หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ประวัติเจ้าผู้ข้า (ท้าวคำแสน) วัดถ้ำเจ้าผู้ข้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

            ตามที่ประวัติที่สืบทราบกันมา จากคนเฒ่าคนแก่ ประกอบกับประวัติความเป็นมา ของกลุ่มชนชาวภู่ไท  และมีหลักฐานพอที่จะนำมาอ้างอิงได้ว่า “เจ้าผู้ข้า” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตาผ้าขาว” นามเดิมของท่านชื่อ “ท้าวคำแสน” ท่านเป็นปูชนียบุคคลเผ่าภูไท ผู้ทรงศีล  ถือธรรมปฏิบัติ และยึดมั่นในสัจจะธรรมอย่างเคร่งครัด จนเป็นที่เล่าลือว่า มีวาจาสิทธิ์ คำสั่งสอนบอกกล่าวของท่าน ยังคงเป็นที่ยึดถือของประชาชน จนมาถึงทุกวันนี้

            เจ้าผู้ข้า ถือกำเนิดในตระกูลเจ้าเมืองวัง เกิดที่เมืองอ่างคำ แขวงเมืองคำเกิดคำมวน เมืองมหาชัยกองแก้ว ประเทศลาว ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในอดีตกาล ผืนแผ่นดินอันเป็นถิ่นที่ตั้งเมืองจัน เมืองแสน เป็นต้น และเป็นถิ่นที่อยู่ของบรรพบุรุษ ชนเผ่าภูไท

            การดำเนินชีวิตของเจ้าผู้ข้า เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ได้เจริญรอยตามบิดามารดา  ตั้งใจปฏิบัติต่อหน้าที่ เช่น ช่วยราชการงานบ้านเมือง มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ครั้งอายุถึงวัยอันสมควรมีครอบครัวแล้ว บิดามารดาพร้อมคณาญาติ ได้ประกอบพิธีมงคลสมรสให้กับ “ ท้าวคำแสน” ภรรยาของท่านชื่ออย่างไร เป็นทายาทในตระกูลใด ไม่มีผู้ใดทราบ ทราบแต่ว่า “ท้าวคำแสน”  มีบิดาชื่อ “เทพบุตร” มารดาชื่อ “จันทบุตร” เป็นทายาทในตระกูลอ่างคำ ต่อมา ท้าวคำแสนได้อยู่กินกับภรรยา จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันคนหนึ่งชื่อว่า “นางดอกเวียงแก้ว” ภายหลัง มีผู้นิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “นางดอกปลี” เพราะในสมัยนั้น ไม่มีสูติบัตร ระบุชื่อไว้เป็นที่แน่นอน เหมือนเช่นปัจจุบัน แล้วแต่ความนิยม ของผู้ที่จะเรียกเป็นชื่อเล่นหรือชื่อจริง

            ครั้นต่อมา บ้านเมืองในสมัยนั้น ไม่ปกติ อันมีสาเหตุมาจากการสู้รบ ในสถานการณ์ ”กบฏเจ้าอนุวงศ์ในเวียงจันทน์ ” ประกอบกับบ้านเมืองมีภัยพิบัติ เกิดฝนแล้ง และมีโรคภัยเบียดเบียน ในระหว่าง พ.ศ.2368 – 2371 บิดามารดาพร้อมด้วยญาติพี่น้อง จึงได้พากันอพยพครอบครัว ที่ได้รับความเดือดร้อน มุ่งหน้ามาสู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง สู่ประเทศไทย

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2385  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “ ให้ราชวงศ์อิน” ไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองวัง ฟากแม่น้ำโขงฝั่งซ้าย ให้มารวมกันอยู่ในฝั่งขวา และปรากฏว่า บ่าวไพร่ชาวภูไท  พร้อมทั้งท้าวโรงกลาง บุตรเจ้าเมืองวัง และเพี้ยเมืองสูง กับครอบครัวพวกข่ากะโซ่ (หรือเผ่าไทโซ่) ก็ได้อพยพมาอยู่ในแขวงเมืองสกลนคร ในครั้งนั้นด้วย  ต่อมาในปี พ.ศ.2387  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพรรณนานิคมเป็นเมือง และขึ้นต่อเมืองสกลนคร และตั้งให้ “ ท้าวโรงกลาง” เป็นพระยาเสนาณรงค์ เป็นเจ้าเมืองพรรณนานิคม (แต่ก่อนชื่อว่าบ้านพังพร้าว) หรืออำเภอพรรณนานิคมในปัจจุบัน  และจากคำบอกเล่า ตามแนวทางอพยพนั้น  ครั้นข้ามแม่น้ำโขงมาสู่ประเทศไทยแล้ว ก็ได้มุ่งหน้าสู่พระธาตุพนม เพื่อจะไปกราบพระธาตุพนมและพักตามเส้นทางต่างๆ ได้เดินทางรอนแรมผ่านมาทางเมืองเว (หรืออำเภอเรณูนครในปัจจุบันนี้) และยังได้ผ่านมาทางบ้านกุรุคุ ในท้องที่อำเภอเมืองนครพนม ได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองกุรุคุระยะหนึ่ง จึงได้เคลื่อนย้ายมาสู่เมืองสกลนคร และได้พักอยู่ที่บ้านโนนสาวเอ้หนึ่งคืน จึงได้แสวงหาที่ใหม่เป็นลำดับมา  และในที่สุด ก็ได้มาพบทำเลที่เหมาะสม ที่เชิงเขาภูพาน มีลำห้วยหนองครองบึง เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีประโยชน์ในการทำไร่ ทำสวน ประกอบการอาชีพ มีผู้เล่าอีกว่า มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดงบ้านแก้ง บ้านคำข่า  และที่ดงไร่  หนองแวงน้อย บ้านขมิ้น ฯลฯ ในที่สุด จึงได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่  บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม  จังหวัดสกลนคร สืบเนื่องต่อมา จนถึงทุกวันนี้

            ในกาลครั้งนั้น “ท้าวคำแสน” ก็ได้ติดตามบิดามารดา มาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งนี้ด้วย เมื่อได้มาอยู่ในประเทศในยุคนั้นแล้ว จึงได้ตั้งหลักแหล่งที่มั่นคง และมีคนนิยมเรียกชื่อ “ท้าวคำแสน” ว่า “น้อยหน่า” บ้าง “บุญมี” บ้าง ต่อมาอุปฮาด (ขุนจำนงค์เทพรักษา) ผู้ทำหน้าที่ยกบัตร ฝ่ายปราบปรามเมืองพรรณนานิคม  จังหวัดสกลนคร ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นชนเผ่าข่า (ไทโซ่) ได้สั่งให้ขุนพิจารณ์สุวรรณรงค์ เสมียนศาลเมืองพรรณนานิคม ออกไปสืบประวัติของ “ท้าวคำแสน” เห็นว่า เป็นผู้ที่มีความเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขยันหมั่นเพียร  ประกอบกับเคยช่วยราชการงานเมืองมาก่อน  และเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ จึงได้เชิญตัวเข้าไปพบกับอุปฮาด ที่ศาล (ที่ว่าการ)เมืองพรรณนานิคม อุปฮาดได้สั่งการให้ท่าน เข้ารับราชการเป็นเสมียน ศาลเมืองพรรณนานิคม  ระยะนั้นสันนิษฐานว่า ท่านอายุได้ประมาณ 40 ปี

            เมื่อรับราชการต่อมาได้ระยะหนึ่ง จึงได้ประกอบพิธีมงคลสมรสให้แก่ลูกสาว คือ “นางดอกปลี” กับทายาทเพื่อนบ้านเดียวกัน ชื่อ “ท้าวคำแสน” ซึ่งตรงกับชื่อเดิมของท่านโดยบังเอิญ ในระหว่างที่ท่านรับราชการอยู่นั้น ได้เกิดล้มป่วยต่อเนื่องกัน เป็นเวลานานถึง 3 ปี ท่านนึกได้ว่า ต้องไปหาใบส้มป่อย (ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง) นำมาแช่น้ำกิน แล้วก็ตั้งขันธ์ห้า ขันธ์แปดขึ้น อธิษฐานจิตให้มั่น แล้วท่านก็ดื่มน้ำส้มป่อย เท่านั้นเอง อาการป่วยก็ทุเลาลง ในขณะนั้น ได้เกิดภวังค์สังหรณ์ในจิตของตนเอง ทำให้เกิดอาการเบื่อข้าวปลาอาหาร ซึ่งเพียงแต่ได้กลิ่นเท่านั้น ก็อาเจียนออกมาทันที ท่านจะรับประทานแต่เผือก มัน มะพร้าว น้ำอ้อย และผลไม้เท่านั้น

            เมื่อท่านหายป่วยแล้ว จึงได้ลาออกจากราชการเสมียน ศาลเมืองพรรณนานิคมไปจำศีล (ถือศีลแปดข้อ) อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร  ตามถ้ำ แสวงหาความสงบวิเวก โดยนุ่งห่มเครื่องขาว ผมก็จะเกล้าเป็นมวยขึ้น ฉะนั้น คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “ตาผ้าขาว”  และเมื่อพระยาอุปฮาด เจ้าเมืองพรรณนานิคม ทราบข่าวเช่นนั้นแล้ว  ก็เกรงว่า ท่านจะมีอุบายหลีกเลี่ยงการปฏิบัติราชการ

            อยู่มาวันหนึ่งอุปฮาด ได้จัดงานแต่งงานลูกสาวขึ้น จึงได้เชิญตาผ้าขาว ไปร่วมงานที่บ้าน ในเมืองพรรณนานิคม เพื่อจะได้ดลองดูว่า เป็นความจริงแค่ไหน เมื่อตาผ้าขาว เดินทางมาถึงบ้านอุปฮาด ก็ให้คนจัดอาหารดีๆ มาให้รับประทาน แต่ท่านก็ข่มใจ รับประทานอาหารนั้น แต่พอรับประทานเข้าไปได้เพียง 3 คำเท่านั้น  ก็ได้อาเจียนออกมาจนหมดทันที  ถ้าจะฝืนรับประทานต่อไปอีก คงไม่ได้แน่ ดังนั้น เมื่ออุปฮาดพิสูจน์เห็นเป็นความจริงเช่นนั้น  ท่านก็อนุโมทนาสาธุการ  จึงอนุมัติให้ลาออกจากราชการได้ เพื่อไปจำศีลภาวนา ตามความปรารถนา  ท่านได้ออกไปบำเพ็ญพรต  แสวงหาความสุขตามป่า  ตามถ้ำ  ตามเขา โดยลำพัง และไม่รับประทานอาหาร ที่เป็นสัตว์ทุกชนิดเลย ท่านจะหาแต่หัวเผือก หัวมันตามป่า มารับประทานเอง พอประทังชีวิต  แต่ท่านก็ยังมีสีสันวรรณะผุดผ่อง นิ่มนวล แจ่มใส เป็นที่น่าเคารพนับถือ  สถานที่บำเพ็ญเพียรนั้น ได้มีที่พำนักอยู่หลายแห่ง แห่งแรกอยู่ที่ห้วยท่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือวัดสิทธิบังคม  บ้านไฮ่  แห่งที่สองอยู่ที่ดอนศาลา  ทางทิศตะวันออกของบ้านไฮ่  ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีอนามัยตำบลไร่  ในปัจจุบันนี้ และที่อื่นๆ อีก เช่น ที่ห้วยศาลาดงขวาง บ้านโนนอุดม ถ้ำขาม  ภูถ้ำพระ บ้านนาใน   และถ้ำเจ้าผู้ข้า เป็นต้น  ในที่สุด “เจ้าผู้ข้า” หรือ “ตาผ้าขาว”  ได้บรรลุหลักธรรม  แนะนำสั่งสอนประชาชน เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป

            ส่วนท้าวคำแสน ผู้เป็นลูกเขยของเจ้าผู้ข้านั้น เมื่อแต่งงานกับ นางดอกปลี มาได้ไม่นานนัก ครั้งปี พ.ศ. 2418 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 พวกจีนฮ่อ ได้จัดเตรียมทัพที่ทุ่งเชียงคำ จะยกทัพลงมาทางเมืองเวียงจันทน์ เพื่อจะเข้าตีเมืองหนองคาย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดทัพไปรับศึกฮ่อ ให้พระยาอำมาตย์ (ชื่น กัลยามิตร) เกณฑ์กำลังมณฑลอุดร เมืองร้อยเอ็ด และเมืองอุบลราชธานี เป็นกองทัพหนึ่ง ไปสมทบด้วยกองทัพ เมืองนครราชสีมา ของพระยานครราชสีมาอีกทัพหนึ่ง เพื่อยกไปป้องกันเมืองหนองคาย ในการปราบศึกษาฮ่อในครั้งนี้ อุปฮาดเมืองพรรณนานิคม ได้เรียกท้าวคำแสน ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้าผู้ข้า เข้าประจำการเป็นทหาร ไปรบปราบศึกฮ่อด้วย ในการไปรบครั้งนี้ เจ้าผู้ข้า ได้มอบผ้ายันต์ที่ท่านเขียนเอง มอบให้ลูกเขยถือไปรบ เพื่อใช้คุ้มครองป้องกันภัยหมู่คณะ และประเทศชาติด้วย ปรากฏว่า กองทัพของพระยาอำมาตย์ ได้ปะทะกับพวกฮ่อที่เมืองเวียงจันทน์ และทัพกรุงของพระยาภูธรภักดี ได้ตีศึกฮ่อแตกยับเยินไป แล้วช่วยกันกวาดล้างพวกฮ่อ ไปจนถึงเชียงคำ จนกระทั่งพวกฮ่อ หนีกระเจิงออกไปจากเมืองพวน การปราบฮ่อในครั้งนี้ ได้สิ้นสุดลง และได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ทหารในกองทัพ ได้รับความปลอดภัยกันทุกคน เป็นที่เลื่องลือกันว่า ผ้ายันต์ของตาผ้าขาวนั้น มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เข้าตำราพิชัยสงคราม (ทราบว่า มีผู้เก็บไว้ ปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้)

            เมื่อเสร็จสงครามปราบศึกฮ่อ ได้ชัยชนะกลับมาแล้ว ท้าวคำแสน ลูกเขยเจ้าผู้ข้า ได้รับแต่งตั้งเป็น “มหาชัยสมบัติ”ส่วนน้องชายของท้าวคำแสน “มหาสมบัติ” นั้นชื่อ “นายกิ่ง” ไม่ได้ไปรบศึกฮ่อในครั้งนั้น แต่ได้รับแต่งตั้งให้อยู่เวรยาม รักษาเมืองภายใน จึงมีความดีความชอบ ได้รับแต่งตั้งเป็น “มหาโคตร” ต่อมา เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติ ขนานนามสกุลขึ้น บุตรหลานของ “มหาชัยสมบัติ” กับ “มหาโคตร”สองพี่น้องนี้ เป็นต้นตระกูล  “ทิพชาติ” สืบเนื่องกันมา จนถึงปัจจุบันนี้

            ความเดิม ตั้งแต่ “เจ้าผู้ข้า” ได้ออกเดินธุดงค์ แสวงหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ในระยะต่อมา ได้เดินทางไปจำศีล ปฏิบัติภาวนา อยู่บนภูพานทางด้านทิศใต้ ของบ้านคำข่า ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เมื่อจำศีลภาวนา อยู่ที่ถ้ำขามได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เดินทางกลับไปอยู่ที่สำนักเดิมที่บ้านไฮ่ เมื่อได้โอกาสเหมาะ จึงได้ออกธุดงค์ ไปหาความสงบตามสันเขาภูพาน ที่ถ้ำงูเหลือม  และที่ถ้ำพระ แต่บางคนก็เรียกว่า “ถ้ำตาผ้าขาว” เป็นสถานที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปสมัยต่างๆ แต่ปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปมีเหลืออยู่เพียงจำนวนน้อย  เนื่องจากมีพวกมิจฉาชีพ ลักลอบเอาไป และในที่สุด ก็คงจะไม่มีเหลือไว้ ถ้ำพระแห่งนี้ อยู่ทางทิศเหนือของบ้านนาใน ตำบลนาใน  อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมีผู้สร้างเป็นวัดแล้ว เรียกว่า วัดถ้ำพระ ประชาชน นิยมไปทำบุญในวันวันสงกรานต์ เป็นประจำทุกๆ ปี

            สถานที่จำศีลภาวนา ของเจ้าผู้ข้าแห่งสุดท้าย ได้แก่ “ถ้ำเจ้าผู้ข้า” ปัจจุบันนี้ ได้มีผู้ศรัทธา บูรณะสร้างเป็นวัดขึ้นมา มีกุฏิ ศาลาโรงธรรมหลังใหญ่ ทันสมัย เป็นที่ร่มเย็นน่าอยู่ ตั้งอยู่บนเชิงเขามีทิวทัศน์สวยงามอยู่ทางทิศใต้ของบ้านน้อยทิดไท หมู่ที่ 10ตำบลไร่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุ  สามเณร  พุทธศาสนิกชน ไปปฏิบัติจำศีลภาวนา และจำพรรษาอยู่เป็นประจำ ในระหว่างที่เจ้าผู้ข้า ไปปฏิบัติจำศีลภาวนา อยู่ตามที่ต่างๆ นั้น มีประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน พากันไปกราบไหว้ และนำเอากล้วย  อ้อย เผือก มัน ฯลฯ ไปให้เป็นประจำมิได้ขาด

            ข่าวลือ เกี่ยวกับอภินิหารของเจ้าผู้ข้า ได้แพร่สะพัดไปถึงหูเจ้าเมืองสกลนคร คือ พระยาจันตประเทศธานี  จึงได้นิมนต์ท่านไปทดสอบอภินิหาร โดยให้ทำนายม้าตัวเมีย ที่กำลังท้องแก่ใกล้คลอด ว่าจะคลอดลูกเมื่อไร จะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย และจะเป็นสีอะไร ปรากฏว่า คำทำนายของท่านนั้น เป็นความจริงทุกประการ กิตติศัพท์ของท่าน ทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสมัยนั้น ซึ่งเข้าใจว่า เป็นสมัยของรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าผู้ข้า เดินทางเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลฯ ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อท่านเดินทางไปถึง ก็เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลฯ พระองค์ได้ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีทั้งสี่ คือ เวียง ,วัง ,คลัง ,นา ในสมัยนั้น ได้ปรึกษากันว่า จะหาอุบาย ทดสอบความเป็นจริงในตัวท่านอย่างไร เมื่อเสนาบดีทั้งสี่ได้ปรึกษากันแล้ว ก็ให้นำเอาแมวสีเหลือง ไปใส่กล่องไว้ แล้วใช้ผ้าขาวพันรอบเป็น 7 ชั้น มาวางไว้ต่อหน้าเจ้าผู้ข้า แล้วตรัสถามว่า มีอะไรอยู่ข้างในห่อนี้ เจ้าผู้ข้า ตอบว่า เป็นสัตว์สี่เท้าสีเหลือง เมื่อเห็นเป็นความจริงเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงเลื่อมใสศรัทธา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มอบเครื่องบูชา เป็น ขันธ์ห้า คือ เทียนคำ หนักเล่มละหนึ่งบาท และขันธ์แปด คือเทียนเงิน หนักเล่มละหนึ่งบาท เช่นเดียวกันด้วย เมื่อท่านผู้ข้า เดินทางกลับจากการเข้าเฝ้าในครั้งนั้นแล้ว เวลาท่านจะไปไหน ท่านจะถือเครื่องสักการะเหล่านี้ ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว จึงได้ส่งเทียนเงิน คำ ชุดนี้ กลับคืนยังสำนักพระราชวัง

            ด้วยอำนาจของจิต ที่มุ่งมั่นบำเพ็ญเพียร จนบรรลุเห็นแจ้งในสัจจะธรรม เสมือนแสงประทีป ที่ส่องสว่างทางบริสุทธิ์  อันเป็นมรรคผล และปัจจัย ที่เป็นเครื่องนำไปสู่ความหลุดพ้น  เมื่ออายุของท่านย่างเข้าสู่วัยชรา  ดวงจิตของท่าน ระลึกได้ในปางหลัง ครั้งอดีตชาติปางก่อน ที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ และได้เล่าสู่คนฟังเป็นเนื่องนิตย์ ว่าท่านได้เกิดมาแล้ว 3 ชาติ และได้เล่าว่า     

            ชาติที่ 1 ตนเองได้เกิดเป็นหมาขี้เรื้อน อาศัยอยู่กับยายแก่คนหนึ่ง  อยู่มาวันหนึ่ง ได้ไปแย่งกินข้าวกินรำของชาวบ้าน ซึ่งกำลังตำข้าวด้วยครกมือ ก็เลยถูกสากตำข้าวตีหัวอย่างแรง ตนเองได้รับความเจ็บปวดอย่างยิ่ง พอฟื้นตัวได้ขณะหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงเจ้าของครกที่ตำข้าวพูดว่า “ยังไม่ตายอีกหรือ” พร้อมกับยกสาก กระโดดเข้ามาตีหัวอย่างแรงซ้ำอีกที ตนเองล้มฟุบร้อง “เอ๋ง” ได้คำเดียว ก็ถึงแก่ความตาย

          ชาติที่ 2 เล่าว่า ตนเองได้มาเกิดอยู่กับคน แต่ไม่เป็นรูปคนเลย เพราะคุณแม่คลอดก่อนกำหนด พอลูกออกมา แล้วนำไปฝังดิน ไว้ที่โคนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ในชาตินี้ ตนมีความเสียใจเป็นยิ่งนัก

          ชาติที่ 3 ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ในตระกูลผู้ดี ที่มั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นเชื้อสายเจ้าบ้านปกครองเมือง ที่เมืองอ่างคำ บิดามารดาได้เอาใจใส่ เลี้ยงดูให้มีความสุขกายสบายใจ มาตั้งแต่เล็ก จนเจริญวัยมีครอบครัว ได้อพยพหนีภัยกับบิดามารดา ข้ามแม่น้ำโขง มาสู่ประเทศไทย และมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่  อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ได้มีโอกาสรับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง เข้ารับราชการงานเมืองกับอุปฮาด ที่เมืองพรรณนานิคม จนมีเหตุเจ็บป่วย ต้องลาออกจากราชการ ได้บำเพ็ญเพียร จำศีลภาวนา บังเกิดนิมิตในสัจจะธรรม ตั้งจิตอธิษฐาน มุ่งมั่นที่จะโปรดบรรดามนุษย์ ชนร่วมชาติเดียวกัน ได้มีความรู้สึกในชาติคุณ รู้แจ้งในเหตุการณ์บ้านเมือง ที่จักเป็นไปในอนาคตกาลข้างหน้า ด้วยความไม่ประมาท

            ในกาลครั้งนั้น เจ้าผู้ข้า ได้แสดงอภินิหารให้เห็น ในสัจจะธรรม วาจาสิทธิ์ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง มีฝูงนกแขกเต้า และนกอื่นๆ พากันบินมาจับต้นไม้ไทร ที่เจ้าผู้ข้าพำนักจำศีล  เมื่อท่านได้ฟังเสียงนกพูดจากันแล้ว ได้บอกแก่คนที่ไปนมัสการท่านว่า  นกที่มาจิกกินผลไม้ที่ต้นไทรนั้น มีหลายเหล่า  หลายฝูง แล้วชี้ไปที่ฝูงนก แล้วกล่าวว่า นกฝูงนั้น กำลังพูดจากันว่า จะไปทิศทางนั้น นกฝูงนี้จะไปทิศทางนี้ และแล้วก็ปรากฏว่า นกฝูงนั้น ได้บินไปตามทิศทางที่ท่านได้ชี้มือบอกจริงๆ เป็นที่อัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก เล่ากันว่า เจ้าผู้ข้า เป็นผู้มีจิตวิจารณญาณอันสุขุม  รอบคอบ รอบรู้ดวงจิตของมนุษย์ทั่วไป

            ครั้งหนึ่ง ในขณะที่ท่านจำศีล อยู่ที่สำนักดอนศาลาป่าลำไย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านไฮ่ หรือสถานที่ตั้ง สถานีอนามัยตำบลไร่ในปัจจุบัน  ได้มีหญิงแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งชื่อ “ ดา” คลอดลูกใหม่ๆ ได้ไปหาหน่อไม้ที่ดงหนาป่าทึบ บริเวณหนองขอนแก่น ติดหนองไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นทุ่งนาแล้ว ด้านทิศเหนือของโรงเรียนบ้านไร่ บ้านไฮ่  ในขณะที่ผู้หญิงผู้นี้ กำลังเก็บหน่อไม้อยู่นั้น ได้ถูกเสือฝูงหนึ่ง รุมกัดกิน จนเหลือแต่หัวและกระดูก พอตกเย็นค่ำลง ญาติพี่น้องและชาวบ้าน ไม่เห็นกลับมา จึงพากันไปตามหา ได้พบแต่กระดูกเท่านั้น ด้วยความเศร้าสลดใจ ที่มีเหตุเภทภัยเช่นนี้เกิดขึ้น ชาวบ้านได้พากันไปหาเจ้าผู้ข้าที่สำนัก ท่านได้สั่งให้ชาวบ้าน พากันจัดหาเครื่องสักการบูชา แล้วท่านก็ขึ้นกุฏิสวดมนต์ เจริญธรรมแผ่เมตตา เรียกเสือมา ปรากฏว่า มีเสือโคร่ง 7 ตัว เข้ามาที่สำนักของท่าน พอเสือมาถึงสำนักทุกตัวแล้ว ท่านได้ลงไปยืนให้เสือกราบ เมื่อเสือได้หมอบลงพร้อมกันแล้ว ท่านได้สั่งสอนว่า ต่อไปนี้ ไม่ให้ฆ่า ทำร้ายมนุษย์อีก เพราะการฆ่ามนุษย์ กินเนื้อมนุษย์นั้น จะได้รับความเดือดร้อน และบาปหนัก ในการฆ่าทำร้ายมนุษย์ ในครั้งนี้ ท่านจะทำโทษ ห้ามไม่ให้อาศัยอยู่ในบริเวณแห่งนี้ และไม่ให้พึ่งบุญบารมีของท่านอีกต่อไป ให้พากันไปอยู่ที่ภูเขาไกลๆ พอท่านบอกเช่นนั้นแล้ว  เสือก็พากันเดินตามหลัง มุ่งหน้าสู่ภูพานกันทุกตัว ภายหลังปรากฏว่าบริเวณนั้น ไม่มีเสือโคร่งอีกเลย ยังเหลือแต่เสือเหลืองขนาดเล็กเท่านั้น

มีผู้เล่าว่า ในระหว่างที่เจ้าผู้ข้าเดินธุดงค์ จำศีลอยู่ตามถ้ำต่างๆ นั้น พอตกเย็นค่ำลงในแต่ละวัน  จะมีเสือหลายตัว พากันมาที่ถ้ำ  แล้วพากันหมอกราบท่านอยู่เสมอ โดยท่านก็ได้แผ่เมตตา ลูบคลำเสือเหล่านั้น เหมือนกับเราลูบคลำสุนัขเลี้ยงของเรานี้เอง โดยที่เสือเหล่านั้น ไม่ทำอันตรายใดๆ แก่ท่านเลย เมื่อมีฝูงสัตว์ป่าเช่นเสือที่ดุร้าย มาหาท่าน ท่านยังได้แผ่เมตตา สั่งสอนสัตว์เหล่านั้น ให้สำนักในบาปบุญคุณโทษ ท่านโปรดสัตว์ทั้งหลายเป็นประจำ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนที่พบเห็น เลื่อมใสศรัทธา ต่างพากันนำเผือกมันต่างๆ มาให้ บางครั้ง ไม่ทราบเลยว่า ท่านจะอยู่ที่ถ้ำไหน ต่างก็เดาเอาเองว่า ท่านจะอยู่ที่ถ้ำนั้นถ้ำนี้ แล้วก็พากันเสี่ยงไปเอง แต่ปรากฏว่า ท่านได้ลงมารับสิ่งของ จากผู้ที่ไปส่ง ก่อนที่จะไปถึงที่อยู่ของท่านทุกครั้ง โดยท่านมาคอยรับอยู่ก่อนแล้ว เป็นเช่นนี้ทุกครั้งไม่เคยพลาดเลย บางครั้ง ท่านก็หาขุดเผือกขุดมันเอง แต่วิธีหาเผือกมันของท่านนั้น เหมือนคนทั่วไปที่เขาทำกัน คือท่านจะหาเผือกมันตามป่าโดยวิธีใส่แร้ว (ใส่แร้วคือเอาคันโก่งไม้ผูกกับหัวเผือก) คือ ขุดรอบๆ บริเวณหัวมันเพียงนิดเดียว แล้วโก่งไม้คันแร้ว มาผูกเถาว์มันไว้กับคันแร้ว พอถึงตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไปเก็บเอาหัวมัน ซึ่งถอนขึ้นมา ห้อยโตงเตงอยู่กับคันแร้ว ที่ดีดขึ้นมาเอง เป็นเช่นนี้ ไม่ว่าฤดูแล้งหรือฤดูฝน  นับว่า เป็นที่น่าแปลกใจ มีผู้ทดลองทำตามวิธีของท่านแล้ว แต่ไม่ได้ผล อย่างที่ท่านทำไว้ ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะอภินิหารของท่านโดยแท้ ก็เป็นได้

            มีผู้บอกเล่าสืบเนื่องกันมาว่า ในขณะที่ท่านเจ้าผู้ข้า เดินธุดงค์จำศีลตามป่าเขา  และถ้ำต่างๆ นั้น มีสัตว์เลี้ยงคู่บารมีตัวหนึ่ง คือ “นกขุนทอง” นกขุนทองตัวนี้ รู้จักภาษาคนเป็นอย่างดี และมีความจงรักภักดีต่อเจ้าผู้ข้าเป็นอันมาก เพราะท่านเจ้าผู้ข้า เอาใจใส่เลี้ยงนกตัวนี้เป็นอย่างดี  มิให้อดอยาก แม้แต่น้ำและอาหาร  เมื่อจะเดินทางไปที่แห่งใด ก็คอนกรงนกขุนทองตัวนี้ไปด้วย เมื่อถึงที่หยุดพัก ก็แขวนกรงนกขุนทองคู่บารมี ไว้ที่กิ่งไม้ใต้ร่มเงา  นกขุนทองตัวนี้ ได้สิ้นชีวิตลงพร้อมกับท่านเจ้าผู้ข้า ในวันประกอบพิธีประชุมเพลิงศพ ด้วยเช่นกัน

            ในครั้งนั้น บ้านเมืองยังไม่เจริญก้าวหน้า เช่นสมัยทุกวันนี้  ถนนหนทางไปมาลำบากมาก ต้องเดินทางโดยทางเท้า รถเรือ หรือเครื่องบินยังไม่มี เครื่องมือทุ่นแรง เครื่องจักรกล โรงเลื่อย โรงสี วิทยุโทรศัพท์  คอมพิวเตอร์  เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ยังไม่มี พาหนะที่ใช้เดินทางไปรบทัพจับศึก ก็มีแต่ช้าง ม้า ใช้วัวเทียมเกวียน วัวต่าง ม้าต่างๆ  เครื่องศาสตราวุธ ยุทธศาสตร์ที่ใช้ ยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย  แต่ท่านเจ้าผู้ข้า ผู้เปี่ยมล้นด้วยวิจารณญาณ มองเห็นการไกล สามารถหยั่งรู้เหตุการณ์บ้านเมือง ที่จะเป็นไปในอนาคตข้างหน้าได้

            จากปริศนาคำสอนของเจ้าผู้ข้า กล่าวไว้ในครั้งนั้น ปรากฏว่า มีความเป็นจริงในสมัยปัจจุบันนี้  เท่าที่ได้สืบทราบ จากผู้ที่จดจำคำสอนของท่านไว้ดังนี้  คือ

  1. ต่อไปนี้ในภายหน้า จะมีแต่เต่าเที่ยว (เดิน) ทางกันมาก (ปัจจุบันเต่าก็คือรถยนต์  รถเก๋งวิ่งตามถนนมากมาย)
  2. ต่อไปภายหน้าคนหมดบ้านจะกินนำบ่อเดียวกัน (ปัจจุบันการประปาเพียงแห่งเดียวส่งไปยังครัวเรือนทุกบ้านทุกเมือง)
  3. ต่อไปภายหน้าคนหมดบ้านตำข้าวครกเดียว (ปัจจุบันทั้งบ้านทั้งเมืองมีโรงสีข้าว)

            4.ต่อไปภายหน้าคนเทียวทางเดียวบ่ได้เยียบฮอยเดียว (ปัจจุบันจะไปไหนมาไหนไม่ได้เดินให้เห็นรอยเท้า  มีแต่ขึ้นรถไปไม่ได้เหยียบเท้ากันดังแต่ก่อน)

            5.เมืองไทยจะอยู่เย็นเป็นสุขยิ่งขึ้น  ถ้าฝูงแร้งคอคำกลับไปสู่รังเดิมของมัน (ถ้าคนต่างชาติต่างภาษาไม่มาเป็นนายเรา กลับไปยังบ้านเมืองของตนเองเสียหมด ไทยเราก็จะมีแต่ความสุขสบาย ไม่วุ่นวายเดือดร้อน)

  1. ต่อไปภายในภาคหน้าสามเฮือนฮวมพร้า ห้าเฮือนฮวมควาย (มีเครื่องจักรตัดฟันเลื่อนไม้ไสกบ ฯลฯ และใช้รถแทรกเตอร์ไถนารวมกันหลายๆ หลังคาเรือน)
  2. ต่อไปภายภาคหน้าไส้เดือนยังจะได้เทียวทางหลาย (ปัจจุบันมีการตัดถนนหนทางไปทั่วทุกหนทุกแห่ง  ขวักไขว่ไปด้วยล้อรถ เปรียบเสมือนทางไส้เดือน)
  3. ต่อไปภายหน้าเด็กน้อยจะได้เป็นพระยา หลวงตาจะได้เป็นเจ้าวัด (ปัจจุบันคนดีมีความรู้ความสามารถ  แม้อายุยังน้อยก็ได้เป็นเจ้าเป็นนาย ปกครองบ้านเมือง วัดต่างๆ จะมีแต่หลวงตา)
  4. ต่อไปภายหน้าจะได้เห็นปลากั้งบินบนอากาศ (ปัจจุบันนี้มีเครื่องบันแบบต่างๆบินอยู่บนอากาศ)

            10.ต่อไปภายหน้ากลางบ้านเมืองจะเกิดหนามทั่วไป (ปัจจุบันคนจะไปไหนต้องสวมรองเท้าเหมือนหนึ่งกลัวหนาม)

            11.ต่อไปภายหน้าสาวงามจะกลับกลายเป็นผีเปรต (ปัจจุบันสาวงามที่แต่งตัวเป็นแฟชั่นบดบังธรรมชาติ เขียนคิ้ว  ทาปาก  ดูแล้วเหมือนเปรต เหมือนแต่งโขนเล่น)

            12.เจ้าผู้ข้ากล่าวว่า ต่อไปนี้พระออกจากกรุงเทพฯมาทันฉันเพลที่เมืองสกลนคร(ปรากฏว่าปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ จากกรุงเทพฯ โดยเครื่องบินพระที่นั่งมาทันเสวยพระกระยาหารกลางวันที่พระตำหนักภูพานราชเวศน์สกลนคร)

            13.เจ้าผู้ข้ากล่าวต่อไปว่าจะได้เห็นแคนดวงเดียว หมอลำพอฮ้อย (หมอลำเป็นร้อยคน) (ปัจจุบันหมอลำหมู่ทั้งคณะเป็นร้อยใช้แคนเล่มเดียว)   

  1. เจ้าผู้ข้าเคยกล่าวว่า “ข้อยข้าผู้เดียวคนใช้ทั้งเมือง” ปัจจุบันข้าราชการ หรือ ผู้แทนราษฎร์ เป็นผู้มีหน้าที่รับใช้ประชาชนทั้งบ้านทั้งเมือง
  2. เจ้าผู้ข้า กล่าวไว้ว่า ต่อไปภายหน้าคนยังจะได้พึ่งต้นไม้หลวงพวงไม้ใหญ่ (ปัจจุบันทางราชการหรือรัฐบาลได้จัดบริการสวัสดิการ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขแต่ประชาชน เป็นที่แบ่งเบาภาระ เช่น การให้สินเชื่อหรือนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อการออมทรัพย์ การประกันสังคม กองทุนสงเคราะห์ การส่งเสริมอาชีพ ฯลฯ เป็นต้น

ด้วยกิตติศัพท์ แห่งบุญญาธิษฐาน อันเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ของประชาชนทั่วไป ครั้งถึงปัจฉิมกาลบั้นปลายแห่งชีวิต นับตั้งแต่แรกเริ่มบำเพ็ญพรต จำศีลภาวนาตามป่าเขา และถ้ำต่างๆ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 56 ปี ได้บำเพ็ญเพียรในพรหมวิหารและ  “ขันติธรรม” เป็นที่ตั้ง แต่ความเที่ยงมั่นในสังขารร่างกายยอมเป็นอนิจจัง  ประกอบกับความแก่ชรามากแล้ว  “เจ้าผู้ข้า”  มีความรู้สึกสำนึก ในบั้นปลายแห่งชีวิต ด้วยการสำรวม ปลงอายุสังขาร ครั้นแล้ว ได้เดินทางออกจากที่พำนัก ถ้ำเจ้าผู้ข้า ไปแสวงหาที่สังเวชนียสถาน ในที่แห่งใหม่ ที่บ้านอุ่มไผ่  (ปัจจุบัน คือ บ้านไผ่ทอง)  (บริเวณวัดบ้านอุ่มไผ่)  ตำบลช้างมิ่ง  อำเภอพรรณนานิคม  จังหวัดสกลนคร                   

เมื่อประชาชนทราบ ได้พากันไปกราบเจ้าผู้ข้า ในที่แห่งนี้มิได้ขาด นอกจากประชาชนแล้วข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้น เช่น พระยาประจันตประเทศธานี เจ้าเมืองสกลนคร พระบริบาลศุภกิจ ฯลฯ ได้ถือโอกาส ไปกราบนมัสการเจ้าผู้ข้าอยู่เสมอ

            เมื่อเจ้าผู้ข้าได้แผ่เมตตาบารมี โปรดประชาชน จนถึงวัยชราภาพลงมากแล้ว เจ้าผู้ข้าได้ล้มป่วยลงด้วยโรคชรา  และได้ถึงแก่มรณภาพลง ที่สำนักปัจฉิมสถาน ที่บ้านอุ่มไผ่ มีผู้เล่าว่า รวมศิริอายุได้ 87 ปี ในวันพระราชทานเพลิงศพเจ้าผู้ข้านั้น มีบรรดาข้าราชการ บุตรหลาน ญาติพี่น้อง ประชาชน ไปร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก แต่ลูกสาวชื่อ “นางดอกปลี”  ไม่ได้ไปร่วมพิธีด้วย  เนื่องจากตั้งครรภ์แก่ กำลังจะคลอดลูกเป็นคนที่สาม  มีท้าวคำแสน (มหาสมบัติ) ผู้เป็นลูกเขย ได้คอนเอากรงนกขุนทองตัวโปรด ของท่านเจ้าผู้ข้า ตามขบวนศพไป เพื่อจะปล่อยนกขุนทองตัวนี้ ในพิธีประชุมเพลิงศพเจ้าผู้ข้าด้วย

            ครั้นเมื่อฝ่ายสงฆ์ ได้ประกอบพีทางศาสนาเสร็จแล้ว ได้ให้อาหารแก่นกขุนทองกินพออิ่ม ได้เริ่มประชุมเพลิงไฟติดแล้ว ได้เปิดกรงนกขุนทอง ท่านพระอาจารย์ผู้อาวุโสในพิธีฝ่ายสงฆ์  ได้กล่าวไว้อาลัย และพูดกับนกขุนทองว่า “ไปเสียเถิดพ่อนกขุนทองเอ๋ย ไปหากินตามสบาย เพื่อความสุขของท่านเถิด เจ้าของเจ้านั้น ได้หมดอายุสังขารแล้ว ไฟกำลังลุกไหม้อยู่นี้แหละ”

ครั้นแล้ว ทุกคนที่ไปร่วมพิธี ต่างสนใจ คอยสังเกตว่า เจ้านกขุนทอง จะบินไปทางไหน เมื่อปากกรงเปิดแล้ว เจ้านกขุนทอง ก็กระพือปีกบินขึ้นไปจับกิ่งไม้สูงๆ ในบริเวณที่เผาศพเจ้าผู้ข้า จับตาดูกองไฟ ที่กำลังลุกไหม้ด้วยความสนใจ ทันใดนั้น นกขุนทอง ได้กระโดดขึ้นไปจับกิ่งไม้สูงขึ้นไปอีก แล้วบินร่อนลงสู่กองไฟ ที่กำลังลุกไหม้ เปลวเพลิง ได้เผาไหม้ร่างนกขุนทอง กลายเป็นเถ้าถ่าน พร้อมกับร่างของท่านเจ้าผู้ข้า ผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดูมา  เป็นที่เศร้าสลดใจแก่ผู้ยืนดูเป็นยิ่งนัก

            ในวันประกอบพิธี ประชุมเพลิงศพท่านเจ้าผู้ข้านั้น ท้าวคำแสน (มหาสมบัติ) ผู้เป็นบุตรเขย ที่ได้ไปร่วมพิธี  ได้มีคนไปตาม ในที่ประกอบพิธีว่า “ นางดอกปลี ” ผู้เป็นภรรยา กำลังจะคลอดลูกเป็นคนที่สาม  ครั้นท้าวคำแสน (มหาสมบัติ)  ทราบ จึงรีบเดินทางกลับบ้านในวันนั้น พอถึงบ้าน ภรรยาก็คลอดลูกพอดี  ให้ชื่อว่า “ หล้า ” ภายหลังบุคคลนี้ ได้บวชเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระ เรียกชื่อใหม่ว่า "พระธรรมหรือญาคูธรรม" ภายหลังได้รับการศึกษาพระธรรมวินัย จากท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เจริญธรรมวิปัสสนา มีชื่อเสียง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น  “พระครูสกลสมณกิจสังฆวาหะ”ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (เป็นรูปแรกของจังหวัดสกลนคร) ท่านเกิดเมื่อวันที่ 19 เดือนธันวาคม พ.ศ.2427 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก ได้มรณภาพลง ในระหว่างดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร และเจ้าอาวาสพระธาตุเชิงชุม เมื่อวันที่ 17 เดือน มีนาคม  พ.ศ.2479 อายุได้ 52 ปี 2 เดือน กับอีก 28 วัน

            ต่อมา ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2453 – 2463) พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติ ขนานนามสกุลขึ้น  เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 และได้เริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456  เป็นต้นมา

            บรรพบุรุษในตระกูลของท่านเจ้าผู้ข้า ได้รับการขนานนามสกุล ในวงศ์ “ รัตนะ” สืบเนื่องมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

            พระเทพวิสุทธาจารย์ (กง โฆษโกหรือรัตนะ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร มีศักดิ์เป็นหลาน “ญาคูธรรม” และมีศักดิ์เป็นเหลน “ท่านเจ้าผู้ข้า"อันนับได้ว่า ลูกหลานตระกูลของท่านเจ้าผู้ข้า ได้ปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสกลนคร และครองตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ถึง 2 รูปด้วยกัน.

 

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก: ชมรมพุทธศาสน์ พระป่ากรรมฐาน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
5 VOTES (5/5 จาก 1 คน)
VOTED: ประเสริฐ ยอดสง่า
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
โค้งสุดท้ายก่อนหวยออก เปิดเลขเด็ดเลขดัง "หลวงปู่ศิลา" ชูนิ้ว ทำแผงแทบแตกไก่ เจ้าพายุ 1 กรกฎาคม 2567ดีไซเนอร์แดนมังกร กล่าวหา "ลิซ่า" เลียนแบบเสื้อดาวที่ตนออกแบบระทึกเกิดไฟไหม้เผาวอด 30 ร้านค้าสาวสองพูดไทยอาละวาดร้านหรูที่ไต้หวัน แหล่งข่าวเผย ไม่ใช่คนไทยดาวรุ่งดับ! นักแบดมินตันจีนวัย 17 เสียชีวิตกะทันหันระหว่างแข่งขันคน 12 ราศี ทำแบบนี้แล้วการงานจะก้าวหน้าต้มยำกุ้ง - เคบายา ลุ้น UNESCO จดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมระเบิดคาร์บอม หน้าอาคารแฟลตที่พักข้าราขการ ตร.สภ.บันนังสตา เสียชีวิต 1 ราย ผู้บาดเจ็บ 16 รายกรดไหลย้อน หมดค่ารักษามากมาย สุดท้ายจบด้วยสิ่งนี้!เด็กเกือบตๅย หลังเกิดหลุมยุบข้างสระฝันแปลก! ผู้หญิงตะโกนเรียก 3 ครั้ง จนสะดุ้งตื่น นึกว่าเป็นความจริง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
ดีไซเนอร์แดนมังกร กล่าวหา "ลิซ่า" เลียนแบบเสื้อดาวที่ตนออกแบบดูดวง 12 นักษัตร เดือนกรกฎาคม 2567เปิดทฤษฎีสมคบคิด เพราะอะไร "Rock star" ของ "ลิซ่า" ต้องมีท่อนสอนภาษาญี่ปุ่น ?เคล็ดลับการทำบะจ่าง ให้อร่อยกลมกล่อมต้มยำกุ้ง - เคบายา ลุ้น UNESCO จดทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมสะพานลอยน้ำสำหรับรถวิ่ง ในประเทศจีน
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
ฮือฮาพบเด็กขายไก่ทอดหน้าคล้ายศิลปินดัง"คนแก่ไร้บ้าน"ในนิวยอร์กพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ระทึกเกิดไฟไหม้เผาวอด 30 ร้านค้าดาวรุ่งดับ! นักแบดมินตันจีนวัย 17 เสียชีวิตกะทันหันระหว่างแข่งขัน
ตั้งกระทู้ใหม่