ตำนานรักบ้านท่าแร่ ตึกหิน บ้านโบราณ สกลนคร
พระยาประจันตประเทศธานี (ท้าวโง่นคำ) ต้นตระกูล "พรหมสาขา ณ สกลนคร" ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสกลนคร ได้เป็นประธานในพิธีแต่งงานของน้องสาว กับท่านอุปฮาด สกลนคร ตำแหน่งเจ้าเมือง คือผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน ส่วนตำแหน่งอุปฮาด คือรองผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบัน
ท่านอุปฮาดกับน้องสาวท้าวโง่นคำ มีบุตรด้วยกันหลายคน สองในนั้น คือนางหนูนา (สุริมา อุปพงศ์) และนายเขียน (ทนายเขียน อุปพงศ์) ซึ่งเป็นน้องชายคนสุดท้อง
ในวัยสาว นางหนูนา ชอบไปนั่งฟังมิชชันนารี อธิบายคริสตธรรม ซึ่งขณะนั้น มิสชันนารี ได้รวบรวมพวกทาส คนยากจน พวกที่ถูกหาว่าเป็นปอบ พวกเวียดนาม มารวมกลุ่มกัน เป็นคริสตชนกลุ่มแรก
ท่านอุปฮาดโมโหมาก ที่ลูกสาวทำผิดจารีตประเพณี หันไปสนใจคริสต์ศาสนา ตักเตือนก็ไม่ประสบผล เฆี่ยนตีก็ไม่กลัว ท่านอุปฮาด จึงสั่งขังนางหนูนา ผู้ซึ่งเป็นลูกสาวทันที หลังจากนั้น มักจะมีชายฉกรรจ์ ไม่ทราบสังกัด ไม่ทราบฝ่าย มักมาก่อกวน ขัดขวางพิธีกรรม สร้างแรงกดดันและเสียขวัญ แก่ชาวคริสต์กลุ่มแรกของสกลนคร
3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 (ค.ศ.1884) มิสชันนารี ตัดสินใจอพยพหนี โดยสั่งให้นำเรือมาเรียงต่อกัน แล้วใช้ไม้ไผ่ต่อแพราบบนเรือ พายหนีอพยพข้ามหนองหาร มายังอีกฝั่ง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสกลนคร และมาขอความคุ้มครอง จากอัครเทวดามีคาแอล
ลมพัดแพมาเรื่อยๆ มิสชั้นนารี เห็นพื้นที่ต่ำก็ไม่ขึ้น พอพบที่แห่งหนึ่งแผ่นดินสูง ก็นำแพเข้าเทียบ เห็นหินศิลาแลง (หรือหินแฮ่) เต็มไปหมด ก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "ท่าแฮ่" และกลายมาเป็น "ท่าแร่" ในปัจจุบัน
ทนายเขียน แอบไปบอกพี่สาวว่า มิชชันนารี พาพวกคริสตชนขึ้นแพ อพยพข้ามฝั่งหนองหาร ไปตั้งรกราก ที่ฝั่งตรงข้ามกับสกลนคร นางหนูนา บอกให้ทนายเขียน พาหนีตามคริสต์ ทนายเขียนสงสารพี่สาว จึงขโมยกุญแจเปิดห้องขัง พาพี่สาวหลบหนี
ทนายเขียน พาพี่สาวขี่ม้าอ้อมหนองหาร มาส่งที่ดอนโพธิ์ (ซึ่งคือจุดชมวิวในปัจจุบัน) และบอกให้พี่สาวเดินไปเอง เพราะท่าแร่ อยู่ตรงหน้าใกล้ๆ นี่เอง เขาต้องรีบกลับ เพราะกลัวท่านอุปฮาดจะรู้ นางหนูนามาขอหลบอยู่บ้านพัก ของคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ ท่านอุปฮาดโมโหมาก สั่งไพร่พลติดตาม จนมาพบคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ พร้อมขู่ว่า จะดำเนินคดีคุณพ่อ ในข้อหาลักพาตัวลูกสาว นางหนูนายืนยันว่า หนีมาด้วยความสมัครใจ เพราะเลื่อมใสในคริสตศาสนา ท่านอุปฮาด จึงชักดาบชูขึ้นฟ้า ประกาศตัดความเป็นพ่อลูก
ต่อมา นางหนูนาได้พบรักนายหนู ซึ่งเป็นเด็กวัด และทั้งคู่ได้แต่งงานกัน เป็นต้นตระกูล “ศรีวรกุล” ทั้งสอง ร่วมกันสร้างตึกหิน (ซึ่งไม่มีหลักฐานยืนยันปีที่สร้าง) เป็นการผสมผสาน ระหว่างสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส และเวียดนาม บวกกับการถ่ายเทอากาศแบบไทยๆ โดยใช้หินศิลาแลงเกือบทั้งหลัง
"เหงียน ไอคอด" หรือ "โฮจิมินห์" หลบหนีภัยการเมือง มาจากเวียดนาม เขามาที่ท่าแร่ และขอเป็นบุตรบุญธรรมของนายหนู โฮจิมินห์เป็นคนสุภาพ ขยันขันแข็ง เขาเคยช่วยนายหนู สร้างและต่อเติมตึกหิน เขาทำทุกอย่างที่ตึกหิน เช่น ทำความสะอาด ตักน้ำ ตำข้าว ว่างๆ ก็ลงหาปลาที่หนองหาร
วันหนึ่งมีคนเวียดนามที่ท่าแร่ ชื่อ องบา ถูกกลุ่มลึกลับ นำไปฆ่าตัดหัวที่ดอนจาน โฮจิมินห์ รู้ว่า ภัยมาถึงตัวแล้ว เขาคงถูกล่า โดยรัฐบาลเวียดนามแล้ว และคงฆ่าผิดตัว เพราะ "บา" (สาม) เป็นชื่อที่เขาเคยใช้ขณะหลบหนีไปฝรั่งเศส โฮจิมินห์ จึงกราบลานายหนูพ่อบุญธรรม ด้วยน้ำตา เขาอพยพหนีจากไทยไปจีน ภายหลัง เขาได้เป็นประธานาธิบดีของเวียดนาม
ปิดตำนานรักนายหนู - นางหนูนา เจ้าของตึกหิน ไม่มีการคืนดี กับท่านพ่ออุปฮาดสกลนคร บางครั้งมีแต่แม่และน้องชาย ทนายเขียน แอบมาเยี่ยมเป็นบางโอกาส นายหนูและนางหนูนา ก็สิ้นชีวิตตามกันไป ร่างกายถูกฝั่งคู่กัน ที่สุสานท่าแร่ ส่วนตึกหิน มอบเป็นมรดกแก่ลูกสาวคนสุดท้าย คือนางจูมมาลี ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้อง จากทั้งหมด 9 คน
คูหาฝังศพโบราณ ตำนานรักลูกล้นใจ นางหนูนา ได้ส่งลูกชายสองคนไปเรียน เพื่อบวชเป็นบาทหลวง คือคุณพ่อศรีนวลและคุณพ่อคำจวน ขณะใกล้ได้บวช ทั้งคู่ยังเรียนที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นางหนูนาป่วยหนัก ใกล้จะตาย นางสั่งเอาไว้ว่า ถ้านางตาย ห้ามนำศพไปโบสถ์ และฝังที่สุสาน ให้เก็บศพเอาไว้จนลูกชายทั้งสอง กลับมาทำพิธีทางศาสนาให้ แล้วจึงนำไปฝังที่สุสาน ลูกหลาน จึงทำคูหาบรรจุศพชั่วคราวที่หลังตึกหิน แล้วนำศพนางหนูนา ไปเก็บไว้ชั่วคราว พอลูกชายทั้งสองบวชเสร็จ ก็กลับมาประเทศไทย ทำพิธีทางศาสนาใหญ่โต แล้วนำศพแม่ไปสุสานท่าแร่
ความเชื่อที่ตึกหิน เมื่อโบสถ์ถูกปิด และห้ามมีพิธีกรรมทางศาสนา บาทหลวงและสัตบุรุษ พากันแอบมาทำพิธีบูชามิสชา ที่ตึกหิน ภายหลังทางการทราบ จึงจับกุมตัวนายแพทย์ สามีของนางจูมมาลี ในข้อหา ใช้ตึกหินประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อาราม บ้านเณรถูกปิด นักบวชชายหญิง ต้องยุติบทบาทและหน้าที่ ศาสนภัณฑ์ถูกปล้นทำลาย บางส่วนที่เก็บทัน ก็ซุกซ่อนไว้อย่างดี
คุณพ่อยวง สต็อกแก แอบมาทำมิสซาที่ตึกหิน ถูกตำรวจจับกุมตัว จ่านายหนึ่ง ใช้มือดึงหนวดของคุณพ่อ ลากออกมาซ้อมหน้าตึกหิน นายนอ พ่อลุงแน็ค ถอดมีดสั้นจะเข้าช่วย คุณพ่อห้ามเอาไว้ คุณพ่ออธิบายให้ตำรวจฟังว่า คุณพ่อไม่ใช่คนฝรั่งเศส คุณพ่อเป็นคนเยอรมัน ตำรวจจึงปล่อยตัว
นายแพทย์ คำศรี ยอดคนที่ถูกลืม กรณีฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคง ว่าด้วยการนับถือศาสนา ในสภาวะสงคราม นายแพทย์ ยืดอกรับเอาความผิดแต่เพียงผู้เดียว คนอื่นไม่เกี่ยว ทั้งๆ ที่ร่วมกันทำ ไม่ว่าทางฝ่ายสงฆ์ หรือฝ่ายฆราวาส เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำสกลนคร เรือนจำคลองไผ่ สุดท้าย เข้าเรือนจำบางขวาง เขาอยู่ห้องเดียว กับคุณพ่อบุญเกิด กฤตบำรุง บุญราศีแห่งประเทศไทย ช่วยคุณพ่อบุญเกิดสอนคำสอน จนนักโทษกลับใจ มานับถือคริสต์ถึง 86 คน โดยในวันรับศีลล้างบาป เขาเป็นพ่อทูลหัว ให้นักโทษเหล่านี้ เขาติดเชื้อวัณโรคในคุก จนได้รับการปล่อยตัว เขากลับมาอยู่ตึกหิน ทนทุกข์ทรมาน ไอเป็นเลือด เขาแยกห้องนอน ไม่ให้ลูกเมียติดเชื้อ ในที่สุดเขาก็สิ้นใจอย่างทรมาน
สิ้นบุญทนายเขียน ทนายเขียน ถูกข้อหาเผยความลับทางราชการ ให้หลานทางท่าแร่ทราบ เขาถูกย้ายไปเป็นปลัดอำเภอน้ำพอง ภายหลัง ลาออกมาเป็นทนายความ เขากลับมาที่สกลนคร ทำงานด้านกฏหมายจนเกษียน และป่วยหนัก ก่อนเสียชีวิต เขาขอกลับใจเป็นคริสต์ ตามนางหนูนาพี่สาว โดยที่หลานชาย บาทหลวงศรีนวล เป็นผู้โปรดศีลล้างบาป เขาขอให้นำศพ ไปบำเพ็ญกุศลที่ตึกหิน ชาวบ้านจึงนำเรือสองลำ มาทำแพต่อกัน บรรทุกศพทนายเขียน พายข้ามหนองหาร มาไว้ที่ตึกหิน
อวสานตึกหิน เมื่อนายหนูและนางหนูนา เจ้าของตึกหินเสียชีวิต ตึกหิน ถูกยกให้เป็นมรดกแก่ลูกคนสุดท้อง คือ นางจูมมาลี ต่อมา ตึกหินถูกไฟไหม้ จนตึกคูหาที่สามเสียหาย ตึกหิน จึงถูกเลิกใช้ไป แต่ยังมีคนมาขอเช่าอยู่เป็นบางช่วง สุดท้ายปลวกกินตึก จนพังทลาย ยากต่อการซ่อมแซม ภายหลัง ถูกใช้เป็นคอกไก่ และทิ้งร้าง จนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน ตึกหินโบราณ อายุ 100 ปี ของบ้านท่าแร่ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว ทางด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ของจังหวัดสกลนคร ช่วงเวลาพิเศษ ในวันคริสต์มาสทุกวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี ที่ตึกหินโบราณหลังนี้ จะมีการประดับประดาดาว และไฟหลากสีขึ้นมา โดยชาวชุมชน จะมีการจัดงานเทศกาลแห่ดาวคริสต์มาสร่วมด้วย โดยมีความเชื่อกันว่า ดาวนั้น เป็นสัญลักษณ์ ของการเสด็จลงมาประสูติบนโลกมนุษย์ ของพระเยซู
https://youtu.be/MileBeuAsTU?si=jKjiT_eMzCURlkYk
ตำนานบ้านท่าแร่