รีวิวหนังสือ ฉันแข็งแกร่งพอที่จะเชื่อความคิดของตัวเอง
เคยมั้ย ?...ที่เราเกิดความลังเลคล้อยตามการชี้นำของคนอื่น ทั้งที่ใจจริงแล้วเราอยากดำเนินการในแบบแนวทางของเรา เคยมั้ย?...ที่อยากตัดสินใจเรียนต่อ เลือกงาน หรืออยากจะลาออกไปทำงานที่อื่น จะต้องขอความเห็นชอบให้เขายินยอมทุกครั้งเสมอไป
CHIKIRIN ผู้เขียนสาวชาวญี่ปุ่นจะพูดถึงประเด็นของการมีจุดยืนในชีวิตของตัวเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรรับฟังคนอื่น แต่การตัดสินใจสุดท้ายมันควรจะมาจากความคิดของเราเอง
ผลงานแปลโดย ทินภาส พาหะนิชย์
ความรู้ความประทับใจที่ได้ในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าคำตอบที่เรามองว่าถูกต้องนั้นจะแตกต่างออกไป แล้วแต่คน จังหวะเวลา วิธีคิด และค่านิยม จึงเท่ากับว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว ใครๆก็สามารถคิดคำตอบขึ้นมาเองได้ คำถามบนโลกนี้มี 2 ประเภท คือ คำถามที่มีคำตอบแบบถูกผิด กับ คำถามที่ไม่มีคำตอบ ซึ่งจะเป็นความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ซึ่งไม่มีคำตอบถูกต้องตายตัว
- ได้เรียนรู้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถให้ความรู้ต่างๆได้ ทั้งคำอธิบายเกี่ยวกับโรค ตัวเลือกในการรักษา และความเสี่ยงที่มาพร้อมกับตัวเลือก แต่คนที่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายคือตัวเราเอง ไม่ใช่แพทย์ บางคนเลือกไม่ได้...ก็ยกให้เป็นการตัดสินใจของแพทย์
- ได้เรียนรู้ว่าถ้าทุกคนตัดสินใจเหมือนกันและใช้ชีวิตแบบเดียวกันจนเกิดสังคมที่เป็นแบบเดียวกันหมด มนุษย์คงไม่สามารถสร้างสังคมแห่งความหลากหลายได้ถึงขนาดนี้ และมนุษยชาติอาจล่มสลายไปนานแล้วก็ได้ ความคิดเห็นไม่มีผิดถูก มีแค่ความคิดเห็นของเรากับความคิดของคนอื่นที่ไม่ตรงกันเท่านั้น ถ้าเราคิดตรงกับคนอื่นทุกเรื่อง ความคิดเห็นของเราก็ไม่มีความหมาย ไม่เป็นอะไรเลยหากความคิดเห็นแต่ละคนจะไม่ตรงกันเลย
- ได้เรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องไปกดดันเด็กมากเกินไป เด็กทุกคนอยากใช้ชีวิตให้สนุกและได้ใช้เวลาทำสิ่งที่ตัวเองชอบอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่มีหน้าที่หาเส้นทางให้เด็กแต่ละคน...ไม่ใช่บังคับให้เปลี่ยนทางเดิน
- ได้เรียนรู้ว่าเราต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ละคนมีรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่จำเป็นต้องกดดันให้ทุกคนมีวิถีชีวิตแบบเดียวกัน เราต่างมีอิสระที่จะเลือกชีวิตที่ตัวเองคิดว่ามีความสุขได้อย่างเสรี แล้วการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนั้นแต่ละคนต้องแสดงความปรารถนาอย่างชัดเจนว่า”เราอยากมีความคิดแบบนี้” ถ้ามองว่าความคิดเห็นมีถูกมีผิด ต่างฝ่ายจะอึดอัด ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และพยายามหาคนที่คิดถูกที่สุด ถ้าเราเข้าใจว่าความคิดนั้นมีหลากหลาย ไม่มีคำตอบตายตัว เวลาแสดงความคิดเห็น เราก็ไม่ต้องต่อต้านความคิดคนอื่น ไม่ต้องพยายามเกลี้ยกล่อมหรือแก้ไขความคิดของอีกฝ่าย
- ได้เรียนรู้ว่ายิ่งเราแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆได้ชัดเจนเท่าไหร่ เรายิ่งเป็นที่ยอมรับมากเท่านั้น ความคิดดังกล่าวจะสร้างตัวตนหรือ Character พิเศษเฉพาะตัวเราให้มีความแตกต่างจากคนอื่น ถ้ากลัวจะคิดต่างจากคนอื่น ยอมเป็นเหมือนอย่างคนรอบข้าง เราก็จะเป็นได้แค่คนหมู่มากที่หาได้ทั่วไป
- ได้เรียนรู้ว่าบางครั้งคนดังที่เป็นที่ยอมรับแล้วต้องเป็นทุกข์ เพราะภาพลักษณ์นั้นแตกต่างจากตัวตนที่แท้จริง บางครั้งพวกเขาต้องทนทุกข์พอๆกับการไม่เป็นที่ยอมรับจากใครเลยทีเดียว ถ้าอยากให้คนอื่นยอมรับ อันดับแรกเราต้องเข้าใจตัวเองให้ดีก่อน จงยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น แล้วเราจะมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เมื่อเรายอมรับและเห็นคุณค่าในตัวเอง เราจะมั่นใจและไม่สนว่าใครจะยอมรับเราหรือไม่
- ได้เรียนรู้ว่า....ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน เรามักคิดว่าถ้าคิดไม่ตรงกันก็ขอไม่พูดดีกว่า จะได้ไม่ทะเลาะกัน แต่นี่คือความเข้าใจผิด เพราะคนถามไม่ได้ต้องการกระทบกระทั่ง แต่ต้องการให้เราคิดให้ดีก่อนแล้วพูดออกมาอย่างชัดเจน
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่เห็นด้วยกับคนอื่นตลอด ส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงไม่ยอมรับ และคิดว่าความคิดของคนอื่นดีแล้ว เราก็แค่เห็นด้วยเท่านั้น สุดท้ายคนที่เห็นด้วยกับคนอื่นไปทุกอย่างบุคคลนั้นย่อมไม่มีคุณค่า
- ได้เรียนรู้ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป คำถามที่เกิดขึ้นใหม่มักไม่มีคำตอบตายตัว ดังนั้น ยิ่งตัวเลือกมากเท่าไหร่ การแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนก็ยิ่งมีคุณค่ามากเท่านั้น หากเรายังไม่มีความคิดเห็นอย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆหรือเก่งแค่หาข้อมูล แต่ไม่ชอบคิดวิเคราะห์ เราก็ไม่มีทางสร้างชีวิตในแบบของตัวเองได้ สมัยก่อนการรู้คำตอบมีคุณค่า แต่จากนี้ไปการกล้าแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ไม่มีคำตอบจะกลายเป็นทักษะจำเป็น ไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม
- ได้เรียนรู้ว่าต่อให้วิถีชีวิตจะแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม แม้คนอื่นจะไม่ชมเชย หรือบอกว่าเราล้าสมัย ขอแค่เราเชื่อมั่นว่านี่แหละคือวิถีชีวิตที่เราเลือก ก็พอแล้ว ชีวิตจะงดงามหรือไม่เคยมีเรื่องงดงามก็ตาม ตราบใดที่เรามั่นใจและภาคภูมิใจ นั่นก็ถือว่าเป็นชีวิตที่วิเศษแล้ว
จุดยืน เป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือในตัวเราเอง ครีเอเตอร์มองว่าถ้าคนเราไร้จุดยืน ก็จะขาดความมั่นใจและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม นี่คือการสร้างจุดยืนที่มั่นใจของตนเอง โดยที่เราก็ไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว ความคิดเห็นไม่ว่าจะมาจากเขาหรือเรา มันไม่มีถูกหรือผิดสักทีเดียว ขึ้นอยู่กับประเด็นที่คนคนนั้นให้น้ำหนักมากกว่า เรื่องนี้ใช้ได้กับทั้งในที่ทำงานและที่บ้านกับคนในครอบครัว
ขอแค่เรากล้าที่จะแสดงจุดยืนบ้าง ครีเอเตอร์เชื่อว่าคนคนนั้นจะมีชีวิตที่เฉิดฉายยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับมากขึ้น ซึ่งครีเอเตอร์ก็จะต้องนำแนวทางนี่ปรับปรุงตัวเองต่อไปครับ