รีวิวหนังสือ THE NEW S CURVE อยู่รอด ปลอดภัย และรุ่งได้กับทุกการเปลี่ยนแปลง
ในโลกของการทำงานที่เต็มไปด้วยการแข่งขันไม่จบสิ้น การที่ขาดช่วงพัฒนาตัวเองเพื่อประโยชน์ขององค์กรถือเป็นเรื่องอันตรายมาก เรียกได้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างมันยากขึ้นทุกวัน ลูกจ้างที่เพิ่งจบปริญญาใหม่ย่อมถูกคาดหวังเรื่องความสามารถมากกว่าคนยุคก่อน เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ทั้ง AI ChatGPT การจ้างคนงานด้วย บริษัท Outsource มาทำงานแทน โดยไม่จ้างหาบุคคลบรรจุเพิ่มในองค์กร เป็นต้น
ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล เจ้าของเพจมนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่ ก็ได้เห็นว่าคนทำงานยุคนี้ต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายมากมาย ทำให้อยู่ในภาวะเปราะบาง อ่อนแอทางจิตใจ ขาดความมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน โดยมองว่างานที่ทำอยู่นั้นเป็นแค่ทางผ่าน สิ่งที่พอเป็นทางออกก็คือคำแนะนำด้วยหนังสือเล่มนี้
เนื้อหาภายในเล่ม
1.รู้จักเอาตัวรอด (The Survivor)
2.สร้างเกราะป้องกัน รักษางานปัจจุบันให้ปลอดภัย (The Guardian)
3.สร้างความโดดเด่นและแตกต่าง เพื่อให้เรารุ่ง (The Star)
4.ต่อยอดพร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง (The Disruptor)
ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์
- ได้เรียนรู้ว่าถึงแม้ว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจ การตัดสินใจลาออกอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะบางเรื่องมันเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว เราต้องประเมินก่อนว่ามันหนัก(แย่)ขนาดไหน อะไรคือข้อเท็จจริง ที่มาที่ไป และสาเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น
- ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เอาชนะยากที่สุดไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องอคติของคน ไม่ว่าจะเป็นทำงานไม่เข้าตาหรือพลาดทำบางสิ่งบางอย่างให้คนที่ประเมินเราไม่พอใจโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่การตัดสินใจลาออกก็อาจเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดในเหตุผลนี้ ต่อให้น่าอึดอัดแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ความยืดหยุ่น (Flexibility) และความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) จะเป็นตัวบอกความสามารถในการเอาตัวรอดของแต่ละคน
- ได้เรียนรู้ว่าทุกสถานที่ทำงานจะมีคนอยู่ทนหรือทนอยู่ มนุษย์ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามสถานการณ์ เพียงแต่คนที่อยู่มานาน อยู่เป็น เพราะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากแล้ว รู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ตัวเองยังอยู่ได้ดี นี่คือกลุ่ม อยู่ทน เรียกได้ว่าพบสูตรสำเร็จในการทำงานของตัวเองแล้ว
- ได้เรียนรู้ว่ากลุ่มคนที่ ทนอยู่ คืออยู่มานานแต่ทำงานด้วยความเบื่อหน่าย มีมุมมองในที่ทำงานเป็นลบหลายด้าน ทำงานไปบ่นไป แต่จะไม่ลาออกเอง เพราะไม่กล้าจะไปเริ่มต้นใหม่กับที่อื่น เขาสามารถทำงานให้พอเอาตัวรอดแต่คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบในตัวคนกลุ่มนี้
- ได้เรียนรู้ว่าใครมีปัญหากับใคร ฝ่ายไหนไม่ถูกกันบ้าง เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรา เราควรเลือกเป็นกลางไว้ก่อน เน้นความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้เราผ่านการทดลองงานและสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ ในเรื่องการเมืองในที่ทำงาน เรื่องที่ถูกต้องอาจไม่ถูกใจก็ได้ บางครั้งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย
- ได้เรียนรู้ว่าองค์กรใดมีปัญหา สังคมที่ทำงานเป็นพิษ ก็มักประกอบด้วยเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนี้ : มีคนลาออกบ่อย มีคนจับกลุ่มซุบซิบนินทา มีการกลั่นแกล้งในที่ทำงานพูดเสียดสี ประจานให้อับอาย รอบตัวมีแต่คนคิดลบ ขาดภาวะผู้นำ เลือกความคิดของตนเป็นใหญ่ ไม่ฟังลูกน้อง เนื้องานทำให้ขาดสมดุลต่อเรื่องส่วนตัว ฯลฯ การทำให้ผู้อื่นเข้าใจเราผิดในทางลบ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเราไปขวางผลประโยชน์เขา เช่น เราถูกวางตัวในตำแหน่งผู้จัดการเช่นเดียวกับเขา การพูดจากันตรงๆมีเหตุผลและสร้างสรรค์อาจแก้ปัญหาได้ จะได้ไม่ลุกลามบานปลายเกินแก้
- ได้เรียนรู้ว่าหลายคนมองว่าเวลาจะช่วยเยียวยา เอาเข้าจริงไม่ใช่เลย เมื่อมีปัญหาทะเลาะในที่ทำงาน เจอเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าที่เป็นพิษ ถ้าเราไม่ตัดวงจรโดยเผชิญหน้าตรงไปตรงมา แม้ฝ่ายตรงข้ามอาจไม่จบ แต่ส่วนของเราถือว่าจบแล้ว แต่เราเลือกที่จะหลีกเลี่ยง ประวิงเวลา ไม่แก้ไขปัญหาเหล่านั้น สิ่งที่ตามมาคือเราจะหงุดหงิด โมโหง่ายกับเรื่องดังกล่าว อาฆาตพยาบาทบุคคลนั้นๆ ปล่อยวางไม่ได้ หมดไฟ เครียดและซึมเศร้าได้
- ได้เรียนรู้ว่างานที่ดีมักมาจากการแนะนำผ่านทางเพื่อน รุ่นพี่ที่เรามีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ถ้าเราสนิทกันจริงๆ เขาจะแนะนำพร้อมข้อมูลเชิงลึกมากมาย ซึ่งช่วยให้เรามีโอกาสสูงที่จะได้งานนั้นและได้เพื่อน/รุ่นพี่คนนั้นเชียร์ตัวเราให้กับบริษัทใหม่ด้วย และทุกความสัมพันธ์ที่ดี เราควรเป็นผู้ให้ก่อน แต่ต้องให้แบบจริงใจและไม่หวังผลตอบแทน เป็นการเชื่อมเครือข่ายความสัมพันธ์แบบ Connection ที่เราอาจช่วยเขา เขาอาจช่วยเรา ในแง่ความสามารถ ข้อมูลที่มีเรามี คนอื่นๆที่มีทักษะ เป็นต้น
- ได้เรียนรู้ว่าเมื่อเจ้านายต้องการตัวช่วย เราต้องเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เจ้านายเรียกหาเพื่อขอความคิดเห็น หรือขอให้เรารับเอาปัญหานี้ไปช่วยแก้ไข แบบนี้ถือเป็นดาวรุ่งของจริงที่เจ้านายไว้ใจให้เราไปช่วย เมื่อไรที่มีการโปรโมตในหน่วยงาน ในสายงานของเรา แล้วเราติดโผอยู่ในรายชื่อ หรือเป็นหนึ่งในแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ก็ถือว่าเราอยู่ในโหมดรุ่งเช่นกัน
- ได้เรียนรู้ว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน แต่ถ้าคนสร้างผลงานไม่ได้บอก ไม่ได้นำเสนอผลงานตัวเอง ก็ไม่มีใครรู้ การนำเสนอผลงานถือเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด เช่น ถูกเหมารวมเข้าใจว่าไม่มีผลงาน หรือเพื่อนขโมยผลงานไป เป็นต้น ทั้งนี้การประชาสัมพันธ์ตัวเองให้ดูดี ต้องเลือกงานที่ยอดเยี่ยมจริงๆ ไม่ใช่เอางานง่ายๆที่เน้นปริมาณมาอวด
- ได้เรียนรู้ว่าเราจะไปได้ไกลหรือใกล้แค่ไหน มันก็อยู่กับแผนที่ที่เราสร้างบวกกับทัศนคติที่เรามีกับเรื่องนั้นๆด้วย ยิ่งเราสามารถมีแผนชัดเจน รัดกุม พร้อมทัศนคติที่ดีด้วย การพึ่งพาคนอื่นจะน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามพึ่งพาใคร เราพึ่งพาได้ เพราะบางครั้งเพื่อนก็ต้องการความช่วยเหลือจากเราเช่นกัน
- ได้เรียนรู้ว่าคนทำงานอย่างเป็นสุขท่ามกลางความกดดัน ความเครียด บรรยากาศที่เป็นพิษ เพราะเขาสามารถปรับตัวได้ มันเกิดจากการที่เขาออกแบบงานและชีวิตให้สามารถอยู่ต่อไปกับที่นี่ได้ แล้วการที่เราบอกว่ามันแย่...จะทนหรือเปลี่ยนงาน ??? ซึ่งทั้งสองวิธีไม่มีอะไรดีเลย เราต้องออกแบบชีวิตตัวเองใหม่ หาวิธีเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำตัวเองให้ฟิต เพื่อให้เข้ากับชีวิตและงานที่ทำอยู่ให้ได้มากที่สุด ให้อยู่ในจุดที่ตัวเราเองยอมรับได้ ถ้าทำได้ เดี๋ยวชีวิตเราหลังจากนี้จะดีขึ้นเอง ให้ดูคนที่ทำงานร่วมกับเราว่าทำไมเขาทำงานหนักเหมือนเรา เขายังอยู่ได้ ไม่เจ็บป่วยบ่อย แถมมีเวลาให้ครอบครัวด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้เราในฐานะมนุษย์เงินเดือนตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานและทางเลือกที่เราตัดสินใจจะไปต่อ ควรจะเลือกอย่างไร การมีมุมมองที่ถูกต้อง มี mindset ที่ดีสำคัญมาก เพราะมันส่งผลต่อการตัดสินใจในปัญหาแต่ละเรื่อง มันเป็นเรื่องที่สอนกันไม่ได้ แต่ค่อยๆหล่อหลอมกันได้
ครีเอเตอร์ขอฝากประเด็นหนึ่งที่สำคัญ การทำงานย่อมมีปัญหากับคนเสมอ ก่อนลาออก ขอให้มองว่าทำไมคนอื่นเขาอยู่กันได้ ทนรับแรงกดดันได้ และผ่านพ้นปัญหามาทำงานได้ด้วยความสุข ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าทนทำงานไปวันต่อวัน