ตำนานนิทานพื้นบ้าน ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่
ตำนานนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง “ก่องข้าวน้อย” หรือบางทีเรียกว่า “ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่” เป็นนิทาน เล่าถึงตำนานของการสร้างศาสนสถาน คือ "พระธาตุก่องข้าวน้อย" ซึ่งเป็นศิลปะแบบขอม ตั้งอยู่กลางทุ่งนาบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร นิทานเรื่องนี้ มีทั้งประเภทมุขปาฐะ (เล่าต่อๆ กันมา) และลายลักษณ์ (จารในใบลานและพิมพ์ในหนังสือ) เชื่อว่า มาจากเรื่องที่เกิดจากเหตุการณ์จริง ทั้งนี้คำว่า “ก่องข้าว” หรือ กล่องข้าว เป็นเครื่องจักสาน ที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียวนึ่ง ของชาวอีสาน ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่สองชั้น แข็งแรง รูปทรงคล้ายกระบุง หรือตะกร้า มีฝาปิด ส่วนฐานทำด้วยไม้ ลักษณะปีกกา มีความทนทานกว่ากระติบข้าว
ตามตำนานเล่าว่า เมื่อหลายร้อยปีผ่านมาแล้ว ที่บ้านตาดทอง มีแม่ลูกยากจนคู่หนึ่ง ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ชายทุ่ง มีอาชีพทำนา ลูกชายเจริญวัยแล้ว ได้ช่วยแม่ทำนา และประกอบสัมมาชีพต่างๆ เลี้ยงดูมารดาซึ่งชราภาพมากแล้ว ลูกชายเป็นคนขยันขันแข็งในการงาน พยายามที่จะกอบกู้ฐานะของครอบครัว ในฤดูฝน ก็มีการเตรียมปักดำกล้าข้าว ทุกครอบครัว จะออกไปไถนา เตรียมการเพราะปลูก ชายหนุ่มชื่อ "ทอง" คนนี้ กำพร้าพ่อ ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกันกับทุกวัน
วันนี้ เขาออกไถนาแต่เช้าตรู่อยู่นาน จนสาย ตะวันขึ้นสูงแล้ว รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้ว แม่ผู้ชรา จะมาส่งก่องข้าวให้ทุกวัน แต่วันนี้กลับมาช้าผิดปกติ
เขาจึงหยุดไถนา เข้าไปนั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้า สายตาเหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าว ตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสาย ตะวันขึ้นสูง แดดก็ยิ่งร้อน ความหิวกระหายยิ่งทวีคูณขึ้นมาก ดั่งคำกลอนอีสานที่ว่า
ไถนาไปจนบ่ายคล้อย ตะเว็นลอยเลยเที่ยง
ได้ยินเสียง จ๊อกๆ ฮ้อง อุทรท้องเหิ่มกระหาย
แดดเผากายจนเมื่อยล้า แขนขาระโหยอ่อน
ในอุทรแสบจ้าวๆ เทิ่งหิวข้าวกะแฮ่งฮน
ท้าวพร่ำบ่นปนคำป้อย เทิ่งเฝ้าคอยเทิ่งเหลียวส่อง
หล่ำแลมองส่องทางแม่ คือดนแท้แม่บ่มา
แม่นข้องคาอิหยังเจ้า ข้าวปลาบ่มาส่ง
หรือว่าหลงลืมลูกแล้ว หรือแอ่วเล่นแม่นอยู่ใส..น้อ อิแม่เอ้ย....
ทันใดนั้น เขามองเห็นแม่ เดินเลียบมาตามคันนา พร้อมก่องข้าวน้อยๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนสาแหรกคาน เขาเริ่มมึความรู้สึกไม่พอใจ ที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่า ข้าวในก่องข้าวน้อยนั้น คงกินไม่อิ่มเป็นแน่
จึงเอ่ยต่อว่าแม่ของตนว่า "อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่ จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก ก่องข้าวก็เอามาแต่ก่องน้อยๆ กูจะกินอิ่มหรือ?"
ผู้เป็นแม่ เอ่ยปากตอบลูกว่า "ถึงก่องข้าวจะน้อย ก็น้อยแต่ก่อง ส่วนเข้าแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน"
ความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อย เข้าตีแม่ที่แก่ชรา จนล้มลง แล้วก็เดินไปกินข้าว ดั่งคำกลอนอีสานที่ว่า
ความหิวหอดแฮ่งฮ้าย ตาลายล้าอ่อน
บ่อาจถอนโกรธากุ้ม ที่รุมรั้งอั่งสมอง
อันความหิวที่อยู่ท้อง พอแต่มอง ก่องข้าวแม่
ส่างมาน้อยคักแท้ สิยาท้อง หม่องจั่งได๋
ความโมโห โกรธาฮ้าย โมหังกลาย มาบังเบียด
พาลคิดเคียดคั่งแค้น อุกแน่นหน่วงมะโน
เกิดเป็นโกรธากริ้ว ละลิ่วใส่มือบายแอก
ความสูนแทรกพะไมมึน แฮ่งฮึนแฮงฮ้าย
สติหายกลายเป็นเคียด เดียดบุกๆในดวงจิต
หลงลืมผิดชอบชั่วดี ฟาดแอกตีกะหม่อมแม่
จนเฒ่าแซเซล้ม นอนสิ้นลมจมเลือดซ่าน
สีแดงฉานลงฉาบพื้น แดงลึ้นทั่วท่งนา
เมื่อกินข้าวจนอิ่มแล้ว แต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่ และเข้าสวมกอดแม่ อนิจจา แม่สิ้นใจตายจากไปเสียแล้ว ชายหนุ่มร้องไห้โฮ สำนึกผิดที่ฆ่าแม่ของตนเอง ด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี ดั่งคำกลอนอีสานที่ว่า
พอมารดาวายชนม์สิ้น หาข้าวกินอย่าเร่งด่วน
ท้องเซาพวนพออยู่ยั้ง สติตั้งเข้าหลั่งโฮม
แล่นไปโจมเอาศพแม่ มารดาผู้ประเสริฐ
เกิดรู้สึกสำนึกได้ สายเกินแก้เมื่อแม่มรณ์
เลยขอวอนวานไหว้ จากหัวใจของคนบาป
ศิโรราบกราบก้ม ประนมน้อมระลึกคุณ
ขอลงทุนเอาแฮงสร้าง เจดีย์ปรางค์หวังเตือนต่อ
เพียรสร้างก่อพระธาตุก่องข้าวน้อย เพื่อคอยย้ำ...อนุชน..คนรุ่นหลังต่อไป....
จึงเข้ากราบนมัสการสมภารวัดในหมู่บ้าน เล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด ปรึกษาท่านว่าจะทำอย่างไรดี
สมภารสอนว่า "การฆ่าบิดามารดา ผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้น เป็นบาปหนัก เป็น "มาตุฆาต" ต้องตกนรกอเวจี ตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียว จะให้บาปเบาลงได้ ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่า "นกเขาเหิน" จะได้เป็นการไถ่บาปหนัก ให้เป็นเบาลงได้บ้าง"
ไอ้ทองเกิดความรู้สึกเสียใจ ที่ตนได้ทำร้ายแม่ จนถึงขั้นมาตุฆาต จึงได้ทำการปลงศพแม่ของตน แล้วได้ปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์ บรรจุอัฐิแม่ไว้ ในภายหลัง ผู้คนจึงเรียกเจดีย์นี้ว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" มาจนถึงบัดนี้
จากตำนาน สู่การค้นหาความจริง ปัจจุบันได้มีการค้นพบ "ธาตุเก่าแก่" ที่ วัดทุ่งสะเดา บ้านสะเดา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งกรมศิลปากร ได้สันนิษฐานว่า ธาตุดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับตำนานนิทานพื้นบ้าน เรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ที่เล่ากันในพื้นถิ่นอีสาน ปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า "ธาตุลูกฆ่าแม่" ตั้งอยู่ภายในวัดทุ่งสะเดา ตำนานนิทานพื้นบ้าน ที่มีเนื้อหาในลักษณะเช่นนี้ ยังถูกใช้เล่าประกอบประวัติ "พระธาตุตาดทอง" ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ธาตุก่องข้าวน้อย
โบราณสถานสำคัญ ภายในวัดทุ่งสะเดา ประกอบด้วย เจดีย์ก่ออิฐถือปูน จำนวน 2 องค์ ตั้งอยู่ใกล้กัน องค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ องค์ที่สองเหลือเพียงส่วนฐาน จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบฐานแท่นบูชาของเจดีย์องค์ที่สอง ยื่นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์องค์แรก อันเป็นหลักฐานว่า เจดีย์องค์ที่เหลือเพียงฐานนั้น ได้สร้างขึ้นมาก่อน ภายหลังพังทลายไป จึงมีการสร้างเจดีย์องค์ที่สอง ทับลงไปบนส่วนฐานของเจดีย์ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านยังได้ขุดพบโบราณวัตถุในไห จำนวน 4 ไห ใต้ฐานเจดีย์องค์แรก เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาด ปิดทอง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพิมพ์ เศษกระดูก กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ที่วัดทุ่งสะเดา
ลักษณะสถาปัตยกรรมของเจดีย์ ที่มีสภาพสมบูรณ์นั้น เป็นทรงบัวเหลี่ยม ในผังแปดเหลี่ยม ตามแบบศิลปะพื้นถิ่นอีสาน กำหนดอายุ ในพุทธศตวรรษที่ 23 มีส่วนฐาน เป็นชั้นหน้ากระดานขนาดเล็ก เรียงลดหลั่นกัน รับฐานบัว และมีชั้นคล้ายบัวหงายขนาดใหญ่ ถัดขึ้นมา เป็นบัวแปดเหลี่ยม รับปลียอดและฉัตร อันเป็นลักษณะเจดีย์ ที่นิยมสร้างในเมืองหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ด้วยเช่นเดียวกัน
เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดทุ่งสะเดา หรือธาตุลูกฆ่าแม่ คือการผูกนิทานพื้นบ้าน ให้เข้ากับประวัติความเป็นมาของเจดีย์ กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ธาตุก่องข้าวน้อย วัดทุ่งสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 โดยเจดีย์องค์ที่มีสภาพสมบูรณ์ (หรือองค์ลูก)ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุด ในปี พ.ศ. 2555 ส่วนเจดีย์องค์ที่เหลือเพียงส่วนฐาน (หรือองค์แม่) ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2537
ดังนั้น จึงสันนิษฐานใหม่ว่า ธาตุวัดทุ่งสะเดา น่าจะเป็น "ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" ตามตำนานเล่าขาน เพราะมีขนาดเล็ก คนๆ เดียว สามารถสร้างได้ ส่วน "ธาตุก่องข้าวน้อย" หรือ "พระธาตุตาดทอง" ที่บ้านตาดทองนั้น มีขนาดใหญ่ พอๆ กับพระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ ซึ่งมีสถาปัตยกรรม ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว บุคคลคนเดียว ไม่มีความรู้เรื่องช่าง ไม่สามารถทำได้ จึงสมควรเรียกขาน "ธาตุก่องข้าวน้อย" ที่บ้านตาดทองเสียใหม่ว่า พระธาตุตาดทอง หรือ พระธาตุถาดทอง
ธาตุก่องข้าวน้อย หรือที่นิยมเรียกกันว่า พระธาตุถาดทอง หรือ พระธาตุตาดทอง ตั้งอยู่ในกลางทุ่งนาของบ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (สายยโสธร-อุบลราชธานี) กิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
'พระธาตุถาดทอง' มีที่มาอย่างไร บ้านตาดทอง เป็นชุมชนโบราณ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงสมัยทวาราวดี ตามตำนานอุรังคนิทาน (พระธาตุพนม) มีข้อความว่า ชาวสะเดาตาดทอง (ภาษาพื้นถิ่น เรียก บ้านกะเดาตาดทอง) ได้นำสิ่งของมีค่า มาช่วยในการบูรณะพระธาตุพนม พบหลักฐานการอยู่อาศัยเป็นแหล่งฝังศพ และมีเศษภาชนะ แบบที่พบในทุ่งกุลาร้องไห้ คือมีเนินดินขนาดราว 500 X 650 เมตร รูปวงรี มีคูน้ำล้อมรอบ แต่ปัจจุบันทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 23 ตัดผ่านกลางเนิน จนแบ่งออกเป็นสองฟาก และมีบ้านเรือนตั้งอยู่อย่างหนาแน่น
พระธาตุตาดทอง เมื่อดูจากรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 และอาจจะมีความเกี่ยวเนื่อง กับนิทานพื้นบ้าน ที่เล่าสืบกันมาว่า
เมื่อผู้คนชาวบ้านในแถบอำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้ทราบข่าว "องค์พระธาตุพนมล้ม" และมีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นใหม่ จึงพร้อมใจกัน รวบรวมวัตถุมงคล สิ่งของมีค่า (เงิน ทองคำ) เพื่อนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม แต่เมื่อเดินทางถึงบ้านสะเดาตาดทอง ก็ได้พบกับชาวบ้านสะเดาตาดทอง ที่เดินทางกลับมาจากการไปช่วยบูรณะพระธาตุพนม เดินทางกลับมาบ้าน เพราะการบูรณะพระธาตุพนม ได้เสร็จสิ้นแล้ว ผู้คนจากรัตนบุรีเหล่านั้น จึงพร้อมใจกัน สร้างเจดีย์บรรจุของมีค่า ที่ตนนำมา และชาวบ้านสะเดา ก็นำเอา "ถาดทอง" ที่ใช้อัญเชิญของมีค่า นำไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับของมีค่า ที่ชาวอำเภอรัตนบุรี ตั้งใจนำมา เพื่อจะไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม มาบรรจุในเจดีย์ที่กำลังสร้างขึ้น จึงเรียกเจดีย์พระธาตุนี้ว่า "พระธาตุถาดทอง" หรือ "พระธาตุตาดทอง"
เอกลักษณ์ของ "พระธาตุตาดทอง" คือ การออกแบบรูปทรงเจดีย์ที่สวยงาม และเป็นพระธาตุแห่งหนึ่ง ที่อาจจะเกี่ยวข้องนิทานเรื่อง "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่" อีกทั้งมีประวัติอ้างอิง เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ การสร้าง "พระธาตุพนม" กรมศิลปากร จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พระธาตุตาดทอง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 กันยายน 2479 และประกาศกำหนดเขตที่ดิน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 15 มกราคม 2552 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 59 ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ. 2545
นอกจากนี้แล้ว บริเวณโดยรอบองค์พระธาตุตาดทอง กรมศิลปากร ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ บริเวณแห่งนี้ คาดว่า "เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ของไทย และภาพเขียนสี ยุคเดียวกับโบราณสถานบ้านเชียงด้วย" อนึ่งชื่อที่ถูกต้องของธาตุองค์นี้ ควรจะเรียกว่า "ธาตุก่องข้าวน้อย" มากกว่า "พระธาตุก่องข้าวน้อย" เพราะภายใน บรรจุอัฐิบุคคลธรรมดา มิใช่เป็นอัฐิพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเช่นพระธาตุ หรือพระบรมธาตุทั่วไป
https://youtu.be/uOdwvUeO2gE?si=0OmnladrRUJ_0v2v
แหล่งที่มาของข้อมูล