ตำนาน และประวัติความเป็นมา ของเมืองขวางขันธะบุรี (อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด)❤️❤️❤️
เมืองสรวง เดิมชื่อเมืองขวางขันธะบุรี มีขุนบรมเป็นผู้สร้างขึ้น ก่อนพุทธกาล ประมาณ 203 ปี ขุนบรม มีบุตรนางหนึ่งชื่อว่า นางกลองศรี ต่อมาได้เกิดสัตว์ประหลาด คือ งูซวง มีพละกำลังมาก ขุนบรมไม่มีวิชาที่จะสู้กับงูซวงได้ เห็นทีจะต้องตาย เมื่อคิดว่า ตนจะต้องตาย จึงคิดหาดูอุบาย ทดสอบดูว่า จะมีผู้รอดชีวิตอยู่ได้บ้างไหม จึงเอาลูกสาว ไปซ่อนไว้ในกลองเพล แล้วปิดหุ้มไว้อย่างดี หาเสบียงอาหารไว้ให้ครบ
กล่าวถึง ท้าวคันธะนาม เป็นลูกหญิงหม้ายชาวนา อยู่ที่เมือง สีสะเกษ หรือ เมืองสาเกตุ ตามประวัติว่า ท้าวคันธะนาม ได้ติดตามหาพ่อผู้บังเกิดเกล้า เพราะพ่อเป็นช้าง จึงไม่สามารถให้ลูกเข้าพบได้ เมื่อท้าวคันธะนาม เดินทางไปพบชายคนหนึ่ง ซึ่งลากเกวียนได้ 100 เล่ม และชายอีกคนหนึ่งลากกอไผ่ได้ 100 กอ จึงได้ชักชวนออกเดินทางไปเป็นเพื่อน ติดตามหาพ่อ พอไปถึงกลางป่า ได้พบสัตว์ประหลาด ที่มีกำลังมาก ชื่อ “กินายโม้” จึงร่วมกันฆ่าสัตว์นั้นได้สำเร็จ แล้วเดินทางไปพบเมืองร้างเมืองหนึ่ง ไม่มีคน จึงเข้าไปดู ทราบว่า เมืองนั้น ถูกพญาอินทรีย์กินตายหมด เหลือแต่ลูกสาว ซึ่งชาวเมือง เอาไปซ่อนไว้ในเสาปราสาท ซึ่งพระยาเมืองนั้น ได้สั่งให้ช่างทำไว้เป็นพิเศษ จนท้าวทั้งสาม ได้ทราบรายละเอียดว่า นางนั้นชื่อว่า “นางสีไว” ท้าวคันธะนามก็ได้รับไว้เป็นภรรยา
จากนั้น ก็ออกติดตามหาพ่อไปเรื่อย จนถึงเมืองขวางขันธะบุรี (เมืองสรวง) เห็นเมืองเงียบสงัด เพราะชาวเมือง ถูกงูซวงกินตายหมด มิหนำซ้ำ ยังมีหมาสรวง มาคอยกินเนื้อ ที่เหลือเศษจากงูซวงกินไม่หมด เมื่อทั้งสาม เข้าสู่ตัวเมืองปรากฎว่า ไม่มีคนอยู่เลย เห็นแต่กองกระดูกและกองเพลใหญ่ น่าประหลาด จึงลองตีกองเพลดู จึงรู้ว่า มีคนอยู่ในกลองเพลนั้น ซึ่งเป็นลูกสาวเจ้าเมืองชื่อว่า “นางกลองศรี” ต่อมาท้าวคันธะนาม ได้รับไว้เป็นภรรยาคนที่สอง จากนั้นท้าวคันธะนาม ก็ออกตามหาพ่อต่อไป จนไปพบพ่อ ซึ่งเป็นช้างเผือก
ในกาลต่อมา นางสีไวและนางกลองศรี ภรรยาทั้งสองของท้าวคันธะนาม ต่างก็คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชายทั้งคู่ นางสีไว ได้บุตรชื่อ คันธะเนตร ส่วนนางกลองศรี ได้บุตรชื่อ คันธะจันทร์ ต่อมา เมื่อท้าวคันธะนาม พร้อมชายไผ่ร้อยกอ และชายเกวียนร้อยเล่ม ได้กลับสู่เมือง ท้าวคันธะนาม จึงได้แต่งตั้งให้ชายทั้งสอง ไปรักษาเมืองต่างๆ ส่วนบุตรทั้งสอง ได้เกิดขัดคอกันจนรบกันเอง ฝ่ายคันธะจันทร์เป็นผู้ชนะ ได้ปกครองเมืองขวางขันธะบุรี จากนั้นมาหลายยุค เมืองก็ร้างลงอีก เพราะเมืองขวางขันธะบุรีเกิดความวุ่นวายอยู่เรื่อยๆ ชาวเมืองจึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะตั้งชื่อเมืองใหม่ ให้ชื่อตามงูซวงและหมาสรวง เพราะคนรุ่นก่อนถือว่า สัตว์ทั้งสองนั้นมาจากสวรรค์ จึงตั้งชื่อเมืองว่า ” เมืองสรวง ” มาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น คนเมืองสรวงยุคต่อมา ในระหว่างที่พระพุทธศาสนาแผ่เข้ามา คนที่มีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ จึงเชื่อว่า สัตว์ทั้งสองนี้มาจากสวรรค์ พระยาแถนส่งมา เพื่อล้างผลาญคนที่เป็น “อธรรม” จะเห็นจากตอนงูซวงลงมากินคน ต้องพ่นพิษมีไอเป็นฝนตกตลอด 7 วัน 7 คืน คนสมัยนั้นจึงมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดฝนไม่ดี เพราะพระยาแถนไม่ได้ส่งงูซวงลงมาพ่นพิษ คนชาวเมือง จึงเก็บดอกไม้ธูปเทียน บูชาพระยาแถนเพื่อขอฝน แต่การที่เอาดอกไม้ธูปเทียน ไปจุดบูชาพระยาแถนนั้น กลิ่นธูปเทียนคงไปไม่ถึงพระยาแถนเป็นแน่ จึงมีการคิดค้นทำบั้งไฟ จุดบูชาพระยาแถน จนเป็นประเพณีของชาวเมืองสรวง มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อถึงวันเพ็ญ(ขึ้น15 ค่ำ) เดือนห้า ชาวอำเภอเมืองสรวง โดยเฉพาะตำบล ในเขตตำบลเทศบาลเมืองสรวง จะต้องจัดทำบั้งไฟ และนำไปจุดบูชา เป็นประจำทุกปี
ท้องที่อำเภอเมืองสรวง เป็นเมืองเก่าในจังหวัดร้อยเอ็ด มีอายุประมาณ 2,000 ปี มาแล้ว ตามที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุว่า “เมืองสรวง” เป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งในสมัยนั้นเรียกเมืองร้อยเอ็ดว่า ”สาเกตุนคร” และเป็นเมืองหลวง อาณาจักรกุลุนทะ ซึ่งมีเมืองหน้าด่านอยู่ถึง11 หัวเมือง คือ
- เมืองเชียงขวาง – เชียงดี (บ้านจาน – บ้านหัวโนน อำเภอธวัชบุรี)
- เมืองไพร (บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ)
- เมืองฟ้าแดด (บ้านฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์)
- เมืองสีแก้ว (บ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด)
- เมืองเชียงเหียน (บ้านเชียงเหียน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม)
- เมืองเปลือย (บ้านเปลือย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด)
- เมืองจำปาศรี (อยู่ในอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม)
- เมืองทอง (บ้านเมืองทอง อำเภอเมืองจังหวัดร้อยเอ็ด)
- เมืองบัว (บ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด)
- เมืองหงษ์ (บ้านเมืองหงษ์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด)
- เมืองสรวง (วัดเมืองสรวงเก่า อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด)
แต่ในประวัติของมหาดไทย จังหวัดร้อยเอ็ด ( พ.ศ. 2527 ) กล่าวถึงเมืองทองว่า อยู่บริเวณอำเภอเมืองสรวง เมื่อสืบค้นดูปรากฏว่า ในอำเภอเมืองสรวง มีเมืองคอย (บ้านข่อย ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด) และเมืองคอง (บ้านเมืองคลอง ตำบลหนองขาม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด) บริเวณเมืองสรวงเก่า มีป่าไม้และป่าไผ่ขึ้นอยู่เต็ม มีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ มีเนินดินอยู่กลาง ลักษณะคล้ายบ้านดงละคอน อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก คือมีสระอยู่ทางด้านทิศใต้ ซากปรักหักพังที่เหลืออยู่คือ “ปรางค์กู่” อยู่บริเวณใจกลาง มีฐานก่อสร้างตัวอิฐ เดิมที อำเภอเมืองสรวง เป็นพื้นที่ 2 ตำบล ของอำเภอสุวรรณภูมิ คือตำบลหนองผือ และ ตำบลสูงยาง เมื่อจะเสนอตั้งกิ่งอำเภอ ได้แยก ตำบลน้ำคำ และตำบลหนองผือ เป็นตำบลหนองหิน กับแยกตำบลหนองผือ และตำบลสูงยาง เป็นตำบลหนองผือ และตำบลคูเมือง
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมืองสรวง และได้รับอนุมัติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2516 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 90 ตอนที่ 26 หน้าที่ 817 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2516 ประกอบด้วย 3 ตำบล คือตำบลหนองผือ ตำบลหนองหิน และตำบลคูเมือง ส่วนราชการต่างๆ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงาน ในวันที่ 1 เมษายน 2516
ต่อมา ได้มีพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอเมืองสรวง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่มที่ 96 ตอนที่ 42 หน้าที่ 22 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2522 ยกฐานะกิ่งอำเภอเมืองสรวง ขึ้นเป็น อำเภอเมืองสรวง มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2522
ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้แบ่งแยกตำบลหนองผือ และตำบลคูเมือง และตำบลหนองหิน ขอตั้งเป็นอีกหนึ่งตำบล คือตำบลกกกุง ได้รับอนุมัติให้จัดตั้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2528 ต่อมา พ.ศ.2529 ได้แบ่งแยกตำบลหนองผือ ออกเป็น 2 ตำบล คือตำบลหนองผือ และตำบลเมืองสรวง โดยได้รับอนุมัติแบ่งแยกตำบล เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2529
ต่อมาในปี พ.ศ.2537 กรมการปกครอง ได้ยกฐานะสภาตำบล เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล 3 แห่ง คือตำบลกกกุง ตำบลคูเมือง และตำบลหนองหิน จึงทำให้อำเภอเมืองสรวง มีองค์กรปกครองท้องถิ่น 2 แบบ คือ อบต. 3 แห่ง สุขาภิบาล 1 แห่ง ต่อมา ปี 2544 สุขาภิบาล(เมืองสรวง) ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลเมืองสรวง วันที่ 27 ตุลาคม 2552 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งสามแห่ง คือกกกุง คูเมือง หนองหิน เป็นเทศบาลตำบล จึงทำให้ปัจจุบัน อำเภอเมืองสรวง ประกอบด้วย 5 ตำบล 49 หมู่บ้าน มีเทศบาลตำบล 4 แห่ง
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/XFMGjEqJRts?si=KYUDIQ75VdSL-8BB
ตำนานอำเภอเมืองสรวง