หน้าแรก ตรวจหวย เว็บบอร์ด ควิซ Pic Post แชร์ลิ้ง หาเพื่อน Chat หาเพื่อน Line หาเพื่อน Skype Page อัลบั้ม คำคม Glitter เกมถอดรหัสภาพ คำนวณ การเงิน
ติดต่อเว็บไซต์ลงโฆษณาลงข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสมเงื่อนไขการให้บริการ
เว็บบอร์ด บอร์ดต่างๆค้นหาตั้งกระทู้

ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งปัตตานี🙏🙏🙏

โพสท์โดย ประเสริฐ ยอดสง่า

ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (จีน: 靈慈宮) หรือเป็นที่รู้จักในนาม ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นศาลเจ้าตามคติจีน หนึ่งในสามแห่งของจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานเดชานุชิต ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของชาวไทยเชื้อสายจีน ในจังหวัดปัตตานีและใกล้เคียง ภายใน ประดิษฐานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ภาษามลายูปัตตานีว่า โต๊ะแปะกงแมะ หรือโตะกงแมะ) โดยมีตำนานที่ยึดโยงกับสถานที่ และโบราณสถานอื่นๆ ในจังหวัด

ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ก่อตั้งขึ้นโดยชาวจีนในเมืองปัตตานี เมื่อปี พ.ศ. 2117 ยุคจักรพรรดิว่านลี่ แห่งราชวงศ์หมิง ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา เดิมมีชื่อว่าศาลเจ้าซูก๋ง เพราะมีโจ๊วซูก๋ง หรือพระหมอ เป็นเทพหลักของศาล ต่อมา ได้รับการบูรณะและจัดงานสมโภช โดยหลวงสำเร็จกิจการจางวาง (ตันจงซิ่น) เมื่อปี พ.ศ. 2407 หลังจากนั้น พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะ มาประดิษฐานในศาล และตั้งชื่อศาลใหม่ว่า "ศาลเจ้าเล่งจูเกียง" แต่นิยมเรียก "ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว" เป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ในปัจจุบัน

          เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น กำเนิดในครอบครัวตระกูลลิ้ม ในสมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์เหม็ง ราวๆ พ.ศ. ๒๐๖๕ – ๒๑๐๙ มีพี่น้องชายหญิงหลายคน มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” ซึ่งรับราชการอยู่ที่อำเภอ มณฑลฮกเกี้ยน เมื่อบิดาลิ้มโต๊ะเคี่ยมถึงแก่กรรม จึงได้ย้ายมารับราชการที่เมื่องจั่วจิว ปล่อยให้ลิ้มกอเหนี่ยวและพี่น้องคนอื่นๆ เฝ้าดูแลมารดา

เล่ากันว่าในช่วงระยะนั้น มีโจรสลัดญี่ปุ่นบุกปล้น และเข้าตีเมืองตามชายฝั่งของจีน ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งเป็นที่รักของประชาชนชาวจีน ก็ถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม สมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม จึงถูกทางราชการประกาศจับ ทำให้ต้องจำใจหลบหนีออกจากประเทศจีน ไปกับพรรคพวกหลายคน ไปอาศัยอยู่ที่เกาะไต้หวัน ต่อมา ได้เปลี่ยนอาชีพเป็นพ่อค้า โดยได้นำสินค้าจากประเทศจีน บรรทุกเรือสำเภา มาขายที่ประเทศไทย และท่าเรือสุดท้ายที่มาขายสินค้า คือเมืองกรือเซะ (ปัจจุบันคือ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี)

เจ้าเมืองผู้ครองเมืองกรือเซะสมัยนั้น เป็นชาวไทยมุสลิม มีธิดาที่งามเลิศอยู่นางหนึ่ง ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมของพ่อค้าในสมัยก่อน เมื่อนำเรือสินค้าเข้าไปจอดที่เมืองใด ก็มักจะนำผ้าแพรพรรณ และสิ่งของสวยๆ งามๆ ที่มีค่า ขึ้นไปถวายเจ้าผู้ครองเมือง เป็นของกำนัลเพื่อผูกไมตรี ปรากฏว่า เป็นที่พอพระทัยของเจ้าผู้ครองเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ให้ความสนิทสนมเป็นกันเอง อย่างดีเป็นพิเศษต่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม

เนื่องจากลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นชายหนุ่มรูปงาม อีกทั้งยังมีความรู้ความสามารถ ในศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ หลายด้าน แม้แต่ฝีมือการรบพุ่ง ก็เก่งกล้าสามารถ จึงเป็นที่สนใจของธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ ซึ่งลิ้มโต๊ะเคี่ยมเอง ก็ต้องตาต้องใจ ในความงามที่เป็นเลิศของนางอยู่ก่อนแล้ว โดยที่เจ้าเมืองกรือเซะเอง ก็สนับสนุนอยากได้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมมาเป็นเขย ในที่สุดลิ้มโต๊ะเคี่ยมและธิดาเจ้าเมืองกรือเซะ จึงได้เข้าสู่พิธีวิวาห์ ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ตามฝ่ายธิดาเจ้าเมือง เพราะยึดถือความรักเป็นใหญ่ รวมทั้งลูกเรือ ที่มากับลิ้มโต๊ะเคี่ยมทั้งหมด ก็ไม่กลับประเทศจีน ยอมอยู่กับลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นนาย ที่เมืองกรือเซะ และเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นคนไทยมุสลิม ในเมืองกรือเซะ (ในปัจจุบัน ยังเหลือร่องรอยให้เห็นว่า ชาวไทยมุสลิมแถบบ้านกรือเซะ จะมีผิวขาวแบบคนจีน ซึ่งจะสวย และหล่อกว่าชาวไทยมุสลิมแถบอื่น เพราะได้เปรียบในเรื่องผิวนั่นเอง)

ลูกเรือที่เป็นลูกน้องของลิ้มโต๊ะเคี่ยมทุกคน ล้วนมีฝีมือในเชิงรบพุ่ง และมีฝีมือในเชิงดาบ โดยเฉพาะนายท้ายเรือ (ต้นหน) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ในการหล่อปืนใหญ่ได้ ซึ่งปืนเป็นอาวุธจำเป็น ในการรบพุ่งสมัยนั้นอย่างยิ่ง เพราะส่วนใหญ่ ใช้ดาบและปืนเป็นอาวุธสำคัญ เจ้าเมืองกรือเซะเอง ก็เห็นความจำเป็นนี้เช่นกัน จึงได้สั่งให้หล่อปืนใหญ่ด้วยทองแดง เพื่อไว้ใช้ป้องกันเมือง ๑ กระบอก ครั้นเมื่อหล่อเสร็จ ได้ทดลองยิง ปรากฏว่าปืนแตก ใช้การไม่ได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ในฐานะผู้อำนวยการหล่อปืนใหญ่ จึงสั่งการให้หล่อใหม่อีกครั้ง คราวนี้สำเร็จ ได้ปืนใหญ่ ๓ กระบอกชื่อ “ศรีนครี”, “มหาเหล่าหลอ” และ “นางปัตตานี” หรือ “นางพญาตานี”

เล่ากันว่า นายท้ายเรือ (ต้นหน) ที่เป็นผู้หล่อปืนเหล่านี้ ได้จบชีวิต ด้วยปืนนางพญาตานี ในวันทดลองยิง ด้วยสาเหตุใดไม่แจ้งชัด บ้างก็เล่าว่า ผู้ที่จบชีวิตในวันทดลองยิงปืน เป็นลิ้มโต๊ะเคี่ยมเอง ปัจจุบันปืนใหญ่นางพญาตานีกระบอกนี้ ตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร

หลายปีต่อมา มารดาของลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งอยู่ที่ประเทศจีน ไม่เห็นบุตรชาย กลับมาจากการค้าขายตามปกติ ก็มีความคิดถึงอีกทั้งเป็นห่วง จนไม่เป็นอันกินอันนอน ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาวอีกคนหนึ่ง ต่างก็มีความสงสารมารดา ประกอบกับความเป็นห่วงพี่ชาย ที่ไม่ส่งข่าวมาถึงทางบ้านเลย จึงรับอาสามารดา ออกติดตามพี่ชาย เพื่อจะพากลับบ้านให้ได้ โดยให้สัญญากับมารดาว่า ถ้าไม่สามารถพาพี่ชายกลับมา ก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไป ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาว ได้คัดเลือกชายฉกรรจ์ ที่มีฝีมือรบพุ่งในเชิงดาบ จำนวนประมาณ ๗๐ คน ออกเดินทางโดยใช้เรือสำเภา ติดตามมาจนถึงประเทศไทย โดยแวะที่ท่าเรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นแห่งแรก และได้สืบหาพี่ชาย เรื่อยลงมาทางใต้ จนถึงหน้าเมืองกรือเซะ จึงได้ทอดสมอหยุดเรือที่อ่าวหน้าเมือง

ฝ่ายเมืองกรือเซะเข้าใจว่า เป็นเรือของข้าศึก จะยกมาตีเมือง จึงส่งทหารออกไปต่อสู้ แต่ทุกครั้งที่ออกไปต่อสู้ ทหารถูกฆ่าตายพ่ายแพ้กลับมา เจ้าเมืองกรือเซะเห็นว่า ทหารไม่มีฝีมือ พอที่จะชนะข้าศึกได้ อีกทั้งยังไม่มีใครกล้าอาสาออกรบ จึงได้ขอร้องลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นบุตรเขย กับพวกที่มาจากประเทศจีนออกไปต่อสู้แทน ปรากฏว่าการรบพุ่งเป็นไปอย่างดุเดือด ต่างฝ่ายต่างมีฝีมือทัดเทียมกัน และฝีมือเพลงดาบของลิ้มกอเหนี่ยวกับลิ้มโต๊ะเคี่ยมเหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเรียนมาจากสำนักอาจารย์เดียวกัน เพียงแต่คนละรุ่น ในการออกรบ ลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาว แต่งกายเป็นผู้ชาย ส่วนลิ้มโต๊ะเคี่ยมแต่งกายแบบไทยมุสลิม และเป็นเวลากลางคืน ต่างฝ่ายต่างจำกันไม่ได้ เมื่อรบกันเป็นเวลานานไม่มีใครแพ้ชนะ อีกทั้งยังสงสัยว่าทำไมเพลงดาบจึงเหมือนกัน จึงได้เอ่ยถามกันขึ้น ตามแบบธรรมเนียมจีน จึงได้รู้ว่าเป็นพี่น้องกัน และได้สั่งให้ยุติการรบ ชวนกันเข้าไปพบเจ้าเมืองกรือเซะ เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบก็ยินดีจัดงานเลี้ยงต้อนรับ

ฝ่ายลิ้มกอเหนี่ยวกับน้องสาว พำนักอยู่ในเมืองกรือเซะ เป็นเวลานานพอสมควร จึงได้ชวนลิ้มโต๊ะเคี่ยมพี่ชาย กลับประเทศจีน เพราะมารดาคิดถึง แต่ถูกพี่ชายปฏิเสธ ทั้งๆ ที่ได้รบเร้าแล้วหลายครั้ง จึงทำให้แค้นใจและน้อยใจในตัวพี่ชาย และมองเห็นแล้วว่า พี่ชายคงไม่ยอมกลับแน่นอน ซึ่งในช่วงระยะนั้น ลิ้มโต๊ะเคี่ยม กำลังเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างมัสยิดอยู่ด้วย ลิ้มกอเหนี่ยว จึงได้ตัดสินใจสละชีวิตตนเอง ประท้วงพี่ชาย โดยการผูกคอตาย ที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ โดยก่อนตายได้สาปแช่งไว้ว่า ขอให้การสร้างมัสยิดที่พี่ชายทำอยู่ ไม่มีวันสำเร็จ ส่วนน้องสาวลิ้มกอเหนี่ยว เมื่อเห็นพี่สาวฆ่าตัวตาย ก็เลยฆ่าตัวตายตาม และลูกเรือที่มาด้วยทั้งหมด เห็นนายฆ่าตัวตาย ก็พากันฆ่าตัวตายตามนาย โดยวิธีลงเรือแล่นออกไปในทะเล แล้วกระโดดน้ำตายหมดทุกคน เหลือทิ้งไว้แต่เรือสำเภา ๙ ลำ ลอยอยู่ในทะเล ซึ่งเมื่อขาดการดูแลก็ชำรุด และจมทะ เลคงเหลือไว้แต่เสากระโดงเรือ ซึ่งทำด้วยต้นสน ชูอยู่เหนือน้ำทะเล ๙ ต้น บริเวณดังกล่าว ต่อมาได้ชื่อว่า “รูสะมิแล” เป็นภาษามลายู ซึ่งได้มาจาก “รู” แปลว่า “สน” “สะมิแล” แปลว่า “เก้า” รวมความแปลว่า สนเก้าต้น ปัจจุบัน เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ฝ่ายลิ้มโต๊ะเคี่ยมผู้เป็นพี่ชาย เมื่อรู้ว่าต้องสูญเสียน้องสาวทั้ง ๒ คนไปเพราะตนเอง ก็โศกเศร้าเสียใจยิ่งนัก และได้จัดพิธีศพ ตามประเพณีจีนอย่างสมเกียรติให้ โดยทำเป็นฮวงซุ้ย อยู่ที่บ้านกรือเซะ ปัจจุบัน มีการบูรณะเฉพาะฮวงซุ้ย ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ให้เห็นปรากฏอยู่จนทุกวันี้ เมื่อเสร็จงานพิธีศพน้องสาวแล้ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็ได้ก่อสร้างมัสยิดที่สร้างค้างต่อไป พอสร้างจวนจะสำเร็จ เหลือยอดโดม ก็ถูกฟ้าผ่ายอดโดม พังทลายหมด ลิ้มโต๊ะเคี่ยม ก็ยังไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามสร้างต่ออีก ๓ ครั้ง แต่ก็ถูกฟ้าผ่าพังทลายทุกครั้ง ในที่สุดจึงยอมแพ้ หมดความพยายามที่จะสร้างต่อไป แม้แต่เจ้าเมืองกรือเซะเอง ก็บังเกิดความกลัวในอภินิหาร ตามคำสาปแช่ง จนไม่มีใครกล้าสร้างต่อจนถึงปัจจุบันนี้ และปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นโบราณสถาน ที่กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ไว้แล้ว มัสยิดแห่งนี้ สร้างในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา นับตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงปัจจุบัน ก็เกือบสามร้อยปีแล้ว

หลังจากที่ลิ้มกอเหนี่ยว สิ้นชีวิตแล้ว ได้เกิดอภินิหาร ที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย ด้วยวิญญาณของลิ้มกอเหนี่ยว ได้สิงสถิตอยู่ที่นั่น ใครเจ็บไข้ได้ป่วย หรือได้รับความเดือดร้อนประการใด เมื่อไปบนบานที่นั่น ก็จะหายเจ็บหายป่วยพ้นจากความเดือดร้อน ชาวบ้านทั่วไป จึงขนานนามใหม่ว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนับแต่นั้นมา

ครั้งหนึ่ง คุณพระจีนคณานุรักษ์ หัวหน้าคนจีนในเมืองปัตตานี ได้ป่วยด้วยโรคอย่างหนึ่ง รักษากับหมอหลวงมานานก็ไม่หาย ไมว่าจะเปลี่ยนหมอกี่คนมาแล้วก็ตาม เมื่อหมดหนทาง จึงได้กราบไหว้ถามพระเซ๋าซูกง หรือที่รู้จักกันในนามว่า พระหมอ ซึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ ได้สร้างศาลเจ้าเล็กๆ ให้ประทับอยู่ใกล้ๆ บ้านของท่าน ที่หัวตลาด (ปัจจุบันคือ ที่ถนนอาเนาะรู) พระเซ๋าซูกง ได้บอกคุณพระจีนคณานุรักษ์ว่าต้องไปขอให้เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวช่วยรักษา จึงจะหายป่วย

เกี่ยวกับประวัติของพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) นั้น สันนิษฐานว่า คงจะได้รับเชิญมาจากประเทศจีน โดยพ่อค้าจีน ที่เดินทางมาค้าขายทางเรือสำเภาร ะหว่างประเทศจีน กับสิงคโปร์และไทย และเรือสำเภาที่อัญเชิญพระเซ๋าซูกงมา คงจะถูกพายุพัดอับปาง แถวปากอ่าวปัตตานี พระเซ๋าซูกง ซึ่งทำด้วยแก่นไม้ จึงได้ลอยเข้ามาในแม่น้ำปัตตานี และมีผู้พบท่าน ที่คลองอาเนาะซูงา ซึ่งเป็นคลองในตัวเมืองปัตตานี ใกล้กับสะพานปูนซีเมนต์ ในตลาดปัตตานี โดยวันหนึ่ง มีชายไทยมุสลิม พายเรือผ่านมาพบเข้า เห็นพระเซ๋าซูกงลอยอยู่ในน้ำ ประกอบกับองค์ของพระเซ๋าซูกง มีสีดำสนิท ชายคนนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นท่อนไม้ ต้องการนำติดมือไป หวังจะใช้เป็นเชื้อเพลิงประกอบอาหาร จึงได้เอามีดขอ ฟันลงบนศีรษะของพระเซ๋าซูกง ปรากฏว่า มีเลือดไหลออกมาทันที และทันใดนั้น พระเซ๋าซูกง ได้ประทับทรงชายไทยมุสลิมคนนั้น ชายไทยมุสลิมคนนั้นจึงได้กระโดดลงไปในน้ำ แล้วอุ้มองค์เซ๋าซูกงขึ้นมา

ภายหลัง คุณพระจีนคณานุรักษ์ทราบข่าว จึงได้มาอัญเชิญพระเซ๋าซูกง ไปประทับในศาลเจ้า ที่คุณพระจีนคณานุรักษ์สร้างไว้ ที่หัวตลาดใกล้บ้าน เป็นที่เลื่องลือ ในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระเซ๋าซูกง เจ้าพิธีการไต่บันไดดาบในอดีต และเจ้าพิธีลุยน้ำลุยไฟในปัจจุบัน

ภายหลังที่พระเซ๋าซูกง (พระหมอ) ได้บอกคุณพระจีนคณานุรักษ์ ให้ไปหาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยวิธีเข้าทรงแล้ว คุณพระจีนคณานุรักษ์ ก็ได้ไปหาเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ให้ช่วยรักษาโรค โดยวิธีอัญเชิญวิญญาณ ของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับทรง เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวบอกว่า จะรักษาโรคให้หาย โดยมีข้อแม้ว่า เมื่อหายแล้ว คุณพระจีนคณานุรักษ์ ต้องสร้างศาลเจ้าที่เมืองปัตตานี ให้ท่านกับน้องสาวประทับ และขอให้แกะสลักรูปของท่านกับน้องสาวด้วย โดยขอให้ประทับอยู่ร่วมกับพระเซ๋าซูกง (พระหมอ) ในศาลเจ้าเดียวกัน ซึ่งคุณพระจีนคณานุรักษ์ ได้ตกลงรับสัญญา ตามเงื่อนไขทุกประการ ในที่สุดคุณพระจีนคณานุรักษ์ก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ปฏิบัติตามสัญญา คือให้คนจีน แกะสลักรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากกิ่งมะม่วงหิมพานต์ กิ่งที่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตาย โดยวิธีอัญเชิญวิญญาณ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประทับทรง นายช่างซึ่งเป็นผู้แกะสลัก จนรูปเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวและน้องสาวเสร็จเรียบร้อย พร้อมกันนั้นคุณพระจีนคณานุรักษ์ ก็ได้สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ ดังที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้

โพสท์โดย: ประเสริฐ ยอดสง่า
อ้างอิงจาก:
https://youtu.be/njvc6zHDMmQ?si=-hj5SU1m7tSXDLYd
ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์แห่งปัตตานี
⚠ แจ้งเนื้อหาไม่เหมาะสม 
เป็นกำลังใจให้เจ้าของกระทู้โดยการ VOTE และ SHARE
Hot Topic ที่น่าสนใจอื่นๆ
สาลี่ เดอะสตาร์ โพสต์คลิปสวีตอวยพรวันเกิด ตงตง กฤษกร หวานจนแฟนคลับแซวสนั่นภาพจักรพรรดิ​นี​หว่า​นห​รง​ ราชวงศ์​ชิงกฟภ. ประกาศฟรีค่าไฟเดือน ก.ย. และลด 30% ในเดือน ต.ค. สำหรับพื้นที่น้ำท่วมเราควรซักผ้าปูที่นอนและหมอนบ่อยแค่ไหน?อ้าว จัดอันดับประเทศในเอเชียมีอิทธิพลต่อโลก ไทยติดโผ แต่เกาหลีอยู่ตรงไหนกันแน่เข้าใจคนผ่านกฎ 18 ข้อโตโยต้าเตรียมเรียกคืนรถยนต์กว่า 42,000 คันในสหรัฐฯลุงต๋องแฉแม่ตั๊ก ให้เงินในคลิป 3,000 บาท ถ่ายเสร็จขอคืน 2,000 หวังช่วยรักษาเท้าแต่เป็นแค่ลมปากเกาหลีใต้เจอศึกหนัก ธุรกิจทรุดหลายเดือน แถมไทยก็แบนไม่หยุด ต้องหันหน้าหาญี่ปุ่นอดีตศัตรู
Hot Topic ที่มีผู้ตอบล่าสุด
เกร็ดความรู้นิสัยคุณ 10 ข้อที่ทำร้ายสมองรีสอร์ทแฉ แม่สิตางศุ์ เบี้ยวค่าห้องพักรีสอร์ต หนีกลางดึก ทิ้งห้องเละรีวิวหนังดัง MORTAL KOMBAT มอร์ทัล คอมแบทภาพจักรพรรดิ​นี​หว่า​นห​รง​ ราชวงศ์​ชิง10 วิธี ช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
กระทู้อื่นๆในบอร์ด นิยาย เรื่องเล่า
บารมีหลวงปู่หน่วยประสบการณ์เจอผี ไม่น่าเชื่อจะมีจริงๆ น่ากลัวมาก จิตอ่อนอย่าอ่านตำนานพระนางจามเทวีปริศนาคลื่นความทรงจำ (2) #อักษราลัย
ตั้งกระทู้ใหม่