สร้างอุโบสถ ทำไมต้องฝังลูกนิมิต ?
อุโบสถ หรือ โบสถ์ คือสถานที่ ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ตามพระวินัย เช่น อุปสมบทพระภิกษุ สวดพระปาฏิโมกข์ ประชุมสงฆ์ ปวารณากรรม เป็นต้น สร้างในวัดหลวง เรียกว่า พระอุโบสถ สร้างในวัดราษฎร์ เรียกว่า อุโบสถ ซึ่งขนาดของอาคารอุโบสถนั้นต้องมีที่นั่งไม่ต่ำกว่า 21 ที่นั่ง
การสร้างโบสถ์หรืออุโบสถ ต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมา คือเขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานเป็นสิทธิ์ขาด เพื่อให้ใช้ เป็นที่สร้างโบสถ์ได้ บริเวณภายนอกโบสถ์จะฝังลูกนิมิตรโดยรอบ เป็นเครื่องกำหนดเขตวิสุงคามสีมา ตามปกติมีลูกนิมิตร 8 ลูก ใน 8 ทิศ ด้านบนเหนือลูกนิมิตมักมีใบสีมาประดิษฐ์ฐานอยู่
ในการสร้างอุโบสถ ทำไม่ต้องฝังลูกนิมิต ?
ลูกนิมิต คือ ลูกหินทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาน 1 ฟุต ใช้ฝัง เหตุผลที่ต้องมี หรือฝังลูกนิมิต สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา ทำให้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุมากขึ้น พระองค์จึงส่งพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ออกไปเผยแผ่พระศาสนาในที่ต่าง ๆ ส่งผลให้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ห่างหายจากการฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงทรงคิดกุศโลบายขึ้นมาว่า ต้องให้พระสงฆ์ทบทวนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่เสมอ รวมทั้งให้สงฆ์มีการปรึกษาหารือ หรือทำกิจบางประการด้วยกัน จึงกำหนดให้พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือเรียกว่าการทำสังฆกรรมบางเรื่อง ซึ่งสังฆกรรมนั้นให้ทำในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ฆราวาสเข้ามายุ่งเกี่ยว โดยสิ่งที่ใช้กำหนดเพื่อบ่งบอกเขตแดนให้พระสงฆ์ได้ทำสังฆกรรม คือ ลูกนิมิต
เมื่อมีการสร้างอุโบสถขึ้น ย่อมมีพิธีฝังลูกนิมิตรเช่นกัน การร่วมสร้างอุโบสถหรือการฝังลูกนิมิตนั้นในทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่ามีอานิสงส์มาก เพราะถือว่าเป็นการถวายเป็นพุทธบูชา คือการบูชาพระพุทธเจ้าและสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ให้พระสงฆ์ได้ใช้ทำสังฆกรรมที่สำคัญสืบไป