สุเหร่าโซเฟีย (Hagia Sophia) 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง
สุเหร่าโซเฟีย (Hagia Sophia) หรือในภาษากรีกเรียกว่า “ฮาเกียโซเฟีย (Αγία Σοφία)” และในภาษาตุรกีเรียกว่า “อายาโซเฟีย (Ayasofya)” ซึ่งในปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑ์อายาโซเฟีย (Ayasofya Museum) หรือฮายาโซฟีอา (Ayasofya Müzesi) อยู่ที่นครอีสตันบูล, ประเทศทูร์เคีย (Turkiye; Türkiye ทูร์กีเย) โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐทูร์เคีย (the Republic of Türkiye) หรือที่เรารู้จักในชื่อเดิม ประเทศตุรกี (Turkey)
กว่าจะมาเป็นสุเหร่าและพิพิธภัณฑ์ อย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้น ที่แห่งนี้ ได้ผ่านการสร้างมาแล้ว ถึงสามครั้ง ในสถานที่เดียวกัน
โดยในการสร้างครั้งแรก เคยเป็นโบสถ์ของคริสต์ศาสนา นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 360 โดยจักรพรรดิคอนสแตนเชียสที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมัน (Constantius II, ค.ศ. 337 – ค.ศ. 361)
จากหลักฐาน ของตราที่ประทับบนอิฐ ซึ่งถูกค้นพบ ทำให้เชื่อว่า โบสถ์แห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า โบสถ์ใหญ่ (Megale Ekklesia) โดยต่อมา ในปี ค.ศ. 404 ในรัชสมัย ของพระมเหสีของจักรพรรดิอาร์กาดิอุส (Emperor Arcadius, ค.ศ. 395 – ค.ศ. 408) โบสถ์แห่งนี้ถูกทำลาย จากการถูกเผา ในเหตุการณ์จลาจล
ที่เกิดจากความขัดแย้ง ระหว่างจักรพรรดินีแอเลียยูด็อกเซีย (Aelia Eudoxia Empress of the Roman Empire) กับนักบุญจอห์น คริสซอสตอม (John Chrysostom, ค.ศ. 349 – ค.ศ. 407) ผู้เป็นอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล
ต่อมาในปี ค.ศ. 415 โบสถ์ที่สอง ถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 2 (Theodosius II Emperor of the Roman Empire, ค.ศ. 408 – ค.ศ. 450) และถูกทำลายพังยับเยิน ในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 532 จากเหตุการณ์จลาจลนิก้า (Nika Revolt)
สำหรับโบสถ์ที่เห็นในปัจจุบันนั้น เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 532 โดยอีซีดอร์ แห่งมีเลตุส (Isidore of Miletus) และแอนเธมีอุส แห่งทราลเล็ส (Anthemius of Tralles) ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ด้วยคำสั่ง ของจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 (Justinian I Emperor of the Byzantine Empire, ค.ศ. 482 – ค.ศ. 565)
ซึ่งใช้เวลาในการสร้างอย่างเสร็จสมบูรณ์ เพียง 5 ปี โดยจัดพิธีเปิด และบูชาโบสถ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 537 และคงอยู่มาถึงจนปัจจุบัน ทำให้สุเหร่าโซเฟีย เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่ยังหลงเหลืออยู่ ของสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์
ภายในสุเหร่า มีความกว้างขวาง และมีโครงสร้างที่ซับซ้อน วิหารถูกปกคลุมด้วยโดมกลาง ที่มีความสูง 55.6 เมตร จากระดับพื้น และรอบฐานของโครงสร้าง วางอยู่บนโค้งประตู 40 บาน เพื่อช่วยลดน้ำหนัก และเสริมความแข็งแรง ของโครงสร้างของโดม โดมรูปวงรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 31.24 ถึง 30.86 เมตร ภายในตกแต่งด้วยเสาหินอ่อน และพื้นหินอ่อน ซึ่งนำมาจากเมืองโบราณ อนาโตเลีย (Anatolia), ซีเรีย (Syria) และเมืองอื่นๆ โดยรอบ ได้แก่ เมืองอัสเพนโดส เอเพสซุส (Aspendos Ephessus), เมืองบัลบีค (Baalbeek) และเมืองทาร์ซา (Tarsa)
โดยหินอ่อนสีขาว มาจากเกาะมาร์มารา (Marmara), หินโปร์ฟิริสีเขียว (Porphyry) จากเกาะเอรีโบซ (Eğriboz Island), หินอ่อนสีชมพู จากเมืองอัฟยอน (Afyon) และหินสีเหลือง จากแอฟริกาเหนือ สำหรับกำแพงของสุเหร่าทั้งหมด ยกเว้นกำแพงหินอ่อน ถูกตกแต่งด้วยภาพโมเสคของพระเยซู, พระแม่มารี, นักบุญคริสเตียน และทูตสวรรค์ ซึ่งมีการใช้ทอง, เงิน, แก้ว และหินหลากสี เพื่อสร้างภาพโมเสค ให้สวยงามเป็นพิเศษ
วิหารแห่งนี้ จึงได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม และทรงคุณค่าทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ โดยจักรพรรดิยุสตินิอานุสที่ 1 (Justinian I Emperor of the Byzantine Empire, ค.ศ. 482 – ค.ศ. 565) ได้ทรงดูแลความสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยสร้างขึ้นมาสมัยนั้น
สุเหร่าถูกบูรณะ ซ่อมแซมหลายครั้ง จากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 859 และเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 553, ค.ศ. 558, ค.ศ. 869 และ ค.ศ. 989 ตามลำดับ และมันก็ยังคงเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดนับพันปี จนกระทั่งวิหารเซบียา (Seville Cathedral) ถูกสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1520
ต่อในปี ค.ศ. 1453 กรุงคอนสแตนติโนเปิล ถูกพิชิตโดยจักรวรรดิออตโตมัน ภายใต้การปกครอง ของสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 แห่งจักรวรรดิออตโตมัน (Mehmed the Conqueror, ค.ศ. 1432 – ค.ศ. 1481) สุเหร่าโซเฟีย ได้รับการปรับปรุงให้เป็นมัสยิด โดยการนำระฆัง, แท่นบูชา, วัตถุอื่นๆ รวมถึงภาพโมเสค ถูกนำออกไป และเพิ่มสัญลักษณ์ทางศาสานาอิสลาม ถูกนำเข้ามาแทนที่ เช่น มิหร็อบ (Mihrab) เป็นแท่นบูชา เพื่อที่ใช้เป็นประชุมทิศ สำหรับการประกอบศาสนกิจ และมินบาร์ (Minbar) ธรรมาสน์สำหรับอีหม่าม (Imam) ขึ้นนั่ง เพื่อนำละหมาดและเทศน์คำสอน รวมไปถึงแผงอักษร ตัวที่ใหญ่ที่สุด ในโลกอิสลาม ซึ่งเป็นแผงตัวอักษรประดิษฐ์ ขนาด 7.5 – 8 เมตร ที่เขียนขึ้นโดย คาลิกราฟเตอร์ คาดิอาสเกอร์ มุสตาฟา อิซเซต เอเฟนดี สุเหร่าโซเฟีย ยังคงเป็นมัสยิด จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1931 ได้ถูกปิดไปเป็นเวลาสี่ปี
ต่อมาสุเหร่าโซเฟีย ถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ ตามคำสั่งของ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีตุรกีคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี โดยพิพิธภัณฑ์อายาโซเฟีย (Ayasofya Museum) เปิดทำการครั้งแรก ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 และกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยว ที่สำคัญและยอดนิยม ของประเทศ
นอกจากนี้สุเหร่าโซเฟีย ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ ทางสถาปัตยกรรมของโลก ในยุคกลาง และยังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ของอิสตันบูล (Historic Areas of Istanbul) ที่ได้รับการจดทะเบียน ขึ้นเป็นมรดกโลก ขององค์การยูเนสโก ในปี ค.ศ. 1985 อีกด้วย
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/5gFtjPJhNW0?si=pfOmvwVNof116lvS
wikipedia
Hagia Sophia