ตำนาน แก่งคุดคู้ นายพรานจึ่งขึ่ง ดั้งแดง😱😱😱
แก่งคุดคู้ แก่งขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ที่เกิดจากการทอดตัวของแนวหิน ลงในแม่น้ำโขง ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก จากการที่หินเหล่านี้ อยู่ใต้น้ำเป็นเวลานาน ทำให้หินเหล่านี้ มีสีสันไปต่าง ๆ ตัวแก่งกว้างใหญ่ เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านเพียงช่องแคบ ๆ ใกล้ฝั่งไทยเท่านั้นเอง ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก เวลาที่เหมาะจะชมแก่งคุดคู้ที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาที่น้ำแห้ง มองเห็นเกาะแก่งชัดเจน และสามารถเดินลงไปเพื่อสัมผัสบรรยากาศ ของริมน้ำโขงได้อย่างใกล้ชิด
ซึ่งบริเวณนี้ จะเป็นหาดทรายกว้าง และหินก้อนกลมเงา เรียงรายกันนับร้อยนับพันก้อน มีศาลาชมวิว บรรยากาศดีมาก ลมเย็นสบาย มองออกมาจากศาลาไปทางลำน้ำ จะเห็นโขดหินคล้าย ๆ กับสันเขื่อน ที่วางขวางลำน้ำ จุดนี้แหละที่เป็นที่มาของคำว่า "แก่งคุดคู้" บริเวณแก่ง มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว บริการเรือยนต์ล่องแม่น้ำโขง ให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติริมสองฝั่งโขง การเดินทางไปแก่งคุดคู้ จากตัวอำเภอเชียงคาน สามารถนั่งรถสายรอบเมือง ไปแก่งคุดคู้ได้ ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 7 กิโลเมตร
"แก่งคุดคู้" สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิต ของ อ. เชียงคาน จ. เลย เชื่อหรือไม่ว่า เขามีตำนานเล่าต่อกันมา นานแล้ว มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ “จึ่งขึ่งดั้งแดง” รูปร่างสูงใหญ่ล่ำสัน มีฝีมือในการล่าสัตว์ วันหนึ่งนายพรานผู้นี้ ตามล่าควายเงิน มาจากหลวงพระบาง (ที่เรียกควายเงิน เพราะมูลของควายตัวนี้เป็นเงิน) พอมาถึงริมน้ำโขง เห็นควายเงินพักกินน้ำ นายพรานจึงดักซุ่มยิง พอดีชาวบ้านแล่นเรือผ่านมา ควายเงินตกใจตื่นเตลิดขึ้นไปบนเขาลูกหนึ่ง (ต่อมา เขาลูกนี้ได้ชื่อว่า"ภูควายเงิน") นายพรานเลยยิงไปถูกเขาอีกลูกจนพังทลายไปซีกหนึ่ง กลายเป็นหน้าผาสูงชัน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ภูผาแบ่น”
นายพรานโกรธคนที่แล่นเรือผ่าน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ควายเงินหนีไป จึงยกก้อนหินทีละก้อน มากั้นแม่น้ำโขง ไม่ให้เรือแล่นผ่าน ร้อนถึงพระอินทร์ ผู้ดูแลรักษาแถบนั้น เกรงว่าหากกั้นแม่น้ำโขงสำเร็จ ชาวบ้านแถบนั้นจะเดือดร้อนไปทั่ว น้ำจะท่วมเหนือเขื่อนจมมิด จึงแปลงกายเป็นเณรน้อย ออกอุบายมาบอกจึ่งขึ่งว่า ยกหินทีละก้อนเมื่อไรจะเสร็จ ทำไมไม่เอาไม้ไผ่มาทำไม้คาน หาบก้อนหินทีละมากๆ มากั้นน้ำโขง จะได้เสร็จเร็วๆ
พรานจึ่งขึ่ง หลงอุบาย ไปหาไม้ไผ่ที่เณรน้อยแนะนำ เป็นไม้ไผ่เ...้ยะ ที่มีลำข้อยาว เมื่อผ่าออกมา จะคมมาก นำมามัดรวมกันเป็นไม้คาน หาบก้อนหินจำนวนมาก ไม้คานทานน้ำหนักไม่ไหวแตกออก คมบาดคอจึ่งขึ่ง นอนตายคุดคู้ เป็นนามเรียก แก่งคุดคู้ แต่นั้นมา ผลจากการที่นายพราน ขนหินมาวางขวาง ทำให้กลางน้ำโขง มีหลายแก่งหลายแห่ง มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น แก่งฟ้า แก่งจันทร์ เป็นต้น แก่งเหล่านี้ แม้จะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ในลำน้ำโขงมาแต่โบราณ แต่ก็เป็นบริเวณที่มีปลา เข้ามาอยู่อาศัยอย่างชุกชุม เป็นตำนานที่มีผู้ผูกเรื่อง เล่าเชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ ทำให้จดจำสถานที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
แก่งคุดคู้ เปรียบได้กับสถานที่ตากอากาศ ของคนเชียงคาน รวมไปถึงนักท่องเที่ยว ที่พิสมัยในความงามตามธรรมชาติ ทำให้สัมผัสแรกที่มาเยือน จึงไม่แปลกใจนักว่า ทำไมสถานที่แห่งนี้ ถึงมีแรงดึงดูด ให้ใครต่อใคร ใคร่อยากมาสัมผัสกันบ้างสักครั้ง
ทั้งนี้ ก็เพราะวิวของลำนำโขง ที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา ทอดตัวยาวขนานไปสองฝั่งไทย-ลาว และในช่วงที่น้ำลด จะเห็นเกาะแก่งน้อยใหญ่ต่างๆ โดยมีภูเขาลูกยักษ์ที่ชื่อ “ภูควายเงิน” ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง อยู่ฝั่งตรงข้าม อย่างลงตัวนั่นเอง และที่สำคัญ ความงดงามนั้น จะทวีคูณขึ้นไปอีกหลายเท่า หากใครขยันตื่นเช้า มาเฝ้าชมพระอาทิตย์ขึ้น เหนือสันเขาแห่งนี้
อ้างอิงจาก: https://youtu.be/jrBkVJQvybY?si=1oAxtQJ6BkSSbZ6p
แหล่งที่มาของข้อมูล