10 คําถามสัมภาษณ์งานที่เจอบ่อย
การสัมภาษณ์งาน เป็นกระบวนการสำคัญที่ใช้ในการสรรหาบุคลากร และเป็นด่านแรกที่ทุกคนต้องเจอเมื่อสมัครเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ หรือ คนที่ทำงานมาแล้วแต่อยากเปลี่ยนงาน ไปดูกันเลยดีกว่าว่า จะมีหัวข้อคำถามสัมภาษณ์งานแบบไหนบ้าง ที่คุณจะต้องเจอแน่นอน และแนวทางในการตอบคำถาม เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อเข้าสัมภาษณ์
- ให้แนะนำตัว อธิบายเกี่ยวกับตัวเอง
คำถามสัมภาษณ์งานของ HR หรือผู้จ้างงานนี้ เป็นคำถามยอดฮิต มักจะเป็นหัวข้อสัมภาษณ์งานคำถามแรกๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นคำถามที่จะทำให้ HR หรือผู้จ้างงานได้รู้จักตัวคุณในภาพรวม รู้จักทัศนคติ รวมถึงบุคลิกภาพและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ที่จะช่วยในการวิเคราะห์ว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครหรือไม่ โดยบางครั้ง HR หรือผู้จ้างงานอาจจะให้คุณได้ลองแนะนำตัวเองสั้นๆ หรืออาจจะเปิดใบสมัครงานหรือประวัติการทำงานของคุณ แล้วตั้งคำถามสัมภาษณ์งานไล่เรียงไปทีละหัวข้อ ตามที่อยู่ในใบสมัครดังกล่าว
โดยสามารถแบ่งแนวทางในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานในลักษณะนี้ได้ 2 รูปแบบ
-สำหรับผู้สมัครงานที่เพิ่งจะเรียนจบ หรือผู้สมัครงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน
ผู้สมัครงานที่เพิ่งจะเรียนจบ หรือผู้สมัครงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน ให้เริ่มจากการอธิบายวุฒิการศึกษาล่าสุดของคุณ โดยไล่เรียงตั้งแต่ระดับการศึกษา คณะหรือสาขาวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษา ชื่อสถาบันการศึกษาที่คุณได้สำเร็จการศึกษามา
-สำหรับผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์ทำงาน
ผู้สมัครงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนงานเพื่อย้ายบริษัท หรือย้ายสายงาน ก็ควรจะเริ่มจากการอธิบายตำแหน่งงานปัจจุบันที่คุณกำลังทำอยู่หรือที่คุณได้ทำล่าสุดแล้วค่อยไล่เรียงลงไปในตำแหน่งงานที่คุณได้ผ่านมาในอดีตตามมา ว่ามีบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง มีผลงานเด่นๆ เรื่องไหน โดยพยายามประยุกต์ให้เข้ากับตำแหน่งงานที่คุณกำลังจะสมัคร
- ทำไมถึงคิดว่าคุณดีที่สุดและเหมาะสมกับงานนี้
หลายคนเมื่อเจอคำถามสัมภาษณ์งานนี้เข้าไปก็อาจจะมีอาการตื่นตระหนกเล็กน้อย สำหรับคำถามนี้ เป็นคำถามที่ HR หรือผู้จ้างงาน จะได้เห็นความมั่นใจ และความสามารถของคุณ ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้แค่ไหน เรียกได้ว่าเป็นคำถามสำคัญที่คุณจะต้องขายตัวเองให้กับ HR หรือผู้จ้างงาน โดยการแสดงศักยภาพเด่นๆ ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ออกมาให้ชัดเจน ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสให้บริษัทตัดสินใจจ้างคุณได้มากขึ้น
แนวทางในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานคำถามนี้ ควรต้องมีการร่างคำตอบเอาไว้ในช่วงของการเตรียมสัมภาษณ์งานล่วงหน้า เช่น อะไรที่ทำให้คุณพิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลหลักว่าทำไมบริษัทจะต้องจ้างคุณเข้าทำงาน แทนที่จะเป็นผู้สมัครงานคนอื่นๆ เช่น ประสบการณ์ในการทำงานที่มากกว่า มีทักษะความรู้ที่เหมาะสมกว่า หรือมีศักยภาพที่ดีกว่า
- ทำไมคุณถึงเลือกที่จะทำตำแหน่งนี้
หลายคนที่ตกม้าตายเพราะคำถามนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่จะทำให้ HR หรือผู้จ้างงาน ได้รู้ว่าคุณมีความรู้ ทักษะและความสามารถอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับตำแหน่งนี้บ้าง และรวมไปถึงความรู้เกี่ยวกับบริษัท โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมต่างๆ ขององค์กรด้วย
แนวทางในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานคำถามนี้ แม้ว่าคุณอาจจะมีทักษะความสามารถหลายอย่าง ก็ควรจะเลือกตอบในส่วนที่เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังสมัครมากที่สุด ซึ่งคุณสามารถรู้ได้ว่าทักษะความสามารถไหนที่มีความเกี่ยวข้อง โดยดูจากรายละเอียดของตำแหน่งงาน ซึ่งอยู่ในประกาศรับสมัครงาน โดยทักษะดังกล่าวจะมีทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ถ้าหากบริษัทมีการใส่รายละเอียดความต้องการในส่วนนี้ทั้ง 2 ประเภท คุณก็ควรจะตอบให้ครอบคลุมทักษะทั้งในส่วนของ Hard Skill และ Soft Skill ด้วยเช่นกัน
- ให้เล่าประสบการณ์ทำงาน
คำถามนี้ นอกจากจะทำให้รู้ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาของคุณแล้ว ยังสามารถประเมินได้ว่าคุณมีศักยภาพในการทำงานแค่ไหน จะสามารถทำงานที่บริษัทมอบหมายให้ออกมาได้ตามจุดประสงค์หรือไม่ เป็นหนึ่งในหัวข้อสัมภาษณ์งานที่ HR หรือผู้จ้างงานมักจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ
แนวทางในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานนี้ ให้คุณอธิบายเกี่ยวกับงานที่คุณเคยทำ โดยมีสิ่งที่จะต้องพูดถึงดังนี้ ตำแหน่งงาน บริษัท หน้าที่และความรับผิดชอบ และถ้าหากมีผลงานหรือผลสำเร็จจากการทำงานก็ให้คุณยกมาอ้างอิงด้วยกัน จะช่วยให้การเล่าประสบการณ์ในการทำงานของคุณนั้นมีความน่าสนใจและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
- ทำไมถึงลาออกจากงานเดิม
เป็นอีกหนึ่งคำถามยอดฮิตของ HR หรือผู้จ้างงาน เพราะคำถามนี้จะช่วยให้รู้ว่า ทำไมคุณถึงตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานเก่า หรือต้องการจะเปลี่ยนงาน และสามารถพิจารณาลักษณะค่านิยมในการทำงานของคุณจากคำตอบได้ว่าเป็นอย่างไร
แนวทางในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานนี้จะต้องไม่ตอบให้เป็นเชิงลบ หรือพูดถึงข้อเสียของที่ทำงานเก่าโดยเด็ดขาด แต่ให้เน้นไปที่ความคาดหวัง หรือเป้าหมายในเชิงบวกที่คุณต้องการจากที่ทำงานใหม่แทน
- จุดเด่น หรือจุดแข็งของคุณ
มาถึงคำถามที่เรียกได้ว่าเป็นคำถามคัดคนได้เลย เพราะหัวข้อสัมภาษณ์งานนี้จะเป็นการมุ่งหาจุดแข็งของคุณ ที่มีความพิเศษเหนือกว่าคุณคนอื่นๆ และจะต้องเป็นจุดเด่นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานในตำแหน่งดังกล่าว อีกทั้งยังควรจะเป็นจุดดีที่ทำให้คุณสามารถทำงานร่วมกับทีมงานและบริษัทได้อย่างราบรื่น
ตัวอย่างแนวทางในการตอบคำถามของจุดแข็งที่คุณสามารถนำไปใช้ในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานนี้จะได้แก่ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวได้ดี ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ ความละเอียดและความแม่นยำ ความสามารถในการทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี
- จุดด้อย หรือจุดอ่อนของคุณ
เมื่อรู้จุดเด่นกันแล้ว ก็ต้องรู้จุดด้อยของคุณด้วย ว่าจะพร้อมทำงานในตำแหน่งนั้นหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นการขาดทักษะหรือความรู้บางอย่าง รวมไปถึงประสบการณ์ที่ไม่เพียงพอกับหน้าที่การงาน อีกทั้งยังอาจจะหมายถึงบุคลิกหรือนิสัยบางอย่างของคุณที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่นเดียวกับคำถามสัมภาษณ์งานที่เกี่ยวกับจุดแข็ง การถามจุดอ่อนอาจจะไม่ได้เป็นการถามตรงๆ ว่า คุณมีจุดอ่อนอย่างไร แต่อาจจะเป็นการถามว่า ที่ผ่านมามีอะไรเป็นอุปสรรคในตัวคุณที่ส่งผลต่อการทำงาน หรืออยากปรับปรุงและพัฒนาตัวเองในด้านไหน หรือหากจะเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งเพื่อพร้อมรับปัญหาต่างๆ ต้องทำอย่างไร คำถามสัมภาษณ์งานเหล่านี้จะพยายามดึงดูดให้คุณพูดถึงด้านที่เป็นข้อเสียของคุณออกมา
ตัวอย่างแนวทางในการตอบคำถามของจุดอ่อนที่นิยมใช้ในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานในประเด็นนี้ เช่น ประสบการณ์ในการทำงานน้อย แบ่งงานไม่เก่ง ปฏิเสธคนไม่เป็น ไม่ค่อยกล้าแสดงออก หรือพูดในที่สาธารณะไม่เก่ง
- หากเจอปัญหา คุณจะจัดการกับความเครียดและความกดดันอย่างไร
ความสามารถในการทำงานภายใต้ความกดดันนั้นถือเป็นคุณสมบัติหนึ่งของพนักงานที่บริษัทมักจะมองหาเพราะทุกๆ ตำแหน่งงานย่อม มีความเครียด ความกดดันจากการทำงาน ไม่มากก็น้อย ผู้ที่สามารถทำงานภายใต้ความกดดันได้ดีมักจะมีศักยภาพที่เหนือกว่าพนักงานคนอื่นๆ ทั่วไป ด้วยการมีศักยภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรืออุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการใช้สติและเหตุผลเพื่อคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังอาจจะมีความสามารถในการจัดการ และบริหารเวลาให้การทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย คำถามนี้จึงจะช่วยให้รู้ว่าคุณจะรับมือความกดดันและจัดการกับความเครียดนั้นๆ ได้หรือไม่
- ผลตอบแทนที่คุณคาดหวัง
เป็นคำถามหยั่งเชิงกันเลยทีเดียว โดยปกติแล้ว บริษัทจะมีการตั้งงบประมาณสำหรับเงินเดือนของพนักงานในแต่ละตำแหน่งเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการถามคำถามสัมภาษณ์งานนี้ เพื่อจะดูว่าคุณคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนเท่าไร ยืดหยุ่นได้แค่ไหน อยู่ในงบประมาณที่บริษัทสามารถจ่ายได้หรือไม่ บางคนอาจจะใส่เงินเดือนที่คาดหวังไว้มากเกินกว่าการตั้งงบประมาณของบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทประเมินดูแล้วว่า ไม่คุ้มค่าที่จะจ้างคุณเข้าทำงาน หรือบางคนอาจจะกลัวว่าจะไม่ได้งาน จึงยอมใส่เงินเดือนคาดหวังที่ต่ำกว่าโดยปกติทั่วไป ทำให้บริษัทรู้สึกว่า คุณอาจจะไม่ได้มีความสามารถหรือศักยภาพเพียงพอ
แนวทางในการตอบคำถามเรื่องเงินเดือนที่คาดหวัง คุณควรจะตอบตัวเลขเงินเดือนที่ตรงกับฐานเงินเดือนทั่วไปของตำแหน่งงานดังกล่าวที่มีการจ้างกันอยู่ในตลาด
- เป้าหมายในอนาคตของคุณคืออะไร
ระหว่างการสัมภาษณ์งาน อาจจะมีคำถามสัมภาษณ์งานที่ถามเกี่ยวกับอนาคตการทำงาน ที่คุณวางแผนเอาไว้ โดยลักษณะคำถามอาจจะเป็นการถามตรงๆ ว่า มองภาพตัวเองในอนาคตไว้ยังไง กำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับอาชีพการงานเอาไว้อย่างไร คุณจะวางแผนอย่างไรต่อถ้าหากได้ตำแหน่งงานที่คุณสมัครเอาไว้ และคุณมองภาพตัวเองในอีก 2 ปีไว้อย่างไร เป็นต้น สาเหตุที่ผู้จ้างงานเลือกถามคำถามสัมภาษณ์งานในลักษณะนี้ เพื่อจะดูว่าคุณต้องการที่จะอยู่กับองค์กรนานแค่ไหน เป้าหมายที่คุณวางแผนในอนาคตนั้นสอดคล้องกับทิศทางของบริษัทหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ HR หรือผู้จ้างงานได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัครได้ดียิ่งขึ้น
ทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นคําถามที่เจอบ่อยและใช้กันมานานแล้วในหลายองค์กร การเตรียมสัมภาษณ์งานล่วงหน้ามีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้คุณจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองอย่างเพียงพอ และเตรียมคำตอบได้ตรงประเด็นกับที่ HR หรือผู้จ้างงานต้องการทราบ นอกจากนี้การทำการบ้าน ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังสมัคร รวมไปถึงบริษัทที่คุณอยากจะไปร่วมงานด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญ
ข้อควรระวัง! อย่าไปสัมภาษณ์งานโดยที่ไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน เพราะจะทำให้คุณไม่สามารถสร้างความประทับใจให้กับHR หรือผู้จ้างงาน จนทำให้คุณอาจจะต้องพลาดตำแหน่งงานดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย