ตำนานาการสร้าง เมืองด่านซ้าย จังหวัดเลย
-ประวัติความเป็นมาของจังหวัดเลย เพิ่งจะมีปรากฏแน่ชัด ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองเลยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖
-ส่วนประวัติความเป็นมาของจังหวัด ก่อนหน้านี้ เป็นเพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในระดับหมู่บ้านและการสร้างบ้านแปลงเมือง ซึ่งเป็นเมืองโบราณ ในท้องที่จังหวัดเลยปัจจุบัน
-อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติ ความเป็นมาของหมู่บ้าน และเมืองเหล่านี้ ก็เป็นหลักฐาน ที่ได้จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยอาจได้รับการบันทึกไว้ ในรูปของสมุดข่อย คัมภีร์ใบลาน รวมทั้งพงศาวดาร ซึ่งย่อมจะมีสาระ รายละเอียดที่ไม่ตรงกันนัก เพราะเป็นการบันทึกจากคำบอกเล่า สืบต่อกันมาหลายชั่วคน ตลอดทั้งหลักฐานประเภทจารึก เช่น ศิลาจารึก จารึกที่ฐานพระเจดีย์พระธาตุศรีสองรัก เป็นต้น ก็มักเป็นจารึกที่จัดทำขึ้นใหม่แทนของเก่าที่สูญหายไปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
-ดินแดนที่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองหลายกลุ่ม มี ละว้า มอญ ขอม ต่อมา จึงมีหลักฐานเกี่ยวกับการอพยพของชนเผ่าไทย เข้ามายังดินแดนนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองและชนเผ่าไทย ได้ตั้งถิ่นฐาน จนก่อตั้งเป็นอาณาจักรใหญ่ กระจายอยู่ทั่วทุกทิศ เช่น อาณาจักรโยนก - อาณาจักรทวาราวดี - อาณาจักรอีสานปุระ
กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ในท้องที่ที่เป็นจังหวัดเลย จนสร้างบ้านแปลงเมืองได้เป็นกลุ่มแรกนั้นเชื่อกันว่า เป็นชนเผ่าไทย ที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งอาณาจักรโยนก อาณาจักรโยนก เป็นอาณาจักรใหญ่ ครอบครองดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงดินแดนแคว้นตังเกี๋ย ของประเทศจีนและรัฐฉานของพม่า มีอายุอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๘
ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า "ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรนี้ ทรงพระนามว่า พญาสิงหนวัติ เป็นเจ้าชายอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน อพยพผู้คนลงมาสร้างอาณาจักรโยนก กษัตริย์ในราชวงศ์พระเจ้าสิงหนวัติปกครองโยนกนครสืบมา จนถึงสมัยพระองค์พังคราช
พวกขอมดำ ซึ่งมีอำนาจอยู่ทางใต้ของอาณาจักรโยนก ตีได้โยนกนคร พระองค์พังคราช ต้องอพยพผู้คนไปตั้งเมืองใหม่ ที่ “เวียงสีทวง” ๑๙ ปี “พรหมกุมารราชโอรส” จึงปราบปรามขอมดำ ขับไล่ออกไปจากอาณาจักร แล้วอัญเชิญพระองค์พังคราช กลับมาปกครอง โยนกนครใหม่ (โยนกเชียงแสน) ส่วนพรหมกุมารหรือ"พระเจ้าพรหม" (ตามที่ขนานนามในภายหลัง) ได้สร้าง"เมืองชัยปราการ"ที่ริมแม่น้ำฝาง ทำให้อาณาจักรโยนกเชียงแสน มีอำนาจยิ่งขึ้น
พระเจ้าพรหม ครองเมืองชัยปราการ จนสวรรคต แล้วพระองค์ชัยศิริราช โอรสครองราชย์สืบต่อมา ในสมัยนี้ พระเจ้าอนุรุทมหาราช กษัตริย์พม่ามีอำนาจยิ่งใหญ่ ตีได้อาณาจักรโยนกฯ และเมืองชัยปราการไว้ในอำนาจ พระองค์ชัยศิริ ก็อพยพผู้คนลงใต้ อันเป็นดินแดนของพวกมอญและขอม เมื่อ พ.ศ. ๑๕๔๗
เมื่ออาณาจักรโยนกล่มสลายแล้ว ชาวโยนกเชียงแสนที่รักอิสระ ต่างพากันอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่ บางพวก อพยพไปรวมกำลังกับพระองค์ชัยศิริ บางพวก ก็อพยพไปหาที่อยู่อาศัย ทางแคว้นพางคำ พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง (เชื่อถือกันว่า เป็นเชื้อสายราชวงศ์สิงหนวัติ) ได้นำผู้คน อพยพมุ่งลงไปทางทิศตะวันออก เมื่อเข้าสู่ดินแดนลานช้าง แล้วจึงบ่ายหน้าลงไปทางทิศใต้ (สันนิษฐานว่า จะนำผู้คนอพยพผ่านไปตามหมู่บ้านห้วยไฮ ห้วยลึก นากอก บ้านเมืองฮำ และเมืองบ่อแตน ปัจจุบันอยู่ในแขวงไชยบุรี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) แล้วนำไพร่พลข้ามลำน้ำเหือง ขึ้นไปทางฝั่งขวาของลำน้ำหมัน จนถึงบริเวณที่ราบ จึงได้พากันหยุดพัก
พ่อขุนผาเมือง ได้ตั้งบ้านด่านขวา (ปัจจุบัน อยู่ในบริเวณชายเนินนาด่านขวา ซึ่งยังมีซากวัดเก่า อยู่ในแปลงนาของเอกชน ระหว่างหมู่บ้านหัวแหลม กับหมู่บ้านนาเบี้ย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย)
ส่วนพ่อขุนบางกลางหาว ได้แบ่งไพร่พล ข้ามลำน้ำหมันไปทางฝั่งซ้าย ได้ตั้งบ้านด่านซ้าย (สันนิษฐานว่า จะอยู่ในบริเวณหมู่บ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยในปัจจุบัน) แล้วต่อมา จึงได้อพยพเลื่อนขึ้นไปตามลำน้ำ ไปสร้างบ้านหนองคู (ซึ่งอยู่ทางทิศใต้) เมื่อมีกำลังคนมากขึ้น จึงคิดที่จะขยับขยายไปหาถิ่นที่อยู่อาศัยใหม่ ครั้นได้นำเอานามหมู่บ้านด่านซ้าย มาขนานนามให้หมู่บ้านหนองคูเสียใหม่ เป็นเมืองด่านซ้าย แล้วจึงนำไพร่พล อพยพไป “เมืองบางยาง” (เชื่อว่า อยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก)
ส่วนพ่อขุนผาเมือง ขณะที่พ่อขุนบางกลางหาว เลื่อนขึ้นไปตั้งหมู่บ้านหนองคู พ่อขุนผาเมือง ก็ได้นำผู้คน อพยพออกจากบ้านด่านขวา ข้ามภูน้ำริน ไปตั้งเมืองโปงถ้ำ และอพยพต่อไป ตั้งเมืองภูครั่ง (โปงถ้ำสันนิษฐานว่า เป็นถ้ำเขียะในปัจจุบัน เป็นถ้ำเล็กๆ อยู่ข้างถนนสายเลย-ด่านซ้าย ห่างจากหมู่บ้านโคกงามไปทางด่านซ้าย ประมาณ ๑ กิโลเมตร และบริเวณที่หยุดพักไพร่พล ตั้งเมืองเป็นการชั่วคราว คงจะเป็นที่เนินด้านขวา ของทางหลวงสายโคกงาม-ด่านซ้าย อยู่ในความควบคุม ของแขวงการทางด่านซ้าย)
ต่อมา ได้อพยพไปสร้างเมืองบนภูครั่ง ซึ่งเป็นที่ราบ อยู่บนยอดเขาภูครั่ง (ภูครั่ง เป็นภูเขาลูกใหญ่ มีพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ อยู่บนยอดเขา อยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอภูเรือ และอยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านหนองบัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย คำว่า “เขียะ” นั้น หมายถึงจั๊กจั่นชนิดหนึ่ง แต่ตัวเป็นสีเขียว
ครั้นพ่อขุนบางกลางหาว ได้พาผู้คน อพยพไปอยู่ที่เมืองบางยางแล้ว พ่อขุนผาเมือง จึงได้อพยพผู้คนติดตามไป จนไปตั้งหลักแหล่งได้ที่เมืองราด (เชื่อว่าเป็นเมืองศรีเทพ อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ และอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์)
โดยมีพ่อขุนบางกลางหาว เป็นผู้ปกครองเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เป็นผู้ปกครองเมืองราด ขณะเมื่อพ่อขุนบางกลางหาว ปกครองเมืองบางยาง ก็ได้ตั้งเมืองด่านซ้าย เป็นเมืองหน้าด่านทางตะวันออกตามราชธานีสมัยโบราณด้วย
ประวัติของจังหวัดเลย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสงครามมากเท่าใด คงมีเหตุการณ์ที่น่าจะกล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่งคือ เมื่อพ.ศ.๒๐๙๑ ปีแรก ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่า ผู้ครองกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ได้ยกกองทัพออกรบกับพม่า เพื่อป้องกันพระนคร และได้ชนช้างกับพระเจ้าแปร แม่ทัพหน้าของพม่า จนต้องเสียสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระมเหสี เพราะถูกพระเจ้าแปรฟัน สิ้นพระชนม์ซบกับคอช้าง
การรบครั้งนั้น พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ และเมื่อกลับไปถึงกรุงหงสาวดีแล้ว ไม่นานก็สวรรคต พระเจ้าบุเรงนอง ขึ้นครองราชสมบัติ ที่กรุงหงสาวดีแทน บุเรงนอง เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงคราม จึงได้หาสาเหตุมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยแต่งพระราชสาส์น มาขอช้างเผือกของไทย ฝ่ายไทยไม่ยอมให้ พระเจ้าบุเรงนอง จึงถือสาเหตุ ยกกองทัพใหญ่ มาตีกรุงศรีอยุธยา และตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยได้หลายหัวเมือง รวมทั้งเมืองพิษณุโลกด้วย นอกจากยกกองทัพมารุกรานไทยแล้ว พม่า ยังได้ยกกองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต
ฝ่ายกรุงศรีสัตนาคนหุต สู้พม่าไม่ได้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ต้องพากองทัพหนีไปอยู่ในป่า ทัพพม่าเข้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ จึงเก็บทรัพย์สิน และกวาดต้อนประชาชน รวมทั้งมเหสีและสนมกำนัล ของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ไปเมืองพม่า เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้พาทหารกลับเข้ามาอยู่กรุงศรีสัตนาคนหุต และได้แต่งทูต มาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทูลขอพระเทพกษัตริย์ พระราชธิดา ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ผู้เป็นวีรกษัตริย์ ไปเป็นมเหสี
เพื่อเห็นแก่ความเป็นไมตรีของสองพระนคร ที่จะให้มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน และจะได้เป็นกำลังในการต่อสู้ข้าศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็ตกลงรับยินดี เป็นไมตรีกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตามที่ทูลขอมา แต่เป็นที่น่าเสียดาย ขณะที่พระเทพกษัตริย์ เดินทางไปกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ถูกกองทัพพม่าเข้าแย่งชิง และกวาดต้อนไปกรุงหงสาวดีเสีย ก่อนที่จะไปถึงกรุงศรีสัตนาคนหุต
เพื่อเป็นสักขีพยาน และแสดงออกซึ่งไมตรีจิตมิตรภาพ ระหว่างกษัตริย์ทั้งสองพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๓ ในบริเวณที่ลำน้ำอู้ ไหลมาบรรจบกับลำน้ำหมัน ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งเมืองด่านซ้าย ไว้เป็นอนุสรณ์ โดยได้โปรดให้อำมาตย์ราชครู และพระราชาคณะ เป็นตัวแทนของสองพระนคร มาดำเนินการสร้าง แต่ก่อนที่จะสร้างพระธาตุศรีสองรัก ผู้แทนทั้งสองพระนคร ได้มีการทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐานว่า ทั้งสองพระนคร จะรักใคร่กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดุจเป็นราชอาณาจักรเดียวกันตลอดไป ชั่วกัปกัลป์
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/_COrdWAIecU?si=Jdba48Xsf28V1gcC
แหล่งที่มาของข้อมูล
ตำนานการสร้าง เมืองด่านซ้าย