หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตำนานเวียงหวาย (อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน)

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

ในสมัยที่พระนางจามเทวี ทรงปกครอง”เมืองหริภภุญชัย”นั้น ได้มีเมืองอีก ๒ เมือง ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก คือ “เวียงหวาย” และ “เวียงหนองล่อง” ตามตำนานที่เล่าขานลืบต่อกันมา “เวียงหวาย” ก็คือ “อำเภอบ้านโฮ่ง” ในอดีตนั่นเอง โดยเชื่อกันว่า ที่ตั้งของ “เวียงหวาย”คือ”วัดป่าลาน”หรือ”วัดสะเลียมหวาน” ในปัจจุบัน โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวี ทรงสร้างเมืองหริภุญชัยเสร็จแล้ว จึงมีความประสงค์ ที่จะทำบุญฉลองเมืองหริภุญชัยให้ยิ่งใหญ่ พระนางได้นิมนต์พระสงฆ์และพระฤาษี มาทำพิธีทำบุญฉลองในครั้งนั้น จำนาวน ๕๐๐ รูป และหนึ่งในจำนวนพระฤาษีทั้งหมดนั้น มีพระฤาษีตนหนึ่งชื่อว่า “สุมาวินฤาษี” ซึ่งบำเพ็ญฌาน อยู่ที่ดอยอีหุ่ย (ดอยลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอทุ่งหัวช้างในปัจจุบัน) “สุมาวินฤาษี” มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ“นางแก้ว” ซึ่งกำเนิดของนางนั้น ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่เชื่อว่านางแก้ว เกิดจากการปลุกเสก ด้วยคาถาอาคมของพระฤาษี หรือบางคนเชื่อว่า นางเกิดจากดอกบัว

โดยในวันหนึ่ง สุมาวินฤาษี ได้ไปอาบน้ำในสระ ก็พบเด็กเพศหญิงอยู่ในดอกบัว จึงนำมาเลี้ยงเป็นลูก เนื่องจากนางมีลักษณะพิเศษคือ มีผิวกาย ๓ สี โดยเวลาเช้า จะมีผิวสีหนึ่ง กลางวันจะผิวสีหนึ่ง และตอนเย็นจะเป็นอีกสีหนึ่ง พระฤาษีจึงตั้งชื่อว่า “นางสามสี” หรือ”นางแก้ว” และนางได้อาศัยอยู่กับบิดา ณ อาศรมใกล้ๆ ลำธารแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำลี้

วันหนึ่ง ได้มีนายพรานป่าคนหนึ่ง ได้เข้าไปล่าเนื้อในป่า บังเอิญวันนั้น เป็นโชคงามยามดีของนายพราน ได้เดินไปพบเห็นนางเข้า นายพรานสะดุ้งสุดตัว นึกแต่ในใจว่า คงเป็นนางเทพธิดาในราวป่านี้จำแลงแปลงกาย นายพรานจึงพยายามตั้งสติให้มั่น แล้วคอยเล็งแลดู ผลสุดท้ายก็ได้รู้ว่า ที่แท้นางก็คือมนุษย์เรานี่เอง

นายพรานป่า จึงมารำพึงแต่ในใจว่า นี่จะเป็นบุญกรรมอะไรของนางหนอ จึงมีรูปโฉมงามวิไลเช่นนี้ พรานเกิดเสน่หาในนาง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ครั้นจะปรากฏตัวออกไปเกี่ยวพาราสี ก็หวนคิดว่า นางนั้นเสมือนเป็นดอกฟ้า แต่ตัวเรานี้เป็นชาวดิน ไม่สมควรกัน พรานแอบอยู่พุ่มไม้คอยดูจนลับตา นับว่านางมีความผิดแปลก แตกต่างกับหญิงชนบททั้งหลาย ครั้นแล้วนายพรานจึงตัดสินใจ แม้ตัวเราจะเอานางไม่ได้ เราก็ควรนำเอาข่าวนี้ ไปทูลแก่เจ้าพระยา ก็คงจะมีประโยชน์ และได้รับรางวัลเป็นอันมาก พรานคิดแล้ว จึงนำเอาข่าวนี้ กลับไปทูลแต่เจ้าพระยาเวียงหวาย (อยู่ที่วัดสะเลียมหวานในปัจจุบัน)

พระยาจันทร์ ซึ่งครองเวียงหวายอยู่ในขณะนั้น ได้ทราบข่าวจากนายพรานป่า ก็เกิดปิติปราโมทย์เป็นอย่างมาก จึงพยายามที่จะไปเที่ยวป่า เพื่อใคร่จะพบนาง และในขณะนั้นเอง ข่าวคราวที่นายพรานได้พบเห็นนาง ก็แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง พวกขุนเมืองท้าวพระยาทั้งหลาย เมื่อได้รับทราบข่าวนั้น ต่างก็อยากได้นางมาเป็นคู่ครอง ต่างคนก็ต่างปลีกเวลาไปเที่ยวป่า เพื่อจะพบนาง

ฝ่ายพระฤาษีผู้บิดา เมื่อเห็นเหตุการณ์ผิดสังเกต มีพวกเจ้าขุนเมืองต่างๆ มาติดพันลูกสาวของตนอยู่เสมอเช่นนั้น ก็มาพิจารณาเห็นว่า ลูกสาวของตน ก็เจริญวัยใหญ่ขึ้นมา สมควรที่จะมีเหย้าเรือน ตามประเพณีที่โลก ได้กระทำสืบมาได้แล้ว และสมควร ที่จะต้องยกให้แก่ผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีศีลธรรมอันดีงาม เมื่อบุคคลใด ที่ประสงค์จะได้ลูกสาวของเรานี้เป็นชายา ก็เชิญมาแข่งฤทธิ์กันก่อน โดยจะกำหนดการ ให้วิ่งขึ้นดอยลูกที่นางอยู่ ใครวิ่งขึ้นถึงยอดแล้วไม่หุยไม่หิว (คือไม่เพลียจนหายใจซู่ซ่า) บุคคลนั้น จะได้นางแก้วไปเป็นชายา

เมื่อขุนพระยาทั้งหลาย ได้ทราบข่าวประกาศของพระฤาษีแล้ว ก็เกิดปิติปราโมทย์ ต่างก็ได้ฟิตกำลัง

กันเต็มความสามารถ เพื่อจะได้เข้าแข่งขันวิ่งชิงนาง นับตั้งแต่ พระยาวีวอ พระยาติดเตี่ยวจองวอง พระยาล่องกองปากหวาก พระยาจันทร์ และขุนหลวงมะลังกะ (ขุนหลวงวิรังคะ) ที่ปกครองชาวลัวะ ณ คอยคำ(ด้านหลังดอยสุเทพ) การที่ขุนหลวงมะลังกะ มาอาสาแข่งขันวิ่งชิงนาง ก็เพราะผิดหวังจากพระนางจามเทวี

โดยครั้งนั้น ขุนหลวงมะลังกะ ได้หลงรักพระนางจามเทวีมาก จึงแต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวี ขอผลัดเวลาไปอีก ๓ ปี โดยอ้างว่า ต้องเลี้ยงลูกแฝดที่ยังเล็กอยู่ เมื่อครบ ๓ ปี พระนางก็ขอผลัดออกไปอีก ๔ ปี

และพอครบกำหนด พระนางก็ขอเลื่อนไปอีกโดยไม่มีกำหนด ทำให้ขุนหลวงมะลังกะโกรธมาก จึงยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจามเทวีจึงออกอุบายว่า ถ้าขุนหลวงมะลังกะ พุ่งเสนาจากดอยสุเทพ มาตกที่กลางเมืองหริภุญชัยได้ จะยอมแต่งงานด้วย แต่ขุนหลวงมะลังกะ ก็เสียรู้พระนางจามเทวีเข้าจนได้ เพราะพระนางได้ออกอุบาย ทำลายมนต์คาถาของขุนหลวงมะลังกะ โดยเอาผ้าซิ่นชั้นในของพระนางเย็บเป็นกุบ (หมวกปีกกว้าง) จัดส่งไปให้ขุนหลวงมะลังกะสวมใส่ ทำให้ไม่สามารถพุ่งเสน้าอีกต่อไป และเมื่อผิดหวังในรักครั้งนั้น ขุนหลวงมะลังกะ ได้ทราบข่าวของนางแก้ว จึงมาสมัครเพื่อชิงนางด้วย

ครั้นถึงวันกำหนดนัดหมาย พระยาทั้งห้านั้น ก็เตรียมตัวไปคอยอยู่ที่เชิงดอย เมื่อถึงเวลา ก็เริ่มทำการแข่งขัน พระยาทั้งห้า ต่างก็ได้วิ่งแข่งกันขึ้นไปบนดอย แต่ดอยลูกนั้นทั้งสูงทั้งชัน ใครจะไม่หุ่ยไม่หิวหรือไม่เหน็ดเหนื่อยได้ เมื่อพระยาทั้งห้าวิ่งขึ้นไปถึงบนดอย แล้วก็หุ่ยก็หิว หอบหายใจซู่ซ่ากันเต็มแรง ในจำนวนทั้งห้านั้น เว้นไว้แต่พระยาจันทร์เท่านั้น ที่นับเข้าข่ายที่มีปัญญามาก โดยที่พระยาจันทร์ ได้วิ่งขึ้นไปถึงบนยอดดอย แล้วก็ได้ใช้อุบาย อุทานออกมาพร้อมกับความหุยหิวนั้นว่า“ นางบ่หื้อพี่หุ่ย พี่ก่บ่หุ่ย ๆ ๆ ”

ด้วยอาศัยปฏิภาณชาญฉลาด ของพระยาจันทร์ พระฤาษีผู้บิดา จึงยกธิดาให้เป็นคู่ครองกัน ต่อมาด้วยอาศัยนิมิต ที่พระยาทั้งห้าไปแข่งขันกันที่นั่น คอยลูกนั้นจึงได้ชื่อว่า “ดอยอีหุ่ย” มาจนตราบทุกวันนี้ เมื่อพระยาจันทร์ได้นางแก้วมาเป็นภรรยาแล้ว ก็อำลาฤาษีลงมาครองเวียงหวายต่อมา แต่ก่อนจะมานั้นพระฤาษีก็ได้สั่งสอนอบรมลูกสาวของตน ให้อยู่ในศีลธรรม ขนบธรรมเนียมอันดีงาม ตามทำนองครองสะใภ้ที่ดีทั้งหลาย ต่อจากนั้น พระยาจันทร์และนางแก้ว ก็มาครอบครองบ้านเมืองด้วยความผาสุกสืบมา

ในยุคเดียวกันนั้นเอง ก็มีเมืองหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของแคว้นเวียงหวาย มีนามที่เรียกกันว่า“ แคว้นเวียงหนองล่อง” แคว้นนี้ มีเจ้าพระยาผู้ครองรวมกัน ๒ พระองค์ ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมอุทรมารดาเดียวกัน คือผู้น้องชื่อพระยายี ผู้พี่ชื่อ พระยากอก เจ้าพระยาทั้งสองพระองค์นี้ มีรูปร่างกำยำดำมิด หน้าตามีริ้วรอย เต็มไปด้วยจุดด่างดำ จะหาเอาความงามจากเจ้าพระยาทั้งสองพระองค์นี้ เป็นอันไม่ได้เลย  แม้แต่ผู้หญิงคนใดได้พบเห็น ต้องเผ่นหนี แต่ถึงอย่างไรก็ดี เจ้าพระยาผู้ครองแคว้นนี้ ก็ได้มีสัมพันธไมตรี เป็นเพื่อนสนิทสนมกันอย่างดี กับพระยาจันทร์ มีความเห็นอกเห็นใจกันตลอดมา ด้วยสัมพันธไมตรีเป็นเพื่อนสนิทสนมกันอย่างดี เหตุนี้นี่เอง พระยาทั้งสอง ผู้หาความงามไม่ได้ ก็ได้เกิดเสน่หารักใคร่ ในตัวพระนางแก้ว ชายาของเพื่อน พระยากอกและพระยายี ได้ลุ่มหลงรักในตัวนาง หลงอย่างพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เมื่อคิดแล้ว ก็เหมือนหนึ่งปลา หลงเข้าไปอยู่ในไซ ไม่รู้ว่าจะถอนตัวออกได้ฉันใด หลงจนลืมเพื่อนสนิท คิดอยู่แต่ท่าเดียว ว่าจะเป็นชู้กับนางให้ได้

อยู่ต่อมา ณ กาลครั้งหนึ่ง บ้านเมืองเกิดโกลาหลไม่สงบ มีข้าศึกเข้ามาประชิดติดด้านเมืองเถิน พระ

ยาจันทร์ ก็รำพึงอยู่แต่ในใจว่า ถ้าไม่หาวิธีป้องกันไว้เสียแต่เนิ่นๆ แล้ว ก็อาจจะลุกลามเข้ามาประชิดติดถึงบ้านเมืองได้ คิดเช่นนั้นแล้ว จึงได้เชิญพระสหาย ในแคว้นเวียงหนองล่องทั้งสองพระองค์ มาปรึกษาตกลงกันว่า ควรยกพลทั้ง ๒ แคว้นนี้ ไปป้องกันข้าศึกทางด้านเมืองลี้ เจ้าพระยาทั้งสาม ต่างตกลงกันเป็นอันดี

พอวันนัดไปป้องกันข้าศึกทางด้านเมืองลี้ ต่างก็ได้ยกเอาพวกพลของตนออกไป พระยาจันทร์ ได้ยกเอาพวกพลของตนออกไปก่อน ส่วนพระยากอกกับพระยายี ได้ยกพวกพลเวียงหนองล่อง ออกไปตามหลัง แต่ด้วยความเสน่หาอาลัยในตัวนางแก้ว เห็นว่าเป็นโอกาสดีแล้ว คราวนี้ พอยกทัพออกไปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งภายในเขตเมืองลี้ พระยากอกพระยายี จึงลักลอบกลับมา ทั้งนี้เพื่อจะมาหลอกลวงเอานางแก้วไปเป็นชู้ คงปล่อยแต่เสนาผู้แทน คุมทัพไปเท่านั้น ส่วนแม่น้ำสายที่พระยากอกพระยายี ลักลอบกลับมานั้น จึงได้ชื่อว่า“แม่ป้อก” (หมายถึง กลับมา จนถึงทุกวันนี้)

เมื่อพระยากอกพระยายี ได้ลักลอบหนีทัพมาถึงแคว้นเวียงหวาย ก็ไปทำกลอุบายหลอกนางแก้ว ให้

หลงเชื่อว่า บัดนี้ ทัพของเรา ได้ถูกข้าศึกล้อมจับไว้ได้ ทหารและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนพระยาจันทร์ พระสวามีของพระนาง ก็ได้ถูกข้าศึกฆ่าตายเสียแล้ว เหลือแต่เราทั้งสอง หนีเอาตัวรอดมาได้ และบัดนี้ ข้าศึกก็ได้ไล่ตามมาแล้ว ส่วนนางแก้วจะทำอย่างไรดี ถ้าขืนอยู่ที่นี่ เห็นที่จะไม่รอดพ้นไปจากน้ำมือของข้าศึกได้ ทางที่ดีที่สุด ควรจะตามไปหลบภัย อยู่ที่แคว้นเวียงหนองล่องก่อนดีกว่า เมื่อนางแก้วได้ยินเช่นนั้นก็เข้าใจว่า เป็นความจริง พระนางร่ำไห้ อาลัยรักในพระสวามี มีความทุกข์ระทมเป็นอันมาก พระนางเห็นว่าขืนชักช้าอยู่จะไม่ได้การ จึงตัดสินใจว่า เราจะต้องหนีไปเพื่อหลบภัย แต่ก่อนที่พระนางจะไปนั้น พระนางได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

“ด้วยอำนาจศีลธรรมกัมมัฏฐาน ที่เคยได้บำเพ็ญมา พร้อมทั้งคุณพระบิดา จงมาเป็นสักขีพยานและอภิบาลรักษาด้วย การไปครั้งนี้ เพื่อหลบลี้หนีภัย ขออย่าให้ชายใดนอกจากพระสวามี เข้ามากล้ำกรายได้ และขอให้พระสวามี จงพ้นภัยกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด”

ครั้นแล้ว พระนางก็ตัดสินใจ ไปกับพระยากอกพระยายี ไปสู่แคว้นเวียงหนองล่อง ด้วยความโศกเศร้ายิ่งนัก ส่วนพระยากอกพระยายีเห็นดังนั้น ก็ดีใจมาก คิดอ่านหาหนทาง ที่จะล่วงเกินพระนางให้จงได้ แต่ว่าครั้งใดที่เข้าใกล้ตัวนาง ก็ร้อนปานประหนึ่งว่าเปลวไฟนรกถูกต้อง จึงต้องหนีออกห่างทุกที

หวนย้อนกลับไปกล่าวถึงพระยาจันทร์ เมื่อนำพวกโยธาไปนั้น ก็ไม่คิดเฉลียวใจว่า เพื่อนสนิท จะมาคิดทรยศเช่นนั้น จึงได้นำพวกพลไปเรื่อยๆ และในระหว่างที่ไปนั้น ได้ไปถึง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จึงเกิดเหตุประหลาด เป็นลางร้ายแก่พระยาจันทร์ โดยพวกพลได้แตกตื่นหก วิ่งหนีเป็นโกลาหล สถานที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าบ้านป่าหกจนทุกวันนี้ และช้างได้หกไปถึงที่แห่งหนึ่ง ขะปวงช้าง (คชาธาร) พระที่นั่ง ได้หลุดตกลงยังพื้นดิน สถานที่แห่งนี้ จึงได้ชื่อว่า “บ้านปวงคำ” ซึ่งได้อยู่ในเขตอำเภอ เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่าเป็นลางสังหรณ์ให้พระยาจันทร์ ได้รู้ว่า จะมีเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแน่ แต่พระยาจันทร์ ก็หาได้เฉลียวใจไม่ คงมุ่งหน้าที่จะยกทัพ เข้าโจมตีข้าศึกให้จงได้ จนสามารถตีข้าศึก แตกกระจายไป เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว พระยาจันทร์ จึงยกทัพกลับ

ครั้นยกกองทัพ กลับมาถึงเมือง ก็ทราบว่า พระนางแก้วเมียรัก ได้ติดตามพระยากอกพระยายี ไปอยู่ที่เวียงหนองล่อง พระยาจันทร์ มีความเสียใจมาก และด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าเมียรักนอกใจ จึงได้ยกพลติดตามไป ตามสายแม่น้ำลี้ ก็พบรอยเท้าแห่งหนึ่ง ซึ่งตรงกับบ้านล้อง ปัจจุบันที่แห่งนี้จึงเรียกว่า“ ล้องแม่แกะ”

จากนั้นพระยาจันทร์ ก็เดินข้ามท่าน้ำมาอีกฝั่งหนึ่ง มุ่งหน้าไปยังแคว้นเวียงหนองล่อง แต่พอดีไปถึงคูหาแห่งหนึ่ง ได้พบสร้อยแขนของพระนาง ที่ทำตกไว้ สถานที่แห่งนั้นจึงได้นามว่า“ ห้วยสร้อย” หรือบ้านห้วยสร้อยในปัจจุบันนี้ พระยาจันทร์ ได้สะกดรอยตามไปเรื่อยๆ จนมาถึงที่บ้านหลายแก้วปัจจุบันนี้ เห็นท่าน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดหลายแก้ว ชื่อว่า“ท่าต้นเดือ” เป็นท่าที่ขึ้นลงได้สะดวกสบายพระองค์จึงข้ามไปอีกฟากหนึ่ง แล้วเดินต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุด ก็มาถึงวังน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านดงขี้เหล็ก ปัจจุบันชื่อว่า“ วังธาร” วังน้ำนี้ใสเย็น และบรรยากาศรอบๆ ฝั่งก็ร่มรื่น มีฝูงปลาใหญ่น้อย ลอยแหวกว่ายกันไปมา น่าชื่นชม สลับกับปทุมชาติอันเขียวชอุ่ม จึงเข้าไปพักผ่อน ณ ที่แห่งนั้น และทันใดนั้น พระยาจันทร์ จึงตรัสให้เสนาผู้มีฤทธิ์คนหนึ่ง ดำน้ำลงไป และให้ดำน้ำไปโผล่ใกล้แคว้นเวียงหนองล่อง แล้วปลอมตัวเข้าไป สืบดูให้แน่แก่ใจว่า พระนางแก้ว อยู่ที่นั่นจริงหรือไม่ เสนาก็ไปตามคำสั่ งและดำน้ำไปโผล่ขึ้นที่ล้องหนึ่ง ปัจจุบันเรียกว่า ร้องธาร

ต่อมา เสนาก็ปลอมเข้าไปสืบดูก็รู้ว่า พระนางอยู่ที่นั่นจริง จึงกลับมาทูลให้พระยาจันทร์ทราบ พระยาจันทร์ทรงกริ้ว และแค้นพระทัยมาก จึงอุทานออกมาว่า“นี่เสนา เห็นแล้วหรือใจของเพื่อน และให้ทุกคนรู้ไว้ว่า น้ำใจหญิง เปรียบเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน มันช่างเป็นเช่นนี้เชียวหนอ”

เมื่อพระยาจันทร์ ได้เปล่งออกไปเช่นนั้นแล้ว จึงเดินไปยืนบนผา ที่ยื่นออกไปในน้ำ แล้วแลลงไป เห็นเงาของตนเองในน้ำ จึงถือโอกาสแยงเงา (มองดูเงา) ของตน แล้วก็อุทานว่า“ โอ้ตัวเรานี้ งามถึงแปดเหลี่ยมจะทำไมกับผู้หญิงคนเดียว“ ด้วยคำอุทานนี้ พระองค์ได้ฉายาใหม่ว่า“พระยาแปดเหลี่ยม”

หลังจากที่พระยาแปดเหลี่ยม ได้แยงเงาของตน แล้วก็เห็นว่า ทุกส่วนในร่างของตน งามพร้อม เมียรักปานดวงใจ ก็ยังหนีเราไปรักกับคนขี้ริ้วขี้เหร่ได้ จะเอาอะไรกับผู้หญิง ตั้งแต่นั้นมา พระยาจันทร์จึงตัดสินใจ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงอีก แม้แต่นางแก้วเอง เมื่อตัดสินใจเช่นนั้น จึงมุ่งไปดอยศรีเมือง เพื่อแบ่งเขตแดน ไม่ให้ไปมาหาสู่กันได้ เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอย ก็อภินิหารองค์ ใช้เท้าถีบดอยลูกนั้น ให้เคลื่อนมาเป็นเขตแดน ปัจจุบันเรียกว่า“ ดอยแดน” เสร็จจากนั้นแล้ว ก็ได้ข้ามฟากมาอีกฟากหนึ่ง ได้ใช้เท้าถีบฝั่งแม่น้ำ ซึ่งอยู่ตรงกันข้าม ให้เป็นร่องหล่ายหนึ่ง เรียกว่า“ บ้านหัวหล่าย” หรือทางทิศใต้ของบ้านหล่ายแก้ว ปัจจุบันนี้ หลังจากแบ่งเขตแดน พระยาจันทร์ ก็ยกพลกลับนิวาสสถานของตน ด้วยความเศร้าใจ

ย้อนกลับมากล่าวถึงนางแก้ว เมื่อนางได้หลบลี้หนีภัยมาอยู่เวียงหนองล่อง ต่อมาได้ทราบข่าวว่า พระยาจันทร์ได้รับชัยชนะ ก็เกิดมนัสอาดูรยิ่งนัก ว่าตนถูกหลอกลวง และอีกใจหนึ่ง ก็เกิดปิติปราโมทย์ ที่ทราบว่า สามียังไม่ตาย นางจึงได้ออกเดินทางไปตามลำน้ำ เมื่อมาถึงร่องหล่าย ก็เห็นผู้รักษาเขตแดน เมื่อผู้รักษาเขตแดนเห็นพระนาง จึงทูลว่า ร่องหล่ายนี้ พระยาจันทร์ ได้ปักเขตแดนเอาไว้ ไม่ให้คนสองแคว้น ไปมาหาสู่กัน

เมื่อพระนางได้ทราบว่า พระสวามีได้ตัดขาด ไม่อาลัยไยดีในตัวนางแล้ว ก็เสียใจเป็นอย่างยิ่ง และตรัสถามว่า พระยาจันทร์ไปไหน เสนาทูลถวายว่า พระยาจันทร์ ได้ปลีกตัวออกไปบำเพ็ญอุโบสถศีล อยู่ดอยอูบ (ดอยก้อม) และห้ามหญิงใดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันขาด เมื่อพระนางได้ฟังดังนั้น ก็โศกเศร้าเสียใจมาก และเดินทางต่อไป ด้วยความหิวโหยโรยแรง พระนางจึงแวะเข้าไปดื่มน้ำ ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งสระน้ำแห่งนั้นได้เรียกว่า“ บวกนางแก้ว "ในปัจจุบัน

ด้วยญาณวิเศษของพระฤาษีสุมาวิน ได้ทราบว่า นางแก้วมีความทุกข์ใจมาก จึงได้เหาะมาพบนาง  พระฤาษี ได้เทศนาสั่งสอน และปลอบใจลูกสาวให้คลายทุกข์ และได้สร้างวัดขึ้นใกล้ๆ กับที่แห่งนั้น เชื่อกันว่า คือวัดพระเจ้าตนหลวงในปัจจุบัน เพื่อให้นางได้จำศีลภาวนา ทำจิตใจให้สงบ แต่นางแก้ว ไม่อาจหักห้ามใจได้ พระนาง ก็ได้อกแตกตาย ณ ที่นั่น คือ“ บ้านหล่ายแก้ว” นั่นเอง

ต่อมา ชาวบ้านได้สร้างอนุสาวรีย์นางแก้ว ไว้ที่วัดหลายแก้ว และสร้างศาลเจ้าพ่อแปดเหลี่ยม ไว้ที่บ้านโฮ่ง หลังจากที่นางแก้วตายไปแล้ว และพระยาจันทร์ ก็ได้บวชอยู่ที่ดอยอูบจนละสังขาร ทางแคว้นเวียงหนองล่องก็ถูกข้าศึกเข้าโจมตี จนบ้านเมืองแตก เจ้าเมืองเวียงหนองล่อง ได้ขนสมบัติ ข้าวของเงินทองต่าง ๆ

หลบหนี และนำไปฝังไว้ที่ถ้ำเทพนิมิตร จำนวน 100 เล่มเกวียน (บริเวณดอยไก่เขี่ยในปัจจุบัน) เมื่อฝังสมบัติทั้งหมดแล้ว จึงให้ทหาร ๒ คน เฝ้าปากถ้ำไว้ ตกกลางคืน เจ้าเมืองได้แอบฆ่าปาดคอทหารทั้ง 2 คน ให้ตาย กลายเป็นผีเฝ้าสมบัติต่อไป

นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา การปกครองของแคว้นเวียงหนองล่อง และแคว้นเวียงหวาย ก็ได้สิ้นสุดลง เวลาล่วงเลยไป พระยาใจ เขื่อนเพชร ซึ่งมีฉายาว่า พระยาใจดังแดง (ดังหมายถึง ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใต้อำนาจการปกครอง ของเจ้าหลวงลำพูน ได้มาสร้างเมืองคือ“ บ้านโฮ่ง” และได้มาปกครองบ้านโฮ่ง จนสิ้นชีวิตลงพระยาน้อย ชัยสมภาร ผู้เป็นลูก จึงได้ปกครองบ้านโฮ่งต่อมา และเมื่อพระยาน้อย ชัยสมภาร สิ้นชีวิตลง พระยาสุพรรณ (ไม่ทราบนามสกุล) ก็ได้ปกครองต่อมา

พ.ศ. ๒๔๕๐ ขุนโฮ่ง หาญผจญ ซึ่งเป็นลูกของพระยาสุพรรณ ได้ปกครองบ้านโฮ่ง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเลิกทาส ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็น

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช บ้านโฮ่ง ได้ถูกตั้งให้เป็นกิ่งอำเภอ ซึ่งจังหวัดลำพูน ขณะนั้น มี ๓ อำเภอ ๒ กิ่ง

คืออำเภอเมือง อำเภอลี้ อำเภอปากบ่อง (อำเภอป่าซางในปัจจุบัน) กิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง และกิ่งอำเภอแม่ทา โดย ขุนโฮ่ง หาญผจญ ได้เป็นกำนันคนแรก และได้ปกครองบ้านโฮ่ง (ตอนนั้นยังไม่มีนายอำเภอ)

เมื่อขุนโฮ่งสิ้นชีวิตลง ขุนแพทย์ ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตำบล และเป็นลูกของพระยาใจ เขื่อนเพชร ได้เป็นกำนันคนต่อมา และเมื่อพระยาใจ เขื่อนเพชร สิ้นชีวิตลง พ่ออุ้ยทา สุวรรณนวล ได้เป็นกำนันคนต่อมา ในสมัยนั้น บ้านโฮ่งมีความเจริญมาก จึงเป็นศูนย์รวมของการปกครอง และมีการสร้างที่ว่าการอำเภอแ ละสถานีตำรวจ ไว้ในหมู่บ้านบ้านโฮ่ง (โรงเรียนบ้านโฮ่งศรีลาภรณ์ในปัจจุบัน) และมีนายจู ทองเพ็ญ เป็นปลัดอำเภอก่อน ที่จะมีนายอำเภอมาปกครอง

นายสีห์ ปล่องทอง เป็นนายอำเภอคนแรก ของกิ่งอำเภอบ้านโฮ่ง ได้ของบประมาณ มาสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่ ที่บ้านสันตับเต่า เพราะเห็นว่าเป็นที่ป่า กว้างขวาง แต่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้คัดค้านไม่ยอมไปอยู่ที่นั่น เพราะไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้า จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๓ ปี นายสีห์ ปล่องทอง ได้ย้ายไป ได้มีนายอำเภอคนใหม่ย้ายมาอีกคือ นายสวัสดิ์ คหินพงษ์ นายบุญช่วย บุญเพ็ง นายไพบูลย์ เพชรรุ่ง ร. ต. ภิญโญ สรณะมาลย์ และมาถึงสมัยที่ เจ้าพงษ์สุวรรณ ณ ลำพูน ได้มาเป็นนายอำเภอบ้านโฮ่ง ท่านได้พูดชี้แจงกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ จนเกิดความเข้าใจ ตลอดจนได้ซ่อมแซมที่ว่าการอำเภอบ้านโฮ่ง จนเรียบร้อยแล้ว จึงย้ายไปอยู่ที่นั้น

จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ สาเหตุที่ตั้งชื่ออำเภอว่า“ อำเภอบ้านโฮ่ง” ก็เพราะอำเภอบ้านโฮ่ง เคยตั้งอยู่ในหมู่บ้าน บ้านโฮ่งนั่นเอง

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/tMrNL1XgzAQ?si=4Oq9JA0VAOVhbMq_
ตำนานเวียงหวาย
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
ช็อคโลกอีกครั้ง สาวอินโดนีเซียหายตัว ก่อนพบเป็นศพในท้องงูเหลือมบันไดแห่งความตๅย ที่โลกไม่ลืม..!สำรวจสวรรค์ในฝัน เขื่อนรัชชประภา "กุ้ยหลินเมืองไทย"
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
สรุปข่าว "นาย ณภัทร" ร้องไห้หลังแถลงข่าวเลิก "ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก""โจแอน บุญสูงเนิน" ฉลองสมรสเท่าเทียมผ่าน ประกาศแต่งงานแฟนหนุ่ม
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ข่าววันนี้
พบศพแรงงานต่างด้าวตายอืดดินกลบ ร่องสวนปาล์มน้ำมัน“อว.แฟร์” โชว์พลัง อววน. 4 – 6 ก.ค. ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราชดาว OnlyFans เปิดขายไวน์ลิมิเต็ดเอดิชั่น จากองุ่นที่เธอย่ำเท้าคั้นน้ำเองสุดทน!หนุ่มสาวเล่นจ้ำจี้ทิ้งถุงยางกางเกงในเกลื่อน
ตั้งกระทู้ใหม่