เจดีย์โปตาทาวน์ ที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุพระพุทธเจ้า (เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า)
เจดีย์โปตาททอง หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจดีย์โปตาทาวน์ เป็นเจดีย์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในย่านใจกลางนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า ใกล้แม่น้ำย่างกุ้ง เจดีย์สร้างขึ้นครั้งแรกโดยชาวมอญ ช่วงเวลาเดียวกันกับเจดีย์ชเวดากอง ตามความเชื่อท้องถิ่น สร้างเมื่อกว่า 2,500 ปีที่ผ่านมา และเป็นที่รู้จักในชื่อภาษามอญว่า "ไจเดอัต" (Kyaik-de-att) เจดีย์กลวงภายใน และเชื่อว่า เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุพระพุทธเจ้า
ตามตำนาน กษัตริย์มอญนามว่า โอะกะลาปะ ได้ให้นายทหารระดับแม่ทัพ 1,000 นาย ตั้งแถวถวายสักการะ พระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ที่พ่อค้าสองพี่น้อง ตปุสสะและภัลลิกะ อัญเชิญมาทางเรือจากประเทศอินเดีย และมาขึ้นฝั่งเมืองตะเกิงหรือดากอง ณ บริเวณนี้ เมื่อ 2,000 ปีก่อน จึงสร้างเจดีย์เจดีย์โปตาทาวน์ไว้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งแบ่งพระเกศา 1 เส้นมาบรรจุไว้ ก่อนนำไปบรรจุในเจดีย์ชเวดากอง และเจดีย์สำคัญอื่น ๆ
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจดีย์ได้ถูกทำลายลง เพราะการทิ้งระเบิด โจมตีท่าเรือย่างกุ้ง ของกองทัพอากาศอังกฤษ เจดีย์ถูกทิ้งไว้ในซากปรักหักพังสีดำ
การบูรณะเจดีย์ เริ่มต้นขึ้นในวันเดียวกัน กับที่ประเทศพม่า ได้รับเอกราชจากอังกฤษ คือ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 หลังจากที่นำซากปรักหักพัง ออกจากพื้นดินแล้ว จึงเริ่มกระบวนการขุด ที่ความลึกประมาณเจ็ดฟุต เพื่อสร้างฐานรากของเจดีย์องค์ใหม่ มีการขุดค้นเพิ่มเติม บริเวณใจกลางพื้นที่ ที่ระดับความลึกสามฟุต พบกรุที่สร้างขึ้นอย่างดี และมีขนาดค่อย ๆ ลดลงจากด้านบน และปรากฏผอบขนาดใหญ่วางกลับด้าน ครอบทับสิ่งที่อยู่ภายใน ใจกลางกรุ พบผอบหินทรงสถูป มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 23 นิ้ว และสูง 39 นิ้ว รอบ ๆ ผอบ พบรูปนะ ที่แกะสลักจากศิลาแลง เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์รักษา ผอบถูกพบฝังอยู่ในโคลน เพราะมีน้ำซึมเข้ามาในกรุ ตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา
ภายในกรุ ที่เก็บผอบหินทรงสถูป พบสมบัติล้ำค่าหลายชนิดเช่น อัญมณี, เครื่องประดับ, เพชรพลอย, จารึกดินเผา, และพระพุทธรูปทองคำ, เงิน, ทองเหลือง, หิน พระพุทธรูปจำนวนทั้งหมด ภายในและภายนอกผอบ ราวกว่า 700 องค์ จารึกดินเผาบางส่วน กล่าวถึงการรักษาธรรม และเรื่องราวทางพุทธศาสนา
หนึ่งในแผ่นดินเผาที่ได้จากกรุ ซึ่งมีรูปพระพุทธรูป และแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากอายุและความชื้นก็ตาม ด้านหลัง มีตัวอักษรที่ถูกจารึกไว้ ซึ่งใกล้เคียงกับอักษรพราหมีแถบอินเดียตอนใต้ เป็นหลักฐานสำคัญของสมัยโบราณ และได้รับการตีความ โดยอูลูเปวิน ผู้อำนวยการนักโบราณคดี สมัยรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งชี้ให้เห็นคำว่า "e" จาก "evam vadi" แสดงให้เห็นถึงตัวอักษรลักษณะแบบมอญโบราณ เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความเชื่อที่ว่า ผู้สร้างเจดีย์ในสมัยโบราณ คือชาวมอญ
หลังการประชุม และหารือผู้นำทางศาสนา 15 คน จึงมีมติให้เปิดผอบ ต่อหน้าทุกคนในคณะกรรมการ การเปิดผอบ มีการระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อผอบหินถูกเปิดพบว่าภายในมีผอบสีทอง ซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เป็นผอบลักษณะคล้ายกับผอบหินภายนอก เป็นทรงสถูป ลักษณะคล้ายเจดีย์ ฝีมือประณีต แสดงให้เห็นถึงความเลื่อมใสในศาสนา โคลนบางส่วน ได้ซึมมาด้านข้างและฐานชั้นนี้ เมื่อล้างและร่อนด้วยตะแกรง จึงพบหินมีค่า ทอง และอัญมณีรอบฐานชั้นนี้ ผอบชั้นที่สองถูกเปิด ภายในพบสถูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนถาดเงิน และข้างสถูปทองคำ มีรูปหินแกะสลักสูง 4½ นิ้ว เป็นฝีมือโบราณขั้นสูง
เมื่อสถูปทองถูกเปิดออก ก็พบกระบอกทองคำขนาดเล็ก ยาว 3/4 นิ้ว (19 มิลลิเมตร) มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5/12 นิ้ว (11 มิลลิเมตร) ภายในกระบอก พบพระธาตุขนาดเล็กสององค์ ขนาดเล็กเท่าเมล็ดมัสตาร์ด และสิ่งที่เชื่อว่า เป็นพระเกศาของพระพุทธเจ้า เป็นเส้นพระเกศาม้วนเป็นวงกลม และยึดติดเล็กน้อยกับยางรัก ที่ซึ่งเห็นเป็นจุดทองฉาบปิดไว้
เจดีย์ใหม่ มีการออกแบบให้มีลักษณะตามเดิม และสูง 131 ฟุต 8 นิ้ว (40.13 เมตร) บนฐาน 96 ฟุต (29 เมตร) × 96 ฟุต (29 เมตร) แหล่งท่องเที่ยวหลัก คือภายในของเจดีย์ ซึ่งกลวง ทางเดิน มีลักษณะเหมือนเขาวงกต ผนังบุด้วยทองคำ มีกระจกกั้น ภายใน แสดงโบราณวัตถุ และสิ่งประดิษฐ์โบราณจำนวนมาก ที่เคยฝังไว้ ภายในเจดีย์ ก่อนหน้านี้
อ้างอิงจาก: แหล่งที่มาของข้อมูล