เหมืองทองคำที่ใหญ่ที่สุด และมีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย
ทองคำ (Gold)
ถือเป็นแร่หายากที่มีราคาสูงและเป็นที่ต้องการมากที่สุดชนิดหนึ่ง
นอกจากทองคำจะถูกใช้ทำเครื่องประดับ ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว
ทองคำยังถือเป็น 'เงินทุนสำรอง' อีกรูปแบบหนึ่ง ที่นิยมใช้กันทั่วโลกอีกด้วย
ทองคำถือเป็นแร่ที่ต้องใช้งบลงทุนสูงเพื่อขุดและสกัดให้ได้ในปริมาณมาก
ในประเทศไทยเองก็มีแหล่งแร่ทองคำอยู่หลายแห่ง
ที่มีปริมาณแร่ทองมากพอที่จะทำการขุดเจาะเพื่อการค้าได้
โดยในปัจจุบันมีแหล่งขุดเจาะหลักอยู่ 2 แห่ง ได้แก่
แหล่งแร่ทองคำชาตรี
เป็นแหล่งแร่ของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อ
ของอำเภอทับคล้อจังหวัดพิจิตร และอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1200 ไร่ จากการประเมินเบื้องต้นของบริษัท
พบว่า พื้นที่แหล่งแร่ทองคำชาตรี มีปริมาณแร่สำรอง
ประมาณ 14.5 ล้านเมตริกตัน ที่ค่าความสมบูรณ์ของทองคำและเงิน
โดยเฉลี่ยประมาณ 2.60 และ 13.30 กรัมต่อเมตริกตัน ตามลำดับ
ซึ่งสามารถผลิตโลหะทองคำได้ประมาณ 32 ตัน
และผลิตโลหะเงินได้ประมาณ 98 ตัน โดยแหล่งแร่แห่งนี้
ได้เริ่มดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่ ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2544
แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า
เป็นแหล่งแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหลวง
อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1300 ไร่
จากการประเมินในเบื้องต้นของบริษัทฯ พบว่าพื้นที่แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า
มีปริมาณแร่สำรองประมาณ 1 ล้านเมตริกตัน ที่ค่าความสมบูรณ์ของทองคำ
โดยเฉลี่ยประมาณ 5 กรัมต่อเมตริกตัน ซึ่งสามารถผลิตโลหะทองคำได้ประมาณ 5 ตัน
แหล่งแร่ทองคำภูทับฟ้า ได้เริ่มดำเนินการสำรวจตั้งแต่ปี 2534
ปัจจุบันได้ดำเนินการทำเหมืองผลิตแร่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่พบแหล่งแร่ทองคำอีกหลายแห่งในประเทศไทย
กระจายอยู่ในหลายจังหวัด เช่น พื้นที่ในเขตตอนเหนือของจังหวัดอุดรธานี
อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอเมืองฯ อำเภอเชียงคาน
และอำเภอปากชม จังหวัดเลย จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว
จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ และจังหวัดนราธิวาส