หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตำนาน และประวัติความเป็นมาของบ้านโดด อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

ก่อนจะมีผู้คนเข้ามาก่อตั้งบ้านเรือน พื้นที่บริเวณที่ตั้งบ้านโดดในปัจจุบัน เป็นป่าเบญจพรรณ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้หลากหลายพันธุ์ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไป มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้าง เสือ แรด ละมั่ง กวาง รวมทั้งนก และสัตว์จำพวกอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พื้นที่บริเวณนี้ เคยเป็นที่ตั้งชุมชนใดมาก่อน เท่าที่ปรากฏหลักฐาน มีหลักหินจำนวนหนึ่งในบริเวณโนนธาตุ ฝังดินอยู่ เป็นจุดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายกับผังของศาลหลักเมือง เข้าใจว่า คนโบราณ ได้ปักหลักเพื่อจะสร้างพระธาตุ ให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไว้ประกอบพิธีสำคัญตามความเชื่อ เพื่อใช้เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เหมือนกันกับพระธาตุบ้านผือ และพระธาตุบ้านเมืองจันทร์ เพราะได้มีการทำบุญตักบาตรธาตุ และฉลองธาตุ โดยการจุดบั้งไฟ สืบทอดต่อๆ กันมาทุกปี อย่างยาวนาน จากคนรุ่นก่อนๆ จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน

ประมาณพ.ศ.2260 คน“กวย” หรือ “กูย” และ "เยอ"ได้อพยพจากเมืองอัตตะปือ แสนแป ในแคว้นจำปาสัก เป็นการอพยพทิ้งถิ่นฐานเดิม เพื่อหาที่ทำกินและตั้งหลักแหล่งใหม่ โดยได้ออกเดินทางเป็นกองคาราวานของคนกลุ่มใหญ่ มี ช้าง ม้า วัว ควาย และเกวียนเป็นพาหะนะ ข้ามแม่น้ำโขง มาทางทิศตะวันตก เข้าสู่ที่ราบสูง ของแผ่นดินอีสานใต้ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม หลายพวก นิสัยโดยทั่วไปของชาวกวย ชอบสันโดษ ไม่คิดร้ายต่อใคร มีวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง มีความชำนาญ ในการจับช้างป่ามาเลี้ยง เพื่อใช้งาน

ในการอพยพเข้ามาอยู่อาศัย ของชาวกวยนั้น ในพื้นที่บางแห่งของอีสานใต้ ได้มีคนพื้นเมืองเดิมอาศัยอยู่ก่อนแล้ว คือพวกเขมรป่าดง ซึ่งคนกวย ก็ให้การนอบน้อม ไม่รุกล้ำเขตแดน ที่อยู่อาศัยของคนเผ่าดั้งเดิม มีการผูกมิตรไมตรี ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีต่อกัน คนกวยกับคนเขมร จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขตลอดมา

ประมาณปีพ.ศ.2264 ได้มีชาวลาวจากเวียงจันทน์ อพยพตามลำน้ำโขง มาอาศัยอยู่ที่เมืองจำปาสัก และกลุ่มคนลาวเวียงจันทน์ในจำปาสัก บางส่วน ได้อพยพทางเรือ ขึ้นมาตามลำน้ำมูล เข้ามาตั้งหลักแหล่ง กระจายกันอยู่กับชุมชนกวย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน วิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งภาษาที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันแต่อย่างใด ชุมชนเหล่านี้ เมื่อก่อน อยู่ในอำนาจการปกครอง ของแคว้นจำปาสัก

ปีพ.ศ.2302 ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์ ) ปกครองกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดเหตุการณ์ ช้างเผือกมงคลตกมัน วิ่งหนีออกจากโรงช้าง ในเมืองหลวง เข้าป่ามาทางทิศตะวันออก สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โปรดเกล้าให้สองพี่น้อง ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นพระยามหากษัตริย์ศึก และพระยาสุรสีห์เป็นหัวหน้า พาไพร่พล 30 นาย ออกติดตามช้างเผือก เพื่อนำกลับกรุงศรีสอยุธยา สองพี่น้องและคณะที่ติดตาม ได้รับคำแนะนำจากเจ้าเมืองพิมายว่า มีพวกกวย ซึ่งชำนาญในการจับช้าง ตามหลักตำราคชศาสตร์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ หากเรียกตัวมาใช้งาน จะทำให้การติดตามหาช้างเผือกมงคลได้ง่ายขึ้น

ทราบดังนั้น จึงได้เรียกหัวหน้าหมู่บ้านชาวกวยเข้าพบ ซึ่งมีทั้งหมด 6 คน คือตากะจะหรือตาไกร เซียงขัน บ้านโคกลำดวน เซียงปุม บ้านเมืองที เซียงสี บ้านกุดหวาย เซียงฆะ บ้านอัจจะปะนึง เซียงไซ บ้านจารพัด ให้พาออกติดตามหาช้าง จนได้พบช้างเผือก หากินปะปนอยู่กับโขลงช้างป่า หลายสิบเชือก ที่บริเวณทุ่งหญ้ากลางป่า ของเทือกเขาพนมดงเร็ก (ปัจจุบันอยู่ในเขตของอำเภอขุขันธ์) เมื่อจับช้างได้ จึงนำกลับกรุงศรีอยุธยา โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านกวยทั้ง 6 คน ติดตามไปส่งจนถึงเมืองหลวง พระยามหากษัตริย์ศึก กราบทูลถึงเรื่องราว ในการตามหาช้างคู่บารมี ที่ได้รับความช่วยเหลือ จากพวกหัวหน้าหมู่บ้านกวย หัวหน้าชาวกวย จึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน และต่อมา หัวหน้าชาวกวยกลุ่มนี้ ได้รับความดีความชอบ โปรดเกล้าให้ตากระจะเป็น "หลวงแก้วสุวรรณ" ตำแหน่งนายกองหมู่บ้าน เซียงขันผู้น้อง เป็น "หลวงปราบ" ตำแหน่งผู้ช่วยนายกอง เซียงปุมเป็น"หลวงสุรินทร์ภักดี"เซียงสีเป็น "หลวงสีนครเตา" เซียงฆะเป็น "หลวงเพชร" เซียงไซเป็น "หลวงไซสุรวงศ์" และให้ยกฐานะจากหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง ให้เมืองเหล่านี้ ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา ชาวกวยจึง ได้อยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด ของเมืองพิมายเป็นต้นมา

พ.ศ.2306 เจ้าเมืองที่ได้รับการโปรดเกล้าทั้ง 5 เมือง ได้ร่วมมือกันรวบรวมผู้คน และจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ให้เป็นระเบียบแบบแผน เพื่อสะดวกในการปกครองดูแล ในช่วงนั้น พื้นที่บริเวณบ้านโดด น่าจะอยู่ในการปกครองดูแลของหลวงสี หลวงไซ จากตำนานได้เล่าไว้ว่า ผู้ก่อตั้งบ้านโดดคือหลวงสี หลวงไซ ขุนไกร และขุนวรพจน์ ซึ่งได้รวบรวมเอาคนลาวและคนกวยจำนวนหนึ่ง เข้ามาอยู่อาศัย คนกลุ่มนี้ มีบางส่วนเดินทางมาจากบ้านโคกลำดวน (บ้านดวนใหญ่ อำเภอวังหิน) ระยะแรก ประกอบอาชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า ก่อนจะได้หักร้างถางพง พัฒนาตนเอง มาทำการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพแบบยั่งยืน การตั้งบ้านโดดในช่วงเริ่มต้น พื้นที่บริเวณที่ก่อสร้างบ้านเรือน เป็นเนินสูงลุ่มๆ ดอนๆ ไม่สม่ำเสมอ มีแนวลาดลงสู่ลำน้ำ 2 ด้าน คือด้านตะวันออก ลาดเทลงไปทางห่องแสง และทางทิศตะวันตกเป็นเนิน ลาดลงไปห่องหางหนู หลวงสี หลวงไซ ได้พาชาวบ้านขุดดินถมทั้งสองด้าน และเนื่องจากดินที่ขุดมาถมเป็นดินทราย จึงตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า“บ้านโพนทราย”

ชื่อบ้านโพนทราย เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ในความเป็นจริง ก่อนจะมีคนเข้ามาอยู่อาศัย บริเวณที่ตั้งบ้านโดด ได้มีคนเล่าเรื่องราวต่างๆ เอาไว้มากมาย จนมีชื่อเรียก ตามความสำคัญของเรื่องที่เล่า และก็คงเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ชื่อบ้านโพนทราย ไม่ติดปากผู้คน และหายไปในที่สุด ดังมีเรื่องเล่าว่า บริเวณที่ตั้งของตำบลโดดในปัจจุบัน ก่อนจะมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัย เคยเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ และสัตว์ป่าอาศัยอยู่นานาชนิด โดยเฉพาะกวาง มีอยู่ชุกชุมมาก ครั้งหนึ่ง มีนายพรานเข้ามาล่ากวาง ที่หนองกวางโตน (บริเวณบ้านหนองกวางโตนในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี รอบๆ หนองเป็นป่าไม้เบญจพรรณ มีทุ่งหญ้าและดินโปร่ง ให้ฝูงสัตว์ได้แทะเล็ม

นายพรานกลุ่มนี้ มีความชำนาญในการใช้ธนู เป็นเครื่องมือจับสัตว์ ได้พากันดักซุ่มยิงกวาง ในขณะลงกินน้ำ และได้เลือกยิงกวาง ที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกตัวในฝูง แม้ว่านายพราน จะมีความแม่นยำสักปานใดก็ตาม กวางที่ถูกยิง ก็ไม่ได้ล้มลงตายในทันที วิ่งหนีเข้าป่าไปได้ นายพรานได้แกะรอยเลือด ไล่ตามกวางตัวที่ถูกยิง มาอย่างกระชั้นชิด จนถึงบริเวณโนนบ้านโดดในปัจจุบัน นายพรานก็ตามมาทัน และตีวงล้อมเอาไว้ได้ กวางกระโดดหลบไปมา ก่อนหมดแรง ล้มลงให้พรานจับ ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า โนนกวางกระโดด เมื่อมีคนเข้ามาตั้งบ้านเรือน ก็ยังมีชาวบ้านส่วนหนึ่ง เรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านโนนกวางกระโดด" เรียกกันจนติดปาก แต่นานเข้า การเรียกขาน ได้ถูกตัดทอนให้สั้นลง เหลือเพียงคำว่า "บ้านโดด" เหมือนที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้

อีกเรื่องหนึ่งเล่าต่อๆ กันมาว่า มีต้นสนายหรือต้นข่อยริมหนองบัว ทางเข้าทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน ถูกน้ำไหลเซาะโคนต้น จนโค่นล้มลง พาดทับขอนไม้ใหญ่ โดยขอนไม้ ที่ต้นสนายล้มทับ รองอยู่ตรงกึ่งกลาง ระหว่างโคนต้นกับทรงพุ่ม ของต้นสนายพอดี เมื่อมีลมพัด ต้นสนายก็จะกระดกขึ้นลง เหมือนต้นไม้กระโดดขึ้นกระโดดลง คนเดินทางผ่านไปมา เรียกกันว่า"สนายโดด" และเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "บ้านสนายโดด"ก่อนจะเหลือเพียงคำว่า"บ้านโดด"ในเวลาต่อมา ซึ่งเรื่องนี้ น่าจะเกิดขึ้น หลังจากที่มีการตั้งหมู่บ้านนานพอสมควร

หลังปีพ.ศ.2306 บ้านโดด ก็ยังอยู่ในการดูแลของ หลวงสี หลวงไซ ภายใต้การปกครองของเมืองขุขันธ์ มีเพื่อนบ้านข้างเคียงเป็นหมู่บ้านชาวกวย คือบ้านเมืองจันทร์ และบ้านผือ ชาวบ้านโดด ชาวบ้านผือ และชาวบ้านเมืองจันทร์ แม้ว่าจะมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน ก็ไม่เคยเป็นอุปสรรค ต่อการอยู่ร่วมกันแต่อย่างใด มีการติดต่อ ไปมาหาสู่ ให้การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นญาติมิตรที่ดีต่อกันเสมอมา คนกวยบ้านผือ กล่าวถึงบ้านโดดว่า"ถะโด๋ย"แปลว่าสะดือ หมายถึงศูนย์กลาง

พ.ศ.2317 ขุนไกรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองดูแลหมู่บ้าน

พ.ศ.2321 ในช่วงที่ขุนไกรเป็นผู้นำหมู่บ้าน ไทยได้ทำสงครามกับลาว เมืองขุขันธ์ ได้เกณฑ์ไพร่พล ส่งกำลังให้กับกรุงศรีอยุทธยา โดยเดินทางไปสมทบกับกองทัพหลวง ที่เมืองพิมาย ชาวบ้านโดด ได้ทำหน้าที่ในการจัดหาเสบียง และชายฉกรรจ์ส่วนหนึ่ง ได้ถูเกณฑ์ไปเป็นทหาร ซึ่งเป็นกำลังพลของเมืองขุขันธ์ เดินทางไปร่วมรบ กับกองทัพจากเมืองหลวง

พ.ศ.2345 ขุนวรพจน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านต่อจาก ขุนไกร ได้พาพี่น้องชาวบ้านโดด และบ้านผือ ออกคล้องช้างป่า มาเลี้ยงไว้ใช้งาน การคล้องช้างใสมัยนั้น ใช้ช้างบ้าน ที่ได้รับการฝึกอย่างดี เป็นตัวล่อ เรียกว่า "ต่อช้าง" โดยเดินทางไปต่อที่บริเวณภูสะแบงไม้ล้มแบ่ง ที่ประเทศลาว ซึ่งมีช้างป่าชุกชุม เมื่อคล้องช้างมาได้ ก็จะนำมาฝึกที่พะเนียด ในบริเวณโนนธาตุ และเลี้ยงไว้ ปะปนกับช้างบ้าน ซึ่งบริเวณใกล้ๆ กับโนนธาตุ มีหนองน้ำให้ช้างได้กินและลงเล่น เนื่องจากจำนวนช้างมีหลายเชือก จึงทำให้น้ำในหนอง มีสีขุ่นข้นตลอดทั้งปี ชาวบ้านเรียกหนองนี้ว่า "หนองขุ่น" ตกเย็นฝูงช้างก็จะเดินกลับหมู่บ้าน บริเวณที่ให้ช้างนอน อยู่ติดกับหมู่บ้านทางด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นป่าละเมาะ แต่เป็นที่ราบลุ่ม ที่บริเวณนี้ เมื่อถูกช้างนอนเกลือกกลิ้งทุกคืน นานเข้าก็กลายเป็นปลัก ถึงฤดูฝนปลักช้างนอนจะมีน้ำขัง หลายปีผ่านไป ปลักช้างนอนก็ลึกลงจนกลายเป็นหนองน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า"หนองซำช้าง" ปัจจุบันมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า "หนองซำ"

พ.ศ.2358 ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านโดด ได้พร้อมใจกันตั้งวัดขึ้น ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เพื่อไว้ประกอบพิธีทางศาสนา เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เป็นคนดี และเป็นแหล่งศึกษาของชุมชน

พ.ศ.2369 ทางการได้แต่งตั้ง ขุนบุรินทร์ ขึ้นเป็นผู้นำบ้านโดด ในช่วงที่ขุนบุรินทร์เป็นผู้นำนี่เอง ไทยได้ทำสงครามกับลาว โดยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ก่อการกบฎ ทางการได้มีคำสั่งให้หัวเมืองในภาคอีสาน เกณฑ์ไพร่พล ไปสมทบกับกองทัพหลวง ที่ยกขึ้นมาจากกรุงเทพ ในครั้งนี้ เมืองขุขันธ์ได้สั่งให้หมู่บ้าน ที่อยู่ในการปกครอง เกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับการฝึกอาวุธ ที่บ้านโดด ก็ได้มีการตั้งกองกำลังฝึกอาวุธด้วยเช่นกัน ขุนบุรินทร์ได้แต่งตั้ง ทิดสอน เป็นหัวหน้าในการฝึก ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง และส่งกำลังพลให้กับเมืองขุขันธ์ มีการสร้างคันคูประตูค่าย ขึ้นสองแห่ง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน สั่งให้ทำการฝึกและซ้อมรบ อยู่ในบริเวณที่ตั้งค่ายทั้งสองแห่ง นานเป็นแรมเดือน (บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือที่ตั้งบ้านหนองคูในปัจจุบัน ซึ่งตั้งชื่อตามสถานที่คันคูโบราณ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งบ้านหนองกอง ทุกวันนี้ ก็ยังคงปรากฎร่องรอยของคันคูหลงเหลืออยู่ คือคูหนองเทา ใกล้ๆ กับบริเวณที่ตั้งค่าย มีการขุดหนองขึ้นเพื่อใช้น้ำ เรียกว่าหนองคู และหนองกองทัพ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านหนองคู และชื่อบ้านหนองกอง ก็มาจากชื่อของหนองกองทัพนั่นเอง) ขุนบุรินทร์ และตาทิดสอน ได้ถูกเกณฑ์เป็นทหารของเมืองขุขันธ์ เดินทางไปสมทบกับกองทัพจากเมืองหลวงที่พิมาย เพื่อยกไปตีเวียงจันทน์ เมื่อกลับจากเวียงจันท์ ในครั้งนั้นกองทัพเจ้าเมืองขุขันธ์ ได้นำหญิงสาวชาวลาวเวียงจันทน์ มาไว้ที่บ้านโดดสี่คน ต่อมาหญิงสาวชาวลาวทั้งสี่คน ได้แต่งงานกับคนบ้านโดด มีลูกหลานสืบวงศ์ตระกูล เป็นชาวตำบลโดดมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2376 นายสอนหรือ "ตาทิดสอน" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำบ้านโดด เป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข การขยายตัวของประชากร มีจำนวนมากขึ้น คนบ้านโดด เริ่มขยับขยายออกไปตั้งบ้านเรือน ตามหัวไร่ปลายนา จับจองที่ทำกิน กว้างไกลออกไปเรื่อยๆ จำนวนคนออกไปชุดแรก ได้ก่อตั้งบ้านหนองหงอก ถัดมาก็เกิดบ้านหนองเหล็ก บ้านโนนหนองหว้า บ้านหนองหว้า หนองบัว ในปีนั้น ชาวบ้านหนองหงอกส่วนหนึ่ง ออกไปตั้งบ้านหนองแปน และคนบ้านโดด ยังได้ขยายการตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ ขึ้นอีกตามลำดับ คือบ้านหนองกกยูง บ้านม่วง บ้านหนองกอง บ้านหนองกาดำ บ้านหนองเหล็กน้อย บ้านหนองยาง หนองแมว บ้านนา บ้านหนองอะลาง บ้านโนนค้อ (ปัจจุบันย้ายกลับเข้ามาอยู่บ้านโดดเหมือนเดิม) บ้านปลาเดิดน้อย บ้านบัวบะ และบ้านหนองคู

พ.ศ.2442 สมัยราชการที่ 5 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปกครอง หัวเมืองระดับหมู่บ้าน ตำบล ผู้ปกครองดูแลหมู่บ้าน ดูแลตำบล มีตำแหน่งเป็นเสมียน มีการตั้งอำเภอประจิมสำโรง อยู่ที่บ้านสำโรงใหญ่ บ้านโดดขึ้นอยู่กับอำเภอประจิม จากนั้น ทางการได้ย้ายอำเภอประจิม จากบ้านสำโรงใหญ่ ไปทีบ้านตำแย ตำบลกำแพง เพื่อสะดวกในการติดต่อราชการ เพราะใกล้กับเส้นคมนาคม คือทางรถไฟ และได้เปลี่ยนชื่ออำเภอประจิม เป็นอำเภออุทุมพรพิไสย ช่วงนั้น มีการสร้างทางรถไฟจากห้วยทับทัน ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ทางราชการ ได้เกณฑ์กำลังคนที่เป็นชาวบ้าน เพื่อไปช่วยก่อสร้างทางรถไฟ ชาวบ้านโดด ก็ถูกเกณฑ์ไปช่วยก่อสร้างทางรถไฟด้วยเช่นกัน

พ.ศ.2459 ทางราชการ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นจังหวัด และเมืองขุขันธ์ เปลี่ยนมาเป็นจังหวัดขุขันธ์ มีศาลาว่าการ อยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน และในปีพ.ศ.2481 เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์เป็นจังหวัดศรีสะเกษ

พ.ศ.2483 ทางการ ได้ยกฐานะบ้านโดดขึ้นเป็นตำบลโดด นายสิงห์ สายสิน ชาวบ้านหนองยาง เป็นกำนันคนแรก

พ.ศ.2520 ตำบลโดด ได้แบ่งการปกครองพื้นที่ทางด้านทิศเหนือ ออกเป็นตำบลหนองม้า เนื่องจากตำบลโดด มีพิ้นที่กว้างขวางมากเกินไป งานบริการไม่ทั่วถึง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2520 กิ่งอำเภอบึงบูรพ์ ได้แยกการปกครองออก จากอำเภออุทุมพรพิสัย ทางราชการให้ตำบลโดด ตำบลเสียว และตำบลหนองม้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของกิ่งอำเภอบึงบูรพ์

พ.ศ.2522 ตำบลโดด ตำบลเสียว ตำบลหนองม้า ขอกลับมาขึ้นกับอำเภออุทุมพรพิสัยเหมือนเดิมอันเนื่องมาจากการเดินทาง ไปกิ่งอำเภอบึงบูรพ์ในขณะนั้น การคมนาคมไม่สะดวก

พ.ศ.2537 ตำบลโดด ตำบลเสียว ตำบลหนองม้า ร่วมกันขอจัดตั้งกิ่งอำเภอ ได้แบ่งตำบลอีเซ ออกจากตำบลเสียว แบ่งการปกครองตำบลผือใหญ่ ออกจากตำบลแขม เพื่อขอแบ่งแยกการปกครอง ออกจากอำเภออุทุมพรพิสัย โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคล และส่วนราชการทุกๆ ฝ่าย รวมทั้ง นายประธาน วิไลยชนม์ นายอำเภออุทุมพรพิสัยในขณะนั้น ได้มีส่วนสำคัญ ในการแบ่งแยกเป็นอย่างมาก ซึ่งกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติการจัดตั้ง กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2537 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนในปีเดียวกัน

วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะกิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ขึ้นเป็น อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2550

ต้นไม้ ที่เป็นสัญญลัษณ์ของตำบลโดด คือต้นยางใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านโดด

 

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/F3-ooDz8V34?si=yfcjGdTjF_tQZxOa
ประวัติความเป็นมาของบ้านโดด อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
เกิดเหตุชิงช้าสวรรค์ขัดข้องในชิลี ทำคนค้างเติ่งด้านบนข้ามคืน 35 คนค้นพบแก้วสมัยโรมัน งามจนตะลึง ช่างปัจจุบันยังงง คนพันกว่าปีก่อน ทำได้อย่างไงสุดทึ่ง หลังนักโบราณคดีของอิตาลี ค้นพบโรงอาบน้ำร้อนส่วนตัวสุดหรู ในเมืองปอมเปอีกระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาเปิดเผย ได้ค้นพบตุ๊กแกพันธุ์ใหม่ มีรูปร่างเพรียวบางศัลยแพทย์ชาวไต้หวัน ทำการผ่าตัดทำหมันตัวเอง จนได้ฉายาว่า ชายที่กล้าหาญที่สุด20 สายพันธุ์แมวที่แพงที่สุดในโลกรีวิวนิยาย “ผจญภัยในสุสาน” นิยายแฟนตาซีที่อ่านแล้ววางไม่ลง
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
กระทรวงสิ่งแวดล้อมกัมพูชาเปิดเผย ได้ค้นพบตุ๊กแกพันธุ์ใหม่ มีรูปร่างเพรียวบางค้นพบแก้วสมัยโรมัน งามจนตะลึง ช่างปัจจุบันยังงง คนพันกว่าปีก่อน ทำได้อย่างไงเกิดเหตุชิงช้าสวรรค์ขัดข้องในชิลี ทำคนค้างเติ่งด้านบนข้ามคืน 35 คน
กระทู้อื่นๆในบอร์ด ทั่วไป
เลี้ยงหมูป่าในบ้าน เกือบถูกปรับ5ล้านสาวมหาลัยยอมขายตัวให้หนุ่มๆ เกือบพัน..หวังฟันรายได้ไว้จ่ายค่าเทอมด้วยความที่ต้องวิ่งตอนเช้ามืด ทำสาวห่วงเรื่องความปลอดภัย เลยแปลงร่างเป็นผู้ชายออกวิ่งซะเลยจิมิมีกลิ่น กินอะไรให้จิมิไม่มีกลิ่น อาหารดีต่อจุดซ่อนเร้น และ อาหารบางชนิดที่ไม่เป็นมิตรต่อน้องสาว
ตั้งกระทู้ใหม่