ตำนาน และประวัติความเป็นมา เมืองลับแล (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์)🙏🙏🙏
อำเภอลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมา เมื่อปี พ.ศ. 2444
อำเภอลับแล นอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจ มากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นเมืองล้านนา เช่น ผ้าตีนจก ไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด และทุเรียนหลง-หลินลับแล ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
ประวัติเมืองลับแล ศิลาจารึกเจดีย์พิหาร ขุดได้ที่หน้าวิหาร วัดเจดีย์คีรีวิหาร เนื้อหาจารึก น่าจะกล่าวตั้งแต่ครั้งเมื่อพระยาลิไทย ขึ้นเสวยราชย์ เป็นหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า อาณาบริเวณเมืองลับแลปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย
นอกจากนี้ ทางด้านเหนือและตะวันตก ของเมืองกัมโพช มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็น ยามพลบค่ำ แม้ตะวันจะยังไม่ตกดิน ก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษี เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" (แลง เป็นภาษาล้านนาแปลว่า เวลาเย็น) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ลับแล" ซึ่งกลายมาเป็นชื่ออำเภอลับแล ในสมัยปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ที่ตั้งของลับแล ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้ง ในอาณาจักรสุโขทัย จนในปี พ.ศ. 1981 เมืองทุ่งยั้ง ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ในฐานะเป็นเมืองหน้าด่าน ของอาณาจักรอยุธยา ที่ตั้งของลับแล ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้ง มาโดยตลอด
ในด้านชาติพันธ์ คนลับแล ที่ใช้ภาษาถิ่นล้านนานั้น จากข้อสันนิษฐาน ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้สันนิษฐานจากชาติพันธ์ และภาษาของผู้คน ในที่ตั้งเมืองลับแลในปัจจุบัน ว่าเดิม เป็นชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อน มาซุ่มซ่อนตั้งชุมชน อยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย ประกอบกับตำนานท้องถิ่น ระบุว่า ได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงคราม เข้ามาตั้งรกราก อยู่บริเวณที่ราบเขาแถบลับแล และตั้งชื่อว่า บ้านเชียงแสน ต่อมาคนกลุ่มนั้น ก็แยกย้ายกันไปหักล้างถางดง สร้างบ้านเมือง ขึ้นกระจัดกระจายตามที่ราบและไหล่เขาต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่า ได้มีตำนานการอัญเชิญ เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าเรืองชัยธิราช จากอาณาจักร โยนกนาคนครเชียงแสน ถูกสร้างขึ้นอีกในช่วงหลัง ประกอบกับชุมชนลับแล มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังปรากฏหลักฐาน การสร้างศาสนสถานวัดป่าสัก ซึ่งมีศิลปะเอกลักษณ์แบบอยุธยา ผสมล้านนา ทำให้เมืองลับแล กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้ภาษาถิ่นล้านนา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับแล ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัด จากเมืองพิชัย มาตั้งที่บางโพ และยุบเมืองทุ่งยั้งรวมกับลับแล และสถาปนาเมืองลับแลขึ้นเป็นอำเภอ ส่วนอาคารที่ทำการ ยังตั้งอยู่ที่เมืองทุ่งยั้ง บริเวณใกล้เวียงเจ้าเงาะ
ต่อมา พระพิศาลคีรี ได้ย้ายอาคารที่ทำการ ไปตั้งที่ม่อนจำศีลในปีเดียวกันนี้ (ห่างจากที่ว่าการ อำเภอปัจจุบัน ไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ครั้นถึง พ.ศ. 2457 สมัย พระศรีพนมมาศ (เมื่อครั้งเป็นหลวงศรีพนมมาศ) เห็นว่า ห่างไกลจากตัวเมือง ลำบากแก่ราษฎรไปติดต่อ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ จะสงวนที่ม่อนจำศีล เป็นที่ประดิษฐานพระเหลือ (พระพุทธรูปที่สร้างจากทอง ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก) เพราะทรงเห็นว่าทิวทัศน์ของม่อนจำศีลคล้ายกับเมืองชวา จึงได้ย้ายอาคารที่ทำการจากม่อนจำศีล มาอยู่ที่ ม่อนสยามินทร์ (ชาวบ้านเรียกม่อนสามินทร์) เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน
ชาวเมืองลับแลดั้งเดิม มีภาษาถิ่นแบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ คือในชุมชนรอบพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง ตำบลไผ่ล้อม ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ที่ปรากฏหลักฐานในสมัยสุโขทัย และชุมชนเดิม ในพื้นที่ตั้งตัวอำเภอลับแล ก่อนที่จะถูกทิ้งร้าง ปรากฏหลักฐานศิลาจารึก การสถาปนาพระธาตุเจดีย์พิหาร ในสมัยพระยาลิไทย สันนิษฐานว่า แถบที่ตั้งเมืองลับแลทั้งหมด เป็นชุมชนที่ใช้ภาษาถิ่น แบบสำเนียงสุโขทัยโบราณมาก่อน นับ ๗๐๐ ปี
ก่อนที่จะมีการอพยพชาวไทยวน จากอาณาจักรโยนกนาคนครเชียงแสน มาในสมัยหลัง ซึ่งปัจจุบันชาวไทยวนในอำเภอลับแล ส่วนใหญ่อยู่ในเขตตอนเหนือของอำเภอ และที่ตั้งตัวอำเภอ ส่วนเขตทางใต้ของอำเภอลับแล ยังคงเป็นชุมชนภาษาถิ่น แบบสำเนียงสุโขทัยโบราณอยู่ ดังนั้น ชาวลับแล จึงมีขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ทั้ง 2 วัฒนธรรม คือชุมชนภาษาถิ่น แบบสำเนียงสุโขทัยโบราณ และชุมชนภาษาถิ่นล้านนา มีภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกาย อาหารการกิน เป็นแบบล้านนา ที่มีใช้อยู่ในแถบล้านนาตะวันออก เช่น แพร่ น่าน เชียงราย และพะเยา
เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร - วีรบุรุษในตำนานของลับแล ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเจ้าชายมาจากเมืองโยนกเชียงแสน โดยท่านได้อพยพประชาชนส่วนหนึ่ง มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านใหม่เชียงแสน ตำบลฝายหลวงในปัจจุบัน และทางองค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ได้ทำการสร้างอนุสาวรีย์ของท่าน ไว้ที่บริเวณหน้าทางเข้าวัดม่อนอารักษ์
พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน) – อดีตนายอำเภอลับแล ในสมัยรัชกาลที่ 5
ตำนานเมืองลับแล
เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เดิมคงเป็นเมืองที่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล
ตำนานนี้เล่ากันสืบมาว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่ง (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง) เข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่าง ๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ ขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่าคนในหมู่บ้านล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน
วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้พ่อเลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้ว ๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก็กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อย ๆ และหนทางก็ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดูก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก็หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/zt7kQMqDjZM?si=lvdqNub6SQ3Rb4xF
แหล่งที่มาของข้อมูล