เคยไหม? ระหว่างนอนรู้ว่าฝัน พอตื่นมากลับจำฝันไม่ได้เลย !
มีใครเคยเป็นแบบนี้กันบ้าง ระหว่างนอนหลับรู้ตัวว่าฝัน ตื่นมาจำฝันได้แม่น ในบางครั้งเราฝันดีมาก แต่พอเราตื่นมากลับจำความฝันอะไรไม่ได้เลย
การฝันของคนเรานอกจากจะเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกาย จิตใจแล้วยังมีจินตนาการ ความทรงจำ และอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนร่วมทำให้เกิดฝันในแบบต่างๆออกมา
จากสถิติคนเรามักจะฝันราว 4-5 ครั้ง/คืน เพราะคนเราไม่ได้ฝันเพียงเรื่องเดียว บางคืนอาจฝันหลายเรื่องผสมกัน ส่วนใหญ่ความฝันที่ชัดเจนที่สุดจะเกิดขึ้นในช่วง REM (Rapid Eye Movement) เป็นช่วงเวลาที่ลูกตาเคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็ว แม้ว่าร่างกายจะเป็นอัมพาตไปชั่วขณะ แต่สมองกลับตื่นตัวที่สุด ข้อมูลต่างๆ จะถูกหยิบมาผสมกับอารมณ์และแสดงออกมาเป็นความฝัน
บางคนจำความฝันได้แม่น บางคนตื่นมาก็จำอะไรไม่ได้เลย และเราจะจำความฝันนั้นได้ ก็คือ ความฝันเรื่องสุดท้ายก่อนตื่น
แล้วทำไมเราตื่นมาแล้วถึงจำฝันไม่ได้…?
เมื่อถึงเวลาล้มตัวลงนอน ร่างกายบางส่วนก็ได้พักผ่อนไปด้วย แต่ก็มีสมองส่วนหนึ่งฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นสมองในระบบประสาทลิมบิก (Limbic system) ที่ยังคงทำงานตลอดเวลา จะคอยทำหน้าที่ด้านความทรงจำระยะยาว จะอาศัยช่วงที่เราหลับ เพื่อจัดข้อมูลมากมายที่เราได้รับในวันนั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว และจัดข้อมูลให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ฮิปโปแคมปัสจะส่งข้อมูลเก่าๆไปยังเยื้อหุ้มสมองตลอดเวลา แต่ไม่ยอมรับข้อมูลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เราฝัน
อีกสาเหตุหนึ่งที่เราจำฝันไม่ได้ คือ ฮอร์โมนด้านความจำที่ชื่อว่า แอซิติลโคลีน (Acetylcholine) และ นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine : NE) หรือเรียกอีกชื่อว่า นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline : NA)
จากผลการศึกษาในปี 2017
จาก Behavioral and Brain Sciences พบว่า ตอนนอนหลับ ฮอร์โมนทั้งสองชนิดจะลดระดับลง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วง REM ที่ความฝันชัดเจนมากที่สุด แอซิติลโคลีนจะกลับมาทำงานปกติเหมือนตอนตื่น ในขณะที่นอร์เอพิเนฟรีนจะยังคงลดต่ำลงอยู่เหมือนเดิม นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุว่าลักษณะการทำงานของสารสื่อประสาทแบบนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราจำความฝันไม่ได้
รวบรวมคำกล่าวของนักวิทยาศาสตร์
โทมัส คิลดัฟฟ์ Thomas Kilduff
ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัย SRI International ได้เผยว่า ขณะที่กำลังเข้าสู่ช่วงหลับลึก (REM) ฮอร์โมนเมลาโทนิน (ที่อยู่ในระดับความเข้มข้นสูง ควบคุมการนอนหลับและความอยากอาหาร) เข้าไปทำปฏิกิริยาลดการยับยั้ง ไม่ให้ข้อมูลของความฝันถูกเก็บในเซลล์ประสาทฮิปโปแคมปัสมากเกินไป (เป็นเซลล์ประสาทระบบความจำระยะยาวและเชื่อมต่อกับอารมณ์ ความรู้สึก) ทำให้เวลาตื่นขึ้นมาบางเหตุการณ์ในความฝันอาจถูกลบเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
โทมัส แอนดริลอน (Thomas Andrillon)
นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโมนาช ออสเตรเลีย ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อเราตื่นขึ้นพร้อมความฝันที่เก็บไว้ในความทรงจำระยะสั้น แต่ฮิปโปแคมปัสยังทำงานได้ไม่เต็มที่ นั่นก็เป็นอีกเหตุผลที่เราจะจำความฝันไม่ได้
โรเบิร์ต สติกโกลด์ (Robert Stickgold)
ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านการนอนหลับจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้กล่าวว่า ความฝันเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก หากเราเป็นคนที่ตื่นแล้วรีบลุก หรือเด้งตัวออกจากเตียงไปทำอย่างอื่นทันที ความทรงจำใหม่ๆ ก็จะเข้ามาแทนที่ทำให้เราลืมความฝันเมื่อคืนไปก็เป็นได้ค่ะ
อ้างอิงจาก: Bahar Gholipour. Why Can’t We Remember Our Dreams?. https://bit.ly/3fAkL27
Ernest Hartmann/ Why Do Memories of Vivid Dreams Disappear Soon After Waking Up?. https://bit.ly/3hIjjxl / Hellokhunmor. ทำความรู้จักกับ ฮอร์โมนเมลานิน ตัวการทำให้ลืมความฝัน. https://bit.ly/2LzGbBn