รีวิวหนังสือ EGO IS THE ENEMY ตัวคุณคือศัตรู
Ego หรือ การถือตัว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งมีความมั่นใจในตนเองมากเกินไป จนรู้สึกว่าความเห็นของคนอื่นไม่มีความหมายต่อตนเอง จนกลายเป็นความเชื่อมั่นตนเองในทิศทางที่ผิด นำไปสู่ความหยิ่งยโส แม้ช่วงแรกเขาอาจตัดสินใจถูก แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อเขาไม่เข้าใจมุมมองอย่างรอบด้าน มันก็จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด
Ryan Holiday จะมาเปิดประเด็นในเรื่องนี้ถึงบุคลิกที่คนคิดว่ามันไม่น่าเป็นปัญหากับเจ้าตัว แต่เป็นความรำคาญใจของคนรอบข้างมากกว่า แท้จริงแล้วแม้แต่กับเจ้าตัวก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าวในท้ายที่สุด
ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าอีโก้คือ ความจองหอง ความทะเยอทะยานแบบเห็นแก่ตัว ต้องการโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ซึ่งมันดึงดูดศัตรูกับความผิดพลาดเข้ามาในชีวิต อีโก้ทำให้เรามองไม่เห็นถึงความเป็นจริง อีโก้ต่างจากความมั่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาสะสมอย่างถ่อมตัว
- ได้เรียนรู้ว่าผู้นำแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคนที่เกิดมาเชื่อมั่นในตนเอง 2.ตนที่ค่อยๆสั่งสมความเชื่อมั่นอย่างช้าๆ คนประเภทหลังจะรู้สึกถึงความหอมหวานในความสำเร็จเป็นพิเศษ เพราะเคลือบแคลงในตัวเองว่าจะทำได้สำเร็จจริงหรือ ? ความคิดเช่นนี้คือความถ่อมตัว
- ได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ตลอดเวลาช่วยให้อีโก้ลดลง เพราะเราจะรู้ตัวเองว่าไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง แต่เมื่อเราแสร้งทำเป็นว่าตนรู้ ถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง เพราะมันขัดขวางไม่ให้เราได้พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่เก่งกว่าเดิม
- ได้เรียนรู้ว่าโอกาสเป็นสิ่งที่คลุมเครือ สิ่งที่เราต้องการในสถานการณ์เช่นนั้นคือความกระจ่าง ความสุขุม และความมุ่งมั่นอย่างมีระเบียบแบบแผน ด้วยเหตุนี้สิ่งที่จำเป็นเพื่อไปสู่ความสำเร็จจึงเป็นเป้าหมายที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริง
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จรู้ตัวดีว่าพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยและเรียนรู้จากผู้อื่น เป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง ยินดีรับใช้และสนับสนุนผู้คนให้สามารถทำบางอย่างให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เขาจึงไม่เคยคิดว่าตัวเองเหนือกว่าใคร
- ได้เรียนรู้ว่าคนที่ควบคุมอีโก้ได้จะเข้าใจว่าตัวเขาไม่ได้ด้อยค่าลงเลย เวลาที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ดีจากผู้อื่น คนเหล่านั้นต่างหากที่ต่ำลง คนที่ควบคุมอีโก้ได้จะยินดีรับฟังความเห็นต่าง โดยเพิกเฉยกับคนที่ต่อว่าเขาด้วยถ้อยคำที่ไม่สร้างสรรค์ และไม่แสดงการกระทำที่ต้อยต่ำในการตอบโต้คนอื่น
- ได้เรียนรู้ว่า Benjamin Franklin เคยกล่าวว่าก้มหัวเสียหน่อยหนุ่มน้อย ก้มหัวในขณะที่นายใช้ชีวิตในโลกนี้ นายจะได้ไม่เผลอไปกระแทกถูกอะไรบ่อยๆ เขาสื่อถึงวัยรุ่นที่ร้อนวิชาหลังเรียนจบใหม่มักทะนงตัว เพราะคิดว่าเขาเข้าใจทุกอย่างหมดแล้ว ทำให้ทะนงตัวจนบั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์
- ได้เรียนรู้ว่าอีโก้ทำให้เรามีความปรารถนา ใช้เวลาวางแผนมากไป สนทนาเกี่ยวกับเป้าหมาย แต่ขาดการลงมือทำ ทว่าความแตกต่างระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครเล่น คือยอมรับว่าแค่ความคิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงมือทำให้ได้ด้วย
- ได้เรียนรู้ว่าอีโก้เกิดขึ้นเมื่อมีคนชื่นชมว่าเราประสบความสำเร็จมาไกลแล้ว แต่เราต้องไม่หลงไปกับคำพูดเหล่านั้นและยังต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
- ได้เรียนรู้ว่าความเชื่อมโยงกับจักรวาล (Sympatheia) คือความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ที่เหนือกว่าตัวเรา ตระหนักว่ากิจกรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวในจักรวาลนี้ อีโก้จะโฟกัสที่ความสำเร็จทางวัตถุและการได้รับความสนใจจากคนอื่นคือสิ่งที่ทำให้เรามีคุณค่า แต่การหมกมุ่นในชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ ทำให้มุมมองเราแคบ จนลืมไปว่าจักรวาลยังมีหลายสิ่งให้เราได้เชื่อมต่อผูกพัน เป็นคนที่ทำอะไรได้มากกว่าคนที่เห็นแก่ตัวเองเพียงด้านเดียว
- ได้เรียนรู้ว่าอีโก้จะไม่อยากพาตัวเองไปทำงานยากหรือไม่คุ้นเคย คนที่ควบคุมอีโก้ได้จะเข้าใจว่าหากไม่กล้าเสี่ยงก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ หากล้มเหลวมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น
- ได้เรียนรู้ว่าแค่ได้ลองพยายามก็คุ้มแล้ว เพราะไม่มีอะไรมาการันตีผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่คนมีอีโก้จะกลัวความผิดพลาด ซึ่งจะทำให้เขาดูเป็นคนไร้ความสามารถ จงปล่อยวางอีโก้ แล้วลงมือทำสิ่งที่ใจปรารถนา
- ได้เรียนรู้ว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งชี้วัดว่าเราไม่ได้เรื่อง ทำให้เราไม่ล้มเลิกแล้วถลำลึกไปมากกว่าเดิม ยิ่งลึก ยิ่งเสียหาย ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ต้องมีควบคู่ไปกับความทะเยอทะยานคือ ความกล้าที่จะหยุด เมื่อไปต่อไม่ได้แล้ว
- ได้เรียนรู้ว่าการที่เรากวาดพื้นครั้งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่ามันจะสะอาดตลอดไป เราก็ต้องคอยกลับมากวาดใหม่ทุกวัน อีโก้ก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้มันพอกพูนเต็มทัศนคติและจิตใจ เราก็คงจะไม่ได้เข้าใกล้ความสำเร็จที่น่าประทับใจเลย
ทั้งหมดนี้ทำให้เราตระหนักรู้ถึงความเป็นไปของ Ego ที่มากน้อยไปก็ไม่ดี มีมากไปก็อันตราย ฉะนั้น ทางสายกลางจึงถือว่าสำคัญที่สุด ถือเป็นแนวคิดที่ครีเอเตอร์มองว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเราพอสมควร
อันที่จริง หากใครมองว่าตนเองไม่ได้มีอำนาจหรือรู้ตัวว่าความสามารถยังไปไม่ถึง จึงมองว่าตนไม่มี Ego แบบนั้นแน่นอน.. ก็ถูกอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าหากสักวันเรามีโอกาสได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ พัฒนาตนเองจนได้เป็นผู้นำ แล้วมี Ego ที่มากเกินไปขึ้นมาล่ะ ? เราจะเห็นได้ว่าผู้นำที่มี Ego สูงเกินไปบางคนพาตัวเองเดือดร้อนมาไม่น้อยเช่นกัน