ตำนาน แห่งเทือกเขานางพันธุรัตน์ (อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี)
วนอุทยานเขานางพันธุรัต ตั้งอยู่ที่บ้านเขาไม้นวล หมู่ 2 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ กรมป่าไม้ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 เพื่อสนองพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้อนุรักษ์ พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัต ไว้เป็นมรดกของชาติ ให้คนรุ่นหลัง ได้ศึกษาตำนาน ที่ได้เล่าสืบต่อกันมา เกี่ยวกับนางพันธุรัต ในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง
พื้นที่วนอุทยาน เป็นเทือกเขาหินปูน ที่มีความสวยงาม เอกลักษณ์โดดเด่น มองเห็นได้จากริมถนนใหญ่ ทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ มองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ มีโกศอยู่ทางทิศใต้ และมีปฎิมากรรมธรรมชาติ ที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องสังข์ทอง ทางวนอุทยานได้จัดทำเส้นทาง สำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ผ่านจุดที่น่าสนใจอาทิ ยอดเมรุ กระจกนางพันธุรัต ลานเกือกแก้ว บ่อชุบตัวพระสังข์ รวมทั้งมีจุดดูนก จุดชมวิว ต้นไทรยักษ์บริเวณหุบวังเรือ และหินย้อยรูปพานยักษ์ ในถ้ำมะยม กำแพงเมืองจีน เป็นต้น บริเวณมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ลานกางเต็นท์ นอกจากนี้ ในเขตวนอุทยานยังมีแหล่งประวัติศาสตร์คือ โบราณสถานทุ่งเศรษฐี อยู่บริเวณเชิงเขาจอมปราสาท ด้านทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ก่ออิฐสอดินฉาบปูน เหลือเพียงส่วนฐาน และค้นพบโบราณวัตถุ จำพวกปูนปั้น และโบราณวัตถุอื่น ๆ อีกมาก จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานทุ่งเศรษฐี สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 12-16)
โดยชื่อของวนอุทยานแห่งนี้ มาจากชื่อของ “เทือกเขานางพันธุรัต” ที่มีที่มาของชื่อ มาจากวรรณคดีเรื่อง “สังข์ทอง” ในตอนที่พระสังข์หลบหนีนางพันธุรัต จนเป็นเหตุให้นางต้องอกแตกตาย เพราะความรักในตัวพระสังข์
ซึ่งเชื่อกันว่า ลักษณะการนอนตายของนางพันธุรัต คล้ายกับลักษณะของเทือกเขาแห่งนี้ โดยหากใช้จินตนาการ ในการมองจากระยะไกล จะเห็นเทือกเขาคล้ายนางพันธุรัต นอนหงายอยู่ มีศีรษะอยู่ทางทิศใต้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "เทือกเขานางพันธุรัต" ซึ่งบางครั้ง ชาวบ้านพากันเรียกว่า "เขานางนอน" นั่นเอง
และไม่ใช่เพียงชื่อของเทือกเขาเท่านั้น ที่มีเรื่องราวเกี่ยววรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ภายในเขตวนอุทยานพันธุรัต ยังมีอีกหลายจุด ที่มีความเกี่ยวข้องกับวรรณคดีเรื่องนี้อีกด้วย โดยได้จัดเป็น “เส้นทางศึกษาธรรมชาติ วนอุทยานเขานางพันธุรัต” เริ่มจาก
“ช่องกระจกนางพันธุรัต” มีลักษณะเป็นช่องเขาขนาดใหญ่ กว้าง 1.5 เมตร สูง 4 เมตร จากจุดนี้สามารถเดินลอดช่องกระจก ไปพบกับจุดชมวิว ซึ่งจะมองเห็นเส้นทาง ภายในวนอุทยานฯ และทุ่งนาของชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงได้
ไม่ไกลจากช่องกระจกนางพันธุรัต จะมี “เมรุนางพันธุรัต” ตั้งอยู่ โดย “เมรุนางพันธุรัต” ตั้งตามลักษณะเขาหินปูน ที่มีลักษณะเป็นแท่ง คล้ายปิระมิดสามเหลี่ยม มองดูคล้ายเมรุเผาศพ ของคนสมัยโบราณ
ซึ่งหากเชื่อมกับวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ที่ตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่นางพันธุรัต อ้อนวอนให้พระสังข์ลงมาจากยอดเขา เพื่อกลับไปอยู่กับตนนั้น แต่พระสังข์ไม่ยอมกลับ นางพันธุรัตเสียใจ ถึงอกแตกตายจึงได้จัดการทำศพนางพันธุรัตที่นี่ จึงตั้งชื่อว่า "เมรุนางพันธุรัต" นั่นเอง
และใกล้กับบริเวณเมรุ ได้มีการตั้ง “ศาลแม่นางพันธุรัต” เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวทั่วไปอีกด้วย
จากนั้น ตามรอยพระสังข์กันต่อ ยังจุดต่อมาคือ ที่ "บ่อชุบตัวพระสังข์" โดยในบริเวณนี้ มีลักษณะคล้ายกับเป็นหลุมขนาดใหญ่ กว้างประมาณหนึ่งสนามฟุตบอล ลึกลงไปหลายสิบเมตร เบื้องหน้าคือแนวผาหิน ล้อมรอบหลุม ส่วนเบื้องล่าง เขียวชอุ่มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด จุดนี้ ตามตำนานเล่าว่า พระสังข์ได้แอบเข้าไปในเขตหวงห้าม และได้พบบ่อทอง พร้อมกับชุดเจ้าเงาะ จากนั้น เมื่อนางพันธุรัตออกไปหาอาหารกิน พระสังข์ จึงย่องเข้าไปยังบ่อชุบตัว และได้ลงชุบตัวในบ่อทอง จนร่างกายเป็นสีทอง แล้วจึงกลับมาเอารูปเงาะ เกือกแก้ว และไม้เท้าเพื่อหนีไป
จากบ่อชุบตัวพระสังข์ จะเดินผ่าน “ลานเกือกแก้ว” เป็นลานกว้างประมาณ 3 ไร่ โดยสาเหตุที่เรียกว่าลานเกือกแก้ว เพราะพื้นที่บริเวณนี้ มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าผู้หญิง และยังตรงกับตำนานที่เล่าว่า หลังจากที่พระสังข์ชุบตัว และหนีนางพันธุรัตมา ได้แวะสวมเกือกแก้วที่บริเวณนี้อีกด้วย
เมื่อเดินผ่านลานเกือกแก้ว จะขึ้นไปยัง “จุดชมวิวคอกช้าง” ที่ในอดีต ด้านล่างบริเวณนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามาก่อน จึงเป็นที่มาของชื่อจุดชมวิวนี้ ที่นี่สามารถมองเห็นวิวระยะไกล แบบ 180 องศา ได้ถึงเขาวังเลยทีเดียว
ซึ่งในจุดนี้ ยังสอดคล้องกับเรื่องสังข์ทองที่ว่า เมื่อนางพันธุรัต ได้ออกล่าสัตว์มาเป็นอาหารอย่างสนุกสนาน ช้างป่าที่อาศัยบริเวณนี้ จึงตกเป็นอาหารของนางนั่นเอง
ต้นไทรยักษ์ ตามตำนาน หลังจากที่พระสังข์ เหาะหนีออกมาจากปราสาท แล้วก็มาแวะพักอยู่ใต้ต้นไทร ด้วยความเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเชื่อกันว่า ต้นไทรยักษ์เก่าแก่ ภายในอุทยานต้นดังกล่าวนี้ คือต้นไทรต้นเดียวกัน กับในวรรณคดี ซึ่งตามท้องเรื่อง เมื่อนางพันธุรัตน์กลับมาถึง พอสอบถามบริวาร ก็ได้รับคำตอบว่าพระสังข์หนีไปแล้ว นางเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก รีบพาบริวารออกตามหาพระสังข์
จนกระทั่งนางพันธุรัตน์ ผ่านต้นไทร ก็จำได้ว่าเป็นพระสังข์ จึงร้องเรียกพระสังข์ด้วยความยินดี ให้พระสังข์ลงมาหา แต่พระสังข์ไม่ยอม ไม่ว่านางพันธุรัตน์จะอ้อนวอนอย่างไร จนเห็นว่า พระสังข์คงจะไม่ลงมาแน่นอนแล้ว จึงเขียนมหาจินดามนต์ไว้ให้ ระหว่างที่เขียนมนต์ ก็ร้องอ้อนวอนพระสังข์ไปด้วย ถึงแม้ว่าจะเขียนจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระสังข์ก็ยังไม่ยอมลงมา ในที่สุดนางก็อกแตกตาย
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/hhSfkDLlpVc?si=szsxMQl02yRkb6FD
วนอุทยานเขานางพันธุรัต