ตำนานนิทานพื้นบ้าน มหาเภตรา จังหวัดเพชรบุรี
ท้องถิ่นต่างๆ ของจังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีตำนานประจำถิ่นเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องมุขปาฐะ เล่ากันอย่างแพร่หลาย ถึงที่มาของชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งถือกำเนิดมาจากเรือลำใหญ่ที่ชื่อว่า "มหาเภตรา”
ตำนานประจำถิ่น มหาเภตรา บอกเล่าชื่อบ้านนามเมือง ในจังหวัดเพชรบุรี ได้เป็นอย่างดี ทั้งชาวบ้านรุ่นเก่าของเมืองเพชร ก็ยังสามารถเล่าเรื่องมหาเภตราได้บ้าง แม้จะไม่ปะติดปะต่อนัก ตามตำนานเล่าว่า
"แต่เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์โพ้น เวิ้งทะเลเพชรบุรี ปรากฏว่า มีแต่น้ำกับฟ้านั้น ยังมีมหาเภตรา สำเภา ใหญ่มหึมาลำหนึ่ง ว่าเป็นเทพนิมิต ด้วยฝาหอยกาบซีกหนึ่ง อันลอยอยู่ตรงที่ทุกวันนี้เรียกว่า บ้านพอหอย ทางตะวันออกนั้น ได้ท่องเที่ยวอยู่กลางทะเล กว้างยาวใหญ่ แต่ละด้านนับด้วยโยชน์ๆ เป็นประมาณ ในลำเภตรานั้น มีบ้านเรือนเรือกสวนไร่นา แบ่งไว้เป็นแผนกๆ มีสิงสาราสัตว์เนื้อนกต่างๆ
เล่ากันว่า ลำเภตรานั้นลอยอยู่ในทะเล ปรากฏราวกับว่า บ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นดินฉะนั้น สินค้าในลำสำเภานั้น มีสารพัดทุกอย่าง เป็นที่จำหน่ายขายซื้อกัน แต่พวกชาวเขาชาวดอน ครั้งหนึ่งสำเภาเภตรานั้น ได้แล่นผ่านมาทางน่านน้ำ เหนือภูเขาลูกหนึ่ง ท้องสำเภาได้กระทบเอายอดเขาหักกระดอน น้ำพัดไปตกอยู่ที่ตำบลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า เขาพนมขวด ยังปรากฏอ ยู่ระหว่างเขามหาสวรรค์กับเขาหลวงทุกวันนี้ และตัวเขาเดิมนั้น เมื่อยอดหลุดไปเสียแล้ว ตรงกลางก็คอดลาดยาวไป เลยเรียกกันว่าเขากิ่ว กลายเป็นเขตแยกเขาพืดเดียวกันนั้น ออกเป็นสองลูก เรียกว่า เขาบันไดอิฐลูกหนึ่ง จึงได้พูดกันในภายหลังว่า เขากิ่วนั้น เป็นทางเรือหรือทางสำเภาแต่นั้นมา
ฝ่ายว่ามหาเภตรานั้น ตั้งแต่วันที่ได้กระทบยอดเขามาวันนั้น ก็ชำรุด แล่นไปย่านทะเลตำบลหนึ่ง ได้เอาสมอตั้ง บัดพลีบวงสรวงกัน ตำบลนั้น ภายหลังจึงเรียกว่า "สมอพลี" นัยหนึ่งเขาเล่าว่า เมื่อบัดพลีสมอนั้น สมอได้กระดอนปรื๋อเลื่อนลงน้ำไป ไขอรรถว่าสมอปรื๋อ คือสมอพลีนั่นเอง ชักอุทาหรณ์เทียบกับคำว่า ราชบุรีกับราชพฤา เพ็ชร์บุรีกับเพ็ชร์พฤา สมอปรื๋อ เปนสมอพลี อย่างนั้นก็ว่า เมื่อสมอลงน้ำไปแล้ว สายสมอจดถึงพื้นทะเล เรือได้ลากสมอ จนถึงย่านทะเลตำบลหนึ่ง เกาะอยู่ จนเพรียงกินเรือจวนผุ สายสมอก็เก่า เสาใบทะลุปรุไป น้ำไหลเข้าลำสำเภา แล่นไปสมอหลุดจากเรือ จึงเรียกที่ตำบลนั้นในภายหลังว่า สมอหลุด คือที่บ้านหมอหลกหรือลกในทุกวันนี้ แล้วสมอนั้น น้ำพัดไปกบดานอยู่ที่พื้น อันเกือบจะเป็นหาดทะเลนั้น ครั้นจะถอนก็ไม่ขึ้น จึงเรียกที่นั้นในภายหลังว่าสมอดาน คือสมอกบดานอยู่นั้น
ฝ่ายสำเภาใหญ่นั้น เมื่อลอยไปได้สักหน่อย ก็ถูกลมตะเภาเป็นพายุ พัดคลื่น กระแทกเอาสำเภาทะลุ เพราะเป็นที่ตำบลร้าย น้ำเข้าท้องเรือได้ พวกลูกเรือได้ช่วยกันอุดและวิดน้ำ แล้วใช้ใบทวนกลับมาที่เรือทะลุนั้น จึงเรียกว่าบางทะลุต่อมา สำเภามหึมานั้น ได้หมุนเคว้งไปถึงย่านทะเลแห่งหนึ่ง ก็จมลง ฝูงคนแลสัตว์พลัดพลาย พากันจมน้ำตายมาก ที่สำเภาจมนั้น เมื่อน้ำเริ่มลดแล้ว เล่าว่า ยังแลเห็นเสากระโดงโผล่อยู่ในมหาบึง เรียกกันว่า อู่ตะเภาแต่กาลนั้นมา บ้างก็เรียกว่าอุดตะเภา เพราะอุดไม่ไหวเรือจึงจม
ฝ่ายฝูงคนที่เหลือตาย ได้พากันว่าย และเกาะกระดานเครื่องเรือต่างๆ ไปขึ้นได้ที่เขาตำบลหนึ่ง ตั้งชุมนุมบ้านเรือนอยู่ที่เขานั้น ภายหลังนิยมว่า เป็นต้นสกุลแห่งเจ้าลาย ณ เขาเจ้าลายนั้น”
ชาวบ้านในท้องถิ่นเพชรบุรีและใกล้เคียง ก็มีตำนานประจำถิ่น ซึ่งมีแบบเรื่อง และอนุภาค คล้ายกันกับตำนานประจำถิ่น มหาเภตรา อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ชาวบ้านหันตะเภา อ.ท่ายาง เล่าว่า "สำเภาลำที่ลอยมานั้น โดนพายุพัดจนหันลำกลับ จึงเรียกย่านบ้านนั้นว่า หันตะเภา” ชาวบ้านเพรียง อ.เมือง เล่าว่า "เหตุที่ชื่อว่าบ้านเพรียง เพราะเป็นบริเวณที่เพรียง กัดเรือสำเภาลำใหญ่นั้น”
ชาวบ้านเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าว่า "มีตำนานเกี่ยวกับเรือสำเภาล่มและผู้คน แยกย้ายลงมาตั้งถิ่นฐาน ในแถบเขายี่สาร บ้านแหลม เขาย้อย ว่ามีจีนสามพี่น้อง แล่นสำเภามาถึงในพื้นที่ก้นอ่าว เกิดเหตุสำเภาแตก จีนสามพี่น้อง ว่ายน้ำไปเกาะเขา แล้วลงมาตั้งหลักแหล่งสืบมา จีนขานไปตั้งชุมชนอยู่ที่เขายี่สาร (เขตสมุทรสงคราม) จีนเครา ไปตั้งชุมชนอยู่ที่เขาตะเครา(เขตบ้านแหลม) จีนกู่ ไปตั้งชุมชนอยู่ที่เขาอีโก้(เขตเขาย้อย)”
ชาวบ้านเขากระจิว อ.ท่ายาง เล่าว่า "เขากระจิว มีที่มาจากชื่อเจ๊กจิว ที่ลอยเรือค้าขาย อยู่ในเวิ้งทะเลแถบนี้ เจ๊กจิวเป็นจีนหน้าเลือด ค้าขายของแพง วันหนึ่งเกิดพายุ พัดสำเภาของเจ๊กจิวล่มลง เจ๊กจิวจึงลอยไปติด ตายอยู่บนเขากระจิว ซึ่งขณะนั้น เป็นเกาะกลางทะเล บางสำนวนเล่าว่า ขณะที่สำเภาของเจ๊กจิวกำลังจะล่มนั้น เจ๊กจิว ร้องขอให้พระพรหมบนภูเขาแห่งหนึ่งช่วย แต่พระพรหมเห็นว่า เจ๊กจิวไม่ประกอบสัมมาชีพ จึงได้แต่ชะแง้มองเฉยๆ เขาที่พระพรหมประทับอยู่นั้นจึงชื่อว่า เขาพรหมชะแง้”
ชาวบ้านชะอำ อ.ชะอำ เล่าว่า "พ่อปู่เขาใหญ่ เจ้าพ่อเขาใหญ่ และพ่อเจ้าลาย เป็นพี่น้องกัน ทั้งสามเดินทางมาจากเมืองจีนโดยเรือสำเภา แต่เรือสำเภามาล่มที่ชะอำ ท่านทั้งสาม จึงได้ลงมาตั้งบ้านตั้งเรือนสืบมา”
ชาวบ้านหนองชุมพล อ.เขาย้อย เล่าว่า "มีเรือสำเภาจีนแล่นไปชนเขาอีบิด แล้วเอียงไปล่มตรงที่มีชื่อเรียกว่าอู่ตะเภา ตรงเขาหัวจีนมีหินรูปร่างคล้ายหญิงจีนสวมหมวกเจ๊กอุ้มลูกนั่งอยู่ข้างหน้า คอยกู่เรียกหาผู้ที่รอดตายจากสำเภาล่ม จึงเรียกเขาลูกนั้นว่าเขาจีนกู่ หรือเขาหัวจีน”
ชาวบ้านสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าว่า "มีสำเภาลำใหญ่จากเมืองจีนแล่นมาในอ่าว แล้วเกิดถูกพายุพัดล่มลง คนจีนสามร้อยคนได้ลงจากเรือว่ายน้ำหนีขึ้นมาบนเขา คนทั้งสามร้อยรอดตาย จึงได้เรียกชื่อแนวเขานั้นว่า สามร้อยรอด และเพี้ยนมาเป็น สามร้อยยอด ในที่สุด หัวหน้าชาวจีนที่เข้ามาในคราวนั้นคือ พ่อปู่สามร้อยยอด ปัจจุบันเป็นอารักษ์ที่ชาวสามร้อยยอดนับถือมาก”
จากข้อมูลที่ยกมา จะเห็นได้ว่า ในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง มีตำนานประจำถิ่น ซึ่งมีแบบเรื่อง คล้ายกับตำนานประจำถิ่น มหาเภตรา โดยมีอนุภาคที่สำคัญ ๓ ประการ คือ เรือสำเภาลำใหญ่ ขนผู้คนเดินทาง เรือประสบพายุ หรือพัดไปโดนเขาจนอับปาง ผู้คนบนเรือ ลงมาตั้งถิ่นฐาน เป็นบรรพบุรุษของชุมชน
เพชรบุรีก็เช่นกัน มีตำนานประจำถิ่นที่เคยเล่ากันแพร่หลายอยู่ ๒ เรื่องคือ มหาเภตรา และ ตาม่องล่าย โดยเฉพาะมหาเภตรานั้น เป็นตำนานประจำถิ่น บอกต้นเค้าที่มาของชื่อบ้านนามเมือง ในถิ่นต่างๆของเมืองเพชรบุรี ที่ยึดโยงมาจากต้นรากเดียวกัน คือเรือลำใหญ่ ที่สืบสายการเดินทางมาจากแผ่นดินอื่น ตำนานประจำถิ่น มหาเภตรา จะบอกเล่าชื่อบ้านนามเมืองในจังหวัดเพชรบุรี ได้เป็นอย่างดี ทั้งชาวบ้านรุ่นเก่าของเมืองเพชร ก็ยังสามารถเล่าเรื่องมหาเภตราได้ และหลายพื้นที่ในท้องถิ่น ก็ได้เก็บอนุภาคของตำนานประจำถิ่น มหาเภตรา ไว้ในเรื่องเล่ามุขปาฐะของชุมชน
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/uQ0n_H3ENhE?si=huW2a-fDxNpO4tVg
ตำนานนิทานพื้นบ้าน มหาเภตรา จังหวัดเพชรบุรี