มหิงษาสุรมรรทินี : ทุรคาเทวี ผู้ปราบอสูรควาย
เรื่องราวของ “มหิงษาอสูร – มรรทินี” (Mahishasura Mardini) ปรากฏในบทสวดภาวนาอันศักดิ์สิทธิ์ “สโตรตรัม” Mahishasura Mardini Stotram ในวรรณกรรมฮินดู ที่กล่าวถึงการปราบอสูรควายอันชั่วร้ายโดยเทวี “ทุรคา” (Durga)
“มหิงษาอสูร” ตัวแทนแห่งความชั่วร้าย เป็นบุตรของ “อสูรรัมภะ” (Rambha) ที่เล่าผ่านในบทสวดฉันทลักษณ์อันไพเราะว่า เมื่อครั้งหนึ่งมีอสูรสองพี่น้อง คนพี่นามว่า “กาลัมภะ” (Karambha) คนน้องชื่อ “รัมภะ” (Rambha) ทั้งสองอสูรปรารถนาที่จะมีพลังอำนาจและความเป็นอมตะ จึงเข้าบำเพ็ญตบะญาณบารมี โดยอสูรกาลัมภะผู้พี่ เลือกบำเพ็ญในน้ำเย็นถวายแด่พระวรุณเทพ (Varuna Deva) ส่วนอสูรรัมภะ เลือกที่จะบำเพ็ญตบะในเพลิงไฟ เพื่อขอพรจากพระอัคนีเทพ (Agni Deva)
แต่พระอินทร์ล่วงรู้ในแผนการ จึงแปลงร่างเป็นจระเข้ยักษ์ สังหารอสูรกาลัมภะผู้พี่ในน้ำ ส่วนอสูรรัมภะ ได้รับความช่วยเหลือจากอัคนีเทพให้รอดตาย อสูรรัมภะผู้น้อง เกิดความเสียใจมาก และเก็บความแค้นเคืองพระอินทร์ไว้ คว้าดาบจะตัดหัวตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยบูชาพระอัคนี เพื่อขอพร พระอัคนีเทพ จึงประสาทพรให้เป็นอมตะ ไม่อาจตายได้โดยเทพเจ้า อสูร หรือมนุษย์ แต่ก็แนบท้ายพรไว้ว่า จะมีเพียง "คนตาย" และ “สัตว์” เท่านั้น ที่สามารถสังหารอสูรรัมภะได้
เมื่อได้รับการประสาทพรอันยิ่งใหญ่ อสูรรัมภะ ได้เริ่มต้นออกอาละวาด สังหารผู้คนไปทั่วสารทิศ จนวันหนึ่ง ได้พลันมาพบกับนางควายเผือก ที่ดูงดงาม (ในสายตาของอสูร) เกิดความหลงรักนางควายสาว จึงแปลงร่างเป็นควายเผือก เข้าไปสมสู่อยู่กินด้วย จนนางควายสาวตั้งท้องขึ้นมา อสูรรัมภะ จึงพานางควายท้องแก่ เดินทางกลับไปยังเมืองของตน
ระหว่างทาง ได้พบกับควายหนุ่ม ซึ่งเป็นควายเปลี่ยว ที่ชายป่าใกล้เมือง เกิดการต่อสู้ที่ยาวนาน เพื่อแย่งชิงนางควายสาว อสูรรัมภะในร่างควาย มีอายุมาก สู้แรงของควายหนุ่มไม่ได้ จึงพลาดท่า ถูกควายหนุ่มสังหารจนตาย ควายหนุ่มวิ่งไล่กวดนางควายเผือก ไปถึงประตูเมืองของอสูรรัมภะ ทหารในเมือง จึงช่วยกันรุมฆ่าควายหนุ่ม แล้วนำนางควายเผือกท้องแก่ และศพของอสูรรัมภะ กลับเข้าเมือง
นางควายเผือกอาศัยอยู่ในเมือง จนคลอดบุตรชาย ที่สามารถเปลี่ยนร่างเป็นควาย หรือร่างผสม ที่จะมีหัวเป็นอสูรหรือเป็นควายก็ได้ (รูปลักษณ์ทางศิลปกรรม จึงมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นควาย ร่างผสมหรือเป็นร่างอสูร) บุตรชายแห่งอสูรรัมภะ จึงมีชื่อว่า “มหิงษาอสุรา” (Mahishasura)
ด้วยความแค้นเคืองในสายเลือด ที่ถ่ายทอดมาจากบิดา มหิงษาอสูร สั่งให้สะสมไพร่พลกองทัพอสูร รากษส เพื่อเตรียมทำสงครามกับเหล่าเทพเจ้า แล้วบำเพ็ญตบะญาณบารมี เพื่อขอพรอมตะ จากพระพรหมธาดา ซึ่งก็ได้รับประสาทพรให้เป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใด และไม่มีผู้ใดสามารถสังหารได้ แม้แต่เหล่ามหาเทพ เทพเจ้า มหาเทวี มหาฤๅษี มนุษย์ อมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มีอยู่แล้วในสามโลก
แต่พระพรหมธาดา ก็ได้แนบท้ายพรไว้เหมือนทุก ๆ ครั้ง ที่ต้องให้พรอันศักดิ์สิทธิ์ แก่เหล่าอสูรผู้ชั่วร้าย ถึงแม้จะเป็นอมตะดังคำขอ แต่จะต้องตาย เมื่อถูกอิสตรีสังหาร มหิงษาอสูร จึงต่อรองพรแห่งพรหมาว่า ขอให้อิสตรีผู้นั้น จะต้องเกิดโดยผิดปกติวิสัย ไม่ได้ถืออวตารมาจากเหล่าเทพเทวีบนสรวงสวรรค์ อิสตรีนั้นจะต้องมีฤทธาอานุภาพดั่งมหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีทั้งปวง และมีศาตราวุธทุกอย่าง ที่เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษีใช้อยู่รวมกัน จึงจะสามารถสังหารตนได้
มหิงษาอสูรเชื่อมั่นว่า ในสามโลกนี้ จะไม่มีอิสตรีนางใด ที่จะมีคุณสมบัติได้เพียบพร้อม ดังที่ได้กล่าวขอพรสกัดเอาไว้ได้อย่างแน่นอน
เมื่อได้รับการประสาทพรอันยิ่งใหญ่ มหิงษาอสูรได้ออกอาละวาด รุกราน เข่นฆ่า ทำลายล้างไปทั้งสามโลก นำกองทัพบุกขึ้นสวรรค์ ทำลายวิมานอินทรา (บางตำนานเล่าว่า พระอินทร์ ได้ส่งวัชระให้กับควายหนุ่ม กลายมาเป็นเขา จนสามารถฆ่ารัมภะอสูร อาวุธอินทราหรือ “ตรีศูล – วัชระ” จึงเป็นส่วนหนึ่งของทรงจำ) ซึ่งไม่มีเทพเจ้าองค์ใด สามารถต่อกรกับมหิงษาอสูรได้เลย
เหล่าเทพเจ้าจึงรวมตัวกัน หนีมาเข้าเฝ้ามหาเทพ “ตรีมูรติ” เพื่อแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือ เหล่ามหาเทพ มหาเทวี มหาฤๅษี จึงร่วมกันทำพิธีสร้างอิสตรี ผู้ที่จะลงมาปราบมหิงษาอสูร ตามคำประสาทพรแห่งพระพรหม พระศิวะ จึงเปิดพระเนตรที่สาม บนพระนลาฏ สร้างดวงไฟใหญ่ขึ้นบนท้องฟ้า ร้อนแรงและทรงพลัง ยิ่งกว่าอำนาจแห่งพระสุริยะ ให้เป็นดัง “ครรภคฤหะแห่งอิสตรี” อันมิได้เป็นปกติวิสัย มหาเทพ มหาเทวี และมหาฤๅษีทั้งหลาย มอบศาสตราวุธ และร่วมกันส่งพลังอำนาจ เข้าสู่เพลิงครรภ์ พระศิวะถวายตรีศูล พระวิษณุถวายจักร พระอินทร์ถวายวัชระ อัคนีเทพถวายหอก พระวรุณเทพ ถวายหอยสังข์ พระสุริยะ ถวายคันธนูและลูกศร พระศรีลักษมีถวายดอกบัว ฯ
(สำหรับการกำเนิดเทวีทุรคา ตำนานฝ่ายศากตะก็เล่าว่า นางทุรคาเกิดขึ้นบนโลก แบบเดียวกับนางปารวตี แต่มิได้เกิดจากครรภ์สตรี เป็นภาคหนึ่งของ “อาทิศักติ” Adi Shakti หรือ “พระตรีศักติ”)
เพลิงครรภ์ ได้บังเกิดมหาเทวีทรุคา (นางกาตยายนี) ผู้มีความงามและแสงสว่าง ดุจดวงอาทิตย์พันดวง มีสามเนตร 18 กร เสด็จลงมาท้าทาย และเข้าต่อสู้กับมหิษาอสูรที่เชิงเขา “วินธัย” (Vindya) กองทัพมหาอสูร และเหล่าแม่ทัพนายกอง ได้ถาโถมบุกเข้าใส่พระนางพร้อมกัน อย่างฮึกเหิม แต่ด้วยความน่าสะพรึงและโหดร้าย เทวีทุรคา ได้ซัดอาวุธที่ได้รับมาจากเหล่าเทพ เข้าสังหารอสูรทั้งหมดพร้อมกัน ในคราวเดียว จนเลือดอสูรานองปัฐพี ด้วยความโกรธแค้น มหิงษาอสูรในร่างของควาย จึงเข้าโจมตี พระนางก็จับจอมอสูร มัดไว้ด้วยเชือก อสูร หลุดจากพันธนาการ เปลี่ยนร่างเป็นสิงโต แล้วกระโจนเข้าใส่ นางทุรคา จึงตัดศรีษะอสูรด้วยดาบ อสูรแทรกร่างออกมาจากส่วนหัวที่ถูกตัด แล้วใช้ดาบเข้าต่อสู้ แต่พระนางก็ตรึงร่างของจอมอสูรด้วยห่าลูกศร อสูรไม่ยอมแพ้ กลายร่างเป็นช้างยักษ์ แต่ก็ถูกพระนางฟันด้วยดาบจนสาหัส ก่อนตาย ได้กลับกลายร่างเป็นควายเผือก เทวีทุรคา เนรมิตกายเป็นเสือโคร่งใหญ่ กระโจนเข้าตะปบกัด จนควายเผือกสิ้นแรง กลับคืนร่างเป็นอสูร พระนางจึงกลับร่างเป็น “อิสตรี” แล้วใช้ตรีศูล แทงเข้าที่หน้าอก สังหารมหิงษาอสูรได้สำเร็จ
จึงเล่ากันต่อมาว่า “เสือโคร่ง” (อินเดีย) นั้น ถือกำเนิดขึ้นมา จากอำนาจแห่งเทวีทุรคา เป็นเสมือนตัวแทนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของมหาเทวี จากเรื่องราว “มหิงษาอสูร – มรรทินี” นี้เอง
ส่วนในคติฮินดูสายตรีมูรติถือว่า เทวีทุรคา เป็นภาคหนึ่งของนางปารวตี (อุมา) จึงนิยมสร้างงานศิลปะ เป็นรูปของเทวีทรงสิงโต ไม่ได้ทรงเสือโคร่ง ตามแบบวรรณกรรมของฝ่ายศากตะ (ศักติ)
https://youtu.be/TLSBvCjNnIg?si=E9URiAP1UNLp0qzW
https://www.oknation.net/ศิลปะ-วัฒนธรรม/ศุภศรุต/634f8e687cd5b2e52da57648