รีวิวหนังสือ น้ำผักผลไม้ชะลอวัย
การรับประทานผักผลไม้อาจไม่ถูกจริตกับใครบางคน การเลือกดื่มน้ำผักผลไม้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง โดยที่การทำน้ำผักผลไม้ที่ว่าจะต้องไม่สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไปด้วย เพื่อการดูแลสุขภาพ คงความอ่อนเยาว์ และตอบโจทย์ในแง่ของการดูแลตัวเองอย่างสมบูรณ์พร้อม สายรักสุขภาพด้วยน้ำผักผลไม้ต้องไม่พลาด
อุเอคิ โมโมโกะ โภชนากรตามหลักแพทย์แผนจีนและนักวิจัยอาหาร จะมาให้สูตรการทำน้ำผักผลไม้ (Recipe) ที่ครีเอเตอร์เชื่อว่าเราอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีเมนูน้ำผักผลไม้แบบนี้ที่น่าลิ้มลองอยู่ด้วย แปลโดย เมธินี นุชนาคา
เนื้อหาภายในเล่ม
- Part 1 Everyday Almighty Must Juice ทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ Green juice, Carrot juice, Tomato juice, Citrus juice
- Part 2 ผิวสวยใส ไม่อ้วน สูตรน้ำผักผลไม้ตามเป้าหมายการดูแลสุขภาพ
- Part 3 Care juice น้ำผักผลไม้เพื่อการดูแลสุขภาพ ตอบสนองทุกความกังวล และปัญหาสุขภาพ
ความรู้ความประทับใจที่ได้ภายในเล่ม
- ได้เรียนรู้ว่าเอนไซม์คือแหล่งสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆทั้งหมดในร่างกาย เอนไซม์มี 2 ประเภท ได้แก่เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นในร่างกาย และเอนไซม์ที่ได้รับจากอาหาร นอกจากนี้เอนไซม์ในร่างกายยังแบ่งกว้างๆเป็น digestive enzyme ทำหน้าที่ย่อยอาหาร metabolic enzyme ทำหน้าที่ควบคุมการเปลี่ยนพลังงาน metabolism และฟื้นฟูเซลล์ในร่างกาย
- ได้เรียนรู้ว่าเอนไซม์ในร่างกายถูกดึงไปใช้งานทุกวัน แต่ร่างกายผลิตมาทดแทนได้จำกัด การทานอาหารมากไปก็ทำให้เอนไซม์ไม่เพียงพอ อายุมากขึ้นก็ทำให้เอนไซม์น้อยลงอีก สาเหตุพวกนี้ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย ผักผลไม้จึงเป็นตัวชดเชยบทบาทหน้าที่ของเอนไซม์ได้ แต่เอนไซม์ถูกทำลายเมื่อถูกความร้อน เราจึงต้องทานผักผลไม้สดเป็นหลัก อย่างน้ำผักผลไม้ก็ช่วยให้ร่างกายดูดซึมเอนไซม์ได้ดีขึ้น
- ได้เรียนรู้ว่าสารต่างๆในผักผลไม้แม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถเสริมภูมิต้านทานและควบคุมจังหวะชีวิต (biorhythm) ทั้งยังช่วยดูแลรักษาร่างกายและจิตใจเช่น แคโรทีน วารให้สีที่ได้จากพืชเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็น vitamin A มีคุณสมบัติล้างพิษในร่างกาย ไลโคปีน สารให้สีแดงมีคุณสมบัติป้องกันมะเร็ง เป็นต้น
- ได้เรียนรู้ว่าหยินและหยางคือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งตรงข้ามกัน โภชนบำบัดหยินและหยางคือการควบคุมความสมดุลไม่ให้หนักทางใดทางหนึ่งมากเกินไป อาหารที่มีคุณสมบัติระบายความร้อนภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายเย็นลง ถือว่าเป็นหยิน ส่วนอาหารที่มีคุณสมบัติทำให้ร่างกายอบอุ่นถือว่าเป็นหยาง การปรับสมดุลหยินหยางจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการรักษาสุขภาพอย่างยั่งยืน เช่น ทานอาหารฤทธิ์เป็นหยิน เพื่อคลายร้อนในฤดูร้อน โดยไม่ทานมากเกินไปจนทำให้ร่างกายเย็นเกินไป
- ได้เรียนรู้ว่าอาหารฤทธิ์ร้อน มีคุณสมบัติทำให้ร่างกายอบอุ่น ขจัดความหนาวภายในร่างกาย ช่วยให้พลังงานและเลือดลมไหลเวียนดี เช่น พริกไทย พริก อบเชย
- ได้เรียนรู้ว่าอาหารฤทธิ์อุ่น มีคุณสมบัติเหมือนฤทธิ์ร้อน แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า ช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าและกระตุ้นให้เจริญอาหาร เมื่อเกิดอาการเบื่ออาหารอันเนื่องจากความหนาว ได้แก่ ทับทิม ชิโสะ ขิง ส้มแมนดาริน พีช
- ได้เรียนรู้ว่าอาหารฤทธิ์กลาง คุณสมบัติเป็นกลาง ไม่ทำให้อุ่นขึ้นหรือเย็นลง แต่ช่วยผ่อนคุณสมบัติร้อนจัด เย็นจัด ให้อยู่ในระดับพอดีเข้ากับคุณสมบัติอื่นๆได้ง่าย เช่น กะหล่ำปลี โคมัทสึนะ นม ชุนกิคุ แครอต พริกปาปริก้า บลูเบอร์รี่ องุ่น เลมอน
- ได้เรียนรู้ว่าอาหารฤทธิ์เย็น มีคุณสมบัติขับความร้อนในร่างกาย ฤทธิ์อ่อน บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ อาการร้อนวูบวาบ ดีต่อการปรับอุณหภูมิร่างกายช่วงหน้าร้อน เช่น สตรอว์เบอร์รี่ ส้มเกลี้ยง สาลี่ แตงกวาญี่ปุ่น เซเลอรี่ บ็อกซอย บรอกโคลี โยเกิร์ต แอปเปิล
- ได้เรียนรู้ว่าอาหารฤทธิ์หนาว มีคุณสมบัติขับความร้อนได้ชะงัด แก้ไข้ คอแห้ง อาการท้องผูกอันเนื่องมาจากความร้อนในร่างกาย เช่น หน่อไม้ฝรั่ง พลับ กีวี เกรปฟรุต มะเขือเทศ มะระ แตงโม ฟักเขียว กล้วย เมลอน
- ได้เรียนรู้ว่าโภชนบำบัดเชื่อว่าร่างกายก่อกำเนิดขึ้นจากพลังชีวิต (ชี่) เลือด และของเหลว (น้ำ) เวลาที่ร่างกายแสดงอาการผิดปกติ ไร้เรี่ยวแรง เลือดลมติดขัด ขั้นตอนการรักษาจะเริ่มจากการเลือกวัตถุดิบสำหรับนำมาปรุงอาหารที่มีคุณสมบัติฟื้นฟูและบำรุงพลังชีวิต เลือด และของเหลวให้ดีขึ้น เป็นการใช้อาหารรักษาอาการป่วยจากภายใน ทั้งพลังชีวิต (ชี่) เลือด ของเหลว (น้ำ) เป็นสามองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณาเลือกอาหารและดูแลสุขภาพ
ชี่ เป็นพลังงานที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงอารมณ์และจิตใจ
เลือด คือส่วนหล่อเลี้ยงนำสารอาหารบำรุงส่วนต่างๆของร่างกาย
ของเหลว คือ น้ำทุกอย่างในร่างกายที่นอกจากเลือด เช่น น้ำเหลือง สารคัดหลั่งต่างๆ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าผู้เขียนอย่างอุเอคิ โมโมโกะไม่ได้แค่ให้สูตรการทำน้ำผักผลไม้หรือ Recipe เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความรู้ในตัวผักผลไม้แต่ละชนิดแนบเอาไว้ด้วย เราจึงเข้าใจถึงที่มาคุณประโยชน์ต่างๆและมีความรู้สึกอยากเอาจริงเอาจังถึงผลลัพธ์ทางสุขภาพ ครีเอเตอร์ขอไม่พูดถึงสูตรทำน้ำผักผลไม้เพื่อไม่สปอยล์เนื้อหาในเล่มละกันนะครับ (อิอิ)
แน่นอนว่าคนที่ไม่ชอบทานผักผลไม้ บางคนอาจไม่ชอบรสและกลิ่นที่มาจากตัวผักผลไม้ แม้จะอยู่ในรูปน้ำผักผลไม้พร้อมดื่มก็ไม่อยากดื่มอยู่ดี ส่วนหนึ่งเพราะไวต่อกลิ่นเหม็นเขียวที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สนใจหนังสือเล่มนี้ไปโดยปริยาย แต่หากมีสักเมนูหนึ่งที่พอจะดื่มได้ นั่นอาจเปลี่ยนชีวิตการกินผักผลไม้ไปตลอดกาล