ตำนาน พระบรมธาตุทุ่งยั้ง (อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์)🙏🙏🙏
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ไปต่าง ๆ กัน เช่น วัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุทุ่งยั้ง วัดพระธาตุทุ่งยั้ง วัดหน้าพระธาตุ วัดบรมธาตุ และ วัดทุ่งยั้ง
ในคัมภีร์ปัญจพุทธพยากร ซึ่งเป็นเรื่องแทรกอยู่ท้ายปัญญาสชาดก และตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองทุ่งยั้ง ได้กล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ 5 พระองค์ คือ กุกกุสันธโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นไก่เถื่อน โกนาคมนโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นนาคราช กัสสปโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นเต่า โคดมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นโคอศุภราช เมตเตยยโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ทั้ง 5 พระองค์ ได้มาบำเพ็ญบารมี ณ ระหว่างซอกเขากันทรบรรพต ต่างสัญญากันว่า ผู้ใดได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะต้องมาประกาศความเป็นพระพุทธเจ้า ให้ปรากฏไว้ในที่นี้
เมื่อกุกกุสันธโพธิสัตว์ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จมาประทับบนแผ่นศิลา ณ กันทรบรรพต ทรงลูบพระเศียร ประทานเส้นพระเกศา แด่หมู่พระอรหันต์ หมู่พระอรหันต์ จึงมอบไว้กับพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงประดิษฐานพระเกศธาตุนั้นไว้ ณ บริเวณนั้น พระกุกกุสันธพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพาน จะมีกษัตริย์นำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองนี้ แม้พระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ก็จะมาอยู่ที่นี้เช่นเดียวกัน
สมัยโคดมโพธิสัตว์ ได้ตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า พระองค์พร้อมกับพระอรหันต์ 500 องค์ ได้เสด็จมาประทับยับยั้งกันทรบรรพตนอกเมือง ภายหลังเรียกเมืองนั้นว่า ทุงยันตินคร (เมืองทุ่งยั้ง) เจ้าอาย (เอยยะ/อัยยะ) ลูกนายไทยซึ่งเป็นใหญ่แก่คนทั้งหลายบริเวณนั้น จึงได้ประกาศให้ชาวเมืองนำเต้าแตงถั่วงาปลาอาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาสั่งสอน พระอานนท์ได้นำบาตรพระพุทธเจ้าไปแขวนห้อยไว้บนต้นพุทรา ภายหลังเรียกว่า ต้นพุทราแขวนบาตร พระเรวตะเตือนพระอานนท์ว่าได้เวลาภัตตกิจแล้ว พระอานนท์จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าให้กระทำภัตตกิจ แล้วพับผ้าสังฆาฏิ 4 ชั้น ปูผ้าเหนือแท่นศิลา พระพุทธเจ้าจึงทรงกระทำภัตตกิจบนแท่นศิลาที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เคยนั่งบำเพ็ญบารมี ภายหลังเรียกว่า พระแท่นศิลาอาสน์
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระพุทธเจ้า ทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์กับพระเรวตะ จึงทูลถาม ถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า อีกเดียวจะมีมหายักษ์ผู้หนึ่งได้นำเอาน้ำใส่คนโทแก้วมาถวาย ต่อมามีมหายักษ์นำคนโทแก้วใส่น้ำมาถวายจริง ๆ มหายักษ์ได้เหยียบมดง่ามใหญ่ 3 กำ ยาว 3 ศอก 4 ตัว ที่กำลังสูบดมกลิ่นภัตตาหารที่พระพุทธเจ้าเสวย แล้วไล่มดไป (ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ว่ามหายักษ์ให้มดง่ามนำคนโทแก้วไถวายพระพุทธเจ้า) พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ศีล 5 แก่มหายักษ์ มหายักษ์เลื่อมใสได้ถอดเขี้ยวแก้วถวายและลากลับไป และมีพุทธฎีกากับพระอานนท์ว่า ภายหลังพระองค์ปรินิพพานไปได้ 2,000 ปี มดง่ามทั้ง 4 จะได้กลับมาเกิดเป็นกษัตริย์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ใส่กระโถนศิลาแลงข้างพระแท่น ภายหลังเรียกว่า บ้วนพระโอษฐ์ (จากการค้นคว้าของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ พบว่า เดิมวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ มีมุขยื่นออกมา จากตัววิหารด้านทิศเหนือเรียกว่า "มุขบ้วนพระโอษฐ์" ประดิษฐานบ้วนพระโอษฐ์ไว้ที่นั้น ภายหลังวิหารไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2451 ช่างบูรณะได้ตัดส่วนมุขบ้วนพระโอษฐ์นี้ไปเสีย ปัจจุบันบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าถูกทิ้งไว้ข้าง ๆ ซุ้มประตูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระแท่นศิลาอาสน์)
ครั้นเสร็จแล้วพระองค์จึงลุกจากแท่นศิลา มาประทับยืนเหนือแท่นศิลาบนภูเขาอีกยอด หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ภายหลังเรียก หนองพระแล พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทบนก้อนศิลานั้น ภายหลังคือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีพญากวางทองตัวพร้อมด้วยสัตว์บริวารทั้งหลาย คือ ช้าง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือดาว นกแก้ว นกสาลิกา กระรอก พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กระทำการน้อมตัวอภิวันทนาการ พระพุทธเจ้าทรงแย้มพระสรวล พระเรวตะจึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะมีการนำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองแห่งนี้ เมื่อผ่านไปได้ 2,000 ปี พญากวางทองจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ สละสมบัติออกบวช มีนามว่า ปูริชาชิอุรุภิกษุ จะมาบูรณะให้รุ่งเรือง พร้อมกับบริวารสัตว์ ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เช่นกัน แต่คนละแห่ง ทั้งหมด จะพาครอบครัวมาอยู่บริเวณนี้จนเจริญรุ่งเรือง พระมหากษัตริย์และเทพดามนุษย์ทั้งหลาย จะพากันมาสักการะ
และเมื่อผ่านไป 2,000 ปี จะมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ครองทุงยันตินคร และจังโกธิบดี ครองลโวตินคร (ละโว้) จะยกพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่าน ขึ้นด้วยพระราชศรัทธา แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในบริเวณแท่นศิลาที่พระพุทธเจ้าเคยประทับยืน แล้วพระองค์เสด็จลงจากเนินเขาไปทางทิศเหนือเพื่อเดินจงกรม จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาบรรทมเหนือแท่นศิลาบริเวณเนินเขาอีกยอด ภายหลังคือวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเมืองอื่นต่อไป
เมื่อผ่านไป 2,000 ปี มีพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระญาสรีธัมมาโสกราช เสด็จมายังทุงยันตินคร ให้ขุดหลุมลึก 18 วา กว้าง 18 ศอก หล่ออ่างทองเอาน้ำใส่ในอ่างนั้นจนเต็มแล้ว หล่อรูปราชสีห์ทองคำตั้งไว้ในอ่างทอง หล่อรูปผอบทองคำตั้งไว้บนหลังรูปราชสีห์ทองคำ แล้วหล่อรูปพระนารายณ์ทองคำ พระหัตถ์ถือผอบแก้วบรรจุพระธาตุ ตั้งไว้บนผอบทองคำหลังรูปราชสีห์ทองคำ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หล่อรูปปราสาททองคำ หล่อรูปพระอินทร์ถือจักรทางทิศตะวันตก หล่อรูปท้าววิรุฬหกถือพระขรรค์ทางทิศใต้ ทำรูปภาพยนต์เคลื่อนไหวไปมาหมุนอยู่รอบ ๆ ที่นั้น พระญาสรีธัมมาโสกราชสั่งรูปเหล่านั้นรักษาพระธาตุไว้ให้ดี แล้วปิดหลุมด้วยทองเงินอิฐหินกรวดทราย แเกลี่ยพื้นดินเสียให้เรียบ ปลูกต้นรังบริเวณนั้น แล้วเสด็จไปมาเลยยาราม (สวรรคโลก)
เมื่อผ่านไป 2,000 ปี พญากวางทองได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นภิกษุ มีนามว่า มหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ เวลานั้นมีคนเข็ญใจเทียมวัวออกไปทำไร่ถั่วบริเวณใกล้กับต้นรัง พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แผ่ฉัพพรรณรังสี วัว 2 ตัวเห็นก็ตกใจหนีไป ฝ่ายคนเข็ญใจจึงนำความไปบอกนายคามกูต นายคามกูตจึงพาคนเข็ญใจไปเล่าเรื่องให้พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุจึงออกไปดูบริเวณต้นรัง และอธิษฐานขอให้พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ ทั้งสามเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงชักชวนคนทั้งหลายมาตัดต้นรังออก แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา 2 ศอก ภายหลังคือวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง นายคามกูตขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาเงินหมื่นหนึ่งฝังไว้ อธิษฐานว่าถ้าใครจะมาบูรณะพระเจดีย์ให้พบเงินในหลุมนี้ มารดาของนายคามกูตได้ขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาทองฝังไว้ แล้วเอารูปปลาตะเพียนศิลาปิดหลุมไว้ อธิษฐานเช่นเดียวกับนายคามกูต
สันนิษฐานว่า ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์นี้ ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ของล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งอยู่ติดกับเขตล้านนา ตำนานพระบรมธาตุทุ่งยั้งที่ปรากฎในตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ได้ถูกเขียนขึ้นอย่างมากมายหลายเรื่องเล่ามีความเหมือนและแตกต่างกันบ้าง ดังเช่นตำนานที่คัดลอกมาจากหนังสือที่พระสมุห์กอ ญาณวีโร รวบรวมไว้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2508 ความว่า
กิร ดังได้ยินมาว่า พระกุกกุสันโธ เสด็จอยู่ในภูเขาซอกนอกเมืองทุ่งยั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกพระหัตถ์ลูบพระเศียรเกล้า พระเกศหล่นลงเส้นหนึ่ง และพระองค์ก็ทรงยื่นให้พระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ยื่นให้พระยาอโสกราช พระยาอโสกราขก็บรรจุไว้ในถ้ำทุ่งยั้งนี้แล แล้วพระพุทธเจ้าก็พระพุทธฎีกาตรัสเทศนาพยากรณ์ทำนายไว้ในเบื้องหน้าว่า เมื่อตถาคตนิพพานล่วงลับไปแล้ว ถึงศาสนาโคดม ศาสนาพระพุทธกัสสปะ ศาสนาพระศรีอริยเมตไตย ก็จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในสถานที่นี้ทุก ๆ พระองค์ ในศาสนาของเรานี้ พระศรีธรรมโศกราชเสด็จมายับยั้งเมืองทุ่งยั้ง พระองค์ให้ขุดแผ่นดินตรงถ้ำเมืองทุ่งยั้ง ลึกได้ 4 วา กว้าง 10 วา 3 ศอก สี่เหลี่ยมจัตุรัส จึงได้หล่ออ่างลูกหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่ง ได้ตักน้ำใส่เต็มแล้วจึงหล่อสิงโตตัวหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งให้ยืนอยู่ในอ่างทอง แล้วให้หล่อพานทองหนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งตั้งไว้เหนือสิงห์โตทองนั้น แล้วจึงหล่อรูปพระนารายณ์องค์หนึ่งสิ้นเงินทองหนึ่งบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออก ชูไว้ซึ่งผอบแก้วผลึกแล้วตั้งไว้เหนือพานทองคำนั้น แล้วพระยาศรีธรรมโศกราชและพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายก็อาราธนาพระบรมอัฐิพระพุทธเจ้ามาบรรจุไว้ในผอบผลึกแก้วซึ่งมีรูปพระนารายณ์อยู่นั้น แล้วให้หล่อรูปปราสาทลิ้นทองหนึ่ง แล้วพระอิศวรถือจักรตราวุธด้วยทองคำประดิษฐานอยู่ในทิศตะวันออก แล้วจึงให้หล่อรูปวิรุฬหกถือพระขรรค์ทองคำอยู่ทักษิณ รูปพระอิศวรและท้าววิรุฬหก เป็นภาพยนตร์พัดอยู่นิตย์กาล แล้วพระอรหันต์แลท้าวพระยาทั้งหลายก็สั่งภาพยนตร์ว่า ดูกรยักษาและเทวบุตรอันอยู่พิทักษ์รักษาสถานที่นี้ ท่านจงตั้งใจรักษาพระธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ถ้าเมื่อบุคคลใดปรารถนาจะทำอันตรายแก่พระธาตุนี้ พอที่จะให้ตายก็ให้ตาย พอที่จะให้ฉิบหายก็ฉิบหาย เป็นอันตรายอย่าให้ต่อสู้ท่านได้เลย ผิว์บุคคลผู้ใดจะบำรุงพระธาตุในสถานที่นี้แลมานมัสการด้วยน้ำจิตเลื่อมใสศรัทธา ท่านทั้งปวง จงพิทักษ์รักษาคนหมู่นั้นอย่าให้เป็นอันตรายแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ครั้นพระอรหันต์ท้าวพระยาสั่งดังนั้นแล้ว จึงโปรยข้าวตอกธูปเทียนกระทำสักการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แล้วจึงถมด้วยอิฐเงินอิฐทองและศิลาแลงให้เสมอแผ่นดิน แล้วจึงปลูกไม้รังต้นหนึ่งอยู่ในสถานที่นั้น แล้วพระศรีธรรมโศกราชจึงพาลี้พลกลับไปเมืองสังกะโลกอันเป็นราชธานีแห่งพระองค์ ตถากาเลยังมีชายคนหนึ่งไปไถไร่ถั่วในเพลาเช้า เมื่อไถไปแถบต้นรังที่พระสารีริกธาตุบรรจุไว้ในที่นั้น และชายซึ่งไถไร่ถั่วนั้นเห็นพระรัศมีมีพระสารีริกธาตุกระทำปฏิหารย์ ดังนั้นเห็นเป็นอัศจรรย์ก็กลับมาสู่เรือน แล้วนำความที่ตนเห็นไปบอกแก่บุรุษนายบ้านชื่อว่านายยอด นายยอดจึงพาคนที่ไถไร่ถั่วนั้นไปสู่สำนักพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย ชายที่ไร่ถั่วนั้นก็บอกความโดยสัตย์อันตนได้ประสบมาแก่พระมหาเถระเจ้ามหากาเลทัย อถ โข ลำดับนั้นพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย นายยอด และชายที่ไถไร่นั้น พร้อมด้วยมหาชนทั้งหลายก็ไปยังต้นไม้รังนั้น แล้วพระมหาเถระเจ้ากาเลทัย เจ้าพระผู้เป็นเจ้าก็พิจารณาด้วยญาณปัญญาก็รู้ว่า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระพุทธเจ้าไว้ฐานที่นั้น จึงตั้งคำสัตย์อธิษฐานว่า ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระกรุณาแก่สัตว์โลกครั้งนั้น ถ้าข้าพเจ้าจะได้อุปถัมภ์ทำนุบำรุงยกย่องพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็ขอให้พระบรมสารีริกธาตุจงกระทำปฏิหารย์ให้ปรากฏแก่ตาข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ เมื่อพระมหาเถระเจ้ากาเลทัยตั้งความสัตย์อธิษฐานดังนั้นแล้ว พระบรมสารีริกธาตุแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าก็กระทำปฏิหารย์ เสด็จออกมาเท่าลูกมะพร้าวแลลูกตาล รุ่งเรืองแล้วก็แตกออกไป ประดุจถูกพลุทั่วทิศานุทิศทั้งปวง ฝ่ายมหาชนทั้งหลายมีพระมหาเถระเจ้ากาเลทัยเป็นประธาน ก็ชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาปราโมทย์พากันหมอบถวายนมัสการและวสักการบูชาพระพบรมสารีริกธาตุนั้นด้วยดอกไม้ของหอมธูปเทียนชวาลานาๆประการ แล้วก็ตัดต้นรังนั้นทิ้งเสีย ก็เป็นพระเจดีย์สรวมลงไว้ในที่ต้นรังนั้นคือ พระมหาเจดีย์อันประเสริฐ ประดิษฐานไว้ในเมืองทุ่งยั้งนั้น อัชชัตตนา ดังมีปรากฏอยู่ ตราบเท่าทุกวันนี้
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/G2gI-fC-G_8?si=CovqGT-npx4px-JF
ตำนาน พระบรมธาตุทุ่งยั้ง