หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

เมืองเซไล บ้านเมืองเก่า ของชาวไทเลย😱😱😱

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

ตามตำนานเล่าว่า ชาวไทยที่มีผู้นำ สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองอาณาจักรโยนก อีกกลุ่มหนึ่ง ได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน ระหว่างชายแดนตอนใต้ ของอาณาเขตลานนาไทย ต่อแดนลานช้าง คนไทยกลุ่มนี้ อยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ สืบเชื้อสายต่อมาหลายชั่วอายุคน จนถึงสมัยที่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ลิไท ปกครองอาณาจักรสุโขทัย เนื่องจากการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพญาลิไท ใน พ.ศ.๑๘๙๐  นั้น มิได้เป็นไปอย่างราบรื่น ดังปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔) ว่า เมื่อพญาเลอไทสวรรคตแล้ว พญาลิไท ซึ่งเป็นอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย ต้องยกทัพมาล้อมเมืองสุโขทัย และเอาขวานประหารศัตรูทั้งหลาย แล้วจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงสุโขทัย ในระยะแรกครองราชย์ พญาลิไท ต้องปราบปรามพวกพ้อง ของผู้คิดชิงอำนาจ พร้อมกับการทำนุบำรุงบ้านเมือง ชาวไทยกลุ่มที่ตั้งบ้านเรือน อยู่เขตชายแดนอาณาจักรล้านนา ต่อแดนลานช้าง จึงเกรงว่า พญาลิไท อาจจะทรงคิดกอบกู้พระราชอำนาจ ยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองทางด้านนี้ และมีความเห็นว่า หมู่บ้านของตนเป็นทางผ่าน และอยู่ใกล้แดนลานช้าง ทั้งตนเอง ก็ได้ผูกสัมพันธไมตรี มีความสนิทสนมรักใคร่ เป็นสหายต่อกันกับเจ้าชีวิต เมืองหลวงพระบาง จึงคิดที่จะขจัดปัญหายุ่งยาก ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นทั้งสองฝ่าย ให้หมดสิ้นไป

จึงนำผู้คน อพยพออกเดินทาง ผ่านเข้าไปในแดนลานช้างของพระสหาย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก แล้วจึงมุ่งหน้า เดินลงไปทางทิศใต้ เมื่อข้ามลำแม่น้ำใหญ่ (คือแม่น้ำเหือง) ได้แล้วก็วกลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ครั้นไปถึงริมแม่น้ำสายใหญ่ เห็นมีชัยภูมิ เหมาะสมในการตั้งถิ่นฐาน จึงได้พาผู้คนหยุดพักสร้างบ้าน ตั้งเมืองขึ้น โดยให้ชื่อว่า “เมืองเซไล” (คำว่า “เซ” ในภาษาท้องถิ่นสมัยนั้น ใช้เรียกแม่น้ำขนาดย่อม หรือลำห้วยขนาดใหญ่ ซึ่งไปตรงกับคำว่า “แคว” ในภาษาของภาคกลาง ส่วนคำว่า “ไล ไหล หรือเลอว” อันเป็นสำเนียงเสียงพูดของผู้คนในสมัยนั้น สันนิษฐานว่า คงจะหมาย ถึงลักษณะของน้ำที่กำลังไหล หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นคำว่า “เซไล” ก็คงจะหมายถึง น้ำที่กำลังไหลเชี่ยว หรือชะสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง

ผู้นำในการอพยพ จนสร้างเมืองเซไลครั้งนั้น  แม้จะมีฐานะเป็นเพียงนายบ้าน ผู้ปกครองหมู่บ้าน แต่ก็คงจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสาย มาจากราชวงศ์สิงหนวัติเช่นกัน เพราะในยุคนั้น มีคำเรียกขานผู้นำว่า “เจ้าฟ้าร่มขาว” คำว่า “เจ้าฟ้า” แสดงฐานะความเป็นเจ้าผู้ครองนคร “ร่มขาว” ก็คือ ร่มหรือสัปทน ที่ทำด้วยผ้าขาว ซึ่งใช้กางกั้น เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศ ของผู้มียศศักดิ์เท่านั้น

ครั้นเจ้าฟ้าร่มขาว ได้ขึ้นครองเมืองเซไล ได้นำชาวเมืองเซไล พัฒนาบ้านเมือง ด้วยการขุดลอกหนองน้ำเล็ก ทางชายเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือ และนำดินส่วนใหญ่มาถม ยกระดับที่ลุ่ม ทางด้านทิศใต้ใกล้ฝั่งน้ำ ให้เป็นสันคันคูกั้น น้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เมื่อการขุดลอกขยายหนองน้ำเล็ก ๆ ออกไปจนกว้างขวางเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ชาวเมือง ไปหาพันธุ์บัวหลวงมาลงปลูกเอาไว้ แล้วขนานนามว่า "สระบัวหลวง" มาจนกระทั่งทุกวันนี้ หลังจากนั้น ก็ได้พิจารณาเห็นว่า "วัดกู่" ที่บิดาสร้างเอาไว้ ใกล้หอโฮงการ ด้านริมฝั่งเซไล ได้ถูกน้ำเซาะกัดเข้ามา จนจะถึงตัวพระอุโบสถ มิวันใดวันหนึ่ง คงต้องพังทลายลงไปตามกระแสเซไล พอดีในระหว่างนั้น เจ้าฟ้าร่มขาวได้บุตรชาย ซึ่งกำเนิดจากนางเทวีหนึ่งคน  ในขณะที่อายุล่วงเลยวัยกลางคนไปแล้ว เลยให้ชื่อว่า "ท้าวหล้าน้ำ" เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบาง ก็ได้ลงมาเยี่ยม และต่อจากนั้นมาอีกไม่นาน  เจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบาง ได้ทิวงคต ในระยะที่เมืองเซไล ได้ก่อสร้างวัดขึ้น บนสันคันคูด้านทิศใต้ของสระบัวหลวง  ก็ได้มีเหตุแปลกประหลาดเกิดขึ้นคือ มีเรือทองคำปราศจากฝีพาย เป็นพาหนะ นำอัฐิเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบาง มาถึงเมืองเซไล แล้วเรือได้พุ่งเข้าฝั่งเพื่อจอด แต่ความแรง หัวเรือได้พุ่งเข้าหาตลิ่ง ไปโผล่ขึ้นบนฝั่งทางด้านหน้าวัดใหม่ ที่กำลังสร้าง

เจ้าฟ้าร่มขาว เกรงชาวเมืองจะมาทำลาย เลยให้ก่อสถูปครอบหัวเรือทองคำเอาไว้ ส่วนอัฐิของเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบาง พระสหาย ก็ให้นำไปเก็บไว้ในหอโฮงการ รวมไว้กับอัฐิบิดาของตน เมื่อการก่อสร้างวัดและสถูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ขนานนามวัดว่า "วัดกู่คำ" และขนานนามพระสถูป ซึ่งสร้างครอบหัวเรือทองคำว่า "พระธาตุกุดเรือคำ" ซึ่งสร้างเสร็จราว พ.ศ.๒๐๐๐ แต่ตามหลักฐาน ซึ่งได้จารึกเอาไว้ที่วัดกู่คำว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๐ นั้น สันนิษฐานว่า เจ้าฟ้าร่มขาว ประสงค์ให้ชาวเมืองทั้งหลาย ได้รำลึกถึงคุณความดีของบิดา ซึ่งนำพาผู้คน อพยพลงมาบุกเบิกสร้างบ้านเมือง จนได้ตั้งเมืองเซไล และสร้างวัดกู่ ขึ้นไว้เป็นวัดแรก

เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ ถึงวัดกู่ จะพังทลายลงไปในกระแสแม่น้ำเลย ตามกาลเวลา และเจ้าฟ้าร่มขาว ก็ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ โดยเจตนา จะนำชื่อวัดเก่า มาตั้งเป็นชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งพอดีกับเจ้าชีวิตเมืองหลวงพระบางทิวงคต ด้วยความรักกันอย่างแน่นแฟ้น ถึงจะมีแต่เพียงกระดูกหรือเถ้าถ่าน ก็ยังมาถึงกัน  เจ้าฟ้าร่มขาว ก็จึงนำเอาชื่อของทั้งสอง มารวมเข้าด้วยกัน แล้วตั้งเป็นชื่อวัดว่า "วัดกู่คำ" แต่นำเอา พ.ศ.๑๙๐๐ ซึ่งเป็นปีที่ตั้งวัดกู่ของบิดา มาจารึกเอาไว้เป็นอนุสรณ์ ส่วนคำจารึก ซึ่งติดไว้ที่ป้ายพระธาตุกุดเรือคำ  ซึ่งได้มีการบูรณะ ปั้นด้วยปูนพอกสถูปองค์เดิมขึ้นใหม่ จนผิดรูปผิดร่างเดิมไป ด้วยฝีมือของหลวงพ่อเนียม ชาวบ้านนาโป่ง ตำบลนาโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดกู่คำ ราวปี พ.ศ.๒๕๑๙  

ต่อมา ได้ถึงแก่มรณภาพที่วัดบ้านเกิด หลวงพ่อเนียม ได้ทำการบูรณะ ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีความมั่นคง และสวยงาม จึงได้มีการเสริมรูปร่างขององค์พระสถูป ให้แปลกตาออกไป ในคำจารึกที่แผ่นป้ายบอกไว้ว่า "สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๒๐๐" นั้น เป็นการจารึกผิดพลาดอย่างแน่นอน พระธาตุกุดเรือคำ น่าจะสร้างราว พ.ศ.๒๐๐๐ มากกว่า

บันทึกในสมุดข่อย ที่นายหำ อุทธตรี หรือ "พ่อตู้แพทย์" แห่งบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พบในขณะบรรพชา เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ ที่วัดกู่คำ บ้านทรายขาว กล่าวถึงการปกครองเมืองเซไล โดยแบ่งออกเป็น ๕ ยุค ดังนี้

ยุคที่ ๑  เจ้าฟ้าร่มขาว มีภรรยาชื่อนางเทวี เชื้อสายเดียวกัน มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวหล้าน้ำ" มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๑.๑  ขุดลอกหนองน้ำ นำบัวลงปลูกให้ชื่อว่า "สระบัวหลวง"

๑.๒  สร้างพระธาตุกุดเรือคำ

ยุคที่ ๒  ท้าวหล้าน้ำ มีภรรยาเป็นชาวเมืองเซไล ชื่อ นางหล้า และมีบุตรชาย หญิง ๒ คน ชื่อ "ท้าวศิลา และนางชฎา" เล่ากันว่า นางหล้า เป็นลูกของนางสีดา ซึ่งเกิดมาจากนางสีดา ได้ไปดื่มน้ำในรอยเท้าช้างชื่อมโนศิลา และรอยเท้ากวาง นางสีดาให้กำเนิดบุตรี ฝาแฝดผู้พี่ชื่อนางหล้า ผู้น้องชื่อนางลุน และผู้น้อง ได้มาเสียชีวิตลง ในคราวเดินเสี่ยงทางไต่งวงงา ของพญาช้าง เลยเหลือแต่นางหล้า ซึ่งเป็นลูกของช้าง และต่อมานางหล้า ก็คือนางผมหอม ซึ่งมีนิวาสถานอยู่ที่ภูหอ สัญลักษณ์กิ่งอำเภอภูหลวง ในปัจจุบันนี้ ในสมัยของท้าวหล้าน้ำ ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

๒.๑  สร้างวัดเทิง (ปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีเหลือซากอิฐและหุ่นพระประธาน อยู่ข้างที่ทำการประปาบาดาลบ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย)

๒.๒  เมืองเซไล มีชื่อเรียกเป็นสร้อยต่อว่า "เซไลไซ้ข่าว" ทั้งนี้ เนื่องจากคล้ายเป็นเมืองหน้าด่าน ของเมืองลม (หรือหล่มสักเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์) ซึ่งจะต้องสืบข่าวคราว หรือส่งข่าวไปยังเมืองลม

ยุคที่ ๓  ท้าวศิลา มีภรรยาชื่อนางสุขุม มีเชื้อสายเป็นชาวเมืองหลวงพระบาง มีลูกชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวสายเดือน" มีเหตุการณ์ที่สำคัญดังต่อไปนี้

๓.๑  สร้างวัดทุ่ง หรือในปัจจุบันนี้เรียก "ทุ่งนาคันทง" แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่หลักฐานอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่พอจะมีเหลือไว้ให้ได้เห็น คือต้นโพธิ์ อยู่ในบริเวณสวนกล้วยของเอกชน ลึกเข้าไปทางซ้าย ของทางหลวงจังหวัด สายวังสะพุง-ทรายขาว ประมาณ ๑๕ เมตร และอยู่ห่างจากหมู่บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประมาณ ๕๐๐ เมตร

๓.๒  ในยุคนี้เมืองเซไล มีสร้อยเรียกต่อไปใหม่ "เซไลส่วยขาว" เนื่องจากชาวเมืองเซไลแต่ละครัวเรือน จะต้องส่งส่วยด้วยผ้าขาว เรือนละ ๑ วา (ประมาณ ๒ เมตร) ส่วนการส่งส่วยผ้าขาว จะได้ส่งไปทางกรุงศรีอยุธยา หรือเมืองหลวงพระบาง ยังไม่มีหลักฐานระบุให้แน่ชัด

ยุคที่ ๔  ท้าวสายเดือน มีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดา ชื่อ นางบัวเซีย มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อ "ท้าวเดือนสุข" และมีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๔.๑  สร้างวัดตาล (ปัจจุบันคือวัดโพธิ์เย็น ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดกู่คำ ห่างประมาณ ๒๐๐ เมตร)

๔.๒  ชาวเมืองเซไลยังต้องส่งส่วยผ้าขาวอยู่เป็นประจำ

ยุคที่ ๕ ท้าวเตือนสุข มีภรรยาเชื้อสายเดียวกันกับมารดา ชื่อ นางบัวลม (ไม่ปรากฏว่ามีบุตร) มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ

๕.๑ ท้าวเตือนสุข ได้ครองเมืองเซไล ด้วยความสงบร่มเย็น มาจนอายุล่วงเลยวัยกลางคน เมืองเซไลก็เกิดทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพงฝน ฟ้าไม่ตก ชาวเมืองไม่ได้ทำนามาหลายปี  ทั้งมีโรคระบาดเกิดขึ้นโดยทั่วไป ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พากันไปเรียนท้าวเตือนสุข ให้พิจารณาหาทางแก้ไข ท้าวเตือนสุข ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมืองเซไล ได้มาถึงกาลเวลาดับสิ้น จึงได้เกิดเหตุอาเพศขึ้นมาเช่นนี้ จึงได้พาผู้คนอพยพออกจากเมืองเซไล เพื่อแสวงหาที่อยู่ใหม่ โดยได้พากัน เดินทางลงไปตามลำแม่เซไล

ครั้นไปถึงบริเวณที่ราบแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างปากลำห้วย ไหลตกแม่เซไล เห็นมีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งบ้านเรือน ประกอบกับท้องน้ำของลำห้วย ก็อุดมไปด้วยสารแร่ทองคำ จึงให้ผู้คน ที่อพยพมาตั้งหลักฐาน สร้างบ้านเรือนขึ้นอยู่อาศัย เสร็จแล้ว ได้ขนานนามหมู่บ้านใหม่ ตามสภาพที่ตนได้พาผู้คนมาอยู่อาศัยว่า "บ้านแห่" ส่วนลำห้วยก็ให้ชื่อว่า "ห้วยหมาน"

๕.๒  ครั้นพาผู้คนสร้างบ้าน ตั้งถิ่นฐานได้มั่นคงพอสมควร  ท้าวเตือนสุข จึงนำชาวบ้านสร้างวัด เสร็จแล้วขนานนามวัดที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศิริมงคลแก่หมู่บ้านของตนว่า "วัดศรีภูมิ" (สร้างปีพุทธ-ศักราช ๒๒๒๐) เมื่อได้พากันสร้างวัดเสร็จแล้ว ต่อมาราว ๒ ปี จึงได้พากันหล่อพระประธานด้วยโลหะ ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ด้วยฝีมือช่างจากทางเหนือ (ซึ่งจะเห็นได้จากฝีมือช่างสกุล้านนากับล้านช้าง ผสมกัน โดยถือเอาแบบเชียงแสน ยุคปลายสังฆาฏิยาว พระพักตร์กลม ค่อนข้างแป้นและสั้น  เปลวรัศมียอดพระเศียรยาว  พระวรกายไม่สง่า ดังพระพุทธรูปแบบเชียงแสนทั่วไป และโลหะที่ใช้หล่อคงจะไม่พอ ดังจะเห็นได้จากสีของโลหะที่องค์พระ จากฐานถึงพระศอจะเป็นนาก ซึ่งเป็นการหล่อชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่งต่างหาก ส่วนพระพักตร์และพระรัศมีนั้น สีของนากจะอ่อนไป จึงเป็นสีค่อนข้างเหลือง มองด้วยตาเปล่าเห็นได้เด่นชัด ซึ่งก็เป็นการหล่อที่แปลก แต่ก็เป็นวัตถุโบราณที่มีคุณค่าสูงสุดชิ้นหนึ่ง ของชาวเมืองเลย ที่ได้มีการสร้างขึ้นมา เมื่อปีพุทธสักราช ๒๒๒๒

เป็นของคู่บ้านคู่เมือง มีชื่อเรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" ซึ่งประดิษฐานอยู่บนกุฏิเจ้าอาวาสวัดศรีภูมิ จะนำออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำ เฉพาะวันสงกรานต์เท่านั้น อนึ่ง สำหรับพระประธานซึ่งปั้นด้วยปูน ในพระอุโบสถเดิม พอกปูนขาวผสมยางบงและหนังเน่า คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน และได้มาบูรณะขึ้นใหม่ ในคราวรื้อพระอุโบสถ เพื่อสร้างใหม่ รูปพระพักตร์ ตลอดจนทรวดทรง ช่างได้ถือเอาแบบพระพุทธรูปมิ่งเมือง มาเป็นหลัก เลยทำให้ผู้พบเห็นพระพุทธรูป พระประธาน ในพระอุโบสถวัดศรีภูมิปัจจุบันนี้ว่า เอาแบบมาจากพระพุทธรูปมิ่งเมือง)

๕.๓  หลังจากชาวเมืองเซไล ได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านแฮ่ ก็มีชาวเมืองเซไลบางส่วน ที่ยังรักในถิ่นฐานเดิม จึงได้พากันอพยพกลับไปเมือเซไลส่วยขาว ครั้นได้พากันบูรณะที่อยู่อาศัยให้ดีแล้ว เห็นว่าเมืองเซไลได้หมดสภาพความเป็นเมือง ทั้งได้ยกเลิกส่งส่วยผ้าขาวไป เป็นเวลานาน จึงได้พากันขนานนาม ให้หมู่บ้านของตนเสียใหม่ในถิ่นเดิมว่า "บ้านทรายขาว" แล้วพากันอยู่กินด้วยปกติสุข มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/TDUriVAmv8M?si=x-Fj6WL8bLYLBb9x
เมืองเซไล บ้านเมืองเก่า ของชาวไทเลย
ตำนานเมืองเซไล
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
พ่อแม่กระโดดตึกฆ่าตัวตาย หลังเห็นลูกสาวกระโดดตึก หลังสอบไม่ผ่านยืนยันด้วยผลวิจัย "เวลาเข้านอน" ดีต่อสุขภาพหัวใจที่สุด ไม่ใช่ก่อน 4 ทุ่มอย่างที่หลายคนคิด
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
"เด่นคุณ" ทุ่มสุดตัว! โชว์กล้าม-โชว์ลูกคอ ใน "เพลงพยัคฆ์"
กระทู้อื่นๆในบอร์ด สาระ เกร็ดน่ารู้
อย่าคิดว่าไม่เป็นไร! กลั้นปัสสาวะนานๆ อันตรายกว่าที่คิดเยอะ!รู้หรือไม่? หุ่นยนต์ตัวแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1774!ดูเหมือน TikTok ในอเมริกา จะ “กลับมาออนไลน์” อีกครั้ง หลังผู้ใช้บางรายสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้ แต่มีฟังก์ชันการทำงานที่จำกัดปลาตัวแรกของโลก
ตั้งกระทู้ใหม่