ตำนานดอกอินถวา นางฟ้าแห่งวังสามหมอ😭😭😭
ตำนานพื้นบ้านแต่ละตำนาน ของภาคอีสาน ซึ่งบรรพบุรุษ ได้ผูกเรื่องแต่งขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ คนรุ่นหลังได้ฟัง จากการเล่าของผู้เฒ่าคนแก่ ที่เป็น” ปราชญ์หมู่บ้าน” บ้าง อ่านจากหนังสือผูก ที่เก็บไว้ในวัดบ้าง หรือชม” หมอลำเรื่อง” ที่แสดงกันอยู่บนเวทีกลางแจ้งบ้าง นอกจากจะทำให้เกิดความสนุกสนาน เกิดความสงสาร และเกิดความสะใจ ในเนื้อเรื่องบางตอนแล้ว ยังเป็นวรรณกรรมที่แฝงไว้ด้วยคุณธรรม และจริยธรรม สอนให้ผู้คนทั้งหลาย ประกอบแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว ทั้งสิ้น
อีกหนึ่งตำนานความเป็นมา ของอำเภอวังสามหมอ ที่ผูกโยงเป็นเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างจากตำนานแข้บักเฮ้า ที่กล่าวถึงสถานที่ที่แข้บักเฮ้า เดินทางหลบหนีความผิด แต่ทั้งสองเรื่องนี้ มาจบลงตรงที่หนองนำแห่งนี้ ที่ต่อมาเรียกว่า วังสามหมอ ตำนานอินถวา นางฟ้าแห่งวังสามหมอ
๏ เมืองหนึ่งในอดีตนั้น...... เชียงสม
มีธิดาน่านิยม.................. เสน่ห์เนื้อ
นามอินถวาคม-............... คายยิ่ง
มีเมตตาเอื้อเฟื้อ.............. สัตว์ทั้งปฐพี ฯ
๏ กาลหนึ่งมีจระเข้........... พลัดมา
ใกล้อุทยานพารา............. สระน้ำ
เมตตาจิตอินถวา.............. จึงจับ เลี้ยงนอ
ใส่ตุ่มมิให้ช้ำ................... เชื่องแล้วดิรัจฉาน ฯ
๏ ดวงมานสัตว์รักด้วย...... อินถวา
จิตผูกพันกัลยา................ เชื่องล้ำ
ต่อมาใหญ่กายา.............. จึงปล่อย
ให้อยู่ในสระน้ำ............... เติบขึ้นใหญ่เหลือ ฯ
๏ เมื่อครั้งนางขี่เจ้า.......... กุมภา
เล่นสนุกในนาวา............. ผ่องแผ้ว
เที่ยวเก็บดอกปทุมา........ เพลินอยู่
มือหนึ่งสางผมแล้ว.......... สุขแท้นารี ฯ
๏ หวีในมือพลั้งพลัด........ ตกไป
นางรีบก้มเร็วไว............... หยิบคว้า
กลับพลัดตกทันใด.......... ลงสู่ น้ำแฮ
จระเข้รีบอ้า.................... ปากนั้นคาบนาง ฯ
๏ งับร่างหวังช่วยพ้น........ อันตราย
เมื่องับกลับอ้าคาย........... บ่ได้
จึ่งกลืนร่างนางหาย.......... เข้าสู่ ท้องแฮ
มันหวาดกลัวบ่ใกล้.......... รีบลี้หนีไกล ฯ
๏ ไปอยู่ในแหล่งน้ำ......... กลางพนา
ฝ่ายพ่อสุดโกรธา............ จระเข้
จึ่งให้เหล่าหมอมา........... ช่วยปราบ
หมอเก่งว่าตัวเอ้.............. พ่ายแพ้กุมภีล์ ฯ
๏ มีหมอชายดับดิ้น.......... ไปสอง
ถูกจระเข้ผยอง................ ขบเคี้ยว
หมอคนต่อมาลอง........... หญิงนั่น
มนต์เก่งไม่หวั่นเขี้ยว........ จระเข้ใดใด ฯ
๏ ให้อำมาตย์ผูกแล้ว....... มั่นคง
เชือกมัดต้นไม้จง............. แน่นแฟ้น
อีกปลายหนึ่งประสงค์....... ผูกฉมวก
เสร็จอ่านมนต์รีบแจ้น........ โดดน้ำดำหา ฯ
๏ จระเข้อ้าปากกว้าง........ คอยที
ปากใหญ่ดุจถ้ำมี............. อยู่น้ำ
แม่หมอว่ายวารี.............. เข้าปาก
มันงับแต่ฉมวกค้ำ............ ติดค้างกางฟัน ฯ
๏ มันดิ้นรนฟาดน้ำ.......... ทรมา
หมอว่ายน้ำเข้าหา........... ฝั่งแล้ว
ให้ดึงเชือกกันหนา.......... บ่าวไพร่
ฉมวกติดมิคลาดแคล้ว..... จระเข้สิ้นผยอง ฯ
๏ เมื่อผ่าท้องพบแล้ว....... เป็นจริง
กระดูกแห่งเจ้าหญิง......... อยู่นั้น
เหล่าเครื่องแต่งอ้างอิง...... ระบุ ใช่นอ
ฝ่ายพ่อโศกสุดกลั้น......... รีบให้ทำบุญ ฯ
๏ ทำบุญอุทิศแล้ว........... มิรอ
ตั้งชื่อวังสามหมอ............ ถิ่นน้ำ
ส่วนอัฐิฝังหนอ............... ข้างที่ วังนา
กาลต่อมาแปลกล้ำ......... เกิดไม้ดอกขาว ฯ
๏ คราวดอกออกกลิ่นล้วน... สุคนธา
สดชื่นสูดนาสา.................. อีกซ้ำ
จึ่งให้ชื่ออินถวา................. ตามเหตุ เกิดแฮ
คือพุดซ้อนเสน่ห์ล้ำ............ ดอกไม้ในสยาม
ในกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองเชียงสม เชียงสา มีธิดาอยู่องค์หนึ่งนามว่า “ นางอินถวา” ซึ่งนอกจากจะมีรูปร่างสิริโฉมงดงาม เปล่งปลั่งแล้ว จิตใจของนาง ยังเปี่ยมล้นด้วยความเมตตากรุณา และในกาลครั้งนั้น นางยังอยู่ในวัยเด็ก ได้ลูกจระเข้ตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ในโอ่งน้ำ เช้า – เย็น นางก็จะนำเอาอาหารไปป้อนจระเข้ทุกวัน
เมื่อจระเข้เติบโตขึ้น นางอินถวา ก็นำเอาไปปล่อยลงในสระน้ำ เลี้ยงไว้ข้างคุ้มเจ้าเมือง วันเวลาได้ล่วงเลยมา จนกระทั่งเธอมีอายุได้ 16 ปี หรือวัยเต็มสาว เธอก็มีสิริโฉมอันงดงาม เปล่งปลั่ง เป็นที่หมายปองของเจ้าชายผู้ครองหัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วไป แต่ความผูกพันของนางกับจระเข้ ก็ยังมีความแน่นแฟ้นต่อกันอยู่เสมอ เธอออกไปหาจระเข้ เพื่อขี่หลังจระเข้ เพื่อหยอกเอิน อาบน้ำ ชำระร่างกาย และเก็บดอกบัว ขึ้นไปบูชาพระเป็นประจำทุกวัน
เจ้าชาละวันใหญ่ มันก็มักจะพาเธอ ดำผุดดำว่ายในสระน้ำ ด้วยความเบิกบานสำราญใจ เพราะมันก็มีความรักภักดีต่อนางเป็นอย่างยิ่ง และมีความสำนึกอยู่เสมอว่า นางเป็นผู้มีพระคุณ เลี้ยงดูให้ที่อยู่อาศัยตั้งแต่เล็กจนโต
ตกเย็นวันหนึ่ง นางอินถวา ได้ขี่หลังเจ้าจระเข้ยักษ์ ลงอาบน้ำในสระด้วยความสำราญใจ ขณะที่เธอกำลังสระผมอยู่นั้น หวีได้หลุดจากมือตกลงไปในน้ำ นางก็ใช้มือคว้าตาม จึงเป็นเหตุให้นาง พลัดตกจากหลังจระเข้ลงไปในน้ำด้วย จระเข้ใหญ่เห็นเช่นนั้นก็เกรงว่า นางผู้มีพระคุณจะจมน้ำตาย เพราะคิดว่าเธอว่ายน้ำไม่เป็น จึงพุ่งตัวเข้าไปใช้ปากคาบเอานางไว้
อาจจะเป็นเวรกรรม มาแต่ชาติปางไหนไม่ทราบได้ ตามธรรมชาติของจระเข้แล้ว มีขากรรไกรข้างบน เพียงด้านเดียว เมื่อมันงับ หรือคาบอะไรไว้แล้ว ต้องกลืนลงท้องทุกรายไปก่อน จึงจะอ้าปากได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้ เจ้าชาละวันใหญ่ จึงกลืนนางลงท้องไป และมันก็ไม่สามารถขย้อน หรือสำรอกเอานางออกมาได้ จนกระทั่งนางถึงแก่ความตาย ในท้องของมัน ด้วยความกลัวต่ออาญาแผ่นดิน ในคดีฆ่าและกินผู้มีพระคุณเป็นอาหาร เจ้าจระเข้ยักษ์ จึงตัดสินใจหลบหนีจากสระในคุ้มเจ้าเมือง ไปอาศัยน้ำปาววังน้ำใหญ่เป็นที่อาศัย หลบซ่อนตัว
เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ ทราบถึงเจ้าเมือง ผู้เป็นบิดาของนางอินถวา ว่าลูกสาว ได้หายไปพร้อมกับจระเข้จึงมั่นใจว่า ลูกสาวต้องถูกเจ้าจระเข้ คาบไปกินแล้วอย่างแน่นอน จึงสั่งให้อำมาตย์ เสนา น้อยใหญ่ ออกติดตาม โดยแกะรอยเท้าจระเข้ จากสระน้ำข้างคุ้มเจ้าเมือง ไปจนถึงป่า แล้วหายๆ ไปในวังน้ำใหญ่ เจ้าเมืองจึงสั่งล้อมวังน้ำใหญ่นี้เอาไว้ ประกาศหาคนดีมีวิชา หรือ “ หมอจระเข้ ” มาปราบให้ได้
ต่อมาไม่กี่วัน ก็ได้มี” หมอจระเข้” มาปราบเจ้าชาละวันตัวใหญ่ ซึ่งหมอปราบจระเข้ 2 คนแรกเป็นชายผู้ขมังเวทย์ แต่ในที่สุดวิชาอาคมสู้เจ้าจระเข้ไม่ได้ จึงทำให้หมอจระเข้ทั้ง 2 คน กลาย เป็นอาหารอันโอชะของมันไป และอีกไม่กี่วันต่อมา หมอจระเข้คนที่ 3 ซึ่งเป็นผู้หญิง ก็อาสาสมัครเข้ามาปราบเจ้าชาละวันตัวเก่ง และเธอก็ใช้วิชาอาคม พร้อมทั้งไหวพริบปฏิภานอันเยี่ยมยอด เข้าปราบจระเข้ตัวนี้จนสำเร็จ
เมื่อจัดการผ่าท้องจระเข้ออก ก็ได้พบศพ “ หมอจระเข้ ” 2 คน รวมทั้งศพนางอินถวา ซึ่งยังมีเป็นบางส่วนหลงเหลืออยู่ เจ้าเมืองผู้เป็นบิดา มีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ได้สั่งให้จัดการทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้หมอจระเข้ 2 คน พร้อมประกาศชื่อวังน้ำใหญ่แห่งนั้นว่า “ วังสามหมอ ” มาตั้งแต่บัดนั้น และวังสามหมอแห่งนั้น ก็กลายมาเป็น อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน
ส่วนศพของลูกสาวนั้น เจ้าเมืองผู้เป็นบิดา ได้ให้นำไปฝังไว้ที่ข้างคุ้มเจ้าเมือง และต่อมาไม่นานนักสถานที่ฝังศพของลูกสาวเจ้าเมือง ก็มีต้นไม้ต้นหนึ่ง มีดอกสีขาวสวยงามมาก เกิดขึ้นมา เจ้าเมืองคงคิดถึงลูกสาวมาก จึงตั้งชื่อต้นไม้ต้นนี้ว่า “ อินถวา ” มาตั้งแต่บัดนั้น
ต่อมา ต้นอินถวา ซึ่งมีดอกสีขาว ได้มีการปลูกกันแพร่หลายในภาคอีสาน และต่อมา ได้แพร่พันธุ์ไปยังภาคกลางและภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และต้นอินถวานี้ ในตำราพืชเรียกว่า “ ต้นพุทธซ้อน ” เป็นไม้ดอกที่ปลูกง่าย และปลูกได้ทุกเขตของดินฟ้าอากาศ และต้นไม้ชนิดนี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า ต้น “ คาดิเนีย ” อีกด้วย
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/jHBgLuGZcRM?si=JO9uR_VnVuuRwI-1
ตำนานดอกอินถวา