ท้าวแสนปม ตำนานเมืองไตรตรึงษ์
ท้าวแสนปม เป็นหนึ่งในตำนานพื้นบ้านของไทย ที่ควรรู้จัก เป็นนิทานพื้นบ้านแบบเล่าปากต่อปาก จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำไปประพันธ์ แต่งเป็นบทละคร
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายผู้หนึ่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นั้น มีรูปร่างน่าเกลียด มีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะตาปม ตามชื่อแสนปม นายแสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขือ อยู่ที่เกาะตาปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อม มีผลใหญ่มาก เพราะแสนปมปัสสาวะรดทุกวัน
วันหนึ่ง พระราชธิดาของเจ้าเมืองกำแพงเพชร เสด็จประพาสมาถึงที่เกาะตาปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย จึงให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ นายแสนปม จึงเก็บผลมะเขือไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือแล้ว ไม่นานก็ทรงพระครรภ์ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดา ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ
ต่อมาพระราชธิดา ทรงมีพระประสูติกาล เป็นพระราชโอรส เจริญวัยน่ารัก เจ้าเมืองผู้เป็นพ่อ จึงรับสั่งให้เสนา ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคน มาเสี่ยงทายเป็นพระบิดาของพระราชโอรส โดยอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาจริง ก็ขอให้พระราชโอรส คลานเข้าไปหาบรรดาผู้ชายทุกคน ไม่ว่าหนุ่ม หรือแก่ชรา ยาจกเข็ญใจ เศรษฐี เจ้าต่างเมือง ต่างพากันมาร่วมเสี่ยงทาย เป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสก็ไม่ได้คลานไปหาใครเลย แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม
เจ้าเมืองแปลกพระทัย จึงให้เสนา ไปตามผู้ชายคนสุดท้ายในเมือง คือ นายแสนปม เข้ามาเสี่ยงทาย นายแสนปมไม่อาจขัดบัญชาเจ้าเมือง จึงมาพร้อมกับก้อนข้าวเย็นหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงเข้าเสี่ยงทาย กลับปรากฏว่า พระราชโอรส ได้คลานเข้ามาหา และเสวยข้าวเย็นในมือนายแสนปม เจ้าเมืองจึงจำต้องยกพระราชธิดา ให้แก่นายแสนปม และด้วยความโกรธ จึงขับไล่ให้คนทั้งสามคน กลับไปอยู่ที่เกาะตาปมดังเก่า
วันหนึ่ง นายแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น ทอดครั้งใด ก็ได้แต่ขมิ้นขึ้นมาจนเต็มลำเรือ แสนปมแปลกใจมาก เมื่อกลับไปบ้าน ขมิ้นกลับกลายเป็นทองคำ นายแสนปมจึงนำทองคำไปทำเปลให้ลูก และตั้งชื่อลูกว่าอู่ทอง แล้วนายแสนปมก็เริ่มมีฐานะ มีข้าทาสบริวารมาอาศัยอยู่ร่วมกัน สุขสบายขึ้นกว่าแต่ก่อน
วันหนึ่ง นายแสนปมเกิดเบื่อชีวิตสุขสบาย จึงลงไปถางไร่ที่ปลายน้ำ ก็พบว่า ต้นไม้ที่ถางทิ้งไปนั้นกลับมาขึ้นงดงามตามเดิม นายแสนปมจึงถางใหม่ แต่วันรุ่งขึ้น ก็ปรากฏเหตุการณ์เหมือนเดิม นายแสนปมสงสัย จึงถางไร่แล้วแอบเฝ้าดู ก็เห็นลิงตัวหนึ่งออกมาจากป่า กับกลองใบหนึ่ง พอลิงตีกลองขึ้น ต้นไม้ในป่าก็กลับงอกงามขึ้นเหมือนเดิมใหม่ นายแสนปม จึงแย่งกลองนั้นมาจากลิง และทดลองตีกลอง พร้อมกับทดลองอธิษฐานในใจ ไปต่างๆ นานา
จนแจ้งในสรรพคุณของกลองแล้วครบถ้วน จึงเอากลองกลับบ้าน และเล่าให้พระราชธิดาฟัง ครั้งนี้ นายแสนปมตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมกับตีกลอง ปรากฏว่า พื้นที่เกาะปม กลับกลายเป็นเมืองใหม่ มีปราสาทราชวัง นายแสนปมและครอบครัว จึงเข้าไปอาศัยอยู่ ให้ชื่อเมืองใหม่แห่งนี้ว่า เมืองเทพนคร และตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง ผู้คนจึงเรียกขานว่า ท้าวแสนปม และบุตรชาย จึงได้รับการเรียกขานใหม่ว่า ท้าวอู่ทอง จากนั้นเมื่อท้าวอู่ทองเติบโตขึ้น ก็ออกเดินทางไปผจญภัย ตามวิถีทางของตน กล่าวกันว่า ท้าวอู่ทององค์นี้ ก็คือพระราชบิดา ท้าวอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์อู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
และเรื่องราวนิทานพื้นบ้านท้าวแสนปม ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ แต่ที่ประกอบอยู่ในเรื่องนิทานพื้นบ้าน ก็คือพื้นที่จริงที่ถูกอ้างอิงถึง คือเกาะกลางแม่น้ำปิงนั้น ต่อมา ก็มีผู้ไปพบเมืองโบราณ มีซากปรักหักพังดั้งเดิมมากมาย จึงมีผู้ตั้งชื่อเมืองนี้ หรือจะเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมก็ไม่รู้ได้ว่า เมืองไตรตรึงษ์ เมื่อนิทานท้าวแสนปมถูกเล่ากันมาแพร่หลายยิ่งขึ้น เมืองโบราณแห่งนี้ จึงได้รับการกล่าวขานต่อไปว่า คือเมืองเทพนคร ของท้าวแสนปมนั้นเอง
กลอนบทละคร ท้าวแสนปม ในรัชกาลที่ ๖
ท้าวแสนปม เป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์บทละคร ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีอยู่อย่างหลากหลายเรื่องราว จำนวนมาก พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม นี้ขึ้น ระหว่างที่เสด็จกลับจากทอดพระเนตร “พระเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทรงเริ่มต้นพระราชนิพนธ์ ที่ตำบลบ้านโข้งสุพรรณบุรี ต่อเนื่องเรื่อยมา ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ จนกระทั่งพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จ เมื่อเสด็จกลับมาถึงที่พระราชวังสนามจันทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกัน
เนื้อเรื่องของท้าวแสนปมนั้น มีการนำเค้าโครงบางส่วน มาจากการแสดง “ตำนานเมืองอู่ทอง” อันเป็นตำนานท้องถิ่น ที่กล่าวถึงต้นกำเนิดของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ ที่ ปกครองอาณาจักรอยุธยา โดยได้มีการปรับแก้ความในบางส่วน ให้มีความสมจริง มีความเป็นไปได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีที่มาของเหตุการณ์ต่างๆ และความเป็นมาของตัวละคร ดังเช่นที่ในตำนานนั้น มิได้กล่าวถึงที่มาของ นายแสนปม พระองค์ก็ทรงมีพระราชนิพนธ์เพิ่มเติม ตามพระราชวินิจฉัยว่า นายแสนปมนั้น แท้จริงแล้ว เป็นพระโอรสของเจ้านครศรีวิไชย ที่แปลงตัวมา เพื่อลอบชมโฉมพระธิดาของเจ้านครไตรตรึงษ์
นอกจากนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในตำนาน ที่ดำเนินไปตามการดลบันดาลของเทพยดา ให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น ดังในความตอนหนึ่งของตำนานนั้นที่กล่าวว่า พระราชธิดาแห่งไตรตรึงษ์ทรงครรภ์ หลังจากเสวยมะเขือที่นายแสนปมถวาย แต่ในบทละครเรื่องท้าวแสนปมนั้น ได้มีการกล่าวไว้ว่า ทั้งพระราชธิดาและนายแสนปมนั้น เคยพบเจอกันมาก่อน จนเกิดใจปฏิพัทธ์ต่อกัน และได้ลักลอบพบกันเป็นประจe
แม้กระทั่งในตำนาน ที่ได้มีการกล่าวถึงกลองวิเศษ “อินทเภรี” ที่พระอินทร์มอบให้นายแสนปม เมื่อตีแล้วก็ปรากฏว่า ปุ่มปมนั้นหายไป และเมื่อตีอีกครั้ง ก็สามารถเนรมิตเมืองขึ้นใหม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากในเรื่องท้าวแสนปม ที่กล่าวถึงกลองอินทเภรี ในฐานะที่เป็นกลองที่ใช้ตี ให้สัญญาณในการรบ ซึ่งนายแสนปมนั้น ใช้เป็นเครื่องมือประกอบในการทำอุบายเพียงเท่านั้น
การที่เนื้อเรื่องท้าวแสนปม มีการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องในบางเหตุการณ์ ให้มีความสมจริงยิ่งขึ้นนั้น ก็ เป็นไปตามพระราชวินิจฉัย ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงวิเคราะห์ ประกอบกับการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีปราชญ์ผู้รอบรู้แห่งแผ่นดิน เกิดขึ้นก่อนรัชสมัยของพระองค์ทำการศึกษามาล่วงหน้า เป็นหลักฐานการค้นคว้าอยู่ก่อนแล้ว
จนทำให้ทราบว่า ท้าวแสนปม เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาช้านาน ในดินแดนอุษาคเนย์ และมีอยู่หลายเรื่องหลายตำนานไม่เหมือนกัน
อย่างตำนานโยนกเชียงแสน สิงหนวัติกุมาร จุลยุทธกาลวงศ์ ก็เล่าไว้ว่า พระราชวงศ์เชื้อสายพระเจ้าสิงหนวัติ และพระเจ้าพรหมซึ่งครองเมืองเชียงราย ได้หนีภัยสงครามมาตั้งเมืองใหม่ ชื่อว่า “เมืองไตรตรึงษ์” บนพื้นที่ปัจจุบันของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองอันเป็นต้นเรื่องของท้าวแสนปม ราชบุตรเขยของราชาแห่งเมืองไตรตรึงษ์ ในส่วนตอนต้นของพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่า ในจุลศักราช ๖๘๑ พ.ศ. ๑๘๖๒ ท้าวแสนปมได้สร้างเมืองใหม่ และขึ้นครองราชย์สมบัติ ที่เมืองเทพนคร ทรงพระนามว่า พระเจ้าสิริชัยเชียงแสน มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า ท้าวแสนปม คือเจ้านายเชื้อกษัตริย์นครศิริไชย บางทีท้าวแสนปม อาจจะชื่อชินเสนก็เป็นได้ ส่วนเมืองที่ปรากฏในเรื่องท้าวแสนปมนั้น คือเมืองสรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ตามลำน้ำพิงและแควน้อย ด้วยพระอัจฉริยภาพทางประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำเรื่องราวการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ มาเชื่อมโยงประกอบพระราชวินิจฉัยของพระองค์ จนกลายเป็นพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปมขึ้น ซึ่งมิได้แค่กระทำเพียงเล่มเดียว แต่ทรงพระราชนิพนธ์ท้าวแสนปม ขึ้นถึง ๓ เรื่อง คือ พระราชบันทึกเรื่องท้าวแสนปม บทละคร รำท้าวแสนปม และบทละครดึกดำบรรพ์ท้าวแสนปม พร้อมกันทีเดียว
อ้างอิงจาก: แหล่งที่มาของข้อมูล