หนานติ๊บปาละ ตำนานบ้านสามขา (ตำบล หัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง)
เจ้าพ่อติ๊บปาละ (สามขา) เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๐ ที่บ้านสามขา เป็นบุตรของแม่คำ บิดาไม่ปรากฏหลักฐาน ในสมัยก่อนมีศึกเงี้ยว (ไทยใหญ่) เข้ามายึดครองเมืองหลามป่าง (หรือเมืองลำปางในปัจจุบัน) จากการยึดครองของเงี้ยวในสมัยนั้น ได้จับเด็กผู้ชายมาฆ่าทังหมด แม้แต่แรกเกิด และแม้แต่รกที่ออกมากับเด็กก็ต้องบังคับให้นำไปฝังไว้ที่ใต้บันได ให้ทุกคนทั้งชายและหญิง ได้เหยียบย้ำเพื่อแก้เคล็ด เมื่อเด็กโตขึ้นมา จะพากันกอบกู้บ้านเมืองคืน ดังนั้น จึงพากันกำจัดเด็กผู้ชาย โดยนำเด็กที่จับได้ใส่ครกมอง ตำให้ตาย หรือนำเอาไปไว้กลางไร่นา ปล่อยน้ำเข้าใส่ให้น้ำท่วมตาย ราษฎรที่มีบุตรชาย จะนำบุตรของตน ไปหลบซ่อนตามป่า เพื่อให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของทหารเงี้ยว
ในจำนวนนั้น มีแม่เด็กคนหนึ่งชื่อแม่คำ คือแม่ของเด็กชายติ๊บปาละนั้นเอง ได้นำเอาบุตรชาย ไปหลบซ่อนอยู่บนภูเขา (ชื่อเขาพืม) โดยพาบุตรชาย อาศัยอยู่ใต้ต้นปล่ามก้อ ไหว้วอนขอให้พระแม่ธรณี เทวาอารักษ์ เสือบ้าน เจ้าปักษ์แจ้าแคว่น เสนาพระยา แก้ว หื้อมาช่วยคุ้มครองปกปักรักษา ได้อยู่รอดปลอดภัย โดยอธิษฐานว่า หากเด็กคนนี้มีบุญญาธิการ ที่จะได้กอบกู้บ้านเมืองคืนมาในภายหน้า ขออย่าให้ทหารเงี้ยวได้พบได้เห็นเลย ส่วนทหารเงี้ยว ได้เดินค้นหารอบบริเวณใกล้ ๆ ที่เด็กหลบซ่อนอยู่ หลาย ๆ เที่ยวก็ไม่พบ ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่เด็กเล็ก ๆ ไม่ส่งเสียง ไม่ร้องไห้แต่อย่างใด ผู้เป็นแม่ได้เลี้ยงลูก โดยอาศัยข้าวตากแห้งอม นำเอามาเคี้ยวป้อนบุตรชายจน กระทั่งการศึกสงบ ทหารเงี้ยว ได้ถอนกำลังกลับเมือง แม่คำ จึงพาบุตรชาย กลับมาอยู่บ้านตามเดิม
พอบุตรชายโตขึ้น จึงนำมาฝากไว้กับสมภารวัด ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสามขา ได้ศึกษาเล่าเรียน วิชาเวทมนต์คาถาอาคมจนเก่งกล้า จึงบวชเป็นสามเณร และอุปสมบทเป็นภิกษุ มีนามว่า “ตุ๊ติ๊บปาละ”
ท่านสมภาร ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระติ๊บปาละ ชื่อพระอาจารย์ ธรรมวงศ์ มีคาถาอาคมเก่งกล้า ถ้าวันไหนเป็นวันพระ จะกลายร่างเป็นเสือ (เสือเย็น) ด้วยฤทธิ์คาถาอาคมที่มีอยู่ ดังนั้นพอใกล้ถึงวันพระ ท่านจะเสกน้ำมนต์ให้พระติ๊บปาละไว้ พร้อมทั้งสั่งกำชับว่า ถ้าอาจารย์กลายร่างเป็นเสือจงอย่าได้กลัว ให้ตั้งสติให้ดี แล้วใช้น้ำมนต์ที่ให้ไว้ รดไปที่ร่างเสือ ร่างเสือ ก็จะกลายเป็นร่างคนตามเดิม ต่อมาไม่นาน เจ้าอาวาสท่านอาจารย์ ก็มรณภาพลง พระติ๊บปาละ จึงขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสามขาสืบมา
ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๒๗๒ – ๒๒๗๕ บ้านเมืองในบริเวณแผ่นดินล้านนา คือ ภาคเหนือตอนบน อยู่ใต้การปกครองของพม่า ระยะนั้น ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทย มีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระครองราชย์( พ.ศ. ๒๒๕๑ -๒๒๗๕) เมืองเชียงแสน เชียงราย นครลำปาง นครแพร่ นครน่าน นครเชียงใหม่ ต่างตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เกิดการจลาจล รบพุ่งกันไปทั่วทุกแห่งหน นครเชียงใหม่ มีเจ้าองค์ดำเป็นเจ้าผู้ครองนคร และกำลังรบพุ่งติดพันกับพวกพม่า ส่วนที่นครลำปางก็เกิดความวุ่นวาย เพราะไม่มีเจ้าผู้ครองนคร มีแต่ขุนเมืองทั้งหลายควบคุมปกครองเมือง ขุนเมืองเหล่านั้นได้แก่ แสนหนังสือ แสนเทพ นายเรือนจเรน้อย ท้าวลิ้นก่าน ต่างแย่งชิงอำนาจกัน แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เสนาเก่านครลำปาง กระด้างกระเดื่อง ต่ออำนาจท้าวลิ้นก่าน ผู้ถูกพม่า สั่งมาปกครองนครลำปาง เนื่องจากขาดผู้นำ บ้านเมืองระส่ำระสาย แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า
ต่อมา ได้มีสมเด็จวัดนายาง สมภารวัดสามขา และสมภารวัดบ้านฟ่อน ได้ลาสิกขา ออกมาเป็นสามตนบุญ มีไม้ตะพดและไม้เสารั้วเป็นอาวุธ ต่อสู้รวมพล อาสาสู้พม่า เพื่ออิสระของชาวนครลำปาง แต่ก็ถูกกระสุนปืนทหารพม่าของท้าวมหายศเสียชีวิต แม่ทัพพม่า ซึ่งเจ้านางสอิ้งค์ทิพย์ เจ้าแม่เมืองลำพูน มีบัญชาให้มาปราบปราม ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง เมื่อนครลำปางถูกพม่าม่านเงี้ยว ยกทัพมาตี ทำให้เมืองนครลำปางแตก ตกเป็นเมืองขึ้นของพวกพม่า ชาวนครลำปาง จึงหาวิธีการกู้นครลำปางกลับคืนมา ในขณะนั้น พระญาสมุทร ครูบาวัดชมพู เรียกขุนท้าวทั้งหลาย ทั้งท้าวลิ้นก่าน จเรน้อย ประชุมลับ วางแผนที่จะกู้เมือง ท้าวลิ้นก่านขอถอนตัว ครูบาวัดชมพูจึงหารือว่า จะสึกออกมากู้บ้านกู้เมืองเอง แต่ชาวบ้านขออาราธนาไว้ และปาวารณาตัวว่า แม้นจะมีใครเป็นหัวหน้าก็จะร่วมมือ ขอพระญาสมุทร จงอย่าได้ลาสิกขา พระญาสมุทร จึงกล่าวถึงทิพย์ช้าง และขอให้ทิพย์ช้าง เป็นหัวหน้ากู้บ้านเมือง ทิพย์ช้างได้เป็นหัวหน้าผู้กอบกู้นครลำปาง ทิพย์ช้าง ได้เสาะหาผู้มีฝีมือ มาเป็นกำลังอาสา รวบรวมพลให้ได้ ๗๐๐ คน และต้องการคนหนังเหนียวมาก ๆ ทิพย์ช้าง ก็เสนอให้มีการป่าวประกาศหาอาสาสมัคร ก็ไม่มีใครอาสา ทิพย์ช้าง ก็เลยอาสาตระเวนหาคนหนังเหนียว สืบหาได้ว่า มี พระติ๊บปาละ วัดสามขา หนานถานายาบ สมเด็จนายาง พอได้สามท่านนี้ มารวมกับทิพย์ช้าง คงจะสู้กับพวกพม่าได้
ทิพย์ช้าง จึงประกาศรวบรวมพลเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้น ได้เกลี้ยกล่อมให้พระติ๊บปาละวัดสามขา ลาสิกขา เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง พระติ๊บปาละจึงลาสิกขา เอาผ้ายันต์โพกศีรษะ และนำดาบ ๒ เล่ม ไปรวมกับกองทัพ ร่วมกันวางแผนโจมตีข้าศึก ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พ่อเจ้าทิพย์ช้าง ปลอมตัวพาไพร่พล เข้าประชิดตัวกับหัวหน้า คือ ท้าวมหายศ ยิงท้าวมหายศ หัวหน้าทัพพม่าตาย ส่วนพ่อเจ้าติ๊บปาละสามขา ยิงอะม๊อกใส่ข้าศึก พวกพม่าข้าศึก ก็แตกตื่นโกลาหล หนีกันไปคนละทิศทาง พ่อเจ้าติ๊บปาละ หนานถานายาบ พร้อมทั้งไพร่พล ได้ไล่ติดตามข้าศึกไปดักที่ประตูผา ส่วนพ่อเจ้าทิพย์ช้างกับสมเด็จนายางกับพวกทหาร ก็ไล่ตีข้าศึก ถอยล่นไปรวมกันที่ประตูผา เจ้าพ่อติ๊บปาละสามขา กับหนานถานายาบ ขึ้นแอบซุ่มอยู่บนต้นไม้ มีใบตองห่ออีบา พวกข้าศึก ก็มาปรึกษากันอยู่ข้างล่าง ประชุมกันอยู่ว่า เราจะกลับไปตีเอาเมืองลำปางให้ได้ เรามารวมกันให้หมด เราอยู่ที่นี้แล้ว เราไม่กลัวอะไร ไม่ว่ามันจะดำดินบินบนมาจากไหน ฝ่ายพ่อเจ้าทิพย์ช้าง กับสมเด็จนายาง กำลังติดตามข้าศึกมาอย่างกระชั้นชิด ส่วนพ่อเจ้าติ๊บปาละกับหนานถานายาบ ที่อยู่บนต้นไม้ ใบตองห่อข้าวอีบา ทานน้ำหนักสองคนไม่ได้ ก็เลยหลุดหล่นลงมากลางข้าศึก พ่อเจ้าติ๊บปาละ ก็เลยลั่นวาจาออกไปว่า ดำดินก็กู บินบนก็กู พวกมึงตายเสียเถอะ จากนั้น ก็สู้รบกับพวกพม่าเป็นสามารถ ข้าศึกล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือ ก็แตกหนีกระเจิงกันไปคนละทิศทาง พอศึกสงบลง จึงพากันกลับมาที่เมืองลำปางอีกครั้ง คอยทีท่าว่า กำลังทหารพม่า จะกลับมาแก้แค้น แต่ก็ไม่มีวี่แวว จึงประชุมลงความเห็นว่า ให้แต่งตั้งให้หนานทิพย์ช้าง ปกครองเมืองลำปางสืบต่อ ไป เพราะบ้านอยู่ใกล้เมือง นอกนั้นขอกลับบ้าน แต่สัญญากันว่า หากมีข้าศึกมารุกรานอีก จะกลับมาช่วยทันทีที่ได้รับข่าว ก่อนจากกันกลับบ้าน มีคนนำไม้แก่นจันทน์มาให้ท่อนหนึ่ง ยาวประมาณห้าคืบเศษ ถูกเลาเป็นอย่างดีเก้าเท่าปลาย ปลายเท่าเก้า จึงตัดแบ่งเป็นสี่ท่อน หาช่างผู้มีฝีมือดี มาควักเป็นพระพุทธรูปสี่องค์ แบ่งกันคนละองค์ เพื่อเป็นที่ระลึกไว้บูชา คือ หนานติ๊บปาละสามขา จำนวน ๑ องค์ สมเด็จนายาง จำนวน ๑ องค์ หนานถาบ้านฟ่อน จำนวน ๑ องค์ ทิพย์ช้างบ้านไผ่ จำนวน ๑ องค์ จากนั้นก็แยกย้ายกับกลับบ้าน ส่วนหนานติ๊บปาละ พาลูกน้องกลับมาอยู่ที่วัด พ่อเฒ่าแม่แก่ พ่อแม่พี่น้อง ทั้งบ้านใกล้เรือนเรียงเคียง ทราบข่าวการกลับมาของหนานติ๊บปา ละก็พากันมาแสดงความดีใจ และรับฟังคำบอกเล่าของหนานติ๊บปาละในการออกรบ ให้พี่น้องลูกหนานตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียงได้รับฟังจนหมดสิ้น และได้เล่าต่อกันมาจนถึงลูกหลาน ตราบเท่าทุกวันนี้
ส่วนหนานติ๊บปาละ หรือเจ้าพ่อติ๊บปาละ เป็นผู้อยู่ยงคงกระพันด้วยเวทมนต์คาถา ไม่มีผ้ายันต์ป้องกันตัว ตามที่บางแห่งกล่าวอ้าง และเจ้าพ่อติ๊บปาละ ได้กลับมาบวชเป็นพระ เป็นเจ้าอาวาสวัดสามขา จนกระทั่งมรณภาพ
ตำนานบ้านสามขา ตำบล หัวเสือ ชุมชนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ในอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
ตามตำนานเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ตามคำบอกเล่าสืบกันมาว่า ในหมู่บ้านมีคนล่าสัตว์เลี้ยงชีพอยู่หลายครอบครัว วันหนึ่งมีชาวบ้านคนหนึ่งได้ออกล่าสัตว์ แล้วไปพบเห็นรอยเก้งกินลูกมะกอกป่า จึงตัดไม้ทำเป็นห้างหรือนั่งร้านอยู่บนต้นไม้เพื่อดักยิงเก้ง พลบค่ำลงเก้งตัวนั้น ได้ออกมากินมะกอกป่าอีก ชาวบ้านคนนั้นจึงใช้ปืนคาบศิลา ยิงเก้งถึงแก่ความตาย แต่พรานชาวบ้านผู้นั้น ไม่สามารถนำเก้งทั้งหมดกลับบ้านได้ เนื่องจากเป็นเก้งที่ใหญ่มาก จึงใช้มีดตัดเอาเฉพาะขาหลังเพียงขาเดียว ส่วนที่เหลือก็นำใบไม้มาปกปิดไว้กันไม่ให้คนอื่นมาเห็น
รุ่งเช้า พรานคนดังกล่าวได้ชักชวนเพื่อนบ้านกลับไปเอาเนื้อเก้งที่เหลือ แต่เมื่อไปถึงที่ซ่อนเนื้อเก้งไว้ กลับไม่เจอเนื้อเก้งดังกล่าว เนื่องจากมีงูใหญ่มาพบเก้งที่เหลือสามขา จึงลากเข้าไปกินในถ้ำที่อยู่ทางทิศตะวันตก ชาวบ้านจึงพากันตามรอยงูใหญ่ที่ลากเก้งเป็นทางไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่ปากถ้ำ จึงคิดว่างูใหญ่ตัวนั้นนำเก้งไปกินในถ้ำ ดังนั้นจึงพากันกลับบ้านเพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรกับงูใหญ่ตัวนั้น
เมื่อมีความเห็นสอดคล้องตรงกัน จึงหาเชือกมามัดเป็นเกลียวเส้นใหญ่และยาวที่สุด ได้นำเอาหูหิ้วถังตักน้ำมาทำเป็นขอเบ็ด ผูกกับเชือกแล้วฆ่าสุนัขตัวหนึ่งผูกติดกับเบ็ดหย่อนลงไปในรูถ้ำ ปลายเชือกผูกติดกับต้นไม้ที่ปากถ้ำ พอวันรุ่งขึ้นก็พากันมาดู เห็นเชือกตึงจึงรู้ทันทีว่างูใหญ่คงติดเบ็ดแล้ว จึงช่วยกันดึงงูออกมา แต่ดึงเท่าไหร่ก็ไม่สามารถดึงออกมาได้เนื่องจากงูใหญ่มาก จึงได้ระดมคนในหมู่บ้านทั้งชายและหญิงให้ไปช่วยกันทุกคน ยกเว้นหญิงหม้ายเพียงคนเดียวที่ไม่ไปช่วย พอชาวบ้านทั้งหมดมาถึงก็ได้ช่วยกันดึงอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ดึงไม่ออกเหมือนเดิม
ชาวหมู่บ้านแห่งนั้นจึงได้นำเอา ช้างสามปาย ควายสามศึก เกวียนสามเล่ม ใช้เชือกผูกตามกัน แล้วควาญช้างก็ไส ช้างให้เดินหน้าและเฆี่ยนควายให้เดินตาม ในที่สุดก็สามารถดึงออกมาได้ เมื่อออกมาพ้นปากถ้ำแล้วก็ใช้เกวียนสามเล่มต่อกัน ใช้ช้างยกงูขึ้นใส่เกวียน แล้วจึงให้ช้างเดินนำหน้าช่วยลากงูไปจนถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านแล้วพวกเขา จึงพากันลงมือชำแหละเนื้องูออกมาทำเป็นอาหาร แจกจ่ายกันกินทั้งหมู่บ้าน มีทั้งเหล้ายา สาโท จ้อย ซอ กันอย่างสนุกสนาน ร่าเริงเต็มที่ ส่วนเนื้องูที่เหลือก็แบ่งปันกันทุกครัวเรือน ยกเว้นหญิงหม้ายผู้นั้นเพราะไม่ได้ไปช่วยเขาลากงู จึงไม่ได้รับส่วนแบ่ง
พอเวลากลางคืน ตอนดึกได้มีเทวดามาเข้าฝันโดยแปลงตัวเป็นคนแก่ ผมขาว หนวดยาว หลังโก่งถือไม้เท้าขึ้นบันไดมาหาหญิงหม้ายคนนั้นแล้วกำชับว่า คืนนี้ถ้าได้ยินเสียงอะไรที่อึกทึกครึกโครม หรือเสียงอะไรก็ตามห้าม ออกจากบ้านเป็นอันขาด อย่าลงบ้านไปไหนเพราะจะเป็นอันตราย พอสั่งแล้วเทวดาก็หายวับไปกับตา พอหญิงหม้ายนอนหลับไปก็ตกใจตื่นเนื่องจากมีเสียงดังอึกทึกครึกโครมเหมือนแผ่นดินจะถล่มทลาย หญิงหม้ายผู้นั้นจึงรีบวิ่งออกมาจากประตูเรือน แต่พอนึกถึงคำเตือนของชายชราผมขาวผู้นั้นได้จึงกลับไปนอนดังเดิม
ครั้นต่อมาได้ยินเสียงก็วิ่งออกนอกประตูเรือนมาดูอีก แต่ก็นึกถึงคำเตือนอีกครั้งก็กลับเข้าไปนอนทุกครั้ง พอครั้งที่สามวิ่งออกมาถึงหัวบันได สิ่งที่ปรากฏต่อสายตากลับมองดูเวิ้งว้าง บ้านเรือนที่ใกล้ชิดติดกันหายไปหมดไม่เหลือสักหลัง โล่งเป็นบริเวณกว้าง หญิงหม้ายรีบกลับเข้าไปนอน ไหว้พระสวดมนต์ พอรุ่งเช้าจึงออกมาดูข้างนอกเห็นบริเวณหมู่บ้านยุบลงไปหมด เหลือแต่บ้านของตนเพียงหลังเดียว หญิงหม้ายผู้นั้นจึงเก็บข้าวของที่มีค่าไปอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านที่ถล่มนั้น ปัจจุบันเรียกถ้ำนั้นว่า “ถ้ำย่าเถ็ก” บริเวณหมู่บ้านที่ถล่มลงไปนั้นปัจจุบันเรียกว่า “โป่งหล่ม”
ต่อมามีชาวบ้านที่ยากจนไม่มีอันจะกินได้พากันรอนแรมออกป่าล่าสัตว์ อพยพมาอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั้น ซึ่งมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก พอเพื่อนบ้านทราบข่าวเล่าสืบต่อๆ กันไป ก็เดินทางมาสมทบและอพยพมาเรื่อยๆ จนมาพบทำเลเหมาะ ดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ดี จึงพากันมาตั้งถิ่นฐานปลูกบ้านหลายหลังจนกลายเป็นหมู่บ้าน บริเวณนั้นมีต้นกล้วยป่าขึ้นเต็มไปหมด จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่หยวก”
ต่อมาต้นกล้วยได้ถูกทำลายจนหมดสิ้น เพราะชาวบ้านขุดถางทำเป็นไร่นาไปหมด เมื่อไม่มีหยวกกล้วยเหลืออยู่แล้วจึงพากันเปลี่ยนชื่อบ้านใหม่ โดยให้ชื่อว่า "บ้านสามขา" ตามขาเก้งที่เหลือ ซึ่งหมายถึงความมั่นคง เปรียบดังก้อนเส้าสามก้อน และแก้วสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาจนทุกวันนี้
วันเวลาผ่านมา จากตำนานเล่าขาน กลายเป็นนิทานก่อนนอน หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟ ในค่ำคืนที่เหน็บหนาว ลูกหลานชาวบ้านสามขาทุกวันนี้ ยังจดจำที่มา แห่งตำนานประวัติหมู่บ้านของพวกเขาได้ และพยายามพลิกฟื้นนิทานดังกล่าว ให้กลายเป็นตำนานที่มีชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า เพราะทุกวันนี้ พวกเขากำลังสร้างตำนานบทใหม่ ตำนานแห่งการอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ และการอยู่ร่วมกัน ระหว่างคนกับป่า
อ้างอิงจาก: แหล่งที่มาของข้อมูล