แตกกระจาย พระเจ้าอังวะ ทรงส่งกองทัพหนุนไปเพิ่ม จนทัพจีนล่าถอยไป โดยปืนที่ใช้ป้องกันเมืองเป็นปืนอังวะ ที่ได้รับมาจากบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Vereenigde Oost Indische Compagnie; VOC) ประกอบด้วยปืนใหญ่ประจำเรือ (bassen) และปืนใหญ่ขนาดเล็ก ที่เคลื่อนย้ายได้ (prinsestukje)

        แม้ว่าพม่า จะรบชนะในศึกนั้น แต่ในช่วง ค.ศ. 1659-1661 (พ.ศ. 2202-2204) กองทัพหมิง ได้ตั้งค่ายไว้ใกล้เมืองอังวะ สร้างความเสียหายไปทั่วดินแดนพม่าตอนบน ราษฎร ต้องอพยพหลบหนีไปทางตะวันตก  กองทัพหมิง ยังโจมตีเมืองพุกาม ขับไล่กองทัพพม่า และจับเจ้าชายบางองค์ไปด้วย เอกสารของรัฐที่ใช้ภาษาไท เช่น อยุทธยา ล้านนา เรียกกองทัพจีนเหล่านี้ว่า “ฮ่อ” หรือ “ห้อ” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกชาวจีนที่เดินทางลงมาจากมณฑลอวิ๋นหนาน

        ค.ศ. 1660 (พ.ศ. 2203)  ไป๋เหวินเสวี่ยน (白文選) แม่ทัพของหมิงใต้ นำทหารไปอยู่ที่เมืองแสนหวี สามารถรวบรวมไพร่พลได้มากกว่า 10,000 นาย  เมื่อถึงเดือน 7 ไปตั้งอยู่ที่เจียงหู่ (江浒) และแจ้งต่อพม่าว่า จะไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิหย่งลี่ แต่ถูกปฏิเสธ จึงยกทัพลงมาตีเมืองอังวะ แต่ไม่สำเร็จ และกลับไปสมทบกับหลี่ติ้งกั๋ว ที่เมืองเชียงตุง

        ก่อนหน้านั้น เมื่อหลี่ติ้งกั๋ว ยกเข้ามาในพม่า เหลือไพร่พลไม่ถึงพันคน แต่รวมกำลังกับกองทัพหมิง กลุ่มอื่น จนมีกำลังหลักหมื่น แล้วยกทัพไปตีเมืองเชียงตุงแตก เนื่องจากเมืองเชียงตุง อุดมด้วยข้าวปลาอาหาร กองทัพหมิงใต้ จึงใช้เป็นฐานที่มั่นจนฟื้นฟูกำลัง จากนั้น จึงยกไปสมทบกับไป๋เหวินเสวี่ยนพร้อมกับจิบเลือดสาบานว่า จะรบชนะพม่าให้ได้ ฝ่ายพม่า เกณฑ์ไพร่พลมากกว่า 150,000 นาย (จำนวนอาจมากเกินจริง) มาปะทะกับทัพหมิง ที่เหนือแม่น้ำซีปัว (锡波)  ในเดือน 2 ของ ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) กองทัพหมิงรบชนะกองทัพพม่า อย่างยิ่งใหญ่

        จากนั้นหลี่ติ้งกั๋ว และไป๋เหวินเสวี่ยน จึงยกกองทัพลงล้อมเมืองอังวะ เพื่อรับจักรพรรดิหย่งลี่  เหตุการณ์นี้ ถูกกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาว่า “ชาวเมืองฮ่อไซร้ ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ จะเอาฮ่ออูทิ้งผา พาฉกรรจ์อพยพมาประมาณ ๑,๐๐๐ หนีไปพึ่งอยู่เมืองอังวะนั้น ”   (อูทิ้งผา มาจากภาษาพม่า อูตีบวา (ဥတည်ဘွား Utibwa อูตญ์ภฺวา)  เป็นคำที่พม่าใช้เรียกจักรพรรดิจีน หรือผู้ปกครองมณฑลอวิ๋นหนาน)

        ก่อนหน้าที่ทัพหมิง จะยกลงมาล้อมเมืองอังวะ ปรากฏในหมายรับสั่งของพม่า ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 1660 (พ.ศ. 2203) ให้พระอนุชาของพระเจ้าอังวะสองพระองค์ คือ มังรายกฺยอถาง (Min Ye Kyaw Htin) พระเจ้าตองอู  และมังรายกฺยอของ (Min Ye Kyaw Gaung) พระเจ้าแปร (Pye Min) ยกไพร่พลเมืองละ 1,000 คน ขึ้นมาช่วยป้องกันเมืองอังวะจากทัพจีน  ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับข้าศึก และน้อยกว่าการเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองในอดีตมาก 

        สงครามครั้งนี้ ยังทำให้อังวะเสื่อมอำนาจ ในการควบคุมเมืองประเทศราช เช่น เชียงใหม่ที่ได้ข่าวว่าจีนยกทัพมาล้อมอังวะ เกิดความกลัวว่า จีนจะยกทัพมาตีเชียงใหม่ด้วย ทำให้เชียงใหม่ซึ่งขาดที่พึ่ง ส่งทูตมายังกรุงศรีอยุทธยา เพื่อขอกำลังไปป้องกันเมือง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงขยายอำนาจไปยังเมืองเชียงใหม่ และดินแดนล้านนาหลายครั้ง

        อังวะ ยังต้องเกณฑ์ไพร่พลจากหัวเมืองมอญ โดยมังนันทมิตร อาของพระเจ้าอังวะ ผู้ครองเมืองเมาะตะมะ ได้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองขึ้นของเมืองเมาะตะมะ ขึ้นไปช่วย 3,000 คน   แต่ชาวมอญบางส่วนหลบหนีกลับมา มังนันทมิตร จึงสั่งให้จับชาวมอญที่หลบหนี มาใส่ตารางแล้วเผาทั้งเป็น ทำให้ขุนนางมอญลุกขึ้นก่อกบฏ เผาเมืองเมาะตะมะ กวาดต้อนครัวมอญ ไปกรุงศรีอยุทธยาถึง 6,000 คน กบฏมอญกลุ่มนี้ได้รับการอุปถัมภ์จากสมเด็จพระนารายณ์ จนเป็นชนวนให้เกิดสงคราม ระหว่างอังวะกับอยุทธยาในอนาคต และทำให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงตอบโต้ด้วยการขยายอำนาจ เข้าไปในดินแดนพม่า

        เมื่อเทียบกับยุคทองของราชวงศ์ตองอู ดังสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ที่สามารถขยายอำนาจไปถึงหัวเมืองไทใหญ่ ในมณฑลอวิ๋นหนาน โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลของราชวงศ์หมิง การที่ราชสำนักอังวะ ปล่อยให้ทหารจีนแตก ทัพเข้ามาก่อความวุ่นวายเป็นเวลาหลายปี จนสามารถยกมาประชิดราชธานีได้ สะท้อนให้เห็น ถึงความอ่อนแอทางการทหารของอังวะในเวลานั้นอย่างมาก และน่าจะกระทบต่อบารมีทางการปกครองของพระเจ้าอังวะ ไม่มากก็น้อย

        หัวเมืองพม่าตอนบนได้รับผลกระทบ จากการปล้นสะดมของกองทัพหมิงอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ราษฎรเริ่มเกิดไม่พอใจพระเจ้าอังวะ ที่ทรงให้การอุปถัมภ์จักรพรรดิหย่งลี่ ซึ่งเป็นสาเหตุความวุ่นวาย  และเมื่อเมืองอังวะถูกปิดล้อม เส้นทางคมนาคมที่เชื่อมต่อกับอังวะ ถูกตัดขาด ทำให้ราชสำนัก ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากหัวเมือง เมืองเจาก์เซ (Kyaukse) ซึ่งเป็นพื้นที่ชลประทาน และแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญ ของพม่าตอนบนตกอยู่ในมือทหารหมิง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในเมืองอังวะ แต่บรรดานางสนมของพระเจ้าอังวะ กลับกักตุนข้าวและนำมาขาย โดยตั้งราคาสูง ทำให้ราษฎรที่อดอยากหิวโหย ยิ่งไม่พอใจมากขึ้น   

        พระเจ้าอังวะ ไม่ได้ทรงแก้ปัญหาเรื่องจักรพรรดิหย่งลี่ อย่างเป็นรูปธรรม หลักฐานจีนบันทึกว่านับตั้งแต่กองทัพหมิง ยกเข้ามาในพม่า ได้วางเพลิงสังหารราษฎร ไปเกือบครึ่งหนึ่ง ชาวพม่า ได้กราบทูลพระเจ้าอังวะว่า “พระเจ้าอยู่หัว ทรงต้อนรับจักรพรรดิ หากจักรพรรดิประสบเภทภัย พระเจ้าอยู่หัว จะทรงเป็นเช่นนั้นด้วย” พระเจ้าอังวะตรัสว่า “เราต้อนรับจักรพรรดิ ไม่ได้ต้อนรับโจร โจรสร้างเภทภัยให้เรา จักรพรรดิไม่ได้สร้างเภทภัยให้เรา จะไม่พอใจด้วยเหตุใด”  คนทั้งหลายจึงยิ่งไม่พอใจ ในตัวพระเจ้าอังวะมากขึ้น

        และเมื่อหลี่ติ้งกั๋ว ยกทัพมาล้อมเมืองอังวะ พระอนุชาของพระเจ้าอังวะทั้งสองนามว่า โสวจิ่ง (守景) และไหมจิ่ง (迈景) (เข้าใจว่า คือพระเจ้าแปรกับพระเจ้าตองอู) รวบรวมไพร่พลคนพื้นเมืองได้ 50,000 คน มาช่วยเหลือ โดยแจกจ่ายทองและผ้าไหมแก่ไพร่พล ทำให้ไพร่พลเหล่านี้ มีขวัญกำลังใจ ในยามต้องรบป้องกันข้าศึก พระอนุชาจะเป็นแนวหน้าเสนอ ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่นับถือของราษฎร และราษฎรก็หันมาสวามิภักดิ์ต่อพระองค์

        เวลานั้นอู๋ซานกุ้ย เป็นแม่ทัพใหญ่ของต้าชิง ยกกองทัพลงมาพม่า เพื่อจับตัวจักรพรรดิหย่งลี่ และออกคำสั่งให้ข้าหลวงชนพื้นเมือง(土官 – ตำแหน่งที่ราชสำนักจีน ตั้งให้กับเจ้าท้องถิ่น ในแถบรัฐฉานและล้านนา)ในอวิ๋นหนานและรัฐฉานคือเมือง หล่งชวน (隴川)  เชียนหยา (千崖)  จ่านต๋า (盞達 จันตา)  เชอหลี่ (車裡 เชียงรุ่ง-สิบสองปันนา) เดินทางไปพม่า เพื่อจับตัวจักรพรรดิหย่งลี่ พร้อมทั้งส่งทูตลงไปพม่า  แล้วส่งกองทัพลงมาถึงเมืองมาว (猛卯) ในเดือน 3  พม่าส่งทูตไปต้อนรับกองทัพชิงแจ้งว่า จะแสดงความภักดีต่อต้าชิง จึงเป็นไปได้ว่า อังวะเวลานั้น อาจต้องการอาศัยกองทัพชิง ขับไล่กองทัพหมิงออกไปด้วย

        ฝ่ายกองทัพหมิงใต้ ขาดแคลนเสบียงอาหาร หลี่ติ้งกั๋ว กับไป๋เหวินเสวี่ยน โจมตีเมืองอังวะหลายครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และพม่า ไม่ยอมส่งตัวจักรพรรดิหย่งลี่ออกมา ฝ่ายหมิงใต้ เปลี่ยนมาใช้ทัพเรือ แต่ถูกพม่าเผาเรือทิ้ง และยังมีทหารจากเมืองตองอูมาช่วยรบ ชนะทัพหมิงใต้ จนไป๋เหวินเสวี่ยนต้องถอยหนีขึ้นเหนือ หลี่ติ้งกั๋ว ถอยไปเมืองเชียงตุง ในช่วงเดือน 4 ศึกปิดล้อมอังวะจึงจบลง

        ผลของสงคราม ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอังวะ ในที่สุด 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) พระเจ้าแปร นำไพร่พลบุกพระราชวัง ปลดพระเจ้าอังวะจากราชสมบัติ ช่วงแรกพระเจ้าแปร ยังให้พระเจ้าอังวะ พระอัครมเหสี พระราชบุตรและพระราชนัดดา ประทับอยู่ในตำหนัก และให้การดูแลตามฐานะ แต่ภายหลัง ด้วยการผลักดันจากเหล่าเสนาบดี จึงมีรับสั่ง ให้สำเร็จโทษพระเจ้าอังวะและพระราชวงศ์ ด้วยการจับถ่วงน้ำ ในแม่น้ำชีนดวิ่น (Chindwin River)

        ในเดือนกันยายน พระเจ้าแปร ปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าอังวะองค์ใหม่ ทรงพระนามว่า “มหาปวรธรรมราชาโลกธิบดี” (Maha Pawara Dhamma Yaza Lawka Dipadi )

        พระเจ้าอังวะองค์ใหม่ ทรงเห็นว่าราชสำนักหมิงใต้ เป็นตัวชักศึกเข้าบ้าน จึงออกอุบาย สั่งให้ข้าราชสำนักหมิง ไปเข้าร่วมพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่เจดีย์ถู่ปาโยน (Htupayon Pagoda) ในเมืองสะกาย   จดหมายเหตุเหย่ซื่อลู่《也是錄》บันทึกว่า พิธีจัดขึ้นในวันที่ 19 เดือน 7 รัชศกหย่งลี่ ปีที่ 15 (12 สิงหาคม ค.ศ. 1661)  ทหารพม่า 3,000 คน ที่ประจำการในพิธี ได้สังหารพระราชวงศ์และขุนนางหมิง ที่มาร่วมพิธีทั้งหมด 42 คน

        เมื่อจักรพรรดิหย่งลี่ ที่อยู่ที่พระตำหนักทรงทราบ จึงคิดจะผูกคอตายพร้อมพระมเหสี แต่ขันทีทูลทัดทานว่า “หากฝ่าบาทสวรรคต แล้วพระราชมารดา ที่ทรงมีพระชนม์มากแล้ว จะเป็นเช่นไร แลบัดนี้ เสียแผ่นดินแล้ว ยังทรงทอดทิ้งไทเฮา เกรงว่า ชนรุ่นหลังจะเยาะเย้ย เหตุใด ไม่โปรดรออาณัติสวรรค์ก่อน” จักรพรรดิหย่งลี่จึงทรงล้มเลิกความตั้งใจ

        ฝ่ายพม่า บุกไปที่ตำหนักของจักรพรรดิหย่งลี่ เที่ยวริบทรัพย์สมบัติ บรรดาสนมนางใน รวมถึงภรรยาและลูกสาวของขุนนาง ผูกคอตายจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน

        จักรพรรดิหย่งลี่ ไทเฮา และข้ารับใช้อีก 25 คน ถูกจับมารวมไว้ในเรือนเดียวกัน  จากนั้น ทรงถูกย้ายไปเรือนของมู่เทียนปั๋ว (ซึ่งถูกสังหารในพิธี)  ข้าราชสำนักมากกว่า 340 คน ถูกจับรวมไว้ในชั้นล่าง ร้องไห้ระงม ได้ยินไปไกลถึงสองลี้  ภายหลัง พม่า จึงเชิญเสด็จกลับไปที่ประทับเดิม

        ปลายปี ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) อู๋ซานกุ้ยและอ้ายซิงอา (愛星阿) เจ้าราชนิกุลแมนจู ยกทัพบุกมณฑลอวิ๋นหนานและไทใหญ่ โจมตีกองทัพของหลี่ติ้งกั๋ว และไป๋เหวินเสวี่ยนแตก แล้วเคลื่อนทัพลงมาดินแดนพม่า ออกคำสั่งให้พม่า ส่งตัวจักรพรรดิหย่งลี่มาให้  จากนั้น จึงลงมาตั้งทัพอยู่ที่จิ่วหว่านพัว (舊晚坡) ห่างจากเมืองอังวะ 60 ลี้

        ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205) พระเจ้าอังวะ ส่งจักรพรรดิหย่งลี่กับพระราชวงศ์ และข้าราชสำนักหมิง ไปให้อู๋ซานกุ้ย จักรพรรดิหย่งลี่ ไม่ทรงทราบชะตากรรมของพระองค์ เพราะพม่าโกหกว่า จะพาพระองค์ไปพบกับหลี่ติ้งกั๋ว  มาทรงรู้ตัว เมื่อได้พบกับอู๋ซานกุ้ยแล้ว  พระองค์ทรงถูกพาตัว กลับไปอวิ๋นหนาน และสำเร็จโทษ โดยใช้สายธนูรัดพระศอ  ราชวงศ์หมิงใต้ จึงถึงกาลอวสาน

        ฝ่ายหลี่ติ้งกั๋ว หนีไปอยู่ที่จิ่งเซี่ยน (景線 เชียงแสน?)  แล้วไปอยู่เมืองล้า (猛臘) ในสิบสองปันนา แล้วส่งนายทหาร ไปขอกองทัพจากเชียงรุ่งและสยาม แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ต่อมา เมื่อรู้ข่าวการสวรรคตของจักรพรรดิหย่งลี่ จึงตรอมใจตายตามไป

        แม้ว่าอังวะ จะสามารถกำจัดราชวงศ์หมิงใต้ ออกไปจากอาณาจักรได้ในที่สุด แต่การรุกรานของกองทัพราชวงศ์หมิงใต้ ก็ส่งผลให้การเมืองของอังวะ ขาดเสถียรภาพภายใน และสูญเสียการควบคุมหัวเมืองประเทศ เปิดโอกาสให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงขยายอำนาจ เข้ามายังปริมณฑลอำนาจของอังวะ จนนำมาสู่สงคราม ระหว่างสองอาณาจักร เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี

แปลโดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
ที่มา: 维基百科
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
10 VOTES (5/5 จาก 2 คน)
VOTED: ประเสริฐ ยอดสง่า, Thorsten
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
คุณหมอนักมวยกรง ความลับแตก เพราะได้แชมป์ตรวจสอบทรัพย์สินของบุญทรง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว จีทูจี ว่ามีความร่ำรวยเพียงใดหนุ่มใหญ่หลอนยา คว้าปืนอาก้ายิงประธานสภา โผล่ขอนแก่นอดีตลูกเรือสำราญแฉ นอกใจคู่รักเป็นเรื่องปกติการหายไปของชาวมายา: ปริศนาแห่งการล่มสลายของอารยธรรมโบราณอัพเดตอาการ บาส สมรักษ์ คำสิงห์นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันถูกฉลามกัดเจ็บสาหัส ขณะเล่นน้ำที่เขาหลัก พังงาแอร์เอเชียชี้แจงกรณีดราม่าเรื่องการโกงค่าตั๋วว่าเกิดจากปัญหาของแอพพลิเคชั่นของบริษัทเอเยนต์ และกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขอยู่ในขณะนี้คนโสดตายเรียบ! “นนกุล”โขกเหม่ง “แอฟ ทักษอร”เพจดัง เปิดภาพ หลวงพี่ ซื้อของบัตรคนจน สแกนหน้าไม่ติด ทางร้านจึงนิมนต์เติมคิ้วให้ สรุปสแกนผ่านพากันขำ. จนชาวเน็ตอดขำไม่ได้พบเรือดำน้ำโจมตีของรัสเซียในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกคนมันจะรวย ช่วยไม่ได้ หญิงสุพรรณบุรีถูกตื้อให้ซื้อลอตเตอรี่ ทำให้เธอถูกรางวัลที่ 1 จำนวน 5 ใบ รับไปเต็มๆ 30 ล้านบาท
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่! เจอแล้ว เจ้าของเสียงในบ้าน ยาว 5 เมตร ห้อยจากฝ้าเพดานอ็อกซ์ฟอร์ดประกาศให้'สมองเน่า'เป็นคำศัพท์แห่งปี2024!มือยิงประธานสภา หอบปืนอาก้าหลบหนี จับชาวบ้านเป็นตัวประกันที่ขอนแก่นใจร้อนเกิ๊น!! หนุ่มถือมีดขู่จะฟันจิตอาสาที่เอาของไปแจกในยะลา เพราะไม่แจกน้ำดื่มให้เขา
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
ไก่ทอดอร่อย แต่เสี่ยง "ไขมันพอกตับ" มากกว่าที่คิด!อ็อกซ์ฟอร์ดประกาศให้'สมองเน่า'เป็นคำศัพท์แห่งปี2024!ลาก่อนรถโพถ้อง!! อบจ.ภูเก็ตนำรถ EV บัส มาแทนแล้ว ทดลองวิ่งวันนี้ 🙂‍↔️วิธีดูแลผิวหน้าหนาวแบบง่ายๆ ที่อ่านแล้วต้องร้อง “ใช่เลย!”
ตั้งกระทู้ใหม่