ตำนาน พระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
พระธาตุเก่าแก่สำคัญ ที่วัดพระธาตุขิงแกง ตามตำนานกล่าวว่า บริเวณพระธาตุขิงแกงนี้ เป็นสถานที่อีกที่หนึ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จผ่านมาโปรดเวไนยสัตว์ ดังความตามตำนานว่า
“... โส ภะคะวา อันว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงยังยอดดอยแห่งหนึ่ง ยังมีพญานาคตนหนึ่ง มันเห็นพระพุทธเจ้าก็ตกใจกลัว คิดว่าเป็นพญาครุฑ จึงหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ลำห้วย ขณะนั้นยังมีเนื้อทราย (เนื้อทราย) ฝูงหนึ่งเห็นพญานาคหนีมา ก็เข้าใจว่าเปนนายพรานจักมาฆ่าตน จึงบ่ายหน้าวิ่งลงไปลำห้วยด้านทิศตะวันออก แล้วก็วิ่งลงอยู่อย่างนั้น
พระพุทธองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็น ดังนั้น ก็จึงแย้มพระโอษฐ์ พระอานนท์จึงทูลถามว่า เหตุใดพระองค์จึงทรงแย้มพระโอษฐ์อย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า เราตถาคตนำพลนิกาย และพระอินทร์มาที่นี่ พญานาคตนนั้น คิดว่าเราเป็นพญาครุฑ จึงกลัวแล้วหนีไปสุ่น (ซ่อน) ในลำห้วย เนื้อทรายฝูงหนึ่ง เห็นพญานาควิ่งไปทางทิศตะวันออก วิ่งขึ้นลงอยู่อย่างนี้ แล้วมันก็วิ่งไปซ่อนตัวอยู่ในลำห้วย ฝ่ายพญานาค ที่ซ่อนอยู่ในลำห้วย คิดในใจว่า คนผู้นี้คงมิใช่พญาครุฑ ชะรอยจะเปนพระพุทธเจ้า จึงแปลงเพศเป็นบุรุษหนุ่มนุ่งขาว เข้ามานมัสการพระพุทธเจ้า เสร็จแล้ว ลงไปเอาก้อนหินจากเมืองนาคพิภพ มาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ประทับนั่งบนหินก้อนนั้น เมื่อผัวเมียคู่หนึ่ง เดินทางผ่านมาพบ ไม่ทราบว่าเปนพระพุทธเจ้าจึงเข้าไปถามว่า ท่านเป็นพระอินทร์ พระพรหม หรือ เทวบุตรองค์ใด มีนามว่าอย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่า เราคือตถาคต สองผัวเมียได้ยินดังนั้น ก็มีใจปติยินดี จึงนำเอาหมากเต้า (แตงโม) หมากแต๋ง (แตงไทย) มาถวายพระพุทธองค์ ก็รับเอาด้วยความกรุณา ทั้งสองก็ไหว้พระพุทธเจ้าแล้วว่า เครื่องปลูกของฝังอันใด ก็ไม่ดีไม่งาม (ไม่เหมาะไม่ควร) มีแต่ขิงแกง (ขิงแกง คือขิงพันธุ์พื้นเมืองที่มีกลินแรง มีแง่งขนาดเล็ก) ที่ยังงามดีอยู่ ที่นั่นพระอานนท์เถระ ก็ขอพระธาตุจากพระพุทธองค์ พระองค์ก็เอาพระหัตถ์ลูบเศียร ได้พระเกศามาสามเส้นยืนให้ พระอานนท์รับเอา แล้วยื่นให้พระโสณเถระรับเอา แล้วยืนให้พระเจ้าอโศกธรรมราชา แล้วยื่นต่อพระอินทร์
พระอินทร์ก็เอากระบอกไม้รวกมารับไว้ แล้วเนรมิตผอบทองคำใหญ่ มีขนาดเท่าเจ็ดกำมือ พระอินทร์จึงสั่งพญานาคว่า ท่านจงทำอุโมงค์ลึก 74 วา จักได้นำเอาพระธาตุของพระพุทธเจ้าเก็บไว้ และพระอินทร์ ก็เนรมิตปราสาททองคำ ตีนธรณียาว 4 วา สูง 8 วา แล้วเอาตั้งไว้ยังสำเภาทองคำ เนรมิตอาสนะแก้วไว้ในปราสาท พญานาคจึงไปเอาทองคำและแก้วจ้อตุง (ช่อธง)ทั้งหมดจากนาคพิภพ มาบูชาพระธาตุเจ้า พระอินทร์ก็เนรมิตอาสนะทองคำ ตั้งท่ามกลาง แล้วเนรมิตห้องทองคำ ตั้งอาสนะทองคำ แล้วนิมนต์พระธาตุเจ้า เข้าประดิษฐานไว้ แล้วจึงก่อด้วยทรายทองคำ 7 ชั้น และถมด้วยทรายทองคำ ชั้นนอกปดทับด้วยแผ่นหินหนามาก ซ้ำยังเนรมิตยันต์ทิพย์ไว้ 12 แห่ง ด้วยกลัวเป็นอันตรายต่อพระธาตุเจ้า ของสำหรับพระธาตุเจ้า มีฆ้องทองคำใบหนึ่งยาว หนึ่งวา สามศอก ฉาบคู่หนึ่งใหญ่ขนาด 6 กำมือ มีเทพบุตรชื่อสิงคละ เป็นต้น คอยรักษา 4 องค์ ทั้ง 4 ทิศ พระพุทธเจ้า จึงตรัสกับพระอินทร์และพระอานนท์ว่า
อันตัวเราตถาคต นิพพานไปแล้ว ให้กระดูกเท้าข้างขวา มาไว้กับเกศาเราเถิด พระพุทธเจ้าจึงทำนายไว้ว่า สถานที่แห่งนี้จักได้ชื่อว่า “ขิงแกง” แลลำห้วยฝั่งตะวันตก คนทั้งหลายจักเรียกว่า ห้วยสุ่น ตามนิมิตอันพญานาคเห็นเรา ตถาคตมาที่นี่ และตกใจวิ่งเข้าไปสุ่น (ซ่อน) อยู่ และห้วยทางทิศตะวันออกนั้น ได้ชื่อว่า ห้วยทราย (ตามนิมิตที่เนื้อทรายหนีพญานาค) ในสถานที่วิเศษนี้แล บุคคลใดได้กราบไหว้บูชา ได้สร้างและบูรณะ ก็จักได้เป็นใหญ่ในชาตินี้และชาติหน้า ยังไม่แค่นั้น แม้นว่าบุคคลผู้ใดได้สร้างก็ดี บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้เข้ามาในศาสนธรรมแห่งเรา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ท่านก็ได้เสด็จมาทุกพระองค์ (อดีตพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ เคยทรงพำนักที่บริเวณนี้) และถ้าผู้ใดได้สร้างก็ดี ให้บูชาเทวบุตรทั้ง 4 ด้วยเครื่อง 8
เทวบุตรชื่อว่า สิงคละ บูชาด้วยดอกไม้สีเหลือง องค์ที่อยู่ทิศอีสาน บูชาด้วยเครื่องแดงดอกคำ องค์ทีjอยุ่ด้านอาคเนย์ บูชาด้วยเครื่องแดงคล้ำ องค์ที่อยู่ด้านทิศพายัพ บูชาด้วยเครื่องหม่น (เทา) องค์ที่อยู่ด้านทิศหรดี บูชาด้วยเครื่องดำ แม้นว่าบูชาเทวบุตร 4 องค์นี้แล้ว ก็จักวุฒิจำเริญรุ่งเรืองมากนักแล และพระมหาธาตุเจ้า อันตั้งอยู่เหนือดอยที่นี่ ศักดิสิทธิวิเศษนัก ผู้ใดทำบุญ ได้ไหว้ ได้สร้าง ได้เขียน ได้ให้ทานก็ดี เสมอดังได้เห็นหน้าเราตถาคต และจักได้สมดั่งคำปรารถนาทุกประการแล
เมื่อพระพุทธเจ้าทำนายดังนี้แล้ว ก็ได้พาพลนิกายและพระอินทร์เสด็จไปสมแว่น (สบแวน) ไปแช่แห้ง ช่อแฮ ขุยปู (ขวยปู) ปูตับ แหลมรี(ลี) ฮ่องอ้อ(ศรีดอนคำ) คว่ำหม้อ ลำปาง จอมทอง และเมืองฮอด ไปดอยเกิง ไปเมืองโว้ม ไปเมืองตืน ไปเมืองเมย ไปเมืองบาม ไปเมืองยะล่าง ไปเมือง ไปเมืองชะโท่ง ไปเมือง ชะแลบ ไปเมืองตะโก้ง ไปเมืองกุสินารายณ์ โปรดสรรพสัตว์โดยลำดับ แล้วก็เสด็จประทับยังป่าเชตะวันดังเดิม
พระธาตุขิงแกง ถือเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญของล้านนา มักจะถูกกล่าวอ้างถึง ในเอกสารต่างๆ ของล้านนา อาทิ ในโคลงร้อยกลอน หรือโคลงวุตโต โดยมีสาระสำคัญของเรื่องคือ การเขียนบรรยายเกียวกับพระธาตุต่างๆ ในภาคเหนือ ของกวีล้านนา ซึ่งหนึ่งในนั้น ปรากฏชื่อ “พระธาตุขิงแกง” ดังปรากฏความดังนี้ “พระ พุทธเจ้าตนเป็นปิ่นเกล้า โลกา ธาตุ พระสัตถาถปนนา แห่งหัน ขิง เถื่อนเกิดปลายเขา จอมยอด ดอยแล แกง แฝงใฝ่เฝ้า พระธาตุเจ้าโคดม”
นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อความ ที่กล่าวถึงพระธาตุขิงแกง อาทิ คำไหว้พระบาทพระธาตุ ของครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน, โวหารแผ่กุศลอย่างม่วน ที่สืบทอดกันมาของ ครูบาโสภา โสภโณ วัดท่าโป่ง เมืองเชียงใหม่ และตำนานพระเจ้าตนหลวง ดังความตอนหนึ่งในตำนานพระเจ้าตนหลวงว่า “กั้น (ครัน) ว่าพระพุทธเจ้าทำนายสัน (ฉัน) นี้แล้ว ก็เสด็จไปดอยน้อย ไปแจ่โหว้ ไปม่อนจำศีล ไปปูขวาง ไปจอมไค้ ไปจอมแจ้ง ไปขิงแกง ไปสบแหวน แจ่แห้ง ช่อแฮ ขวยปู๋ ปูตั๊บ แหลมลี้ ไปร่องอ้อ ไปเสด็จ ขว้ำหม้อ ลำปาง จอมทอง เมืองหอด ไปดอยเกิง เมืองง้ม เมืองตื่น เมืองเมย เมืองยาม เมืองทะล่าง เมืองสะโตง เมืองสะแลบ เมืองตะโก้ง ไปเมืองกุสินารา...”
พระธาตุขิงแกง ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายสมัย โดยการบูรณะครั้งสำคัญ เช่น การบูรณะโดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช แห่งนครน่าน การบูรณะ โดยการนำของครูบาศรีวิชัย การบูรณปฏิสังขรณ์ โดยครูบาคำหล้า เมื่อปี พ.ศ.2508 ในระยะหลัง เป็นการบูรณะโดย สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน กล่าวคือ บูรณะเจดีย์พระประธาน เมื่อปี พ.ศ. 2554-2555 บูรณะวิหารหลวงเมื่อปี พ.ศ.2555-2556 และครั้งล่าสุด คือการบูรณะระเบียงคต และปรับภูมิทัศน์เมื่อปี พ.ศ.2557
ทางกรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน วัดพระธาตุขิงแกง ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 121 ตอนพิเศษ 52 ง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2547
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/Bn5MANHJdW8?si=zOGV-DZak4RCQbUU
แหล่งที่มาของข้อมูล