"ภาวะโลกเดือด" การปรับตัวในยุคที่ท้าทายสุดขีดของมนุษย์!!
“ยุคโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคโลกเดือดแทน”
ในช่วงนี้พวกเราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับข่าว "ภาวะโลกเดือด" กันอย่างหนาหู ซึ่งมันต่างจาก "ภาวะโลกร้อน" ยังไง รุนแรงกว่ากันมากแค่ไหน มาวันนี้เราจะมาอธิบายกันคร่าวๆ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้เป็นสักขีพยานต่อเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่อันน่ากลัว ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่แผดเผาหนักสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย รวมถึงไทย เหตุไฟป่ารุนแรงทั่วโลก หรือเหตุที่สัตว์ทะเลจำนวนมากถูกพัดมาเกยตื้นตายบนชายหาด โดยที่ทุกเหตุการณ์มีต้นตอสาเหตุเดียวกัน นั่นคือ "ภาวะโลกรวน" คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงแปรปรวน และเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวนก็คือก๊าซเรือนกระจกที่มีปริมาณมากจนโลกไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้
การระบุ "ภาวะโลกเดือด" เป็นสัญญาณภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การรับมือกับภาวะนี้ต้องเป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างความเข้าใจในสิ่งแวดล้อมและการเผชิญหน้ากับภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้น
ในเดือนกรกฎาคมของปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์” ขณะที่องค์กร NASA มีสถานีตรวจอากาศมากมายที่ติดตามและบันทึกข้อมูลอุณหภูมิของโลกอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกรกฎาคม 2566 พวกเขาพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกถูกบันทึกเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบ 170 ปีที่ผ่านมา
มีการพูดถึงรหัสแดงโลกร้อนสู่โลกเดือดอนาคตที่เราต้องเลือก โดยระบุว่ามี 4 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกเดือด
- การกระทำของมนุษย์จากการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.2 องศาเซลเซียส
- ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 0.2 – 0.3 องศาเซลเซียส
- ช่วงเวลาการปลดปล่อยพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.05 องศาเซลเซียส
- การระเบิดของภูเขาไฟ Tonga-Hunga ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.035 องศาเซลเซียส
ที่นี้เรามาดูผลกระทบของ "ภาวะโลกเดือด" ที่มาจากฝีมือมนุษย์กันบ้าง
ปะการังฟอกขาว ครั้งใหญ่ ลามทั่วโลก ภาวะโลกเดือด นับเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 66 พบว่า อย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้นํ้าในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 41 ปี 53 และระหว่างปี 57 – 60 ล้วนเกิดขึ้นในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ แนวปะการังมากกว่า 54% ในมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการที่ปะการังจะเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ปะการังมีสีจางลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว
น้ำแข็งทั่วโลกมีปริมาณลดลง และละลายเร็วขึ้น ภาวะโลกเดือดมีผลทำให้น้ำแข็งขั้วโลกมีปริมาณลดลง และอาจหายไปหมดในอีก 100 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ระบบนิเวศได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำจืดจะเพิ่มขึ้น การไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรจะเปลี่ยนไป ซึ่งนำมาสู่ภัยพิบัติในอนาคตที่อาจรุนแรงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งในขั้วโลกเหนืออย่างกรีนแลนด์ และขั้วโลกใต้แอนตาร์กติกา ละลายเร็วขึ้นน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายไวขึ้น 6-7 เท่า เมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน และ น้ำแข็งกรีนแลนด์ได้หายไปถึง 4,700 ล้านตัน มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1.2 เซนติเมตร
จากข้อมูลของ กรีนพีซ พบว่า 7 เมืองในเอเชีย ที่อาจได้รับผลกระทบ จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือมีความเสี่ยงจมน้ำ ภายในปี 2573 สำหรับ 3 อันดับแรก เสี่ยงสุด คือ กรุงเทพมหานคร คือ ร้อยละ 96 อาจถูกน้ำท่วมจากอุทกภัยใน 10 ปี มีการคาดการณ์ถึงพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ 1,512.94 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอาจมีประชากรที่จะได้รับผลกระทบ 10.45 ล้านคน รองลงมาเป็นกรุงจาการ์ตา จะได้รับผลกระทบ 109.38 ตารางกิโลเมตร ประชาชนอาจได้รับผลกระทบ 1.80 ล้านคน ถัดมา เป็น กรุงโตเกียว ที่อาจะได้รับผลกระทบ 79.28 ตารางกิโลเมตร กระทบประชากร 0.83 ล้านคน ถัดมาเป็น ไทเป มะนิลา ฮองกง และโซล ตามลำดับ
“ปรากฏการณ์รังผึ้งล่มสลาย” เป็นปรากฏการณ์ที่ ผึ้งงานจากรังหรือนิคมผึ้งพันธุ์หายไปอย่างฉับพลัน ซึ่งเกิดมาตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีผึ้งหายไปมากกว่าเดิม ในขณะนี้ประชากรของ “ผึ้ง” กำลังลดลง ผึ้งบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม มีผึ้งหึ่งถึง 3 ชนิด สูญพันธุ์ไปจากเกาะอังกฤษ ในช่วงเวลาเพียงแค่หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา และการหายไปของผึ้งจะทำให้เกิดหายนะกับมนุษย์ อย่างเช่นการผสมเกสร เป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานที่ทำให้ระบบนิเวศอยู่รอดได้ เกือบ 90% ของพันธุ์ไม้ดอกป่าทั่วโลกต้องอาศัยการผสมเกษตรของผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ นั้นจะทำให้โลกเสียสมดุลไปอย่างสิ้นเชิง
นี้เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่างผลกระของภาวะโลกเดือดให้เห็นกันคร่าวๆ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทุกทีของโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น ยังมีผลกระทบอีกมากมายที่เราเผชิญกันอยู่มากมายในทุกๆวัน ณ ตอนนี้ หากเราไม่ช่วยกันรักษาโลกใบนี้ที่เราอาศัยอยู่กันตอนนี้ ก็ไม่มีโลกใบอื่นที่เราจะไปอยู่ได้อีกแล้วครับ ทั้งหมดนี้จะดีขึ้นได้ก็เพราะเราทุกๆคนที่ช่วยกันรักษาฟื้นฟูโลกใบนี้ให้กลับมาน่าอยู่ได้อีกครั้ง คิดเห็นอย่างไรสามารถแสดงความคิดเห็นได้ครับ