รัฐเมืองยอง เคยเป็นเมืองหน้าด่านของล้านนา😱😱😱
มหิยังคะ หรือ รัฐเมืองยอง เป็นรัฐเจ้าฟ้าแห่งหนึ่ง ในกลุ่มสหพันธรัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า มีราชธานีคือเมืองยอง หรือเชียงช้าง ตั้งอยู่บริเวณแคบ ๆ ทางตะวันออกสุดของรัฐเชียงตุง ริมฝั่งแม่น้ำโขง ใกล้พรมแดนจีนและลาว เคยมีสถานะเป็นประเทศราช หรือลูกบ้านหางเมือง ของอาณาจักรล้านนา ด้วยเป็นรัฐชายขอบ มีสภาพเป็นรัฐเกษตรกรรมขนาดน้อย ในหุบเขา มีเทือกเขาล้อมรอบ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวว้า แต่ในราชธานีประชากรส่วนใหญ่เป็นไทลื้อ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของชุมชนชาวไทลื้อ เมืองเชียงรุ่ง ส่งสุนันทะราชบุตรมาสร้างเมืองยอง ด้วยการปราบปรามชาวลัวะ แล้วปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับใคร
เมืองยองเป็นนครรัฐขนาดเล็ก ที่มีข้อจำกัดมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา ที่ราบค่อนข้างน้อย และเป็นรัฐเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ รวมทั้งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพของรัฐอื่น ๆ ทำให้เมืองยอง ต้องเผชิญกับภัยสงครามบ่อยครั้ง
รัฐเมืองยอง เดิมเป็นที่ตั้งชุมชนของชาวว้าหรือลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของแถบนี้ ในตำนานเมืองยอง ระบุว่า ชาวละว้า ตั้งชุมชนอาศัยเป็นปึกแผ่น เจ็ดหมู่บ้าน รอบสระน้ำใหญ่ มีท้าวลกพญาละว้าเป็นหัวหน้า ต่อมาเกิดภัยแล้ง มีชาวละว้า อพยพมาอาศัยในเขตของท้าวลก ซึ่งในจำนวนผู้อพยพนั้น มีละว้ากลุ่มหนึ่ง ที่ขึ้นกับเจ้าเชียงตุงด้วย เจ้าเมืองเชียงตุง จึงส่งคนมาเจรจาขอละว้ากลุ่มนี้คืนเมือง แต่ท้าวลกพญาละว้าไม่ยอมให้ จึงเกิดการสู้รบกัน กองทัพของท้าวลก ยกไปตีหัวเมืองใหญ่น้อยได้ 28 หัวเมือง รวมทั้งเมืองเชียงรุ่งด้วย แต่หลังท้าวลกเสียชีวิต ก็แต่งตั้งพญาวรรณ หรือพญางาม ขึ้นเป็นหัวหน้าแทน
ต่อมาเจ้าเมืองเชียงรุ่ง คิดอุบายสำคัญ โดยส่งสุนันทราชบุตร พระโอรสลำดับที่สอง นำเครื่องบรรณาการ ไปฝากตัวรับใช้พญาวรรณ ครั้นถึงเทศกาลสำคัญ ตามธรรมเนียมละว้า ที่ทุกปี ชาวบ้านทั้งเจ็ดหมู่บ้าน จะร่วมกันจัดกิจกรรม วิดเอาปลามาทำอาหารเลี้ยงร่วมกัน ซึ่งวันนั้นเอง สุนันทราชบุตร ลอบนำยาพิษใส่ในสุรา ให้พวกหัวหน้าละว้าดื่มทุกคน แล้วตัดศีรษะกับทั้งบริวาร ชาวละว้าทั้งหลายที่สิ้นหัวหน้า ก็พากันหลบหนีไปฝั่งล้านช้าง กลายเป็นข่าเผ่าต่าง ๆ
สุนันทราชบุตร ก็ปราบดาภิเษกเป็นเจ้าเมืองแทน และปกครองตนเองอย่างอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อใคร จากตำนานดังกล่าว นักประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า เมืองยอง คงสถาปนาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เจ้าสุนันทะและเชื้อสาย ครองเมืองยองได้ห้ารัชกาล ก็สูญวงศ์ หาผู้สืบราชบัลลังก์มิได้ เพราะเชื้อสายเจ้าผู้ครอง มีศรัทธาพระศาสนา ออกผนวชเสียหมด ด้วยเหตุนี้ จึงต้องตั้งขุนนางช่วยกันดูแลบ้านเมืองกันเอง เมืองยองว่างกษัตริย์ นาน 65 ถึง 67 ปี
พญาสามฝั่งแกน กษัตริย์ล้านนา ทรงกระทำสงครามปราบปรามเมืองยองสำเร็จ เพราะต้องการให้เมืองยอง เป็นเมืองหน้าด่าน คอยป้องกันการโจมตีจากรัฐเชียงตุง เชียงรุ่ง และเมืองแลม เมืองยอง ยอมอ่อนน้อมต่อล้านนา ในฐานะลูกเมือง ให้ทำนุบำรุงพระธาตุหลวงจอมยอง รวมทั้งมีการส่งช่างฟ้อน ลงมาบูชากษัตริย์ล้านนา ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าติโลกราช ทรงยึดเมืองยองอีกครั้ง ทรงตั้งขุนนางปกครองกันเอง ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และกัลปนาผู้คนจากบ้านกอม เป็นข้าพระธาตุจอมยอง แล้วให้ช่างฟ้อน ลงมาฟ้อนคารวะกษัตริย์ล้านนา ปีละครั้ง
หลังพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา หลังอาณาจักรล้านนาล่มสลาย รัฐเมืองยอง ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่หากพม่าอ่อนแอ เมืองยอง จะถูกรัฐอื่น ๆ แทรกแซง เช่น เชียงรุ่ง เชียงแขง และเชียงใหม่ ในช่วงสั้น ๆ
ต่อมา เมื่อพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง ได้ทำการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองยอง ไปไว้เมืองลำพูน ที่ตั้งขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2348 ทำให้เมืองยองแทบเป็นเมืองร้าง สร้างความไม่พอใจ แก่เจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุง และเจ้าพุทธวงศาเจ้าเมืองยอง ทั้งสอง จึงเอาใจออก หากไปเข้าฝ่ายพม่า เพราะมองว่า พม่า ไม่มีนโยบายกวาดต้อนผู้คน และคิดว่าอย่างไรเสีย พม่า ก็ต้องขึ้นมาปราบเมืองยองอยู่แล้ว เจ้าพุทธวงศารวบรวมผู้คนได้ 150 ครัวเรือนเศษ มาตั้งเมืองยองขึ้นใหม่ แล้วขอร่วมสวามิภักดิ์เข้ากับพม่า มาตั้งแต่นั้น ที่สุดเมืองยอง ถูกผนวกเข้ากับรัฐเชียงตุงใน พ.ศ. 2358
จากการครองราชย์ของเจ้าสุนันทะ ทรงนำชาวไทลื้อจากเชียงรุ่งกลุ่มเล็ก ๆ เข้ามาด้วย เมืองยอง จึงรับวัฒนธรรมไทลื้อ ชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ก็รับวัฒนธรรมไทลื้อไปด้วย เช่น การแต่งกาย ส่วนชาวลื้อเมืองยองเอง ก็ต้องผสมกลมกลืนไปกับชาวลัวะ ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง
รัฐเมืองยอง รับศาสนาพุทธจากเมืองเชียงรุ่ง ดังปรากฏความ ในตำนานเมืองยอง ความว่า "...สัพพัญญูพระพุทธเจ้าโคตมะแห่งเรา เกิดมาโปรดโลก และจรเดินบิณฑบาตข้าวลุก แต่เมืองวิเทหราช ลงมารอดเมืองมหิยังคะ..."
และ ตำนานพระธาตุหลวงจอมยอง ก็ระบุว่า เมืองยอง เพิ่งรับศาสนาพุทธ หลังเจ้าสุนันทะสร้างเมืองยอง หลังจากนั้นเป็นต้นมา เจ้าผู้ครองเอง ก็มีศรัทธาในศาสนาพุทธ ออกผนวชกันหมดจนสิ้นวงศ์ ต่อมา มีคณะสงฆ์จากอาณาจักรล้านนา เดินทางเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ดังจะพบว่า มีการสถาปนาวัดนิกายสวนดอก (หรือ นิกายรามัญ) และนิกายป่าแดง (หรือ นิกายสีหล) สู่เมืองยอง ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมา ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเผยแผ่ศาสนา ในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนองเสียอีก
งานพุทธศิลป์แบบล้านนา ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังคงหลงเหลืออยู่ในเมืองยอง เช่น พระธาตุหลวงจอมยอง และพระเจ้าทิพย์ (องค์ยืน) พระพุทธรูป ในวัดพระแก้วเมืองยอง
คำว่ายอง อันเป็นชื่อเมืองนั้น ตำนานเมืองยองได้อธิบายว่า เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง ที่เคยขึ้นในบริเวณเมืองยอง ครั้งหนึ่ง มีนายพรานมาจากอาฬวีนคร ได้จุดไฟเผาป่า ทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า มหิยังคนคร