กษัตริย์ดาวิด ผู้นำแห่งชาวอิสราเอล ราชาที่สถาปนาเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงยิว
กษัตริย์ดาวิด หรือ เดวิด คือบิดาของพระราชาโซโลมอน และเป็นนักรบที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้นำแห่งชาวอิสราเอล และเป็นปฐมกษัตริย์ยิวที่แท้จริง (ไม่นับ ซาอูล เพราะขัดคำสั่งพระเจ้าหลายอย่าง และเป็นเพียงตัวแทนจากเผ่าที่มีอำนาจ ยังไม่สามารถรวมชนชาติได้) หลังกษัตริย์ดาวิดได้สลาย 12 เผ่าแล้วรวมชนชาติยิวเป็นหนึ่งเดียว รวมถึงสถาปนา นครเยรูซาเลม ในดินแดนพันธสัญญาเป็นเมืองหลวง
ดาวิด ผู้สืบเชื้อสายของ อาดัม
เรื่องเล่าของกษัตริย์ดาวิดถือว่ามีความหลากหลาย ทั้งตามประวัติศาสตร์ ตำนานและความเชื่อทางศาสนา ซึ่งพระองค์เกี่ยวพันกับ 3 ศาสนาคือ ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ (เรียกว่า เดวิด) และ ศาสนาอิสลาม (เรียกว่า ดาวู้ด) โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ดาวิด มีชีวิตอยู่จริงในช่วง 1037-967 ปีก่อนคริสต์ศักราช
ตำนานเล่าว่า ดาวิด เป็นบุตรของเจสซีแห่งเผ่ายูดาห์ สิบสองเผ่าของอิสราเอล ( ชาวยิวคือชนชาติและกลุ่มศาสนาที่มีเชื้อสายมาจากวงศ์วานอิสราเอลหรือชนเผ่าฮีบรูในแผ่นดินตะวันออกใกล้ยุคโบราณ) ซึ่งบรรพบุรุษของคือ อาดัม กับ อีฟ
ทั้งนี้ ดาวิด เป็นลูกชายของ เทราห์ ที่สืบเชื้อสายมาจากเชมลูกของ โนอาห์ ซึ่งในคัมภีร์ฮีบรูถือว่า โนอาห์ เป็นปฐมบรรพบุรุษยุคที่สิบและเป็นยุคสุดท้ายก่อนน้ำท่วมโลก เขาเป็นผู้สร้างเรือยักษ์ตามบัญชาของพระเจ้าเพื่อช่วยครอบครัววงศ์มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงให้รอดจากเหตุน้ำท่วมโลก
นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่า เชม ฮาม และยาเฟท บุตรชาย 3 คนของ โนอาห์ คือบรรพบุรุษของมนุษย์ 3 เผ่าพันธุ์บนโลก ได้แก่ คอเคซอยด์ (ผิวขาว), มองโกลอยด์ (เอเชีย) และนิกรอยด์ (ผิวดำ) โดย เชม ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซาม
ต่อมาเชื้อสายของ เชม สืบทอดไปอีกหลายรุ่นดังนี้ เชม มีลูกชายชื่อ อารปัคชาด ส่วน อารปัคชาด มีลูกชื่อ เอเบอร์ ส่วน เอเบอร์ มีลูกชื่อ เปเลก ส่วน เปเลก มีลูกชื่อ เรอู ส่วน เรอู มีลูกชื่อ เซอรุก (หรือ เซรุก) และ เซอรุก มีลูกชื่อ นาโฮร์
นาโฮร์ นี่เองที่เป็นพ่อของ เทราห์ และ เทราห์ คือบิดาของบุคคลสำคัญใน 3 ศาสนา คือ อับราฮัม ส่วน นาโฮร์ที่สอง และ ฮาราน ลูกชายอีกสองคนของ เทราห์ ไม่มีบทบาทในประวัติศาสตร์มากนัก
อับราฮัม กับความเชื่อมโยงใน 3 ศาสนา
อับราฮัม คือต้นกำเนิดของกลุ่มศาสนาอับราฮัมที่ประกอบไปด้วย ศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และ ศาสนาอิสลาม ตามลำดับเวลาก่อนหลัง ทั้งสามศาสนาเชื่อว่าบุคคลที่มีนามว่า อับราฮัม เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศาสนาตน
สำหรับ อับราฮัม ในศาสนายูดาห์ที่เชื่อในพระเจ้าองค์เดียว โดยในคัมภีร์ทาลมุดศาสนิกชนยูดาห์ถือว่าวิถีนี้เป็นพันธสัญญาระหว่างพระยาห์เวห์กับวงศ์วานอิสราเอล เชื่อว่าพระยาห์เวห์ได้ประทานธรรมบัญญัติที่เรียกว่าคัมภีร์โทราห์แก่โมเสสที่ภูเขาซีนาย นับถือ อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ ยูดาห์ ว่าเป็นผู้เผยพระวจนะ รวมถึง ดาวิด ผู้ถูกพระทัยของ พระเจ้า
ด้าน อิสอัค กับ อิชมาเอล ลูกชายของ อับราฮัมมีบทบาทในศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม โดยในศาสนาคริสต์ อิสอัค เป็นลูกของ อับราฮัม กับ ซาราห์ ภรรยาคนแรกซึ่งเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของ พระเยซู รวมถึงในชนชาติยิว อิสอัค ยังเป็นพ่อของ ยาโคบ ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็น ผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า เมื่อในคืนหนึ่งระหว่างพักแรมจากการเดินทางกลับจากบ้านของลาบัน ขณะที่รอพบเอซาวพี่ชายฝาแฝด มีชายคนหนึ่งมาขอท้าสู้ ทั้งสองคนปล้ำอยู่นานแต่เสมอ ชายผู้นั้นจึงตั้งชื่อใหม่ให้ยาโคบว่า อิสราเอล ที่ต่อมาให้กำเนิดลูกชาย 12 คน ได้แก่ รูเบน สิเมโอน เลวี ยูดาห์ ดาน นัฟทาลี กาด อาเชอร์ อิสสาคาร์ เศบูลุน โยเซฟ (ไม่ใช่นักบุญโยเซฟที่เชื่อว่าเป็นพ่อพระเยซู) และ เบนยามิน เป็น 12 เผ่าอิสราเอล
ขณะที่ ศาสนาอิสลามเชื่อว่า อับราฮัม คือ อิบรอฮิม , โมเสส คือ มูซา , กษัตริย์โซโลมอน คือ สุไลมาน และ นบีอีซา บุตรนางมีรยัม คือ พระเยซู บุตรนางมารีย์ โดยศรัทธาในพระอัลเลาะห์ นับถือนบีมูฮัมหมัด และเชื่อว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจาก อิชมาเอล ลูกของนางฮาการ์ภรรยาคนที่สองของ อับราฮัม
ยาโคบ คืออีกคนที่เรียกได้ว่าเป็นบิดาของชาวยิว เขาเป็นบุตรคนที่สองของอิสอัคกับนางเรเบคาห์ที่มีพี่ชายฝาแฝดชื่อเอซาว ภายหลังชื่อที่สองของเขาอย่าง อิสราเอล ถูกนำมาตั้งเป้นชื่อประเทศของชาวยิว แต่อีกคนที่ถูกเชิดชูไม่แพ้กันก็คือ ดาวิด กษัตริย์คนแรกที่ก่อตั้งอาณาจักรยิวขึ้นใน คานาอัน ดินแดนแห่งพันธสัญญา หรือที่ตั้งของ นครเยรูซาเลมในปัจจุบัน
สำหรับ ดินแดนคานาอัน หรือ แผ่นดินที่สัญญาไว้เกี่ยวข้องกับตำนานที่ โมเสส พาชาวฮีบรูสามแสนคนที่ถูกกดขี่เป็นทาสออกจากอียิปต์ข้ามทะเลแดงกลับไปสู่พื้นที่บริเวณเมืองเยรูซาเลม ดินแดนแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าที่ชาวยิวเชื่อว่าทรงประทานให้แก่พวกเขา สถานที่ซึ่ง อับราฮัม เคยอาศัยอยู่ และจุดฝังศพของ ยาโคบ (ถ้ำที่มัคเปลาห์ ในคานาอัน)
ต่อมา ชาวฮีบรู หรือ ชาวยิว ได้รวบรวมดินแดนอันได้แก่ดินแดนของพวกคานันและพวกอาราเอลไลต์เข้าด้วยกัน แต่ถูกรุกรานจากพวกฟิลิสเตียที่อพยพจากเกาะครีต กับพวกอามอไรต์ และฮิตไตต์จากทางเหนือ พวกเขาหัวหน้ากลุ่มที่เข้มแข็งชื่อ ซาอูล ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกของชนชาติยิว เมื่อประมาณ 1,050 ปีก่อนคริสตกาล
จากเด็กเลี้ยงแกะสู่มหากษัตริย์
ตอนนั้น ดาวิด เป็นเพียงเด็กเลี้ยงแกะจากเมืองเบธเลเฮม เขาเป็นลูกคนสุดท้องที่ตัวเล็ก เมื่อ ซาอูล ได้พบกับ ดาวิด ได้รับเป็นทหาร มีตำนานเล่าเรื่องของการพบกันของ ดาวิด กับ ซาอูล ที่หลากหลาย โดยบางตำนานเล่าว่าพระเจ้าเป็นคนชี้นำ ซาอูล ให้ไปพบ ดาวิด ชายหนุ่มที่มีความสามารถรอบด้าน เก่งดนตรี กวี ไปจนถึงการรบ แต่บางตำนานก็เล่าว่า ดาวิด ที่ตอนนั้นเป็นแค่เด็กเลี้ยงแกะเดินทางมาอาสาต่อสู้กับ โกไลแอธ ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งให้เขาร่วมกองทัพ รวมถึงเป็นสหายกับ โจนาธาน (โยนาธาน) ลูกชายของ ซาอูล ในเวลาต่อมา
ขณะเดียวกันบางตำนานเล่าว่า โกไลแอธ เป็นยักษ์ แต่ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า โกไลแอธ คือชายรูปร่างสูงใหญ่จากกองทัพฟิลิสเตีย หรือ ฟีลิสทีน (ชนชาติโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์ที่อพยพมาจากเกาะครีต แถบทะเลอีเจียนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคใต้ของดินแดนคานาอัน เมื่อราวปีที่ 1200ก่อน ค.ศ. และได้กลายเป็นศัตรูสำคัญของชาวอิสราเอล จนถึงปีที่ 600 ก่อนคริสตกาล)
หลังสองกองทัพเผชิญหน้ากันที่หุบเขาเอลาห์ ขุนพลร่างยักษ์ของฟิลิสเตียออกมาท้า พวกอิสราเอล ให้ส่งนักรบไปสู้กันตัวต่อตัว แต่ไม่มีใครกล้า กระทั่ง ดาวิด หนุ่มน้อยเดินทางมาเยี่ยมพี่ๆ ที่เป็นทหารพอดี จึงขออาสาสู้กับ โกไลแอธ
ดาวิด กับ โกไลแอธ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่ ดาวิด ไปปรากฏตัวในสนามรบ สิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในหลายแห่งคือ ดาวิด เป็นคนเดียวที่กล้าออกมาเผชิญหน้ากับชายร่างกายใหญ่โตมหึมา และเมื่อ ซาอูล อนุญาตให้เขาสู้ในนามกองทัพ ดาวิด ได้ใช้สายหนังเหวี่ยงลูกหินอย่างรวดเร็ว หินพุ่งเข้าใส่หน้าผาก โกไลแอธ จนล้ม ก่อนที่เขาจะพุ่งตัวเข้าไปใช้ดาบของโกไลแอธตัดศีรษะเจ้าของดาบตาย ทำให้พวกทหารฟิลิสเตียเสียขวัญและถูกกองทัพอิสราเอลตีแตกพ่าย ตำนานเล่าว่าที่ดาวิดชนะได้เพราะได้รับพรจากพระเจ้า ซึ่งบางตำนานก็ยกย่องว่ามาจากความสามารถของเขาเอง เนื่องจากสมัยทำหน้าที่ดูแลแกะ เขามีพลังมากจนสู้กับสิงโตหรือหมีที่บุกเข้ามาจู่โจมแกะได้สบายๆ ต่อมา ไมเคิล แองเจโล ศิลปินชื่อดังของโลกได้นำเรื่องราวนี้มาปั้นเป็น รูปปั้นเดวิด อันงดงาม ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หอศิลป์ Galleria dell’Accademia ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี โดยในแต่ละปีสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาชมได้เป็นจำนวนมาก
กษัตริย์ซาอูลประทับใจที่ดาวิดชนะ จึงแต่งตั้งดาวิดเป็นแม่ทัพ แต่ไม่นานความนิยมของดาวิดในหมู่ทหารและประชาชนก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซาอูลจึงระแวงในความสามารถของดาวิดว่าจะมาชิงบัลลังก์ของเขาในอนาคต
ซาอูล วางแผนสังหารดาวิดหลายครั้งแต่ไม่เคยสำเร็จ ดาวิด ไม่อยากสู้กับผู้มีพระคุณจึงหนีไปอยู่เมืองอื่น มีเรื่องเล่าว่า ระหว่างเดินทางหลบหนีเขาเคยมีโอกาสที่จะฆ่า ซาอูล แต่ก็ไม่ทำ จนกระทั่งซาอูลและโจนาธานถูกศัตรูฆ่าตายในสงคราม ดาวิด เสียใจมาก โดยชาวอิสราเอลเลือกเขาเป็นกษัติย์คนใหม่
กษัตริย์ดาวิดในวัย 30 ทรงสร้างยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์ให้อิสราเอล ด้วยการสลาย 12 เผ่าแล้วรวมเป็นหนึ่ง พร้อมสร้างอาณาจักรของชาวฮีบรู และสถาปนานครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นชาวอิสราเอลเรียกตัวเองตามเผ่าของตน อาทิ อารอนแห่งเลวี ดาวิดแห่งยูดาห์ ซาอูลเแห่งเบนยามิน
ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ยิวที่มีมลทิน
ดาวิด เป็นภาษาฮีบรู หมายถึง ผู้เป็นที่รักยิ่ง พระองค์ทรงก่อตั้งราชวงศ์ขึ้นในเยรูซาเล็มอย่าง ตระกูลดาวิด (House of David) ซึ่งยังคงมีอำนาจอยู่ประมาณ 500 ปี พระองค์ปกครองบ้านเมืองอย่างดีจนเป็นที่รักไคร่ของประชาชน โดยดาวิดได้นำหีบพันธสัญญาแห่งนี้เข้าสู่ศูนย์กลางของชนชาติยิวเพื่อที่จะนำเชื้อชาติยิวไปผสมผสานกับศาสนาและจริยธรรม เป็นยุคทองของประเทศและเป็นรูปแบบของยุคที่รุ่งเรืองในเวลาที่พระเมสสิยาห์จะเสด็จมา
กระนั้น ในคัมภีร์ระบุว่า ดาวิดได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นบุรุษที่ถูกพระทัยพระเจ้า แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่, เขาพูดด้วยพระวิญญาณและได้รับการเปิดเผยมากมาย จนต้องชดใช้อย่างหนักสำหรับการไม่เชื่อฟังพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าจากการเป็นชู้กับนางบัทเชบา
ตำนานเล่าว่า เย็นวันหนึ่ง ดาวิดเดินเล่นอยู่บนดาดฟ้าพระราชวังมองลงไปด้านล่างเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังอาบน้ำอยู่ซึ่งก็คือ นางบัทเชบาผู้งดงาม ดาวิดรู้สึกหลงนางจนส่งคนไปสืบข้อมูลและรู้ว่า นางเป็นลูกสาวของเอลีอัม และภรรยาของอุรียาห์ชาวฮิตไทต์ หนึ่งในทหารคนสนิทของดาวิด ผู้ร่วมติดตามพระองค์ปตั้งแต่สมัยต้องหนีการไล่ล่าของกษัตริย์ซาอูล
กษัตริย์ดาวิด ส่งคนไปพานางมาพบ และร่วมหลับนอนกับนางในคืนนั้น ต่อมานางได้ตั้งท้อง ดาวิดจึงส่งคนไปที่สนามรบให้ไปบอก โยอาบ แม่ทัพของดาวิดว่า ให้ส่งตัวอุรียาห์ผู้เป็นสามีของนางบัทเชบาให้กลับมาพบดาวิด เมื่ออุรียาห์มาเข้าเฝ้าดาวิด ดาวิดถามเขาว่าโยอาบเป็นอย่างไรบ้าง พวกทหารเป็นอย่างไร และสงครามไปถึงไหนแล้ว แล้วดาวิดก็พูดกับอุรียาห์ว่า จงกลับไปบ้านของท่าน และล้างเท้าของท่านเถิด อุรียาห์จึงออกจากวังและก็มีของขวัญจากกษัตริย์ส่งตามหลังมา แต่อุรียาห์นอนอยู่ที่ทางเข้าวังกับพวกคนรับใช้คนอื่นๆ ไม่ได้กลับไปหาภรรยาที่บ้าน เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบเพื่อนร่วมรบ หากตนเองกลับไปนอนหลับสบายอยู่ที่บ้าน ขณที่เพื่อนกำลังเสี่ยงตายในสงคราม
เมื่อดาวิดทราบว่า อุรียาห์ไม่เข้าบ้าน ต่อมาก็ออกอุบายหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ จึงเขียนจดหมายถึงโยอาบให้ส่งอุรียาห์ไปอยู่กองหน้าที่มีการสู้รบที่ดุเดือดที่สุด แล้วจึงถอยทัพปล่อยเขาไว้ เพื่อเขาจะได้ถูกฆ่าให้ตาย เมื่ออุรียาห์ตาย ดาวิดส่งจดหมายถึง โยอาบ เพื่อปลอบใจว่า อย่าปล่อยให้เรื่องนี้ทำให้ท่านเสียใจ เพราะดาบก็ฆ่าคนโดยไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร ให้เร่งโจมตีเมืองและทำลายมันเสีย
นางบัทเชบา เมื่อรู้ว่าสามีตาย ก็ไว้ทุกข์ให้เขา หลังจากเสร็จสิ้น ดาวิดให้คนนำตัวนางเข้ามาอยู่ในวัง แล้วรับนางเป็นภรรยา ไม่นานนางก็คลอดบุตรชายให้เขา แต่พระเจ้าไม่พอใจกับสิ่งที่ดาวิดได้ทำลงไปเป็นอย่างมาก โอรสที่เกิดจากนางบัทเชบา คลอดออกมาได้ไม่นานก็เริ่มป่วยหนักและเสียชีวิต เรื่องนี้กลายเป็นมลทินของพระองค์ เกิดก่อการกบฏเพื่อจะยึดบัลลังก์ อับซาโลมพระราชโอรส (บุตรหัวปี) ได้วางแผนและลงมือฆ่าน้องเพื่อจะยึดบัลลังก์พระบิดา แม้จะไม่สำเร็จ แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากบาปกรรมที่กษัตริย์ดาวิดได้ก่อขึ้น
บางตำนานเล่าว่า กษัตริย์ดาวิด ได้สวดอ้อนวอนและอดอาหารเพื่อขออภัยพระเจ้า แต่ไม่ให้อภัย เมื่อในภายหลัง กษัตริย์ดาวิด ขอพระเจ้าสร้างวิหารบนเนินพระวิหารในนครเยรูซาเลมแต่ถูกปฏิเสธ โดยพระแจ้งแจ้งว่า ในอนาคตจะมีกษัตริย์ผู้อื่นมาสร้างพระวิหาร
ดาวิด ที่มาของดวงดาวบนธงชาติของอิสราเอล
ดาว 6 แฉกเป็นตราประจำของ กษัตริย์ดาวิด มาจากความเชื่อว่าผู้ใดมีดาว 6 แฉกในครอบครอง ผู้นั้นจะได้รับพรวิเศษ 6 ประการ คือ อำนาจ สติปัญญา ความสง่างาม ความรัก ความเมตตา และความยุติธรรม ในฐานะพระราชาที่ปกครองบ้านเมืองได้ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล จนสร้างยุคทองของชาวยิวขึ้นมาในช่วงหนึ่ง
สัญลักษณ์โบราณนี้ถูกนำกลับมาใช้ครั้งแรก ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือเรอเนสซองส์ ชุมชนชาวยิวในยุโรปเริ่มใช้ดาว 6 แฉกแทนเครื่องหมายหรือตราของสำนักพิมพ์ รวมทั้งในจดหมายในสัญญาต่างๆ แทนการเซ็นชื่อหรือแทนการพิมพ์ชื่อโรงพิมพ์ให้คนจำได้ง่ายขึ้น
จนเมื่อเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ ชาวยิวจำเป็นต้องสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองเทียบเท่ากับไม้กางเขนที่เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ พวกเขาจึงได้เลือกรูปดาว 6 แฉกของเดวิดขึ้นมาใช้ จวบจนเมื่อชาวยิวเริ่มอพยพกลับมายังดินแดนที่ได้สถาปนาเป็นรัฐอิสราเอล ดาวหกแฉกก็ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของ ธงชาติอิสราเอล
จาก กษัตริย์ดาวิด สู่ กษัตริย์โซโลมอน ผู้สร้างพระวิหารแรก
กษัตริย์โซโลมอน เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของกษัตริย์ดาวิดที่ประสูติแด่พระนางบัทเชบา โซโลมอนได้ชื่อว่าเป็นกษัติรย์ผู้ทรงปัญญา ยุคสมัยของพระองค์มีความรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จนพระองค์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่รวยที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เป็นที่มาของตำนานสมบัติโซโลมอน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า กษัตริย์โซโลมอนมีตัวตนจริงไหม
ในคัมภีร์ฮีบรูระบุว่า กษัตริย์โซโลมอน ที่ปกครองเยรูซาเลมระหว่าง 971 – 931 ก่อนคริสตกาล โปรดให้สร้างพระวิหารแรกอันเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาห์เป็นที่เดียวที่เป็นที่ใช้ในการนมัสการ ตัวอาคารพระวิหารสร้างแทนพระวิหารศักดิ์สิทธิ์เดิมที่มีแท่นบูชาที่สร้างหยาบ ๆ บนเนินพระวิหารแรก ถูกทำลายโดยพวกบาบิโลน เมื่อ 587 ก่อนคริสต์ศักราชเมื่อบาบิโลนเข้าปล้นสดมภ์ทำลายนครเยรูซาเลม
พระวิหารที่สองถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 537 ก่อนคริสต์ศักราชแต่หยุดชะงักไปและมาเริ่มใหม่เมื่อปี 520 ก่อนคริสต์ศักราช และเสร็จเมื่อปี 516 ก่อนคริสต์ศักราช และสถาปนาในปี 515 ก่อนคริสต์ศักราช หนังสือเอสรากล่าวว่า การสร้างพระวิหารเป็นคำสั่งของพระเจ้าไซรัสมหาราชและอนุมัติโดยพระเจ้าดาไรอัสมหาราช ห้าร้อยปีต่อมาพระเจ้าเฮโรดมหาราชก็โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารที่สองราว 20 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงรู้จักกันในชื่อพระวิหารของเฮโรด ต่อมาถูกทำลายโดยโรมัน ในปี ค.ศ. 70
พระวิหารที่สาม ยังไม่ถูกสร้างขึ้น บนเนินพระวิหารปัจจุบันที่ตั้งของโดมแห่งศิลาและมัสยิดอัล-อักศอสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามจากสมัยใกล้เคียงกัน โดยตามความเชื่อของศาสนายูดาห์ พระวิหารหลังต่อไปจะถูกสร้างขึ้นในอนาคตตามความเชื่อโบราณ ซึ่งจะถูกจะสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบฟินิเชียน บนพื้นที่อุปมาของสถานที่แห่งพระเจ้าบนโลกมนุษย์
การล่มสลายของอาณาจักรยิว
เมื่อกษัตริย์โซโลมอนสิ้นพระชนม์ อิสราเอลแยกออกเป็นสองอาณาจักร อาณาจักรยูดาห์ ที่อยู่ทางทิศใต้ คือ ยูดาห์ สิเมโอน และเบนยามิน ส่วนเผ่าอื่นๆ ที่เหลือ รวมตัวกันเพื่อสร้าง อาณาจักรอิสราเอล ทางตอนเหนือ ต่อมาอาณาจักรอิสราเอลถูกทำลายโดยชาวอัสซีเรีย ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ถูกฆ่าหรือไม่ก็ถูกเนรเทศ ชาวอิสราเอลที่ยังคงอาศัยอยู่บริเวณนั้นถูกรวมเข้ากับอาณาจักรยูดาห์
ขณะที่ ชาวฟีลิสทีน หรือ ฟิลิสเตีย ค่อยๆ กลมกลืนกับชนชาติอื่นๆรอบข้าง จนถูกเรียกว่าชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของคานาอัน คำว่า ปาเลสไตน์ ได้ถูกใช้เป็นชื่อเรียกของดินแดนทั้งหมดของภูมิภาคคานาอัน ตั้งแต่ปลายยุคโรมัน จนถึงยุคจักรวรรดิออตโตมัน ส่วนประชาชนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชนของดินแดนคานาอันเดิม ยกเว้นพวกยิว ที่มีความแตกต่างที่เด่นชัดทางวัฒนธรรม และความเชื่ออย่างชัดเจน ก็ถูกเรียกว่า ชาวปาเลสไตน์ ตามชื่อดินแดนดังกล่าวเช่นกัน
ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ประชากรในปาเลสไตน์ลดจำนวนลงจากหลายปัจจัย จนชาวอียิปต์ ชาวอัลจีเรีย ชาวบอสเนียและชาวเคอร์คัสเซียนจากภูมิภาคคอร์เคซัสตอนเหนือ อพยพเข้ามาในศตวรรษที่ 19 ทำให้ประชากรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะในพื้นที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลามรายล้อม จึงไม่ถูกต่อต้านเหมือนชาวยิว ชาวปาเลสไตน์จึงยังมีประชากรจำนวนมากอยู่เขตเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซาจนถึงปัจจุบัน
ในทางตรงกันข้าม ด้วยความที่พื้นที่บริเวณอิสราเอลในปัจจุบันเป็นชัยภูมิยุทธศาสตร์ที่ติดกับ 3 ทวีปคือ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา ดินแดนดังกล่าวจึงเกิดสงครามและความขัดแย้งตลอด ชาวยิวถูกสังหารมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันเข้ามายึดครอง ชาวยิวส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะกระจัดกระจายอพยพไปยังหลายประเทศทั่วโลก จนหลงเหลืออยู่ในพื้นที่แบบชนกลุ่มน้อย
ชาวยิวจำนวนมากกลับเข้ามาในดินแดนพันธสัญญาอีกครั้ง หลังได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษซึ่งในตอนนั้นอังกฤษมีอิทธิพลในดินแดนปาเลส์ไตน์ โดยอนุญาตให้ชาวยิวให้กลับเข้าไปในปาเลสไตน์อีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะตระกูลใหญ่ๆของยิว รวมถึงคนยิวจำนวนมากได้ให้การช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 นำมาสู่การก่อตั้งรัฐอิสราเอล เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2491 และภายหลังกลายเป็น ประเทศอิสราเอล จนถึงทุกวันนี้
อ้างอิงจาก: Wikipedia