ตำนานนางมโหธร นางสงกรานต์ประจำปี ๒๕๖๗
นางมโหธร หนึ่งในเจ็ดพระธิดาในท้าวกบิลพรหม พรหมผู้เย้ยหยิ่งในตนว่าเป็นคุรุของเทวะ อสูร มนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้วปวง สถิตอยู่ ณ มหาพรหมาภูมิ พรหมโลกชั้นที่ ๓ และเหล่านางสงกรานต์นั้นก็เป็นเป็นนางเทพอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช สวรรค์ชั้นที่ ๑ ในทั้งหมด ๖ ชั้น มีหน้าที่เป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์
มีลักษณะเป็นนางเทพ มีสองหัตถ์ พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูร ประดับเครื่องนิลรัตน์ ทัดดอกสามหาวหรือดอกผักตบ มีนกยูงเป็นพาหนะ
ซึ่งหลังจากที่ท้าวกบิลพรหมแพ้พนันแก่ธรรมบาล จึงต้องบั่นเศียรตัวเองเป็นกำนัลแก่ธรรมบาลตามสัจจา โดยก่อนจะถึงอวสานกาล ท้าวกบิลพรหมได้มอบหมายให้พระธิดาทั้งเจ็ดของตนเป็นผู้อัญเชิญเศียรออกแห่รอบเขาพระสุเมรุเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของธรรมบาลในช่วงที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นเทศกาลสงกรานต์ เพื่อจะได้ร่วมฉลองและเป็นมงคลแก่มนุษยโลกไปพร้อมกัน
โดยนางมโหธรนั้นคาดว่าน่าจะเป็นพระธิดาองค์สุดท้องจึงมีหน้าที่อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่รอบเขาพระสุเมรุในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ และในปี ๒๕๖๗ นี้ เทศกาลสงกรานต์ก็ตรงกับ วัน เสาร์ ที่ ๑๓ เมษายน หรือขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ตามปฏิทินจันทรคติ โดยพระอาทิตย์จะย้ายเข้าสู่ราศีเมษในเวลา ๒๒ นาฬิกา ๑๗ นาที ๒๔ วินาที ปีนี้จึงได้กำหนดให้นางมโหธรเป็นผู้อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่รอบเจ้าพระสุเมรุตามตำนานวันสงกรานต์ โดยประทับไสยาตร(นอน)ลืมพระเนตรมาบนหลังมยุรา(นกยูง)
เดิมทีนั้นสยามได้รับตำนานวันสงกรานต์นี้มาจากพระสงฆ์ชาวมอญที่มาอาศัยอยู่ในสยาม ต่อมาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกเรื่องราวเหล่านั้นลงบนแผ่นศิลา ๗ แผ่น ติดประดับไว้ในศาลาของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์
วันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นการเถลิงศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ ตำนานในวันสงกรานต์นั้นมีเรื่องราวอยู่ว่า สมัยก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนมาแล้วแต่ก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนาจนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง ๗ ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง ๗ ชั้น ถวายเทพต้นไทร เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง ๗ ขวบก็เรียนจบไตรเพท และได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง
ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือ “ท้าวกบิลพรหม” ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา ๓ ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้
ปัญหานั้นมีว่า
“ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด”
เมื่อได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก ๗ วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ เมื่อนึกขึ้นว่าพรุ่งนี้จะต้องตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม จึงจำใจหลบหนีออกจากปราสาทเข้าไปในป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล
ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน” นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีจึงอธิบายให้ฟังว่า
“ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน”
ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงยอมรับความพ่ายแพ้ และดำรงสัจจะจะบั่นเศียรตนเป็นกำนัลแก่ธรรมบาล
หลังจากกลับจากนิวาสสถานแห่งธรรมบาลเรียกธิดาทั้ง ๗ ของตนอันเป็นบริจาริกาในพระอินทร์ให้มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้ธิดาทั้ง ๗ คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์
จากนั้นมาทุก ๆ ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา ๖๐ นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์
สำหรับตำนานการกำหนดนางสงกรานต์ประจำวันต่าง ๆ นั้นก็ยังมีการกล่าวกันว่า เดิมทีเป็นคติความเชื่อที่มีอยู่ในตำนานสงกรานต์ อันเป็นเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ แล้วได้ยกเอาพระธิดาทั้งเจ็ดองค์ของท้าวกบิลพรหมมาตั้งเป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือ วันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ซึ่งถือเป็นการเถลิงศกใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติ ในปีนั้น ๆ ตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันใดนางสงกรานต์ที่มีชื่อสมมุติเข้ากับวันนั้นๆ ก็จะเป็น ผู้อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ไปสรงน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย
นางทุงษะ ประจำวันอาทิตย์ มีพาหนะเป็นพญาครุฑ
นางโคราค ประจำวันจันทร์ มีพาหนะเป็นพยัคราช(เสือ)
นางรากษส ประจำวันอังคาร มีพาหนะเป็นวราหะ(หมู)
นางมัณฑา ประจำวันพุธ มีพาหนะเป็นลา
นางกิริณี ประจำวันพฤหัสบดี มีพาหนะเป็นคชสาร(ช้าง)
นางกิมิทา ประจำวันศุกร์ มีพาหนะเป็นมหิงส์ดำ(ควาย)
นางมโหธร ประจำวันเสาร์ มีพาหนะเป็นมยุรา(นกยูง)
และพระธิดาทั้งเจ็ดองค์นั้นก็ล้วนถือเทพอาวุธมาในพระหัตถ์ ด้วยเป็นพระธิดาในท้าวกบิลพรหมและยังเป็นบาทบริจาริกาในพระอินทร์ จึงต้องมีเทพอาวุธเพื่อประดับเกียรติและป้องกันตัว