รีวิวหนังดัง MONKEY MAN มังกี้แมน
หนึ่งในประเทศที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะชัดเจนที่สุด คือ อินเดีย สังคมการใช้ชีวิตไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก การทวงแค้นให้กับตัวเองเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เรียกได้ว่าการจะเอาชนะพวกอสูรเดนนรก ตนเองก็ต้องเป็นอสูรเสียเอง นี่คือที่มาของ MONKEY MAN ไอ้หนุ่มหน้ากากหนุมานในเวทีมวยใต้ดิน
ผลงานอำนวยการสร้างโดย Jordan Peele และการกำกับแถมยังแสดงเองเป็นครั้งแรกของ Dev Patel ที่บอกได้เลยว่าทุ่มสุดตัว
เรื่องย่อ
Kid คนทั่วไปเรียกเขาว่า Bobby ได้ไปของานทำจาก Queenie เจ้าของสถานบันเทิงได้สำเร็จ ที่นั่นเต็มไปด้วยวงการสีเทา นั่นทำให้ Kid ได้รู้จักกับ Alphonso คนที่สามารถจัดหายาและของเถื่อนได้สารพัด
Kid ได้เรียนรู้ชีวิตที่นั่น จนได้เจอกับคนที่เคยทำร้ายแม่ของเขาอย่าง Rana Singha ผู้บัญชาการตำรวจแห่งอินเดีย ที่เขารับคำสั่งจาก Baba Chati นักการเมืองคนสำคัญ ให้ขับไล่คนในหมู่บ้านเพื่อจะเอาที่ดินผืนนั้นในการทำเป็นโรงงาน
คืนวันนั้น Kid เสียแม่ของเขาไป เรื่องถึงขั้นนี้แล้ว Kid ต้องการแก้แค้น ครั้งนี้เขาไม่ได้สู้เพื่อตัวเขาเอง แต่สู้เพื่อคนอื่นที่เคยโดนเบียดเบียนจากผู้มีอิทธิพลพวกนี้ด้วย
นักแสดงนำ
- Dev Patel รับบทเป็น Kid
- Sharlto Copley รับบทเป็น Tiger
- Pitobash รับบทเป็น Alphonso
- Sikandar Kher รับบทเป็น Rana
- Sobhita Dhulipala รับบทเป็น Sita
- Makrand Deshpande รับบทเป็น Baba Shakti
- Ashwini Kalsekar รับบทเป็น Queenie
- Vipin Sharma รับบทเป็น Alpha
ความชื่นชอบและประทับใจของครีเอเตอร์
1.หนังให้ความรู้สึกผสมผสานระหว่าง Bollywood กับ Hollywood ได้อย่างลงตัวเหมือนที่จีนเคยทำมาแล้ว มีการพูดภาษา Hindi แทรกเป็นระยะ เป็นความรู้สึกที่ครีเอเตอร์มองว่าแปลกดีต่อวงการ Hollywood
2.หนังสะท้อนสังคมของอินเดียได้อย่างแนบเนียน ไม่ยัดเยียด คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำของสังคม ความป่าเถื่อนของคนชนชั้นแรงงานไปจนถึงความโหดร้ายของผู้นำทางการเมืองที่อะไรก็ตามเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตน ก็จะทำ และนั่นก็นำมาซึ่งการแก้แค้นของคนชั้นรากหญ้า สมกับคำโปรยบนโปสเตอร์ที่ว่า One small ember can burn down everything. เพียงแค่ถ่านไฟก้อนเล็กๆก็สามารถเผาทุกอย่างให้วอดวายได้
3.หนังมีการแทรกปรัชญาทางความเชื่อโดยใช้เทพหนุมานเป็นเครื่องมือนำเสนอ โดยเป็นการสะท้อนถึงความหวังที่จะต่อสู้เพื่อทวงความเป็นธรรม หนุมานจึงเป็นที่พึ่งพิงของพระเอกในเรื่อง
4.หนังดำเนินเรื่องเนินช้าในช่วงซีนอารมณ์เพื่อดึงคนดูให้เข้าถึงความรู้สึกของพระเอกให้ได้มากที่สุด โดยฉาก Action เป็นองค์ประกอบรอง ทำให้ฉากต่อสู้มีบ่อย แต่มีไม่นานพอ นั่นทำให้คนดูบางส่วนรู้สึกเบื่ออยู่บ้าง แต่ยอมรับว่าฉาก Action ต่อสู้ประชิดตัวเรียกว่าเดือดสมการรอคอยจริงๆ ถ้าพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เชื่อว่าผู้สร้างจะทำหนังให้มัน ลำดับภาพออกมาดูสนุกกว่านี้...เทียบเท่าระดับ JOHN WICK เลยก็เป็นได้
5.ปรัชญาหนึ่งที่น่าสนใจของหนัง คือการสะท้อนความเจ็บปวดในวัยเด็กของพระเอก ซึ่งเชื่อว่าเราทุกคนมีอะไรค้างคาใจในอดีตกันทั้งนั้น และเลือกที่จะลืมมันไปให้พ้นๆ โดยหนังมองว่าการแก้ปมในใจส่วนหนึ่งคือการมองย้อนกลับไปในอดีตให้ชัดอีกครั้ง แล้วเลือกจะยอมรับมัน
6.หนังไม่ได้โม้ขนาดที่พระเอกเก่งเหลือเชื่อ พระเอกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาตลอด เรื่องบานปลายถึงขั้นฆ่าตำรวจด้วย เขาต้องหลบหนีทั้งพวกมาเฟีย ตำรวจ และนักเลงคุมพื้นที่อโคจร เรียกได้ว่า โลกสีเทาที่เราไม่เคยเห็นชัดเจน ก็จะได้เห็นในเรื่องนี้อย่างครบวงจร
7.ฉากที่ Action สู้กันเดือดขนาดนั้น หนังไม่น่าเอาเพลงอินเดียทำนองเพลินๆแทรกเข้ามาเลย มันทำให้ฉากที่ระห่ำดูแล้วตลกไปเลย แต่นั่นเป็นธรรมชาติของหนังอินเดียอยู่แล้ว ครีเอเตอร์ต้องปรับใจรับสภาพตรงนี้ด้วย ครีเอเตอร์มองว่าฉากต่อสู้ที่ระห่ำแล้วยังได้ Jed Kersel ในการประพันธ์ดนตรีประกอบ น่าจะออกมาได้ดีกว่านี้ ลึกๆแล้วครีเอเตอร์ก็นึกเสียดายตรงนี้เหมือนกัน
ตลอดทั้งเรื่องได้ทิ้งคำคม (Quote) ที่น่าสนใจและเป็นประโยคที่หล่อหลอมตัวตนของหนังตลอดทั้งเรื่อง นั่นคือ The pain will leave you once it's finished teaching you.
ความเจ็บปวดจะหายไปทันที เมื่อมันสอนคุณเสร็จสิ้นแล้ว