บาตร ของพระพุทธเจ้า🙏🙏🙏
แต่เดิม บาตรของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวสาลี โดยตำนานกล่าวว่า บรรดาเจ้าลิจฉวีได้รับพระราชทานมา ก่อนที่พระพุทธองค์จะเข้านิพพาน จากนั้นเจ้าลิจฉวี ได้สร้างพระสถูป เก็บรักษาบาตรไว้ แล้วคาดว่า ได้สร้างบาตรใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง จำลองไว้ด้านหน้าพระสถูป เพื่อให้สาธุชน ได้ถวายโภชนาหารลงไปในนั้น เสมือนหนึ่งว่า ได้ถวายบาตรแก่องค์พระศาสดา
แต่เมื่อครั้นถึงยุคอาณาจักรกุษาณะ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เมือราวศตวรรษที่ 2 พระเจ้ากนิษกะ ทรงยกทัพยาตรา มาถึงมัธยมประเทศ พระเจ้ากรุงกาศี แห่งแคว้นมคธ ยอมสยบต่อพระองค์ ยอมถวายบาตรพระพุทธเจ้าให้ พระเจ้ากนิษกะทรงนำบาตรนี้ กลับไปยังอาณาจักร แล้วสร้างพระสถูปขึ้นเรียกว่า ปาตรไจตยะ ตั้งอยู่ ณ นครปุรุษปุระ
พระฝ่าเซี่ยน จากอาณาจักรจิน เดินทางไปสืบพระศาสนายังชมพูทวีป ได้สักการะบาตรนี้ ที่อาณาจักรคันธาระ ท่านบันทึกไว้ว่า พระอารามปาตรไจตยะ มีพระสงฆ์จำพรรษา 700 รูป ก่อนเพล จะนำบาตรพระพุทธเจ้า ออกมาให้สักการะ ผู้คนจะโยนบุปผาคันธมาลาบูชา ตัวบาตรเป็นสีดำ แต่ส่งรัศมีระยิบระยับ หลากสี ดูงามตานัก
ต่อมา อาณาจักรกุษาณะร่วงโรย มีการย้ายบาตรไปรักษาไว้ ณ พระสถูป ที่เมืองคันธวิหาร ราวศตวรรษที่ 7 พระเสวียนจั้ง หรือพระถังซำจั๋ง จาริกผ่านมา แลเห็นพระสถูปร่วงโรยลงมาแล้ว ได้แต่ระบุว่า บัดนี้ บาตรอยู่ในประเทศเปอร์เซีย ภายหลัง เปลี่ยนมือผู้ครองมากมายหลายแผ่นดิน อนึ่ง ในขณะนั้นประเทศคันธาระ ล่มสลายไปแล้ว เมืองคันธปุระ จึงอยู่ในขอบขันธสีมา ของประเทศเปอร์เซียดังท่านว่า
บาตรพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่คันธวิหาร ยาวนาน จนกระทั่งถึงยุคอิสลาม บาตรนั้นได้หายไปจากบันทึกและการพบเห็นของผู้คน ส่วนอาณาจักรคันธาระ กลายเป็นประเทศอัฟกานิสถาน เมืองคันธวิหาร กลายเป็นเมืองกันดาฮาร์ ขณะที่เมืองปุรุษปุระ คือเมืองเปชาวาร์ในปัจจุบัน
แต่ต่อมา มีบันทึกถึง "บาตรศิลา" ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ที่สุสานสุลต่านบาบา ตัวบาตร สลักอักษรเปอร์เซีย เป็นข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน ถึงยุคปัจจุบัน ได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งไว้ที่พพิธภัณฑ์ ในกรุงคาบูล บาตรนี้ รอดพ้นการทำลายล้างในยุคตอลีบัน ที่มีการทุบทำลายโบราณวัตถุ ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาในพิพิธภัณฑ์ จนเกือบหมดสิ้น เนื่องจากตัวบาตร จารึกอักษรเปอร์เซียไว้
มีผู้ตั้งข้อสังเกตุว่า บาตรศิลาขนาดใหญ่กว่า 1.7 ม. นี้ น่าจะเป็นบาตรพระเจ้าจำลอง สำหรับให้สาธุชน ได้ใส่บาตรพระพุทธ เสมือนได้ใส่ลงในบาตรองค์จริงในพระสถูป ไม่แน่ว่า อาจถูกนำมาจากเวสาลีพร้อมกับบาตรจริงๆ ในยุคพระเจ้ากนิษกะ หรืออาจสร้างขึ้นใหม่ที่คันธาระ
อย่างไรก็ตาม มีประติมากรรมยุคคันธาระ แสดงภาพผู้คน สักการะบาตรขนาดใหญ่กว่าตัวคนหลายเท่า ทำให้เชื่อกันว่า นี่แหละ คือบาตรจริงของพระพุทธเจ้า หาใช่ของจำลองไม่
ตำนานเกี่ยวกับบาตรพระพุทธเจ้า ไม่ได้เกี่ยวโยงกับอาณาจักรคันธาระ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงกับแผ่นดินจีน อย่างเหนียวแน่น ที่คันธาระ มหาชน เคารพบูชาบาตรพระพุทธกันมาก ถึงขนาดเป็นลัทธิธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ปรากฎในงานศิลปกรรมมากมาย แต่ในจีน มีความเชื่อถือศรัทธาในบาตรพระพุทธเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเป็นลัทธิธรรมเนียมพิเศษ เพียงแต่เล่าขานเป็นตำนานสืบมา จนถึงปัจจุบัน
ตำนานเรื่องบาตรพระพุทธ เริ่มแพร่หลายในจีน ในสมัยราชวงศ์ถัง แบ่งออกเป็น 2 สาย คือทัศนะของฝ่ายสำนักวินัย (ลวื่อจง) นำโดยพระวินายาจารย์ต้าวเซวียน (道宣) อีกทัศนะ เป็นของฝ่ายสำนักวิปัสสนา (ฉานจง หรือนิกายเซ็น) ของพระสังฆนายกองค์ที่ 6 หรือพระฮุ่ยเหนิง และสานุศิษย์
ฝ่ายเจ้าสำนักวินัย ในช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน ได้รับคำสอนและคำชี้แนะ จากบรรดาเทพและโพธิสัตว์มากมาย ท่านมีโอกาสได้มีปุจฉา ข้อกังขาหลายประการ เช่น ภูมิธรรม และกำเนิดของพระเถระท่านต่างๆ เพื่อนำมาเขียนเป็นประวัติพระเถระผู้สูงส่ง ฉบับขยายความ (續高僧傳) นอกจากนี้ ท่านยังได้ปุจฉาถามปวงเทพ เกี่ยวกับพระพุทธองค์เช่นกัน รวมถึงกรณีบาตรของพระพุทธเจ้า ท่านได้รับวิสัชนาว่า แต่เดิมนั้น บาตรนี้ ส่งมอบจากอดีตพุทธในภัทระกัลป์นี้ เรื่อยมา จนถึงพระศากยมุนี และจะส่งมอบต่อไปถึงพระอนาคตพุทธะในยภายหน้า
หลังจากที่พระเจ้าเข้านิพพานแล้ว บาตรนี้ ก็ยังคงอยู่ที่ชมพูทวีป ประดิษฐาน ณ เขาคิชกูฏ เป็นเวลา 15 ปี จากนั้น (ก็จรไปในที่ต่างๆ?) เมื่อถึงยุคปลายศาสนา ให้ผู้คนตามหาบูชาบาตรพระพุทธนี้ แล้วจะพ้นจากอบายภูมิ
อย่างไรก็ตาม ท่านยังบันทึกอีกด้วยว่า เมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ มีมหาสันนิบาต ของบรรดาเทพและโพธิสัตว์ขึ้น ที่วัดเชตวันวิหาร ทรงมีพุทธบัญชาให้ปวงเทพ นำบาตรของพระองค์ ไปประดิษฐานยังพระสถูป ที่พญามารได้สร้างขึ้นถวาย จากนั้น ให้พระยานาคราชบ้าง ท้าวจตุโลกบาลบ้าง และท้าวสักกะเทวราชบ้าง ช่วยกันรักษาเวียนไป เมื่อถึงยุคปลายศาสนา ก็ให้สาธุชนได้บูชา ได้แลเห็นว่า บริขารพระเจ้ายังอยู่ เพื่อที่พระสงฆ์และฆราวาส จะได้รำลึกว่า นี่หนอประหนึ่งว่า พระศาสดา ยังราวกับคงอยู่ พระวินัยยังมิได้บุบสลาย จักได้รักษาพระวินัยอย่างแข็งขัน
ฝ่ายสำนักวิปัสนา เล่าขานกันสืบมา พระโพธิธรรม ได้รับมอบจีวรและบาตร จากบูรพาจารย์ของท่าน อันมีพระมหากัสสปะเป็นปฐม ซึ่งพระมหากัปสสปะ ได้รับจากพระพุทธองค์อีกทอดหนึ่ง บาตรและจีวรนี้ สืบทอดมาผ่านบูรพาจารย์ สำนักวิปัสสนาสายอินเดีย 28 รุ่น ส่งผ่านมาถึงสายจีน 6 รุ่น มาสิ้นสุดที่พระสังฆนายกลำดับที่ 6 ฮุ่ยเหนิง หลังท่านละสังขารแล้ว ได้นำบาตรและจีวร ประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดหนานฮวา
อย่างไรก็ตาม ตำนานนี้ ไม่มีการยืนยันชัดเจน นักวิชาการรุ่นหลังก็เชื่อว่า เป็นตำนานเล่าเสริม แบบปากต่อปาก นอกจากนี้ ในธรรมเทศนาสังฆนายกลำดับที่ 6 (六祖壇經) ก็ระบุแต่ว่า บาตรและจีวรนี้เป็นของพระสังฆนายกลำดับที่ 5 หงเริ่น มิได้ระบุว่า สืบทอดมาจากพระพุทธองค์แต่อย่างใด
การส่งมอบจีวรและบาตรร ตามธรรมนิกายฉานเรียกว่า จีวรประติสังยุกตะ (อีฝ่า - 衣法) จะมอบให้กับผู้สืบทอดสายพระธรรม ที่บรรลุธรรมแล้ว ท่านว่าจีวรนี้ ทำขึ้นเลียนแบบของเดิม มิใช่ของจริง ดังนั้น มี่ความเป็นไปได้ ที่จีวรและบาตรของพระฮุ่ยเหนิง จะเป็นของจำลองเช่นกัน (ในกรณีที่รับมอบตรงมาจากบูรพาจารย์ท่านก่อนๆ มิได้ของพระสังฆนายกรุ่นที่ 5 )
กระนั้น ในหมู่ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า ขณะนี้ บาตรและจีวรของพระพุทธองค์ ได้ถูกเก็บรักษาไว้กับพระมหากัสสปะ ซึ่งเดินทางมาประกาศพระศาสนาที่จีน บัดนี้ ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ที่เขาจีจู๋ซาน มณฑลหยุนหนาน รอวันที่พระศรีอารยเมตตไตรยจะตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านจะมอบจีวรและบาตรแก่พระองค์ แล้วเข้านิพพพาน
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/3r2iLWXExWU?si=qin7buEMDhcvVTiS
แหล่งที่มาของข้อมูล