รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก ที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานในประเทศไทย
รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล
(MRT Chaloem Ratchamongkon Line)
หรือ รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ซึ่งเรียกตามสีที่กำหนดในแผนแม่บท
โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ดำเนินการโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM)
โดยได้รับสัมปทานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย
โดยในระยะแรก เส้นทางช่วง หัวลำโพง-ศูนย์ฯ สิริกิติ์-บางซื่อ
จะเป็นเส้นทางยกระดับเกือบทั้งหมด โดยรัฐเป็นผู้ลงทุน แต่ภายหลัง
ให้เอกชนลงทุนและเปลี่ยนเป็นใต้ดินทั้งหมด โดยรัฐบาลมีมติเมื่อ 12 กันยายน พ.ศ. 2538
ให้ก่อสร้างใต้ดิน รัฐเป็นผู้ลงทุนโยธา ส่วนเอกชนเป็นผู้ดำเนินระบบรถไฟฟ้าและกิจการ
รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหา
การจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ และจัดให้มีการขนส่งสาธารณะ
ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับชาวเมืองและผู้มาเยือน
สายนี้ตัดกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน จึงมีทางเลือกรับส่งสำหรับผู้สัญจร
ปัจจุบันมีระยะทางรวม 48 กิโลเมตร เส้นทางเริ่มต้นจากสถานีหลักสอง
ผ่านสถานีท่าพระ, สถานีหัวลำโพง สถานีบางซื่อ และวิ่งกลับมาสิ้นสุด
ที่สถานีท่าพระอีกครั้ง รวม 38 สถานี สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส
ได้ที่สถานีบางหว้า, สถานีสีลม, สถานีสุขุมวิท, สถานีพหลโยธิน
และสถานีสวนจตุจักร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม
ที่สถานีเตาปูน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ที่สถานีเพชรบุรี และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม
และรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อนได้ที่ สถานีบางซื่อ
รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2539
และหลังจากที่เกิดความล่าช้าขึ้นหลายครั้ง ในที่สุดได้เปิดให้สาธารณชน
ทดลองใช้งานในวงจำกัด เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2547
และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กรกฎาคม ปีเดียวกัน